แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 481 482 [483] 484 485 ... 536
7231
แพทย์ รพ.ปทุมธานีเผยเหตุที่เด็กเสียชีวิตจากไส้ติ่งแตก เป็นเพราเด็กอ้วนจึงยากที่จะตรวจหาสาเหตุพบในครั้งแรก แต่เมื่อครั้งสามพบอาการแต่ก็สายเสียแล้ว ทาง รพ.ได้เยียวยาให้กับทางญาติ ตามมติของทางแพทย์ และ กม. ...

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่โรงพยาบาลปทุมธานี นำโดย นพ.สุรัตน์ สุขประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการ รพ.ปทุมธานี ได้เชิญนางสาวสุดารัตน์ นิมสันเทียะ อายุ 35 ปี พร้อมด้วยนางเตียง แซ่เจี่ย อายุ 52 ปี และญาติ เดินทางเข้าพูดคุยถึงปัญหาที่ห้องประชุมของทางโรงพยาบาลโดยนำแพทย์ที่ดูแลเด็กตั้งแต่เริ่ม และแพทย์ที่ผ่าตัดเด็ก โดย นพ.สุรัตน์ กล่าวว่า ในกรณีของ ด.ช.ฐิติวุฒิ หรือ น้องฟิวส์ ทองดอนเหมือน อายุ 10 ปี นั้นทางโรงพยาบาลได้เรียกแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้เด็กเข้ามารักษาตัวด้วยอาการปวดท้อง เมื่อตรวจดูก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ เพราะเด็กอ้วนจึงเป็นการตรวจได้ยากว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จึงได้ให้ยาลดกรดไปทาน แต่เมื่อเด็กเข้ามารักษาตัวเป็นครั้งที่ 2 ทางแพทย์จึงได้ทำการเอ็กซเรย์ แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ จึงให้เดินทางกลับบ้านได้ จนเมื่อวันที่ 9 ส.ค.เด็กได้เข้ามารักษาตัวอีกรอบด้วยอาการปวดท้องและอาเจียน ทางแพทย์จึงได้ทำการตรวจอย่างละเอียดอีกรอบ จนพบว่าเด็กมีอาการไส้ติ่งอักเสบ และแพทย์จึงได้ทำการเตรียมการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

จนเมื่อเวลา 13.00 น. แพทย์ได้พาตัวน้องฟิวส์ เข้าทำการผ่าตัด แต่ก็ไม่ทันเพราะไส้ติ่งแตกแล้ว และมีการหนองไหลเข้าไปในช่องท้อง และกระแสเลือด ทำให้เด็กเกิดอาการติดเชื้อในกระแสเลือด จนเด็กเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งในการนี้ทางแพทย์ได้พูดเรื่องนี้ให้ทางญาติได้เข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว และทางโรงพยาบาล ก็จะรับดำเนินการเยียวยาให้กับทางญาติ ตามมติของทางแพทย์ ตามาตรา 41 ก่อนที่ทางญาติจะเข้าใจ และเดินทางกลับ.

ไทยรัฐออนไลน์ 11 สค 2554

7232

โดย คณะทำงานจัดทำคู่มือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน
การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน

๑ ความเป็นมา   

การจัดระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนนั้นจำเป็นต้องมีบุคลากรที่เหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณ ทักษะ การกระจาย และมีแรงจูงใจที่จะปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตามปัญหาการกระจายบุคลากรอย่างเป็นธรรมระหว่างเมืองและชนบท และระหว่างภาครัฐและเอกชนของวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องได้รับการแก้ไขที่เร่งด่วน แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาการธำรงอยู่ในภาครัฐของบุคลากรสาธารณสุขโดยใช้มาตรการต่างๆ ได้แก่ การเพิ่มการผลิต  การบังคับใช้ทุนในการให้บริการภาครัฐ มาตรการการเงิน และมาตรการแรงจูงใจต่าง ๆ ที่ไม่เป็นตัวเงินต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายออกจากระบบบริการภาครัฐยังคงมีอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวิชาชีพแพทย์  อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของมาตรการต่างๆ ได้รับการมองว่าเป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองกับปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะประเด็น ขาดการมองอย่างเชื่อมโยง และเป็นมาตรการที่กำหนดจากส่วนกลาง ขาดการปรับเพื่อใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้งบประมาณที่จำกัด สถานบริการจำเป็นจะต้องเพิ่มผลิตภาพการทำงานของกำลังคนของหน่วยบริการ  และสามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อเป้าหมายขององค์กร ประกอบกับ ค่าตอบแทนของภาครัฐซึ่งแตกต่างจากภาคเอกชนเป็นอย่างมากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสมองไหล (internal brain drain) ของบุคลากรสาธารณสุขจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน  จากพื้นที่ยากลำบากไปสู่พื้นที่เขตเมือง จากพื้นที่ที่มีงานมากไปสู่พื้นที่ที่มีงานเบากว่า  ถึงแม้ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามในการปรับค่าตอบแทนของบุคลากรในหลายรูปแบบเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การปรับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ การออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนในพื้นที่ทุรกันดารและการไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว และการแก้ไขระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้น ในปี๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนในส่วนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายใหม่ โดยมีการปรับเพิ่มอัตราการจ่ายในทุก ๆ พื้นที่ และยังเพิ่มหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างกันตามระดับโรงพยาบาล และระยะเวลาการปฏิบัติงานของบุคลากรในพื้นที่นั้นด้วย ตัวอย่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับแพทย์ การเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายดังกล่าวได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะอัตราจ่ายที่แตกต่างกันมากระหว่างวิชาชีพและระหว่างพื้นที่ เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยรวม คือ การขอให้มีการปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มที่เห็นว่าตนเองได้น้อยจนเกินไป) หรือขอให้มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้มีการทบทวนเมื่อใช้ไป ๑๕ เดือน (ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๕๓) กระทรวงสาธารณสุขจึงขอชะลอการตัดสินใจทั้งหมด ในปี ๒๕๕๔ กระทรวงสาธารณสุขก็ถูกทักท้วงจากกระทรวงการคลังในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนใหม่

