ผู้เขียน หัวข้อ: ใต้พรม... 'ไซยะบุรี' เขื่อนที่ค้ำคอคนไทย - รัฐบาลไทย  (อ่าน 1092 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
“ไม่ใช่ประท้วง อย่างไร้เหตุผล...(?)” เสียงจากชาวบ้านร้านตลาด ชาวประมงริมโขง พูดกันอื้ออึง

หลังจากที่พวกเขาพบว่า โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) – ไทย บนลำน้ำโขงสายหลักกำลังเร่งก่อสรัางรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

‘อ้อมบุญทิพย์สุนา’ ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญและอุบลราชธานี กระชับไมค์ในมือแน่น ก่อนถ่ายทอดเรื่องของคนชุมชนริมโขง ตลอดระยะทางกว่า 800 กิโลเมตรในพื้นที่ท้ายน้ำ ที่คาดว่าจะต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการกักเก็บน้ำ-ปล่อยน้ำของเขื่อนไซยะบุรีในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต

“ผู้คนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงหาอยู่หากินกับแม่น้ำ ทำเกษตร ทำประมง ทำธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารเมนูปลาริมโขงเต็มไปหมด ต่อไปจะอยู่กันอย่างไร” อ้อมบุญ สะท้อนความกังวล

ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การประท้วงอย่างไม่มีเหตุผล แต่เป็นกรณีที่คนอีสานรับไม่ได้ ทนไม่ไหวแล้วจริงๆ เพราะเท่าที่ผ่านมาได้รับผลกระทบไปไม่น้อยจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะ 5 เขื่อนใหญ่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ

“พี่น้องเราที่อยู่กับแม่น้ำโขงมาตลอดชีวิต พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับลำน้ำสายนี้ !?! ระดับน้ำในลำน้ำโขงปีนี้บางช่วงลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียว ทั้งที่ช่วงเดียวกันของปีก่อน น้ำยังเต็มตลิ่งอยู่เลย

และที่แปลกประหลาดไปกว่านั้นก็คือ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นในพื้นที่ ทั้งที่ไม่มีฝนตก บางครั้งในหน้าแล้ง ชาวบ้านปลูกเพิงขายอาหารตามหาดในแม่น้ำโขง เล่นสงกรานต์กันอยู่ดีๆ จู่ๆ น้ำก็ท่วม กระทบกันไปหมด” เธอบอกอย่างนั้น และชี้ชวนให้ลองคิดต่อไปว่า หากเป็นเขื่อนไซยะบุรี ที่ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยของไทยระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร จะสร้างผลกระทบได้มากขนาดไหน

ถ้าน้ำเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง มาที่ก็มาเหมือนกับสึนามิ !!

“เฮ้ย!...ถ้าเป็นคนยังพอทน แต่ปลามันจะจับทางน้ำถูกได้อย่างไร” อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ในสายตาของอ้อมบุญ นั่นเพราะในความเป็นจริงพี่น้องริมฝั่งโขง หาปลา กินปลากันตลอดทั้งปี

...มันคือวิถีชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารของพวกเขา

และเพื่อให้คนภายนอกที่ไม่ได้คลุกคลีกับชีวิตคนริมโขง ได้เข้าใจ เห็นภาพที่เกิดขึ้น อ้อมบุญ บอกว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันทำวิจัยตีแพร่ผลกระทบจากเขื่อนจีน โดยเฉพาะเรื่องการสูญเสียรายได้จากค้าขายปลา

ปรากฏว่า จากการเก็บข้อมูลรายได้ของคนอีสานใน 10 พื้น ติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน มีผลสรุปที่ชัดเจนออกมาว่า รายได้ของคนใน 10 พื้นที่ ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 13 ล้านบาทต่อปี

“นี่ถือว่าจิ๊บจ้อยนะ เพราะคนริมโขงมี 95 พื้นที่หาปลา กินปลากัน 365 วัน ความเสียหายมันต้องมากกว่านี้” อ้อมบุญ หยิบผลวิจัยเพื่อคนท้องถิ่นมาอ้างอิง และว่า ทุกวันนี้ก็เริ่มมีสัญญาณเตือนให้เห็นแล้ว จะกินปลาทีต้องหาซื้อกันข้ามจังหวัด หรือไม่ก็สั่งซื้อมาจากหลี่ผี สปป.ลาว

