ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ดันไทยเป็นผู้นำการแพทย์ดั้งเดิม ในอาเซียน  (อ่าน 1429 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สธ.หนุน พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมในภูมิภาคอาเซียน   เผยในปี 2552  มีการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลสูงเกือบ 400  ล้านบาท   ขณะกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ เร่งเดินหน้าสูตรยาสมุนไพรไทย กว่า 2 พันตำรับ ก่อนอบรมสู่แพทย์พื้นบ้าน-แพทย์แผนปัจจุบัน   
       
       วันนี้  (22 ส.ค.)  ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กทม.  นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.วิลาวัณย์  จึงประเสริฐ  อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “ยาไทย เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี Herb  for All”  ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2554 ที่อิมแพ็ค  เมืองทองธานี
       
       โดย นายวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นมายาวนาน และมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์แผนไทย ที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ คือ เรื่องการนวดไทย และยาไทย มีชาวต่างชาติจำนวนมากลงทุนบินมาเรียนนวดไทย นำความรู้ไปเขียนตำราไปสอน ส่วนยาไทยมีหลายตำรับที่ทำให้ต่างชาติรู้จักคนไทยดีขึ้น เช่น เปลือกมังคุด ราชินีแห่งผลไม้ไทย ที่เราใช้มานาน ต่างชาติเพิ่งวิจัยพบว่าเปลือกมังคุดของไทยมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือฤทธิ์ต้านมะเร็งสูงที่สุด หรือกรณีของเปล้าน้อยที่นำไปพัฒนาเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร       
       
       นายวิทยา กล่าวว่า ในปี 2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะมีการรวมตัวกัน ซึ่ง  เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ดั้งเดิมหรือการแพทย์แผนไทย ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมในภูมิภาคอาเซียนได้  ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพให้คนไทยอายุยืน การฟื้นฟูสุขภาพ  รวมทั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาสมุนไพรเป็นยารักษาโรค หรือใช้เป็นเครื่องสำอางดูแลความสวยความงาม ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูง เนื่องจากไทยมีความพร้อมทางด้านวิชาการ บุคลากร มีหมอพื้นบ้านจำนวนมากที่มีประสบการณ์ และมีสมุนไพรจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องพัฒนาแบบบูรณาการ ระดมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทั้งรัฐเอกชน ประชาชน  เพื่อให้เกิดมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ  ขณะนี้ไทยได้บรรจุยาสมุนไพรเข้าในรายการยาบัญชียาหลักแห่งชาติใช้รักษาโรคเหมือนยาแผนปัจจุบันในสถานพยาบาลทั่วประเทศ  จากเดิมมี 19 รายการ เป็น 71 รายการ ในปี 2554
       
       ทั้งนี้ จากการติดตามประเมินผลสถานการณ์ด้านการแพทย์แผนไทยล่าสุดในปี 2552  ในด้านการพัฒนาและการใช้ยาสมุนไพร   ไทยมีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณทั้งหมด 12,025 ตำรับ  ร้อยละ 99  เป็นยาใช้ในคน ส่วนใหญ่เป็นยาเม็ด ยาผง ยาน้ำ  โดยสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคมูลค่ารวม 391 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 2 ของยาแผนปัจจุบันที่ใช้ทั้งหมด 20,000 กว่าล้านบาท ส่วนด้านบริการด้วยการแพทย์แผนไทย มีสถานพยาบาลภาครัฐให้บริการทั้งหมด 2,521 แห่ง มีผู้รับบริการทั้งหมด 12 ล้านกว่าคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของผู้รับบริการทั้งหมด  โดยร้อยละ 59 ใช้ยาสมุนไพรรักษา อีกร้อยละ 35 เป็นการนวดเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและเพื่อการรักษา                                                 
       
       พญ.วิลาวัณย์  จึงประเสริฐ  อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 จัดที่อาคาร 7-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เริ่มเวลา 10.00-20.00 น. ใช้งบลงทุน 33 ล้านบาท   เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและได้สัมผัสการใช้การแพทย์ดั้งเดิมและสมุนไพรเพื่อการดูแลตนเอง  ซึ่งมหกรรมครั้งนี้จะทำให้ไทยบรรลุวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมได้รวดเร็วขึ้น   กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การประชุมวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย  การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก  นิทรรศการยาไทย  ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ  ยาไทยทุกภาค หลากตำรับ  ตรวจสุขภาพเด็ก  วัยรุ่น ผู้หญิง  ผู้ชาย  และผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย  แผนจีน  และแพทย์ทางเลือก  อบรมระยะสั้นมากกว่า 40 หลักสูตร เช่น การทำลูกประคบ สีผึ้งสมุนไพร แชมพู และยาสีฟันสมุนไพร  ผลิตภัณฑ์สปา  การทำชันตะเคียน  การนวดตนเอง
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกัน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ มีการจัดเสวนาเรื่อง “ยาไทยลดการใช้ยานอกได้จริงหรือ” ที่ รร.โกลเด้น ดรากอน  จ.นนทบุรี  โดย   พญ.วิลาวัณย์  กล่าว  ว่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยาสมุนไพรไทยก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์มากมาย โดยในปี 2554 โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (รพ.สังกัด  สธ.) แทบทุกแห่งมีการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคอย่างแพร่หลาย โดยส่วนใหญ่เป็นยาในรายการบัญชียาสมุนไพรในโครงการรักษาฟรี  71 รายการ ทั้งยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ  พวกยาแก้ไอต่างๆ   ซึ่งสามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันได้ประมาณร้อยละ 5  และคาดว่า จะสามารถกระตุ้นการใช้ยาสมุนไพรจนทดแทนยานำเข้าได้ถึงร้อยละ 25 ภายในเวลา  5 ปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 สิงหาคม 2554