ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องของลิงโกง  (อ่าน 1171 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เรื่องของลิงโกง
« เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2011, 22:08:12 »
   Evolutionary Stable Strategy
       โดย นณณ์ ผานิตวงศ์
       
       เคยเห็นลิงหาเห็บหาเหาให้กันไหมครับ? ตัวนี้หาให้อีกตัว แล้วก็มีอีกตัวหาให้อีกตัว เสร็จแล้วมันก็ผลัดกันวนๆ หาให้กัน ถ้าทำอย่างนี้ทุกตัวในฝูงก็จะไม่มีเห็บมีเหาเหมือนกันเพราะต่างตัวต่างช่วยกันผลัดกันหา ทีนี้ลองนึกภาพว่ามีลิงหัวหมอตัวหนึ่ง เกิดเอาเปรียบเพื่อน นั่งให้เพื่อนหาเสร็จแล้วแทนที่จะหาให้เพื่อนบ้าง ก็หนีไปหาอะไรกินเสียอย่างนั้น ลิงที่ “โกง” ตัวนี้ได้เปรียบเพื่อนฝูงชัดเจนมาก เพราะกินแรงเพื่อนอย่างเดียว ถ้าไม่มีลิงตัวไหนจับได้ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ลิงตัวนี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะประสบความสำเร็จกว่าเพื่อนๆ ตามสังคมลิงคงไม่ใช่ได้ตำแหน่งหรือเงินทอง แต่อาจจะมีลูกที่แข็งแรงและโตเร็วกว่าตัวอื่นๆ เพราะแม่มีเวลาหาอาหารมากกว่าเพื่อน เพราะโกงแรงงานเพื่อน
       
       ทีนี้สมมติว่าแม่ลิงขี้โกงมีลูกสามตัวก็สอนให้ลูกลิงขี้โกงด้วย คือไปนั่งให้เพื่อนหาเห็บเสร็จแล้วไม่หาคืนให้เพื่อน พากันไปหากินเที่ยวเล่นหาผัวหาเมียไปเรื่อย ปรากฏว่าครอบครัวนี้ประสบความสำเร็จสืบต่อกันหลายชั่วลิง เพิ่มจำนวนประชากรลิงโกงขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าความซวยจะตกแก่ใคร? ถ้าหากมีประชากรลิงขี้โกงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลิงนิสัยดีที่โดนเอาเปรียบจะมีเห็บเหาเต็มตัวและมีเวลาหากินน้อยกว่าประชากรลิงโกง ลิงนิสัยดีในฝูงก็จะมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ลิงดีก็จะมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะมาคอยนั่งหาเห็บหาเหาให้ลิงโกงเปล่าๆ ปรี้ๆ ผลก็คือลิงโกงก็จะมีเห็บเหา และไม่มีใครให้เอาเปรียบอีก เมื่อถึงจุดนั้น ประชากรลิงฝูงนี้ก็จะมีปัญหาเห็บหมัดและเหารุนแรงจนอาจจะล่มสลายไปก็เป็นได้
       
       นี่คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า “กลยุทธทางวิวัฒนาการที่ไม่เสถียร” (Evolutionary Unstable Strategy) คือการโกงจะทำให้ผู้ที่ถูกเอาเปรียบอ่อนด้อยลงเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็จะไม่เหลือใครให้โกงและเอาเปรียบ ในที่สุดแล้วทุกคนจะเป็นผู้แพ้ในกลยุทธเช่นนี้
       
       แต่ในทางกลับกันถ้าลิงทั้งฝูงทุกตัวร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือกันไม่โกงกัน เอ็งหาเห็บให้ข้า ข้าหาเหาให้เอ็ง ลิงทั้งฝูงก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุขตราบนานเท่านาน แบบนี้เรียกว่าเป็น Evolutionary Stable Strategy (ESS) หรือ "กลยุทธทางวิวัฒนาการที่เสถียร" กล่าวคือถ้าหากมีการใช้กลยุทธเช่นนี้ในสังคมแล้วจะทำให้สังคมนั้นๆ ดำรงค์ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในกรณีนี้คือการร่วมมือกันต่างตอบแทนกันไม่โกงกันของสัตว์สังคมอย่างลิงอย่างคน จะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้
       
       จะเห็นว่าการโกง แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าหากมีการยอมรับและปล่อยให้สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดเรื่องใหญ่ได้ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะมีเพื่อนส่งคำถามนี้มาถาม
       
       "ถ้ามีรัฐบาลอยู่ 2 ประเภท โดยทั้งสองประเภทมีงบประมาณเท่ากันคือ 100 บาท ประเภทที่ 1 โกงไป 80 บาท แต่ทำงานเป็น ใช้เงิน 20 บาทบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความสุขความเจริญ สร้างความมั่นคงให้ชาติได้เป็น 100 บาทเท่าเดิม ส่วนประเภทที่ 2 เป็นคนดี สะอาด แต่ทำงานไม่เป็น ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช้เงิน 100 บาท แต่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน...ได้แค่ 5 บาท เป็นคุณจะเลือกแบบไหน?”
       
       เลือกยากไหม? แต่ถ้าเอาตาม ESS ยังไงก็ต้องเลือกประเภทที่ 2 เพราะการที่มีคนดีมาเป็นผู้บริหาร ถึงแม้ว่าคนนี้อาจจะด้อยความสามารถ แต่ในทางวิวัฒนาการแล้ว ในที่สุดสังคมนั้นๆก็จะต้องหาคนที่ดีและเก่งมาปกครองบ้านเมืองได้ และจะไม่ล่มสลายไปเสียก่อนเนื่องจากมีตัวอย่างผู้นำที่เป็นคนดี สังคมโดยรวมก็จะเป็นคนดี ไม่เห็นการโกงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม ต่างกับถ้าหากเลือกประเภทที่หนึ่ง คือปล่อยให้มีการโกงเกิดขึ้นในสังคม โดยอ้างว่าโกงไปแล้วทำงานเป็น เอาไปคนเดียว 80 ให้คืนมา 20 แต่ก็ทำคืนอีก 4 เท่าขึ้นมาเป็น 100 ได้ ในระยะสั้น ทางเลือกนี้อาจจะดีกว่าทางเลือกที่สอง แต่ถ้าหากมองให้ไกลไปกว่านั้น คนที่โกง มีหรือที่จะโกงอยู่เท่านั้น? สังคมที่ส่งเสริมคนโกง มีหรือที่จะไปได้ไกล?
       
       ลองนึกในทางกลับกัน สังคมที่ส่งเสริมให้คนที่คิดดีได้ปกครองบ้านเมืองถึงแม้จะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไป แต่น้ำพริกนั้นก็ยังตกแก่ส่วนรวมทั้งหมด ถามว่าสังคมที่มีแต่คนดีในที่สุดแล้วจะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือที่จะหาคนเก่งมาปกครองบ้านเมืองและลองนึกดูเมื่อถึงวันนั้นคนที่ทำงานเก่งก็จะสามารถทำเงิน 100 มาเป็น 400 ได้ เชียวนะ
       
       Homo sapiens ไม่ได้มีวิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ จากการสนับสนุนและยอมรับคนโกงในสังคม ผมเชื่อเช่นนั้น หรือถ้าใครอยากลงลึกละเอียดขึ้นแนะนำหนังสือเรื่อง Selfish Gene ของ Richard Dawkins อ่านแล้วการมองโลกของคุณจะเปลี่ยนไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 พฤศจิกายน 2554