...ต่อไปใครมาเยือนริมโขง จะมาถามหาเมนูดังปลาบึกผัดฉ่า ลวกปลาคัง คงไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนเป็นไปสั่งต้มยำเขื่อนไซยะบุรี ไฟฟ้าผัดฉ่าแทน เธอสรุปทิ้งท้ายแก้มประชดประชัน

แหล่งทุนสร้างเขื่อน

และเพื่อให้เขื่อนไซยะบุรีเป็นที่รู้จักมากขึ้น นายมนตรี จันทวงศ์โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ขันอาสาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้เพิ่มเติมว่า นอกจากการสร้างเขื่อนของจีนในลำน้ำโขงตอนบนแล้ว ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีแผนที่จะสร้างเขื่อนอีก 12 เขื่อน

"เขื่อนไซยะบุรี" คือหนึ่งในนั้น 

โดยสาเหตุหลักของการสร้างเขื่อนแห่งนี้ก็เพื่อผลิตไฟฟ้า มีกำลังติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของกำลังการผลิตของเขื่อนภูมิพล หรือ 10 เท่าของเขื่อนปากมูนในประเทศไทย ส่วนตัวเขื่อนไซยะบุรีนั้นถูกสร้างขึ้นใน สปป.ลาว แต่ถึงกระนั้นก็ต้องบอกว่า เขื่อนไซยะบุรีเกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง เนื่องจากมีเหตุผลหลัก 3 ข้อคือ

1.ผู้ร่วมลงทุนโครงการเขื่อนไซยะบุรีประกอบด้วย 4 บริษัทจากไทย โดยได้จัดตั้ง บริษัท ไฟฟ้าไซยะบุรี จำกัด ขึ้นมาดำเนินการ มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 57.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกของ ปตท.) ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) ถือหุ้น 12.5%  และ บริษัท พี.ที.คอนสตรัคชั่น แอนด์อิริเกชั่น จำกัด ถือหุ้น 5%

2. แหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาท มาจากธนาคารในประเทศไทย

และ 3. ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรี 95% จะส่งกลับมาขายยังประเทศไทย โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2554 กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการกับบริษัท ช.การช่าง และได้บรรจุเขื่อนไซยะบุรีเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเชื่อมโยงเหล่านี้นี่เอง ทำให้ผมพอที่จะสรุปในเบื้องต้นได้ว่า “เขื่อนแห่งนี้เป็นของประเทศไทย เพียงแต่ไปเช่าแม่น้ำโขงในประเทศลาวสร้างเขื่อน และจ่ายค่าสัมปทานให้กับเขาเท่านั้น”  นายมนตรี กล่าว

จี้ไทยรับผิดชอบ ผลกระทบ

สิ้นข้อสันนิษฐานข้างต้น นายเมียน (Mr.Meach Mean)ชาวกัมพูชา ตัวแทนจากเครือข่ายแม่น้ำ 3 สาย เซซาน เซกอง ซะเรบอง (3S Rivers Protection Network) ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ยืนยันว่า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างความเสียหายให้กับคนท้ายน้ำมหาศาลจริงๆ และเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดที่เคยพบเจอคือ ภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง น้ำท่วมสูง 6-7 เมตร มิดหลังคาบ้าน ผู้คนต้องปืนต้นไม้ ขึ้นหลังคา หนีตายกันจ้าละหวั่น

"ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 30 คน ขณะที่ข้าวเปลือกในยุ้งฉาก นาข้าว บ้านเรือน สัตว์เลี้ยงถูกน้ำพัดหายไปหมด” นายเมียน บอก และว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลกลางที่พนมเปญได้เจรจากับประเทศเจ้าของเขื่อน และมีทางออกคือ จะใช้ระบบแจ้งเตือน ปล่อยน้ำเมื่อไหร่ เวลาใด แต่เอาเขาจริงวิธีนี้กลับใช้ไม่ได้ผล เพราะการแจ้งเตือนส่งมาเป็นจดหมาย !! มันจึงไม่ทันการณ์

