แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 476 477 [478] 479 480 ... 535
7156
รมว.สธ.เร่งรัดพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มีเกือบ 20,000 แห่ง เป็นเขตปลอดโรคติดต่อที่พบบ่อยอย่างน้อย 6 โรค อาทิ โรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมือเท้าปาก หัด อีสุกอีใส ภายใน พ.ศ.2556  เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพดี พัฒนาการสมวัย โดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์ 10 มาตรการดูแล 
               
       วันนี้ (2 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธานเปิดประชุม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ครูผู้ดูแลเด็กของศูนย์เด็กเล็ก และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 350 คน เพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ
               
       นายวิทยา กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และนำบุตรหลานไปฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจำนวนมาก คาดว่าน่าจะมีประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ  700,000 คน จากจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 1-4 ปี ที่มีประมาณ 3.2 ล้านคนทั่วประเทศ   นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย หากมีเด็กเจ็บป่วย โรคจะแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก และเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว และเด็กยังป้องกันตัวเองไม่เป็น โรคที่พบบ่อย 6 โรค ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมือเท้าปาก คางทูม อีสุกอีใส และหัด หากมีเด็กป่วย ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก กระทบการทำงานและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง 
               
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีทั่วประเทศประมาณ 20,000 แห่ง ให้เป็นศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคติดต่อที่กล่าวมา และเป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี มีพัฒนาการสมวัย ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ โดยให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัยร่วมกันพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานแนวทางปฏิบัติ สนับสนุนแก่พื้นที่ โดยเร่งรัดให้สำเร็จทุกแห่งภายในปี 2556
               
       ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ได้รับรายงานในรอบ 8 เดือนปีนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ป่วยจาก 6 โรคที่พบได้บ่อยที่กล่าวมารวม  2 แสนกว่าคน แนวทางในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคมี 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่คือครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพและความรู้ดี มีระบบริหารจัดการดี และสภาพแวดล้อมในศูนย์เด็กเล็กดี ไม่แออัด ไม่มีแมลงนำโรค
       
       โดยมีแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 10 มาตรการ ได้แก่ 1.การจัดอบรมความรู้ และการควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กแก่ครูที่ดูแลเด็ก 2.ตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนของเด็กทุกภาคเรียน 3.ตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน 4.หากมีเด็กป่วย ให้ใช้มาตรการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเบื้องต้น คือแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และทำความสะอาดทำลายเชื้อสถานที่ อุปกรณ์ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ อย่างถูกวิธี 5.ครูผู้ดูแลเด็กต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
               
       มาตรการที่ 6 หากครูเจ็บป่วย ต้องหยุดพักอยู่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูจะต้องให้ความรู้กับเด็กในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคง่ายๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 8.จัดให้มีกิจกรรมล้างมือทุกวัน 9. เมื่อมีเด็กป่วยให้ครูดูแลเบื้องต้นและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบ และ 10.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กแก่ผู้ปกครอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ทั้งนี้ จากการนำร่องใช้ 10 มาตรการที่ พัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค 31 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี เชียงราย และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2552-2553 พบว่า ได้ผลดีมาก สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของโรคหวัดจากร้อยละ 24.9 เหลือเพียงร้อยละ 9.0 พบโรคมือ เท้า ปาก เพียงร้อยละ 0.25 และพบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ร้อยละ 1 นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจจับและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554

7157
 พลันที่มีผู้จุดประกายความเหลื่อมล้ำของสวัสดิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์ด้อยกว่าบัตรทอง ซึ่งไม่ต้องจ่ายสมทบทุกเดือน หวังกระตุกให้สังคมฉุกคิดถึงความไม่เป็นธรรม และนำไปสู่ความพยายามที่จะผลักดันให้ฝ่ายนโยบายทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
       
       ทว่า การเคลื่อนไหวกดดันเรียกร้อง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นมา ความคืบหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กลับมีน้อยมาก ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูความพยายามของภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับพบว่า ส่วนใหญ่เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง
       
       จุดเริ่มต้นของความพยายามแก้ไขปัญหามาจากการเรียกร้องของ “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” ภายใต้การนำของนายนิมิตร์ เทียนอุดม และน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความเป็นธรรมของชมรมพิทักษ์สิทธิฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2554 ในงานเสวนา “ทำไมเราต้องจ่ายอยู่กลุ่มเดียว”

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       ถัดจากนั้นอีกเพียง 5 วัน ในวันที่ 11 ก.พ.2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสางระบบสุขภาพ 3 ระบบใหญ่ให้เกิดความเป็นธรรม
       