หลักการณ์เบื้องต้น (General  Principle) ในการกำหนดค่าตอบแทนแนวใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๓ ส่วน  แต่ละส่วนมีจุดมุ่งหมายต่างกัน  ดังแสดงในภาพที่ ๑  โดยการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งนั้นเป็นการจ่ายตามประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ในขณะที่จะมีค่าตอบแทนส่วนที่ ๒ ซึ่งจ่ายเพื่อเป็นแรงจูงใจเพื่อดึงดูดและธำรงกำลังคนในพื้นที่พิเศษหรือกันดาร รวมถึงกำลังคนในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน สำหรับค่าตอบแทนส่วนที่ ๓ มีวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงินตามผลการปฏิบัติงานก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ  คุณภาพ ขวัญและกำลังใจซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นรูปธรรม


                        
ภาพที่ ๑ หลักการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

ในส่วนของการจ่ายค่าตอบแทนในส่วนที่ ๓ เป็นการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance) กระทรวงสาธารณสุขได้เคยมีการจัดทำโครงการ “ทดลองจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ pay-for-performance (P4P)” โดยดำเนินการนำร่องที่ โรงพยาบาลพาน จังหวัดเชียงราย และโรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ เป็นต้นมา จากการประเมินผลการทำงานพบว่าสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั้งสองแห่งใช้ศักยภาพของตนเองได้มากขึ้น จึงได้ดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่มเติมในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ สามารถจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานใน โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี โรงพยาบาลพนมสารคาม และโรงพยาบาลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

จากประสบการณ์การดำเนินการในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ผ่านมา ได้เกิดองค์ความรู้ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานในลักษณะแตกต่างกัน แต่ละลักษณะมีจุดเด่นเป็นของตนเอง และเหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ดังกล่าวจัดทำคู่มือฉบับนี้ขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะเสนอแนวทางที่หลากหลาย เพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง

 
๒ หลักการ
การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(Pay for Performance) ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นระบบที่สามารถเพิ่มผลิตภาพการทำงานของกำลังคน และสามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อเป้าหมายขององค์กร ซึ่งการนำมาใช้ในภาคบริการสุขภาพที่เป็น Skill Labour Intensive ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบอย่างรอบคอบ คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อม และผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบอย่างรอบด้าน ทั้งด้านผลลัพธ์ต่อผู้ป่วย ผู้ใช้บริการความสามารถในการจ่ายและความมั่นคงขององค์กร ความพึงพอใจและประสิทธิภาพของกำลังคน รวมทั้งการแข่งขันในตลาดบริการสุขภาพที่เติบโตขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ทั้ง ๔ ปัจจัยดังกล่าว มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ดังแผนภาพ


การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance) เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานแก่บุคลากรด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานประกอบไปด้วย ปริมาณภาระงานและ คุณภาพงาน โดยมีหลักการพื้นฐานดังนี้

๑.   ค่าตอบแทนนี้ เป็นค่าตอบแทนเพื่อการจูงใจ (Incentives) ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ให้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าตอบแทนพื้นฐาน ขนาดของค่าตอบแทนเพื่อการจูงใจที่จะจ่ายนี้ เป็นค่าตอบแทนที่ผันแปรตามผลงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในแต่ละโรงพยาบาล โดยจะมีการจ่ายค่าตอบแทนนี้ภายหลังจากมีการประเมินผลงานแล้ว  
ภาพที่ ๒ กรอบแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน


๒.   การจ่ายค่าตอบแทน โดยยึดหลักพื้นฐานของความเป็นธรรมภายใน หมายถึง การจ่ายให้บุคลากรที่ทำงานมีผลงานเท่ากัน ได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน และจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่าสำหรับบุคลากรที่ทำผลงานได้มากกว่า หรือดีกว่า หรือที่มีความยากมากกว่า ดังนั้น จึงต้องมีการวิเคราะห์งาน และการประเมินค่างานอย่างโปร่งใส ด้วยหลักเกณฑ์เชิงประจักษ์ ที่จะสามารถเปรียบเทียบกันได้ระหว่าง งานทุกงาน และทักษะของบุคลากรทุกคนและทุกสาขา

๓.   ยอมรับในหลักการที่ว่าแต่ละงานแต่ละกิจกรรมของบุคลากรสาขาต่าง ๆ มีความสำคัญหรือแตกต่างกันได้จากปัจจัยกำหนดหลายประการ  เช่น ความยากง่ายของงาน  ความเสี่ยงในการทำงาน  ความจำเป็นเร่งด่วน หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทรวงฯหรือหน่วยงานถือเป็นนโยบายสำคัญ เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าของงานหรือกิจกรรมของสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ดังกล่าว

๔.   ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน นี้สามารถกำหนดให้ใช้ได้กับทั้งผู้ทำงานรายบุคคล กับกลุ่มทีมงาน หรือกับหน่วยงาน  ครอบคลุมทั้งงานบริหาร งานบริการ และงานวิชาการ รวมทั้งครอบคลุมทั้งงานที่ให้บริการผู้ป่วยโดยตรง และงานสนับสนุนอื่นๆ

๕.   ระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ที่กำหนดจะต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายผู้บริหาร ซึ่งกำหนดนโยบาย และบุคลากรในหน่วยงาน โดยอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ความสามารถในการจ่ายและเป้าหมายขององค์กร

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเบิกจ่ายอย่างกว้างขวางในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง จะต้องมีการพิจารณาถึงหลักพื้นฐานความเป็นธรรมระหว่างองค์กรด้วย

.................................................
สารบัญ
1 ความเป็นมา   4
2 หลักการ   6
3 การกำหนดค่าคะแนนประกันขั้นต่ำ   8
4 ระบบการคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System)   11
4.1.2  ระบบการคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System) แบบ Apply activity base   15
4.1.3  ระบบการคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System) แบบ Result base: RW   16
4.1.4  ระบบการคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System) แบบ Modified Hay-Guide Chart   18
4.1.5  ระบบการคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System) แบบ Work Pieces   21
4.2  ระบบการคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System) แบบ Quality point   22
5 สัดส่วนการเบิกจ่ายระหว่างวิชาชีพ   23
6 วงเงินที่เบิกจ่าย   25
7 เงื่อนไขการเบิกจ่าย   26
8 การจัดกระบวนการภายใน การมีส่วนร่วม การตรวจสอบ   27
9 การอภิบาลระบบ กำกับและประเมินผล   33