แต่ประเด็นที่อยากให้คิดคือ ในทุกประเทศก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนนั้น จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่การศึกษาที่ว่านี้ ศึกษาเฉพาะในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเขื่อน ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่ท้ายเขื่อนว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งที่ปัญหาต่างๆนั้น คนท้ายเขื่อนเป็นผู้แบกรับ

“กรณีเขื่อนไซยะบุรี ผมจึงมีความคิดว่า เมื่อเป็นบริษัทของประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เงินทุนก็มาจากประเทศไทย ผลิตไฟได้ก็ส่งกลับมาขายในประเทศไทย ส่วน สปป.ลาวนั้นแค่ยกพื้นที่ให้สร้าง เพราะฉะนั้น หากเกิดปัญหา หรือความเสียหายใดๆ กับแม่น้ำโขงเพราะเขื่อนตัวนี้ “ผมว่าประเทศไทยคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” นายเมียน กล่าวระบุ

พร้อมกับยังบอกอย่างชัดถ้อยชัดคำต่อไปอีกว่า ขณะนี้เขายังมองไม่เห็นความหวังใดจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือการปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ประกอบด้วย ลาว ไทย  กัมพูชาและเวียดนามที่ได้ลงนามร่วมกันไว้ เพราะขณะนี้ก็เห็นได้ชัดว่า สปป.ลาวกำลังละเมิดข้อตกลงตรงนี้อยู่และดูเหมือนว่า จะไม่ได้แคร์อะไรเลย

“ไซยะบุรี น่าจะเรียกได้ว่าเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสปป.ลาว-ไทย ที่ร่วมสนับสนุนให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้ โดยประเทศหนึ่งเป็นประเทศใหญ่ และอีกประเทศเป็นประเทศเล็ก ทำให้ผมมองว่า การที่ลาวสร้างเขื่อนได้นั้น เพราะมีชาติใหญ่ อย่างประเทศไทยให้การหนุนหลังใช่หรือไม่” นายเมียน ตั้งข้อสังเกตทิ้งไว้

สร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง หวั่นเพาะปมขัดแย้ง

ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำโขง ถอนหายใจยาว ก่อนยอมรับว่า รู้สึกห่อเหี่ยวใจอย่างมาก หลังจากที่ได้รับฟังนายเมียนพูด

เพราะโดยส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้คงต้องเก็บไปนั่งคิดกันอย่างจริงจังว่า บัญชีนี้ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นจะเช็คบิลกับใครได้อีก เมื่อผู้ซื้อไฟฟ้า ผู้ก่อสร้าง กระทั่งเงินลงทุนล้วนมาจากประเทศไทยทั้งสิ้น และจุดนี้เอง ผมมองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ค้ำคอคนไทย รัฐบาลไทย จนยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

“แต่เชื่อเถอะครับ ผมว่ารัฐบาลยังคงจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เพราะมีเหตุผลที่ว่า ถ้าคุณไม่สร้างเขื่อนแล้วจะเอาไฟฟ้าจากที่ไหนมาใช้?” เขา อธิบาย

แต่เท่าที่ผมลองคำนวณดูปรากฏว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 34,000 เมกะวัตต์  ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการ และมีไฟฟ้าสำรองสูงกว่า 30% ในขณะที่ค่ามาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้อยู่ที่ 15% สำหรับเขื่อนไซยะบุรีนั้นจะป้อนไฟให้ไทยได้ประมาณ 1,220 เมกะวัตต์ คิดแล้วมันน้อยกว่า 3% อีก และหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ต้องบอกว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรีนั้น น่าจะป้อนให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในกรุงเทพใช้ได้ไม่เกิน 20 แห่ง ทั้งที่ห้างในกรุงเทพฯ มีเป็นร้อยแห่ง

นายวิฑูรย์ มองว่า ในเรื่องของไฟฟ้านั้น หากมีการวางแผนและการจัดการที่ดี มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม จะสามารถช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ตัวอย่างง่ายๆ ปัจจุบันเมืองไทยมีหลอดนีออน ที่ใช้ไฟฟ้า 40 วัตต์อยู่ทั่วประประเทศราว 83 ล้านดวง หากเปลี่ยนมาใช้หลอดผอมแทน คาดว่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ ไม่ต่างกันนักกับปริมาณไฟฟ้าที่เขื่อนไซยะบุรีป้อนให้ไทย

แต่ทำไมเราไม่เลือกทางนี้?

