ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไม “โอกินาวา” จึงเป็นแหล่งรวม “คนอายุ 100 ปี” มากที่สุดในโลก  (อ่าน 825 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
มีคนถาม นพ.แอนดรู ไวล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแบบองค์รวมว่า “ทำอย่างไร เราจึงจะมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรค และอายุยืน 100 ปี”
       
       หมอไวล์ตอบว่า การมีสุขภาพดี เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยเสาหลักสุขภาพ 5 ต้น กล่าวคือ
       
       1. การกินอาหารให้ถูกต้อง กินอาหารที่มีพืช ผักผลไม้ เป็นส่วนใหญ่ กินเนื้อสัตว์ปานกลาง กินไขมัน แป้ง น้ำตาล ให้น้อย
       2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
       3. ฝึกเทคนิคเพื่อลดความเครียด
       4. ให้มีสังคมอยู่กันแบบกลุ่มเกื้อกูล ไม่อยู่แบบโดดเดี่ยว
       5. ให้ปฏิบัติธรรม เช่น ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไหว้พระ สวดมนต์ ไปวัด ฝึกสมาธิ ฝึกการเจริญสติ เป็นต้น
       
       เสาหลักสุขภาพเหล่านี้ มาจากงานวิจัยทางการแพทย์ พบว่า ปัจจัยเหล่านี้มีผลดีต่อสุขภาพ ช่วยให้สุขภาพดี ไม่เป็นโรค และอายุยืน (www.youtube.com/andrew weil/five pillars of good health)
       
       ปัจจุบัน คนในโลกนี้มีอายุยืนขึ้นมาก อายุเฉลี่ยก็สูงขึ้น จากการจัดอันดับอายุเฉลี่ยคนในประเทศต่างๆ ของสำนักข่าวกรองกลาง สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2550 ดังนี้
       
       คนโมนาโก อายุเฉลี่ยสูงสุด คือ 89.68 ปี คนมาเก๊า 84.43ปี คนญี่ปุ่น 83.91 ปี คนสิงค์โปร์ 83.75 ปี คนซานมาริโน 83.03 ปี สำหรับประเทศไทย ประชากรอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 73.83 ปี เป็นอันดับที่ 114 จาก 222 ประเทศ (www.thaihealth.co.th)
       
       นอกจากนั้น ตัวเลขขององค์การสหประชาชาติ สำรวจในปี ค.ศ. 2012 มีคนอายุ 100 ปีขึ้นไปทั่วโลก316,600 คน ที่ยังมีชีวิตอยู่ กระจายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น อเมริกา 53,364 คน ญี่ปุ่น 51,376 คน จีน 48,921 คน บราซิล 23,760 คน อิตาลี 12,756 คน อังกฤษ 12,640 คน ฝรั่งเศส 20,160 คน นี่เป็นการสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 2010-2013 (www.Wikipedia.org/centenarian)
       
       สำหรับในประเทศไทยเราก็มีคนอายุยืนเกิน 100 ปีอยู่ประมาณ 2,000คน (www.thaicentenarian.mahidol.ac.th) นับว่ามากอยู่เหมือนกัน
       
       บรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ นักมานุษยวิทยา มีความสนใจว่า คนเหล่านี้มีวิถีชีวิตหรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้อายุยืนได้ถึงร้อยปี
       
       ดังนั้น จึงมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ทำการศึกษาวิจัยในคนกลุ่มนี้ ที่เรียกว่า “คนร้อยปี” หรือ “ศตวรรษิกชน” อย่างกว้างขวาง
       
       ขอยกตัวอย่างโปรแกรมของประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “โอกินาวาโปรแกรม” ซึ่งได้ทำการศึกษาคนร้อยปี บนเกาะโอกินาวา อันเป็นแหล่งที่มีคนอายุ 100 ปีมากที่สุดในโลก
       
       คนญี่ปุ่นเป็นเชื้อชาติที่มีคนอายุยืนยาวที่สุดในโลก มีคนอายุ 100 ปี จำนวน 50 คนต่อประชากร 100,000คน ในขณะที่อเมริกามี 10-20คนต่อประชากร 100,000คน ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนรวมใกล้เคียงกันคือ ราว 50,000คนเศษ
       
       จริงๆแล้ว คนอายุ 100 ปี ก็มีทั่วไปในญี่ปุ่น แต่ที่มีหนาแน่นก็คือเกาะโอกินาวา ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เกาะนี้อยู่ห่างจากฝั่ง 360ไมล์ ห่างจากกรุงโตเกียว 1,000ไมล์ ภูมิอากาศอบอุ่น มีชายหาดยาวตลอด ปกคลุมไปด้วยต้นปาล์ม
       
       กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้ให้ทุนเพื่อศึกษาเรื่องคนร้อยปี เพื่อที่จะได้ทราบถึงปัจจัยที่ทำให้คนอายุยืน โดยมี ดร.มาโกโตะ ซูซูกิ (Makoto Suzuki) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาคนร้อยปี ของมหาวิทยาลัยโอกินาวา (Okinawa Cetenarian Study, www.okicent.org) ร่วมวิจัยกับทีมของ ดร.เบรดลี่ วิลค็อก และ ดร.เคร็ก วิลค็อก แพทย์ชาวแคนาดา พี่น้องฝาแฝด ซึ่งได้รับทุนจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมวิจัยในโครงการศึกษาคนร้อยปีที่โอกินาวา
       
       โครงการนี้เป็นการศึกษาวิจัยต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 36 ปี ทำให้ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆจำนวนมาก ดังนี้
       
       1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม พบว่า คนร้อยปีชาวโอกินาวา ก็มีลูกหลาน หรือพ่อแม่ของเขาก็มีอายุยืนด้วยเหมือนกัน ปัจจัยทางกรรมพันธุ์จึงมีผลให้อายุยืน ร้อยละ 25
       
       นอกจากนั้น เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ร้อยละ 75 เช่น อาหาร การออกกำลังกาย ด้านสังคม ด้านการเกื้อกูลทางจิตใจก็มีส่วนทำให้คนโอกินาวาอายุยืน
       
       2. อาหารของชาวโอกินาวา จำพวกพืชผักผลไม้ เช่น หัวไช้เท้า กระเทียม ต้นหอม กล่ำปลี ขมิ้น มะเขือเทศ เครื่องเทศ เป็นต้น รวมทั้ง เต้าหู้ เห็ด ข้าวไม่ขัดขาว เผือก มันฝรั่ง ถั่ว สาหร่ายทะเล ปลาทะเล และเนื้อแดงไม่มาก
       
       คนโอกินาวายึดถือหลักที่เรียกว่า “ฮาระ ฮาจิ บุ” คือ กินแค่อิ่มก็พอ ส่วนใหญ่เขาจะปลูกพืชผักผลไม้กินเอง ดื่มชา ดื่มสาเกผสมสมุนไพร อาหารเหล่านี้ให้พลังงานต่ำ เมื่อเจาะเลือดตรวจดูพบว่า คนที่นี่มีสารอนุมูลอิสระในเลือดค่อนข้างต่ำ
       
       3. คนโอกินาวาเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ในอัตราที่ต่ำ และมีไขมันในเลือดต่ำมาก เมื่อเทียบกับคนในโลกตะวันตก
       
       นอกจากนั้นโรคสมองเสื่อม ความจำเสื่อม หรือกระดูกบาง และกระดูกสะโพกหักในคนสูงอายุ ก็พบน้อย
       
       4. คนโอกินาวามีรูปร่างผอมบาง ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18-22 ซึ่งถือว่าน้อย เพราะพวกเขากินอาหารพลังงานต่ำจำนวนน้อย และทำงานในอาชีพตลอดชีวิต มีการเคลื่อนไหว เดินออกกำลังกายในตอนเช้า ไม่ค่อยอยู่บ้านเฉยๆ อันนี้เป็นจุดเด่น
       
       5. คนโอกินาวาจะทำสวนผักผลไม้ไว้กินเอง การทำสวนทำให้เขาได้ออกกำลังกาย ได้รับแสงแดดซึ่งให้วิตามินดี ทำให้กระดูกไม่บาง ไม่หักง่าย พวกเขามีผักผลไม้ไว้รับประทาน ช่วยให้ได้วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ป้องกันมะเร็ง
       
       6. สตรีสูงอายุที่นี่ มีอาการในวัยทองต่ำ อาจจะเนื่องจากกินอาหารพวกเต้าหู้ ผักผลไม้ ถั่ว ซึ่งทำให้ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งมีอยู่สูงในสารอาหารเหล่านี้
       
       เมื่อเจาะเลือดพบว่า ชาวโอกินาวาสูงอายุมีฮอร์โมนเพศหญิง เพศชาย และDHEA มากกว่าชาวอเมริกัน ฮอร์โมนเหล่านี้ช่วยให้แก่ช้าลง กล้ามเนื้อมีกำลัง ไม่ลีบ ผมไม่หงอกเร็ว ไม่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเร็ว ผิวหนังไม่เหี่ยวเร็ว เสียงไม่แหบ
       
       สุภาพสตรีที่เกาะแห่งนี้มีการออกกำลังกายแบบพื้นเมือง เช่น เต้นรำ การฝึกวิชาต่อสู้ป้องกันตนเองแบบดั้งเดิม ทำสวน เดินเล่น เป็นประจำ อันนี้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
       
