ผู้เขียน หัวข้อ: เฉลี่ยฆ่าตัวตายปีละ35นาย!! วิกฤตเจ้าหน้าที่สีกากี จาก “ตำรวจ” สู่ “ผู้ป่วยจิตเวช  (อ่าน 14 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “ตำรวจไทยฆ่าตัวตาย” ถึง 173นาย!! ส่องปัญหา อะไรทำให้เจ้าหน้าที่สีกากีต้องเผชิญกับปัญหา “สุขภาพจิต”

เครียด-ซึมเศร้า-ทำร้ายตัวเอง

“สภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว พร้อมกลับมาทำหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง” คืออัปเดตล่าสุดจาก “ส.ต.ต.หญิง คนธรส” เจ้าของเรื่องราว Talk of The Town จากก่อนหน้านี้ที่ออกมาโพสต์ตัดพ้อและเผยความจริงของชีวิตว่า “หลังจากเป็นตำรวจได้ 1 ปี”ตอนนี้เปลี่ยนสภาพกลายเป็น “ผู้ป่วยจิตเวช”

แล้วเคสนี้สะท้อนถึงเบื้องหลังการฝึก บวกกับเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เข้ามากระทบใจ จนผลักให้เธอกลายเป็น “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”ซึ่งหลังได้รับความช่วยเหลื่อจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หนุนให้เธอเข้ารับการรักษา เจ้าตัวก็อาการดีขึ้นจนออกมาโพสต์อัปเดต


“หากใครที่รู้สึกเศร้า รู้สึกเหมือนจะป่วย รู้สึกดาวน์ ไม่ต้องกลัวหรืออายอะไรเลยนะคะ เราไม่ได้ผิดเลยค่ะที่เป็นแบบนี้ ไปหาคุณหมอกันเถอะค่ะ คุณหมอใจดีมากๆ เลยนะคะ ร่างกายเราป่วยกันได้ เดี๋ยวก็หายได้น้า ต้องใช้เวลาหน่อย”

จากแรงกระเพื่อมของเคสนี้ ทางทีมข่าวจึงลองย้อนรอยสถิติ “การตรวจสุขภาพจิตประจำปีของข้าราชการตำรวจ” ปี 66 พบว่า ตำรวจมี “ภาวะซึมเศร้ารุนแรง”196 นาย “ภาวะเครียดรุนแรง”1,552 นายและ “เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง”ถึง 315 นาย


ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เมื่อลองย้อนข้อมูลจาก “สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” กลับไป 5 ปีตั้งแต่ปี 62-67 พบว่ามี “ตำรวจฆ่าตัวตาย” ถึง 173 นายแล้ว ถ้าเอามาเฉลี่ยกับจำนวนปี เท่ากับว่าหมายถึงยอด “ปีละ 35 คน” เลยทีเดียว

และข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิต ปี 66 นี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ตำรวจที่“เริ่มมีภาวะเครียด”มีอยู่ 12,000 กว่านาย และ “เริ่มมีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย”ถึง 13,000 กว่านายเลยทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.เกริกกมล แย้มประยูร หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ช่วยวิเคราะห์ตามคำขอของทีมข่าวเอาไว้ เพื่อให้เห็นแรงผลักของสถิติที่น่าเป็นห่วงเหล่านี้

ระบุชัดว่า ปัญหาสุขภาพจิตของตำรวจไทย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มโรคใหญ่ๆ คือ “ความเครียดกังวล ปัญหาการปรับตัว”และ “ภาวะซึมเศร้า” ส่วนต้นตอปัญหาสุขภาพจิตนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

“ลักษณะงาน” ปัญหาที่อาชีพตำรวจต้องเจอคือ ขอบเขตงานที่กว้างและหลากหลาย ภาระงานที่มาก ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า รวมไปถึงการได้รับมอบหมายงานที่ตัวเองไม่ถนัด ก็ส่งผลให้เครียดได้

