ผู้เขียน หัวข้อ: คลังยกเลิกเบิกค่า"ยาข้อเสื่อม" อ้างไม่คุ้มค่า ไม่มีงานวิจัยรองรับผลการรักษา มีผลตั้งแต่1พ.ย.55  (อ่าน 903 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงการคลังส่งหนังสือแจ้งหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ยกเลิกเบิกค่า "ยากลูโคซามีนซัลเฟต" อ้างไม่คุ้มค่า ไม่มีงานวิจัยรองรับผลการรักษา

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว116 เรื่องการห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยารักษาอาการข้อเสื่อม ถึงหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ทั่วประเทศ เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า 1.กลุ่มยากลูโคซามีนเป็นยาที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติไม่คัดเลือกบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ 2.เอกสารวิชาการที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยจัดส่งให้พิจารณาไม่มีข้อมูลใหม่ที่สามารถหักล้างเอกสารงานวิจัยและข้อสรุปของคณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ ภายใต้คณะกรรมการที่ได้มีการรวบรวมและมีข้อสรุปว่ากลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมมีประสิทธิผลในการรักษาไม่ชัดเจน และไม่มีความคุ้มค่าพอที่จะให้เบิกจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
 
3.ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ ได้ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของยากลุ่มกลูโคซามีนแล้วมีข้อสรุปว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีอนุรักษ์ที่มีความคุ้มค่าทางอรรถประโยชน์ ได้แก่ การบริหารข้อเข่า แอโรบิก ส่วนการให้ยากลูโคซามีนซัลเฟตนั้น พบว่ามีต้นทุนสูงกว่า 3 เท่าของรายได้ประชากรไทยต่อคนต่อปี ยังไม่มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย จึงมีมติให้ยกเลิกการผ่อนคลายการเบิกค่ายาดังกล่าว จากเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นสมควรยกเลิกการผ่อนคลายการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต และไม่ให้แพทย์ผู้รักษาออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีสิทธินำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกเงินจากส่วนราชการต้นสังกัด โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกระทรวงการคลังได้กำหนดให้ยากลูโคซามีนซัลเฟตเป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวน กระทรวงการคลังจึงให้ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมภายในระยะเวลา 1 เดือน และระหว่างที่รอผลการศึกษากระทรวงการคลังได้ผ่อนคลายให้ผู้มีสิทธิสามารถเบิกจ่ายค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต โดยผู้ป่วยจ่ายเงินไปก่อนแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจากต้นสังกัด กระทั่งล่าสุดมีมติให้ยกเลิกการเบิกจ่ายยาดังกล่าว