       คนร้อยปีที่โอกินาวา ร้อยละ 90 เป็นเพศหญิง สามารถช่วยตนเองได้ ในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ดี ความจำยังดีมาก เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตสูง
       
       7. ในด้านจิตใจ พบว่า คนโอกินาวามีชีวิตที่เรียบง่าย เชื่องช้า ไม่รีบร้อนไปไหน อยู่และทำงานที่บ้าน คนโอกินาวาเรียกว่า “เทเก” คือ ง่ายๆ สบายๆ
       
       คนที่นี่ไม่ค่อยมีความทะเยอทะยานอะไรมากนัก ซึ่งต่างกับบุคลิกชาวตะวันตก ที่เรียกว่า “บุคลิกแบบเอ” คือ บุคลิกรีบเร่ง ชอบแข่งขัน ไม่อดทน ไม่เป็นมิตร เครียดง่าย รอนานๆไม่ได้ มีความทะเยอทะยานสูง อันเป็นบุคลิกของคนที่เป็นโรคหัวใจ และโรคเรื้อรังต่างๆได้มาก ซึ่งนพ.เฟรดแมน และโรเซนแมนด์ เคยทำวิจัยไว้
       
       ถึงแม้ปัจจุบันศาสนาจะมีบทบาทน้อยในวิถีชีวิตของชาวโอกินาวา แต่ก็ยังมีความเชื่อและพิธีกรรมเก่าแก่ให้เห็น เช่น พิธีสวดให้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะช่วยให้พวกเขามีความสุข ไม่เจ็บป่วย และอายุยืน พวกเขาเชื่อว่า เทพเจ้าและบรรพบุรุษกำลังมองดูพวกเขาและคอยช่วยเหลืออยู่
       
       คนโอกินาวานอกจากสวดมนต์เป็นประจำแล้ว ยังมีแนวคิดดั้งเดิม ที่เรียกว่า “ยุยมารุ” คือ การแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น มีการรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายบำบัด ให้ความช่วยเหลือในด้านสังคม ด้านการเงิน ความเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กำลังใจเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
       
       การรวมกลุ่มแบบนี้เรียกว่า “โมเอะ” คือ การรวมกลุ่มมิตรภาพเพื่อช่วยเหลือกันเกื้อกูลในด้านต่างๆ
       
       นพ.มาโกโตะ ซูซูกิ เป็นศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจ และผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคนร้อยปีโอกินาวา มหาวิทยาลัยนานาชาติโอกินาวา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ญี่ปุ่น
       
       โครงการนี้ทำงานวิจัยต่อเนื่องมา 36 ปี นพ.ซูซูกิมีผลงานวิจัยไม่น้อยกว่า 200 ชิ้น รวมทั้งเขียนหนังสือ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติมากมาย
       
       • นพ.เคร็ก วิลค็อก เรียนจบปริญญาตรีทางด้านมานุษยวิทยาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยแคลกาลี แคนาดา จบปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์ และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยริวกิว ญี่ปุ่น จบปริญญาเอกด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโทรอนโต แคนาดา
       
       เขาสนใจทำวิจัยในผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เช่น นิเวศน์วิทยา พันธุกรรม วิถีชีวิต โภชนาการของผู้สูงอายุ
       
       ปัจจุบัน เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนานาชาติ โอกินาวา เขาเข้าร่วมในการทำวิจัยคนร้อยปี โอกินาวา มีผลงานวิจัยและเขียนหนังสือในด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุจำนวนมาก รวมทั้งร่วมเขียนหนังสือ The Okinawa Program ซึ่งเป็นหนังสือขายดีที่สุด ของนิวยอร์ค ไทม์ ในปี 2001
       
       • นพ.เบรดลี่ วิลค็อก เป็นผู้อำนวยการร่วมในการทำวิจัยโครงการคนร้อยปีโอกินาวา มหาวิทยาลัยโอกินาวา ซึ่งได้รับทุนจากกระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา
       
       เขาจบปริญญาตรีและโทด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลกาลี แคนาดา จบแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต และมาต่อทางด้านอายุรศาสตร์ที่เมโยคลินิก และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
       
       เขาทำวิจัยในผู้สูงอายุ ในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านโภชนาการ และที่โดดเด่นคือเรื่องคนร้อยปี ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลวิจัยทางวิชาการแพทย์มากมาย
       
       ปัจจุบัน เขาเป็นรองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์การแพทย์ควีน ฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา
       
       ท่านสามารถดูรายละเอียดผู้วิจัยและโครงการวิจัยได้ใน www.orcls.org และฟังคำบรรยายใน www.youtube.com/Dr.Bradley willcox on the longevity of Okinawans และเรื่อง The secrets of long life in Okinawa, เรื่อง Part 1 How to live to 101 BBC Horizon.
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 มีนาคม 2557