7233
สพศท. แพทย์ชนบท เอ็นจีโอสาธารณสุข ยอมรับ "วิทยา" เป็น รมว.สธ.คนใหม่ เชื่อทำงานแก้ไขปัญหากระทรวงสาธารณสุขได้

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย (สพศท.)  กล่าวถึงโผคณะรัฐมนตรีล่าสุด ซึ่งมีชื่อนายวิทยา บูรณศิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ถือเป็นข่าวที่ดีมาก และรู้สึกดีใจที่ไม่ใช่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตามที่มีกระแสข่าวในครั้งแรก ซึ่งผ่านมาตนได้เคยประสานงานกับนายวิทยามาก่อน ในช่วงที่มีการพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร์ โดยในช่วงนั้นนายวิทยาเป็นประธานวิปฝ่ายค้าน รับฟังปัญหาและความเห็นจากพวกเรา ถือว่าเป็นบุคคลที่ใช้ได้ ซ้ำยังบอกด้วยว่า หากร่างกฎหมายเข้าสภาฯ จริง จะยกเก้าอี้กรรมาธิการในการพิจารณากฎหมายให้กับพวกเราซึ่งเป็นแพทย์ที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปนั่งในกรรมาธิการแทน เพื่อแก้ไขร่างกฎหมาย

พญ.ประชุมพร กล่าวว่า หากนายวิทยาได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว และเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุข พวกเรายินดีต้อนรับ และจะไปเข้าพบเพื่อพูดคุยให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาในส่วนของโรงพยาบาล ซึ่งต้องเข้าใจว่า ปัญหาโรงพยาบาลก็คือปัญหาของประชาชน หากโรงพยาบาลมีปัญหา และประชาชนจะได้รับบริการที่ดีได้อย่างไร

“คุณวิทยาจริง เรายินดีต้อนรับ เพราะเท่าที่เคยทำงานด้วย ท่านเป็นคนใจดี ฉลาด เรียนรู้งานได้เร็ว และเชื่อว่าท่านจะช่วยแก้ไขปัญหาภายในกระทรวงสาธารณสุขได้ แม้ว่าจะจับงานด้านกระทรวงเศรษฐกิจมาตลอดก็ตาม” พญ.ประชุมพร กล่าวและว่า ทั้งนี้นายวิทยาเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าจะทำตามนโยบายพรรคที่นายวิชาญ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ 30 บาท รวมไปถึงการขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเยียวยาผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกุลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ยินดีที่นายวิทยาจะดำรงตำแหน่ง เนื่องจากไม่เคยมีประวัติทุจริตใดๆ และยังไม่เคยมาทำงานในดำรงตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตามเกณฑ์การประเมินผู้ที่ได้รับตำแหน่งรมว.สธ.ของชมรมฯ จะดูที่ตัวบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งมาแล้ว ส่วนตัวคิดว่านายวิทยาไม่น่ามีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ สิ่งที่รมว.สธ.คนใหม่ควรทำคือ 1.สานต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2.ใช้หน่วยบริการปฐมภูมิดำเนินโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3.ทำระบบบริการให้มีคุณภาพและเสมอภาค โดยต้องแก้ไขเชิงโครงสร้าง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากเป็นนายวิทยาจริงก็ยินดี เชื่อว่าทำงานกับภาคประชาชนได้ สิ่งสำคัญที่รมต.คนใหม่ต้องเร่งทำคือ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ ไม่กลับไปเก็บเงิน 30 บาท และแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้อันเนื่องมาจากกฎหมายบางฉบับ.

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 10 สิงหาคม 2554

7234
“ศิริราช” ผ่าตัดผู้ป่วยภาวะแขน-ขาบวม จากน้ำเหลือสำเร็จเป็นครั้งแรก  ด้วย “เทคนิค ซูเปอร์ไมโครเซอร์เจอรี” แพทย์ชี้เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวไว
       
       วันนี้ (10 ส.ค)  นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในการแถลงข่าว “ศิริราชผ่าตัดแขนขาบวมจากทางเดินน้ำเหลืองอุดตันสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย” ว่า   จากการที่วงการแพทย์มีความนิยมในการใช้กล้องผ่าตัดมาโดยตลอดนั้น ถือว่ามีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด คณะแพทย์จาก รพ.ศิริราช ได้มีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยภาวะบวมน้ำเหลืองตามร่างกาย  เช่น แขน ขา ด้วยวิธีการต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำขนาดเล็กด้วยกล้องจุลทรรศน์ สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       
       ด้านนพ.ศิริชัย กำเนิดนักตะ   อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์  แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด กล่าวว่า การผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิค ซูเปอร์ไมโครเซอร์เจอรี (supermicrosurgery) ประกอบด้วย กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง 40 เท่า ประมาณ 1-2 ตัว โดยมีศัลยแพทย์ประจำกล้อง 2 คน ต่อ 1 ตัว อุปกรณ์เครื่องมือพิเศษขนาดเล็กกว่า 0.8 มม.เข็มเย็บขนาดเล็ก 50-80 ไมครอน และไหมเย็บขนาดเล็กกว่าเส้นผม เบอร์ 11-0 หรือ 12-0 โดยการผ่าตัดใช้เวลานานที่สุด 7-8 ชม.แพทย์จึงให้ผู้ป่วยดมยาสลบแทนการฉีดยาชาเฉพาะที่  โดยขั้นตอนการผ่าตัดเริ่มด้วยการเปิดแผลกว้างประมาณ 3-4 ซม.  จากนั้นต่อทางเดินน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำประมาณ 3-4 ตำแหน่ง ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษร่วมกับกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง
       