...มันจำเป็นด้วยหรือที่ต้องแลกปลา-ความมั่นคงทางอาหาร กับเขื่อน-ไฟฟ้า?

และเพื่อตอบข้อสงสัยเรื่องนี้ เขาได้พยายามไปหาเหตุผลประกอบ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ พบว่า

บริษัทที่ได้รับสัมปทานไปนั้น ยังไม่ทันได้ผลิตไฟฟ้า ราคาหุ้นก็ขึ้นไปแล้ว ขณะที่ธนาคารก็ได้รับดอกเบี้ย ขณะเดียวกันเมื่อโครงการนี้ได้เซ็นสัญญากันไปแล้ว ก็ไม่มีใครกล้าหยุดดำเนินการ เพราะนั่นหมายความ ถ้าใครเป็นฝ่ายหยุด ต้องถูกฟ้องและจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้อื่น

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

และเป็นตัวสะท้อนให้เห็นความผิดพลาด ความล้มเหลวของกระบวนการพัฒนาและกระบวนการตัดสินใจของไทย ที่ปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ทั้งๆ ที่ปัญหาการศึกษาผลกระทบต่างๆ ยังไม่มีข้อยุติ 

“ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ละครับ สุดท้ายก็ไม่มีใคร ไม่มีรัฐบาลไหนอยากจะรับเผือกร้อนอันนี้ไป” เขาบอกอย่างนั้น

ส่วนที่เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังและยืดเยื้อ คือ รัฐบาล 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังไม่สามารถตกลงกันได้  เนื่องมาจากประเทศเวียดนามและกัมพูชา ต้องการให้มีการชะลอโครงการนี้ไว้ก่อนเป็นระยะเวลา 10 ปี จนกว่าจะมีผลการศึกษาและทางออกที่ชัดเจน ขณะที่ด้าน สปป.ลาว แม้จะออกมาระบุว่า จะหยุดโครงการนี้ไว้ไม่ทำการก่อสร้างต่อ แต่เอาเข้าจริงเมื่อนักข่าวเข้าไปดู กลับเห็น กำลังทำงานกันอยู่

ตรงนี้น่าห่วง ....ปัญหาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงนั้น ในสายตานักวิเคราะห์ก็เห็นความเสี่ยงไม่น้อยว่า อาจเกิดปัญหาดังเช่นที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเห็นว่ามีศักยภาพมากพอที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเช่นนั้นได้

“การเป็นภาคีในข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ความรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้นในการใช้แม่น้ำร่วมกัน มีผลทำให้การดำเนินการใดๆในแม่น้ำโขงสายหลัก จะต้องขอความคิดเห็นจากประเทศสมาชิก แต่หากเราปล่อยให้ประเทศใหญ่ทำอะไรตามอำเภอใจ ปล่อยให้ผลประโยชน์นำหน้าความถูกต้อง ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน" วิฑูรย์ เชื่อเช่นนั้น

ยิ่งถ้าปล่อยให้เกิดเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก นั่นคือเขื่อนไซยะบุรีเกิดขึ้นได้แล้ว เขาบอกว่า ก็จะกลายเป็นความชอบธรรมที่ใช้อ้างในการสร้างเขื่อนอื่นๆ ต่อไป

“ฉันทำแล้ว โครงการเดินหน้าได้ ต่อไปก็อย่าหวังไปชี้หน้าว่าใคร...และไอ้ที่เราเคยโทษจีนว่าปิดกั้นแม่น้ำโขง เขาคงไม่ใช่จำเลยอีกต่อไปแล้วครับ”

วันอังคารที่ 09 ตุลาคม 2012 เวลา 09:27 น.เขียนโดย ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์
http://www.isranews.org