“ความสัมพันธ์”ไม่ว่าจะกับเพื่อนรวมงาน, ผู้บังคับบัญชา, ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การถูกเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ, ถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชา หรือแม้แต่ความขัดแย้งในครอบครัว ก็ส่งผลต่อปัญหานี้

และสุดท้ายคือ “ปัญหาการเงิน” ทั้งปัญหาหนี้สิน, รายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อย่างที่เคยได้ยินมากับหูหลายต่อหลายครั้ง

“จากตำรวจที่เป็นคนไข้นะครับ พอหน้างาน งานเขาเยอะมาก เขาไม่เหลือเวลาเลย เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่ภารกิจหลักก็เต็มอยู่แล้ว มันก็ไม่เหลือเวลาในการหารายได้เสริม”

และยังบอกอีกว่า ”ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ มักเกิดกับบุคลากรที่อยู่หน้างาน”ซึ่งลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับข้าราขการตำรวจชั้นประทวน, รองสารวัตร และสารวัตร ไล่ระดับกันมา

“ส่วนหนึ่งผมคิดว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะปัญหาส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับหน้างานเสียมากกว่าระดับสั่งการ”

ตรวจประจำปี ยังไม่ดีเท่าช่วยสังเกต

ส่วนผลสถิติ “ตำรวจที่จบชีวิตตัวเอง”ตั้งแต่ปี 62-67 ที่มีมากถึง 173 นายนั้น หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดรายเดิม ได้เผยคำอธิบายที่น่าตกใจว่า สถิติการฆ่าตายตัวตาย “ตำรวจมีโอกาสทำสำเร็จมากกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า เพราะเขามีอาวุธปืน”

นำมาสู่อีกคำถามคือ “องค์กรตำรวจ” มีการเข้าไปดูแลหรือตรวจสอบ “สุขภาพจิตของตำรวจ” มากน้อยแค่ไหน? คำตอบที่ได้คือ มีการทำ “แบบทดสอบเบื้องต้น”จากนักจิตวิทยา ตั้งแต่ตอนคัดเลือกเข้ามารับราชการแล้ว ซึ่งถ้าพบว่าเข้าข่าย จะส่งให้จิตแพทย์วินิจฉัย

นอกเหนือจากนั้น จะเป็นการตรวจอีกแบบคือ “การตรวจสุขภาพประจำปี” เน้นที่ประเมินสุขภาพจิตเรื่องความเครียด, ภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม “แบบทดสอบ” ก็ยังมี “ข้อด้อย” อยู่คือ “จะประเมินได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-4 สัปดาห์” และไม่สามารถประเมินสุขภาพจิตทุกๆ เดือนได้ ด้วยตำรวจมีจำนวนเยอะ “มันก็เป็นภาระ ต่อบุคลากรทางด้านจิตวิทยา”

การแก้ปัญหาจุดนี้คือการประชาสัมพันธ์กับว่า “ตำรวจต้องช่วยสังเกตกันเอง”คนที่ใกล้ชิด ผู้บังคับบัญชา เพื่อนตำรวจ หรือครอบครัว “ตรงนี้จะทำให้อัปเดตอาการสุขภาพจิตได้มากกว่าแบบทดสอบ”

“ถ้าคนใกล้ชิดสามารถสังเกตได้ ในเรื่องของความคิด ความรู้สึก อารมณ์ พฤติกรรมที่ดูแปลกไป ถ้าเห็นว่าผิดสังเกต อย่างน้อยๆ ให้ปรึกษาผู้รู้”

โดยทุกวันนี้ ทางโรงพยาบาลตำรวจเปิดช่องทางให้ปรึกษาได้แล้ว ทั้งผ่านแฟนเพจ “Depress We Care” เพื่อดูแลให้คำปรึกษาสุขภาพจิตตำรวจและครอบครัว รวมถึงสายด่วน 24 ชม.“08-1932-0000”