       “สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการผ่าตัดอยู่ตรงช่วงเวลาของการหาหลอดน้ำเหลือง ซึ่งมีขนาดเล็กและบางมาก จะต้องแยกเนื้อทีละนิดเพื่อหาหลอดน้ำเหลือง ส่วนข้อดีของการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ จะช่วยให้เสียเลือดน้อย บาดแผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อเทียบกับการผ่าตัดรักษาวิธีอื่นๆ โดยวันรุ่งขึ้นหลังการผ้าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ได้” นพ.ศิริชัย กล่าว
       
       
        ขณะที่   ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช หัวหน้าสาขาวิชาระบบศัลยศาสตร์ตกแต่ง กล่าวถึงภาวะบวมน้ำเหลือง ว่า อาการดังกล่าว  เป็นการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง เนื่องจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณที่ใกล้เคียงอุดกั้นหรือถูกทำลาย พบได้หลายอวัยวะทั้งแขน ขา อวัยวะเพศ เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ พันธุกรรม และการผ่าตัดที่ต้องตัดต่อมน้ำเหลืองออกไป เช่น การผ่าตัดมะเร็งหรือเนื้องอกบริเวณปากมดลูก เต้านม หรืออัณฑะ,ภายหลังได้รับการฉายรังสีรักษาใกล้ขาหนีบรักแร้, ผิวหนังเกิดภาวะติดเชื้อและอักเสบรุนแรงอย่างซ้ำๆ
       
                   ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ในระยะต้นของโรคอาจไม่แสดงอาการใดๆ ตามมาด้วยอาการบวม แต่สามารถยุบบวมเองได้ ต่อมาผิวหนังมีความผิดปกติ เริ่มมีการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนัง หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการอักเสบติดเชื้อใต้ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเชื้อจะกระจายสู่กระแสเลือด ในการรักษา ทำได้ด้วยการพันผ้ายืดให้ตึงพอดี หรือสวมถุงน่องที่กระชับพอดี ไม่แน่น หรือหลวมไปตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลานอน ยกเว้นเวลาอาบน้ำ, นวดด้วยเครื่องอัดลม, การขันชะเนาะลดบวม และการผ่าตัดที่มีหลายวิธี ซึ่งการผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิคซูเปอร์ไมโครเซอร์เจอรี ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป แต่ผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 สิงหาคม 2554

7235
 เผยเหตุพยาบาลจบใหม่ส่วนใหญ่ลาออก เนื่องจากไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เร่งแก้ไขพัฒนาระบบกำลังด้านพยาบาล ยกเครื่องทั้งระบบ 3 แนวทาง ตั้งทีมศึกษาข้อมูลการใช้กำลังอย่างแท้จริงใน รพ.ทุกระดับ พร้อมเตรียมออกนอกระบบและบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขมีสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ เชื่อลดปัญหาการลาออก
       
       วันนี้ (9 ส.ค.) ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “แนวทางพัฒนาคน เพื่อพัฒนางานการพยาบาล” เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางการพัฒนากำลังคนทางการพยาบาลและนวัตกรรมทางการพยาบาล มีพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศร่วมประชุมจำนวน 1,300 คน
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาปีในสถานพยาบาลสังกัด สธ.ละ 180 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในปีละ 2 ล้านคน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคน โดยพยาบาลที่จบใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ จึงเป็นสาเหตุให้ลาออกไปทำงานในภาคเอกชน ทำให้บุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 70,000-80,000 คน ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การแก้ไขด้านกำลังคนของพยาบาลจะต้องแก้ไขทั้งระบบ คือ 1.ต้องผลิตพยาบาลให้เพียงพอ และ 2.ต้องรักษาบุคลากรที่ผลิตมาให้ทำงานในระบบได้
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ทางออกการแก้ไขเรื่องกำลังคน กระทรวงสาธารรณสุขได้วางทิศทางแก้ไข 3 เรื่อง ได้แก่

1.ศึกษากำลังคนสุขภาพในระดับประเทศ และระดับกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งทีมวิชาการศึกษากำลังคนในสาขาต่างๆ ที่จำเป็นทั้งระบบ ทำงานควบคู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกในหน่วยบริการทุกระดับ และศึกษาในหน่วยจัดการศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้กำลังคนที่แท้จริง คาดว่า จะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้
       
2.เตรียมการออกนอกระบบ ไม่สังกัดกับ ก.พ.เพื่อบริหารกำลังคนแบบอิสระโดยมีพระราชบัญญัติรองรับคล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการ และ

3.จัดระบบบริหารลูกจ้างชั่วคราวให้อยู่ในระบบได้ โดยจัดเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขรูปแบบเฉพาะ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ และมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเบื้องต้นจะมีพนักงาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ และกลุ่มเทคนิคบริการ บริหารทั่วไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 สิงหาคม 2554

7236
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ขอเชิญร่วมงาน มหกรรมหมอพื้นบ้านนาชาติ ICETM 2011 พบกับกิจกกรมการออกบูธพร้อมกับการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย, นิทรรศการหมอพื้นบ้านนานาชาติและผลงานทางวิชาการภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน 8 ประเทศ, บริการคลินิกทางการแพทย์, เรือนสาธิตการรักษาด้วยแพทย์พื้นบ้าน, บริการคลินิกฝังเข็ม ชมสวนสมุนไพรในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2554 ณ เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

ThaiPR.net  9 สิงหาคม 2554

7237
สธ. เตรียมขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ(Transplant Center) ระดับภูมิภาคไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่วประเทศ หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย พร้อมให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศอีก 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะเพื่อเปลี่ยนทดแทนให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอเปลี่ยนไตจำนวน 2,654 คน

สธ.เล็งขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะไปยัง รพ.ขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่ว ปท.
ข่าวทั่วไป สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 9 สิงหาคม 2554 13:23:00 น.
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ(Transplant Center) ระดับภูมิภาคไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่วประเทศ หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย พร้อมให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศอีก 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะเพื่อเปลี่ยนทดแทนให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอเปลี่ยนไตจำนวน 2,654 คน

"กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกระจายบริการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทุกประเภท เช่น ตับ, ไต, ปอด, หัวใจ, ดวงตา โดยพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะในระดับภูมิภาคครบวงจร" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศที่มี 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีภาวะสมองตายแล้ว ตั้งเป้าภายใน 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2553-2554 จะผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้ได้ 300 ราย และเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ต่อปี หลังจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกแล้ว

ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยจากโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่สำคัญ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคถือว่าเป็นมหันตภัยเงียบ เมื่อโรคลุกลามไปมากจะทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการล้างไต เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องล้างอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง การรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือการผ่าตัดเปลี่ยนไต (Kidney  Transplant ) ซึ่งเดิมทำได้เฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดขาดโอกาสได้รับบริการ ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขึ้นทะเบียนรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตประมาณ 2,654 คนทั่วประเทศ

และข้อมูลจากสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตตั้งแต่เริ่มมีการผ่าตัดในประเทศไทยจนถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 4,864 ราย เฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ซึ่งควรจะมีปีละประมาณ 1,000 รายต่อปี เนื่องจากขาดแคลนอวัยวะบริจาค

--อินโฟเควสท์ 9 สิงหาคม 2554

7238
กลุ่มหมอต่อต้าน กม.คุ้มครองผู้ป่วย รวมตัวฟ้องศาลยกเลิกกฎกระทรวงสิทธิตาย เหตุขัดมาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ชี้เพิ่มอำนาจผู้ป่วยสร้างหลักเกณฑ์การรักษาเหนือผู้ประกอบวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีที่การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 และ ขอให้ยกเลิก เพิกถอนกฎกระทรวง ดังกล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ยื่นฟ้องศาลปกครองเพราะมองว่า การออกกฎกระทรวง ดังกล่าวขัดต่อมาตรา 4 พ.ร.บ. ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชา ชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค รวมทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สร้างภาระให้กับการบริการสาธารณ สุข ขาดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในขณะที่กฎกระทรวงดังกล่าวสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ที่สร้างภาระต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้มีภาระหนักเพิ่มกว่าเดิม และเป็น การยกระดับให้ผู้ป่วยมีอำนาจสร้างหลักเกณฑ์การรักษาเหนือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

นพ.,ฐาปนวงศ์กล่าวอีกว่า อีกทั้งกฎกระทรวงดังกล่าวมิได้มีผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องพ้นจากความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยที่มีหนังสือแสดงเจตนา ในทางกลับกันต้องเป็นผู้วินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต จึงไม่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ตั้งอยู่บนความเสี่ยงของเส้นลวดคนละเส้น กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงขอให้ยกเลิก เพิกถอนกฎหมายดังกล่าว.


ไทยโพสต์  9 สิงหาคม 2554

7239
    นายแพทย์จักร สมณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เปิดเผย "ผู้สื่อข่าว" ว่า หลังจากที่โรงพยาบาลฯ ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยในอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้การตอบรับจากประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเข้ามารับบริการเป็นอย่างมาก เฉลี่ยวันละประมาณกว่า 100 คน และคาดว่าจะเพิ่มถึงวันละ 300 คน ในเร็วๆ นี้ โดยผู้ป่วยที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มีอาการไข้หวัด ความดันโลหิตสูง และเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมค่อนข้างมาก ส่งผลจึงมีผู้มาใช้บริการแผนกกระดูกและข้อเป็นจำนวนมากตามไปด้วย
    “โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต มีแพทย์เฉพาะทางทั้งอายุรกรรม ศัลยแพทย์ สูตินารีแพทย์ กระดูกและข้อ กุมารแพทย์ และทันตกรรม นอกจากการรักษาตามอาการแล้ว แพทย์ยังได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชน โดยให้หมั่นออกกำลังกายและตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมทั้งเสนอแพคเกจตรวจสุขภาพ ตามเพศและอายุไว้บริการประชาชนด้วย นอกจากความพร้อมด้านบุคลากรด้านการแพทย์แล้ว ยังมีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน เช่น เครื่องทีซีแสกน เครื่องอัลตราซาวน์ หน่วยบริการไตเทียม เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นการให้บริการเหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน แต่อัตราค่ารักษาเทียบเท่าโรงพยาบาลของรัฐบาล” นายแพทย์จักร กล่าว
    ขณะที่นายแพทย์วิวัฒน์ รัตนชัย แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้แพทย์อายุรกรรม พบว่าตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหลากหลายโรค อาทิโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมทั้งการรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกตามขีดความสามารถที่กำหนดไว้ รวมถึงในส่วนของห้องไอซียูด้วย และเป็นที่น่ายินดีว่าในการจัดสถานที่ให้บริการนั้นก็ได้เตรียมไว้สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยทั้งห้องละหมาดและร้านอาหารฮาลาลภายในโรงพยาบาลด้วย
    อย่างไรก็ตามสำหรับโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 และเปิดให้บริการผู้ป่วยในมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 190 เตียง แต่เบื้องต้นให้บริการก่อน 120 เตียง เป้าหมายของการเปิดให้บริการเพื่อช่วยแบ่งเบาจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลของรัฐที่มีเป็นจำนวนมากและแออัด โดยได้ว่าจ้าง บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งนี้นับเป็นโรงพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทยยกเว้นในส่วนของกรุงเทพมหานคร

เนชั่นทันข่าว 7 สค. 2554

7240
สาธารณสุข * สธ.​เผยคน​ไทย​ใช้ยาสมุน​ไพรมากขึ้น ปี 53 จังหวัดชลบุรีอันดับหนึ่ง มูลค่า 26 ล้านบาท รองลงมาจังหวัดสุรินทร์ 12 ล้านบาท จากยอดค่า​ใช้จ่าย​ทั้งหมด 146 ล้านบาท

นพ.​ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ​เป็นประธาน​เปิดงานรวมพลัง​การ​แพทย์​แผน​ไทยภาคกลางปี 2554 ภาย​ใต้หัวข้อ "สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข" ที่วัดปากคลองมะขาม​เฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ​โดยกรมพัฒนา​การ​แพทย์​แผน​ไทย​และ​การ​แพทย์ทาง​เลือกร่วมกับ 16 จังหวัดภาคกลาง ​เพื่อส่ง​เสริม​การ​ใช้ประ​โยชน์จากภูมิปัญญา​แพทย์​แผน​ไทย​และสมุน​ไพรของ​เครือข่าย​ในระดับภูมิภาค ​โดยมีหมอพื้นบ้าน ​เจ้าหน้าที่สาธารณสุชจาก 16 จังหวัดภาคกลาง ​ได้​แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ​เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ​และประจวบคีรีขันธ์