ในภาพใหญ่ “ตำรวจทั้งประเทศมีกว่า 2 แสนนาย” การจะดูแลสุขภายจิตให้ครอบคลุมนั้น เรื่องสำคัญคือความเข้าใจเรื่อง “การดูแลสุขภาวะทางจิต” ที่จะสังเกตตัวเองและคนอื่นได้

“เมื่อเราสามารถตรวจสอบได้ ก็อย่าลังเลที่จะมาเข้ารับการปรึกษา หรืออย่างน้อยๆ ส่งข้อมูลมาปรึกษาจิตแพทย์เบื้องต้นก็ได้ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะเกิดปัญหารุนแรง แล้วไปก่อเหตุทั้งกับตัวเองหรือคนอื่นครับ”

มีช่องทางแต่ “ไม่กล้าเข้าไป”

ที่น่าเป็นห่วงคือ ถึงแม้ว่าจะมีการให้บริการ “Depress We Care” แต่กลับมีตำรวจเข้าไปใช้บริการกันน้อย สวนทางกับยอดตำรวจที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต
ส่วนเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เป็นอย่างนั้น พ.ต.อ.เกริกกมล วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะก่อนหน้านี้ ปัญหาสุขภาพจิตยังมีมายาคติที่ว่า การที่คนอื่นรู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องพวกนี้ จะทำให้เขารู้สึกโดนตีตรา และถูกแบ่งแยกออกจากยังสังคม

“ก่อนหน้านี้ก็จะมีประเด็นนี้อยู่ ที่ทำให้เขาไม่อยากเข้ามา ซึ่งจริงๆ มันมีช่องทางให้เข้าถึง แต่ก็ไม่เดินเข้ามารับบริการสุขภาพจิต เพราะกลัวปัญหาด้านนี้”

แต่หลังรับรู้ถึงปัญหานี้ก็ได้มีสร้างความรู้เกี่ยวเรื่องสุขภาพจิต ลงไปในหลัก “สูตรอบรมตำรวจ” และเพิ่มเข้าไปในเนื้อหาการเรียนการสอน ทั้งในวิชาของนักเรียนร้อยและนักเรียนนายสิบว่า...

“ตรงนี้มันก็เหมือนโรคทางกายเนอะ จะต้องมีการตรวจวินิจฉัย ต้องได้รับการรักษา ยิ่งรักษาเร็วก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้นก็อย่าไปแบ่งแยก อย่าไปตีตราเขา”

อีกปัญหาหนึ่งที่ทำ “ตำรวจ” หรือแม้แต่ “ประชาชน” เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้น้อย คือ “บุคลากร” อย่าง หมอหรือนักจิตวิทยาที่มีจำนวนน้อย “ความไม่เพียงพอของบุคลากร ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งของเรื่องนี้”

การเพิ่มการเข้าถึงบริการ ทั้งช่องทางและจำนวนหมอ จึงเป็นอีกทางออกหนึ่ง แต่กูรูรายเดิมก็ยังมองว่า การจะแก้ปัญหาสุขภาพจิตของตำรวจนั้น “อาจต้องกลับไปมองที่ตัวตั้งต้นของปัญหา”

“ปริมาณงาน” ถ้ามีการจำกัดขอบเขตงานที่จะชัดเจน เพื่อลดภาระงาน หรือมอบหมายงานที่ตรงตามความถนัด การแบ่งงานที่ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ส่วนนี้ก็จะช่วยลดความเครียดที่ส่งต่อสุขภาพจิตใจได้

ส่วนเรื่อง “ปัญหาการเงิน” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีนโยบายทั้งจากสหกรณ์และสถาบันทางการเงิน ให้ความช่วยเหลื่อจัดการ “หนี้สิน” และยังมีการเปิดให้ความรู้เรื่อง “การจัดการเงิน” ให้ตำรวจด้วย



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
25 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์