ปลัด สธ.กล่าวว่า สธ.มีน​โยบายส่ง​เสริม​ให้มี​การบริ​การ​แพทย์​แผน​ไทยผสมผสานควบคู่กับ​การ​แพทย์ปัจจุบัน ​โดย​ใน รพ.ทุกระดับมีบริ​การ​แพทย์​แผน​ไทย ปัจจุบันมี 10,516 ​แห่งทั่วประ​เทศ นอกจากนี้ ยังสนับสนุน​ให้ รพ.ทุกระดับ​ใช้ยาสมุน​ไพร​เพื่อรักษา​ผู้ป่วยทุกกลุ่ม​โรคทด​แทน​การ​ใช้ยา​แผนปัจจุบัน ล่าสุดมียา​แผน​ไทยที่บรรจุ​ในบัญชียาหลัก​แห่งชาติ​แล้ว 71 ราย​การ สามารถ​เบิกจ่าย​ได้ทุกสิทธิ​การรักษา จากข้อมูล​การติดตามราย​การ​ใน​เขตต่างๆ ​ในปี 2553 พบว่ามี​การ​ใช้ยา​ไทย​ในสถานบริ​การทุกระดับของ สธ. 36 จังหวัด มีมูลค่า 146 ล้านบาท จังหวัดที่​ใช้สูงสุดคือ ชลบุรีกว่า 26 ล้านบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านบาท ขอน​แก่น 10 ล้านบาท

"​ในปี 54 นี้ สธ.​ได้คัด​เลือก รพ.ต้น​แบบ​ให้บริ​การ​ผู้ป่วยด้วย​การ​แพทย์​แผน​ไทย​เต็มรูป​แบบครั้ง​แรก​ในประ​เทศจำนวน 9 ​แห่ง ​ได้​แก่ รพ.พระปก​เกล้า จ.จันทบุรี, รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, รพ.วังน้ำ​เย็น จ.สระ​แก้ว, รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะ​เกษ, รพ.สม​เด็จพระยุพราช​เด่นชัย จ.​แพร่, รพ.​เทิง จ.​เชียงราย, รพ.ท่า​โรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ​และสถาบันวิจัย​แพทย์​แผน​ไทย กรมพัฒนา​การ​แพทย์​แผน​ไทย"

​ไทย​โพสต์  6 สิงหาคม 2554

7241

งบประมาณค่าตอบแทนปี 2554 เสนอผ่าน สปสช. คณะรัฐมนตรี มีมติ 20 เมย. 2553 ให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์) รับไปพิจารณาร่วมกับ สปสช./ก.พ./สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยค่าตอบแทนฯ ให้ศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางการปรับเพิ่มให้ครอบคลุมบุคลการทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

• รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์) พิจารณาเสนอเป็นมติ ครม. เมื่อ 18 พค. 2553 อนุมัติงบค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มตามที่ เสนอ และให้มีการวิเคราะห์วัตถุประสงค์การจ่ายค่าตอบแทนและความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณให้รอบคอบและเป็นธรรม และให้ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ จัดเตรียมวงเงินงบประมาณ ปี 2554 จำนวนหนึ่งไว้ในงบกลาง เมื่อได้ข้อยุติแล้วจึงขอรับจัดสรรงบประมาณต่อไป

• กสธ. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับหลักการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขประกอบ 3 ส่วนหลัก ตามข้อเสนอคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ
1. เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง---ตามคุณวุฒิ/ประสบการณ์
2. พื้นที่พิเศษ+ วิชาชีพขาดแคลนและจำเป็น---ธำรงรักษาวิชาชีพขาดแคลนและรักษาคนไว้ในพื้นที่พิเศษ
3. P4P---เพิ่มประสิทธิภาพทั้งใน/นอกเวลาราชการ ค่าตอบแทนสะท้อนภาระงาน ทำมากได้มาก(ค่าหัตถการ, OT , P4P)

ทิศทางการพัฒนาระบบการจ่ายค่าตอบแทนตั้งแต่ปี 2555
• ข้อตกลงในช่วงประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 7 ที่จะปรับระบบใหม่ตั้งแต่ ตค. 2553 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
• มติ ครม. เมื่อ 3 พค. 54 ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนฯ ตั้งแต่ปี2555 เป็นต้นไป ตามที่ กสธ. เสนอ (เสนอตั้ง กก. พิจารณาทบทวนการแก้ปัญหาระดับพื้นที่และสาขาขาดแคลน รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตาม P4P)
• ทุกระดับเห็นว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบปัจจุบัน ไม่ช่วยแก้ปัญหา ไม่สะท้อนภาพที่เป็นจริง ไม่สะท้อนภาระงาน งบประมาณก็มีปัญหา
• จำเป็นต้องปรับระบบการจ่ายค่าตอบแทน และเห็นว่า P4Pน่าจะเป็นคำตอบให้กับโรงพยาบาล

การจ่ายค่าตอบแทนเหมาจ่ายแบบ Flat Rate ต้องปรับให้เหมาะสม โดยต้องพิจารณาทบทวนเรื่องพื้นที่ เน้นพื้นที่ที่อยู่ยากลำบาก ในระดับพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ รพช. เพียงอย่างเดียวซึ่งต้องมีคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

• การพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามหลัก P4P เพื่อเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก แต่ไม่ใช่เน้นการเพิ่มค่าตอบแทน ไม่ใช่DF และค่าตอบแทนที่ได้รับ ควรต้องสะท้อนงานที่หนัก โดยคนทำงานหนัก ได้ค่าตอบแทนมาก

การพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้อง
• ตัวชี้วัดภาระงานของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เช่น งานด้านรักษาพยาบาล : OP (ปกติ ซับซ้อน เรื้อรัง) IP (DRG RW) OR (Major, Minor) Refer-in , งานด้าน PP (เยี่ยมบ้าน, FP,EPI) , งานด้านคุณภาพบริการ (EMS responsiveness prompt battention, Chronic care , การได้พบแพทย์ตรงเวลา)
• การพัฒนาตัวชี้วัด ภาระงานระดับบุคคล เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทน
• การสร้างกระบวนการภายในองค์กร การมีส่วนร่วม การทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่
• เริ่มต้นให้เดินหน้าได้ก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนา
• ปัญหาการบริหารโรงพยาบาล ทั้งปัญหาด้านการเงินค่าตอบแทน การไม่ได้อัตราตำแหน่ง ปัญหาการจ้างลูกจ้างอาจต้องมีการปรับตัวมาก
• การพัฒนาระบบบริหารจัดการของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจต้องพิจารณาหลายรูปแบบ เช่น
- การกระจายอำนาจ เหมาะไหม
- Autonomous Hospital
.................................................
นพ. ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
10 มิถุนายน 2554

7242
นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยืนยัน พ.ร.บ.สิทธิการตาย ไม่ได้ส่งผลต่อรายรับของโรงพยาบาลเอกชน ย้ำผู้ป่วยสมัครใจเข้ารับการรักษา และเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว...

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณีที่มีข้อคิดเห็นแตกต่าง ระหว่างแพทย์กรณีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือ แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และแพทยสภาได้ยื่นขอแก้ไขกฎกระทรวง ที่ทำเกินขอบเขตของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ต่อ รมว.สาธารณสุข ว่า การที่มีบางกลุ่มระบุว่า เรื่องนี้ถูกคัดค้าน เนื่องจากจะส่งผลต่อรายรับของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะอย่าลืมว่าโรงพยาบาลเอกชน เป็นโรงพยาบาลทางเลือกที่ผู้ป่วย สมัครใจเข้ารับการรักษา และเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ขณะที่โรงพยาบาลเองก็มีแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.นี้ มาโดยตลอด ก่อนจะมีการบังคับใช้แนวทางตามกฎกระทรวงเสียอีก ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ต้องอาศัยหนังสือแสดงเจตนา แต่อาศัยการพูดคุย ความศรัทธาที่มีต่อกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ซึ่งแพทย์จะมีการพูดคุยกับญาติอยู่แล้วว่า ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคอะไร มีความรุนแรงแค่ไหน เป็นการปรึกษาหารือกัน ซึ่งไม่เคยมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎกระทรวงดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะโรงพยาบาลมีการดำเนินการลักษณะนี้แล้ว แต่อาจติดตรงการปฏิบัติจริง ยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้ป่วยรักษาอยู่แล้ว และประสงค์ให้ถอดเครื่องหายใจ เรื่องนี้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าทำ

“โรงพยาบาลเอกชน มีแนวทางดำเนินการตามมาตรา 12 มานานแล้ว โดยวิธีการปฏิบัติ ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่มีการหารือกับญาติผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ซึ่งแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดแพทย์ทำงานบนพื้นฐานวิชาชีพ และตามแนวทางของแพทยสภา ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อแพทยสภา มีแนวทางให้ดำเนินการอย่างไร ก็ต้องดำเนินการตาม เป็นไปตามกระบวนที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว” นพ.เอื้อชาติกล่าว.

ไทยรัฐ 5 สค.2554


7243
ประธาน สพศท.ระบุ หวั่นแพทย์เป็นจำเลยจากการใช้ กฎสิทธิการตายของคนไข้ เพราะหากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้วรับหนังสือยินยอมจากญาติ จะเป็นของจริงหรือไม่ กลัวเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี...

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2554 พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.)เปิดเผย กรณี ที่มีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือ แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ออกตามมาตรา 12แห่งพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ หากได้รับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของผู้ป่วยจากผู้ ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติครบถ้วน แพทย์จะรู้ได้ว่าเป็นหนังสือจริงแน่นอน แต่หากได้รับหนังสือจากญาติในขณะที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นของจริง

ประธาน สพศท. กล่าวต่อว่า แม้ว่าในหนังสือจะระบุว่าผู้ป่วยได้ทำหนังสือฉบับนี้ในระหว่างที่มี สติสัมปชัญญะครบถ้วนก็ตาม หรือหากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำหนังสือดังกล่าวไว้ แต่ญาติหรือบุคคลอื่นนำหนังสือปลอมมายื่นให้กับแพทย์ แพทย์ก็ไม่มีทางทราบว่าหนังสือฉบับนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขจึงอาจกลายเป็นเครื่องมือ ให้กับบุคคลที่ไม่หวังดีกับผู้ป่วยใช้เป็นเครื่องมือกระทำการบางอย่างได้ แพทย์อาจกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทำความผิดโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

พญ.ประชุมพร กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงควรมีหน้าที่รับผิดชอบแทนแพทย์ที่ดำเนินการตามที่ผู้ป่วยแสดงเจตนาไว้ใน หนังสือ ด้วยการส่งบุคคลของสช.ไปประจำจังหวัดละ 1 คน ทำหน้าที่ในการรับรองว่าหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของ ผู้ป่วยแต่ละคนที่แพทย์ได้รับนั้นเป็นของจริง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลแอบอ้างนำหนังสือปลอมมายื่นให้กับแพทย์ และหากแพทย์ดำเนินการตามอาจกลายเป็นความผิด โดยบุคคลที่เป็นผู้รับรองหนังสือว่าเป็นหนังสือจริง หากตรวจพบภายหลังว่าเป็นหนังสือปลอมจะต้องรับผิดชอบแทนพยาบาลและแพทย์ด้วย ทั้งนี้ สพศท.ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้จนกว่าจะมีการแก้ไข ข้อบังคับบางส่วนให้มีความเหมาะสมก่อน

ไทยรัฐ 6 สิงหาคม พ.ศ.2554

7244
สธ. เร่งพัฒนางานบริการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด ล่าสุด พัฒนาได้แล้วกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2553 พบว่า ประชาชนนิยมใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น รายงานเบื้องต้นใน 36 จังหวัด มูลค่า 146 ล้านบาท จ.ชลบุรีนำอันดับหนึ่ง 26 ล้านบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านบาท
       
       วันนี้ (5 ส.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานรวมพลังการแพทย์แผนไทยภาคกลางปี 2554 ภายใต้หัวข้อ “สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข” ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับ 16 จังหวัดภาคกลางร่วมจัด ปีนี้     จ.ชัยนาท รับเป็นศูนย์กลางประสานการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของเครือข่ายในระดับภูมิภาค โดยมีหมอพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 16 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและประจวบคีรีขันธ์  เข้าร่วมงานทั้งด้านวิชาการ นิทรรศการ จำนวนมาก
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้มีบริการงานแพทย์แผนไทย ผสมผสานควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบด้วยการตรวจรักษา จ่ายยาสมุนไพร และการนวด อบประคบสมุนไพร เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ ที่รักษาได้ด้วยการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลทุกระดับ ปัจจุบันมีจำนวน 10,516 แห่งทั่วประเทศ มีบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยประจำ ขณะนี้เปิดบริการแล้ว 4,379 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42 ของสถานบริการทั้งหมด ซึ่งจะเร่งรัดให้ครบทุกแห่ง
       
       นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกระดับใช้ยาสมุนไพร เพื่อรักษาผู้ป่วยทุกกลุ่มโรคทดแทนยาแผนปัจจุบัน ล่าสุดมียาแผนไทยที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 71 รายการ สามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิการรักษา จากข้อมูลการติดตามตรวจราชการในเขตต่างๆในปี 2553 พบมีการใช้ยาไทยในสถานบริการทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข 36 จังหวัด มีมูลค่าทั้งหมด 146 ล้านบาท จังหวัดที่ใช้สูงสุดคือ ชลบุรี 26 ล้านกว่าบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านกว่าบาท ขอนแก่น 10 ล้านบาท
       
       ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้คัดเลือกโรงพยาบาลต้นแบบให้บริการผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี  รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ รพ.เทิง จ.เชียงราย รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี และสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์ไทยฯที่ยศเส กทม. จะติดตามประเมินผลเป็นระยะ หากได้รับการตอบรับจากประชาชนก็จะเปิดดำเนินการคล้ายประเทศจีนคือเป็นโรงพยาบาลให้บริการแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะและพัฒนาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรคต่อไป
       
       สำหรับงานรวมพลังการแพทย์แผนไทย ภาคกลาง  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2554 ในงานประกอบด้วยการประชุมวิชาการ การเสวนาสุขภาพวิถีไทย นิทรรศการสมุนไพร สาธิต บริการ ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ พื้นบ้าน อาทิ สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข เหยียบเหล็กไฟ จับเหล็กแดงรักษาอัมพฤกษ์อัมพาต จัดปรับกระดูกแบบมณีเวชและกดจุดหยุดปวด เป็นต้น 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 สิงหาคม 2554

7245
สพศท.โอด ระบบสาธารณสุขไทย เหมือนผู้ป่วยไอ.ซี.ยู.  ท้า! หาก รบ.“ปูแดง”  ตั้ง “เหลิม” นั่งเก้าอี้ รมว.สธ.ต้องใจกว้างมากขึ้น  ตั้งสเปกละเอียดยิบต้องได้ รมว.ที่ดี เปิดใจรับฟังทุกฝ่าย เชียร์ “วิชาญ” เหตุฟุ้งว่าจะแก้ปัญหาบุคลากร-ค่าตอบแทนในเวทีดีเบตเยอะ
       
       วันนี้ (5 ส.ค.) พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงการที่รัฐบาลใหม่อยู่ในช่วงการสรรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ว่า  ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข สพศท.ว่า รัฐบาลควรจะมีการจัดหามาตามสเปกที่หมาะสม ซึ่งทาง สพศท.เห็นว่า ลักษณะของผู้ที่จะมาเป็น รมว.สธ.ถ้าเป็นแพทย์จะดีมาก   เพราะจะเข้าใจปัญหา แต่หากไม่ได้เป็นแพทย์ ก็ควรมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาของกระทรวง ซึ่งขณะนี้ คล้ายผู้ป่วยไอซียู ที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อมารักษาให้รอด
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วในมุมของ สพศท.นั้น มองว่า ร.ต.อ.เฉลิม มีผลงานมีความเหมาะสมเพียงใด พญ.ประชุมพร กล่าวว่า   ในส่วนของการดำเนินงาน ของ ร.ต.อ.เฉลิม ยังไม่แน่ใจว่า มีศักยภาพแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา สพศท. ทราบว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 3 เดือน รพ.ในสังกัด กระทรวงเกิดปัญหาเรื่องการเงินมากถึง 15 แห่ง ทั้งนี้ อยากฝากรัฐบาลว่า หากจะให้ ร.ต.อ.เฉลิม มาดำรงตำแหน่ง ก็เป็นไปได้ ถ้ามีใจกว้าง รับฟังทุกฝ่าย เพราะในการดำรงตำแหน่งของ ร.ต.อ.เฉลิม ครั้งก่อน ทราบว่า แพทย์ที่ปฏิบัติงานจริง เข้าถึง ร.ต.อ.เฉลิม ยากมาก
       
       “ในส่วน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ซึ่งทาง สพศท.เคยเสนอชื่อไว้ คิดว่า น่าจะเหมาะสม เพราะเท่าที่สัมผัส และรับฟังแนวคิดและวิสัยทัศน์ในเวทีดีเบต นโยบายพรรคการเมือง พบว่า นายวิชาญ ได้สัญญาว่าจะแก้ปัญหาของ สธ.หลายด้าน เช่น การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ค่าตอบแทน สะท้อนให้เห็นว่า นายวิชาญ รับฟังปัญหาของผู้ปฏิบัติงาน และเข้าใจปัญหา อย่างแท้จริง แต่ถ้ารัฐบาลสามารถสรรหา บุคคลที่เหมาะสมมากกว่านี้ได้ ก็ถือว่าจะดีมาก แต่ย้ำว่าขอบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและเข้าใจปัญหาที่แท้จริง” พญ.ประชุมพร กล่าว 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 สิงหาคม 2554

หน้า: 1 ... 481 482 [483] 484 485 ... 536