       นับแต่นั้นมาการขับเคลื่อนเรียกร้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องมีกลุ่มผู้เข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระแสกดดันดังกล่าวตกหนักอยู่กับสำนักงานประกันสังคม โดย นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานบอร์ด สปส.ที่ให้คำยืนยันเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2554 ว่าจะนำเรื่องความเป็นไปได้ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นการเก็บเงินสมทบขัดต่อรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมบอร์ดสปส.เดือน เม.ย.2554 พร้อมกับจะเร่งให้ สปส.ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนและเตรียมขยายสิทธิให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานยังโยนให้ผู้ประกันตนเป็นผู้ตัดสินใจสามารถเลือกใช้ระบบประกันสุขภาพได้ตามความสมัครใจ
       
       ระหว่างนั้น ดูเหมือนปัญหาด้านข้อกฎหมายกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ถกกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น โดยเฉพาะประเด็นการเก็บเงินสมทบขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ซึ่งอาจต้องรอผลสิ้นสุดที่ชั้นศาล
       ระหว่างนี้ได้มีการร่วมกันหาทางแก้ปัญหาโดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ได้ลงมติแต่งตั้งตัวแทนบอร์ด สปสช.เพื่อไปหารือร่วมกับบอร์ดสปส.ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทว่าการประชุมหลายครั้งหลายครา ดูเหมือนปัญหายังคงวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาไม่คืบหน้า

       จากที่ต้องตกเป็นฝ่ายรับมาโดยตลอด ในวันที่ 8 พ.ค.2554 สปส.ปรับบทบาทกลับมาเป็นฝ่ายรุกด้วยการจัดเสวนาหัวข้อทางเลือกในการประกันสุขภาพของแรงงานในระบบประกันสังคม : เสือหรือจระเข้ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ นพ.สมเกียรติ นพ.สุรเดช นายพนัส นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาแรงงานแห่งประเทศไทย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ โดยทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า สปส.เป็นองค์กรที่ดี เป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แต่ที่ผ่านมาถูกพูดถึงเฉพาะด้านที่ด้อยกว่า สปสช.เท่านั้น หากหยุดเก็บสมทบจะสร้างนิสัยให้ผู้ประกันตนเป็นขอทาน
       
       ที่สำคัญ มีการตั้งข้อสังเกตว่าจุดประสงค์ของชมรมพิทักษ์สิทธิ์ฯ คือ จงใจฮุบกองทุน สปส.ซึ่งมีเงินร่วม 8 แสนล้านบาท ให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของสปสช. อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมระหว่าง2บอร์ดสุขภาพยังคงจัดขั้นเป็นคู่ขนาน แบบฉบับที่คุยกันโดยไร้ทางออก หรือ ข้อยุติที่จะพอใจทั้ง 2 ฝ่าย
       เรื่อยมาจนถึงเดือน มิ.ย.เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบ จับกระแสการหาเสียงผ่านนโยบายด้านสาธารณสุข-แรงงาน ไม่พบพรรคการเมืองใดที่ให้ความสนใจกับประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพนัก
       
       จนถึงขณะนี้ กลไกมาตรา 10 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นช่องทางตีบตันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมของระบบประกันสังคมได้ เช่นเดียวกับการตีความเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่ด้อยกว่าสิทธิบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการก็ยังคงค้างเติ่งอยู่ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะคืบหน้าไปได้อย่างไรต่อไป
       
       คำว่า “พายเรือในอ่าง” อาจจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุด ณ เวลานี้ สำหรับความพยายามที่จะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ผู้ประกันตน ถูกทำให้เผชิญหน้าอยู่ และคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานตราบเท่าที่ผู้มีอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงร่วมกัน แต่ยังคิดถึงผลประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นที่ตั้ง ขณะที่จุดยืนของกลุ่มการเมืองอำนาจใหม่ที่มีต่อเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เสมือนหนึ่งเฝ้ารอดูจนกว่าจะเห็นช่องทางใหม่ที่จะสร้างชื่อได้จากกรณีนี้เท่านั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554

7158
แพทย์ชี้ยาป้องกันสมองเสื่อม ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป แนะควรควบคุมการโฆษณายาให้เข้มงวดยิ่งขึ้น  เสนอผู้สูงอายุออกกำลังกายป้องกันจะดีกว่า
       
       พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย กล่าวในการประชุมระดมความคิดเพื่อพัฒนานโยบายการป้องกัน รักษาและดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ต่อสถานการณ์ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมประเทศไทยและนำไปสู่การหาแนวทางและระบบการป้องกัน ดูแลรักษา และผลักดันสู่การพัฒนาเชิงนโยบายระดับประเทศ ว่า จากสถานการณ์โรคสมองเสื่อมในประเทศไทยว่าด้วยอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มจำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน การรับมือกับโรคสมองเสื่อมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจต่อภาวะสมองเสื่อม ส่งผลให้ขาดการดูแลที่ถูกต้องที่อาจนำไปสู่การทอดทิ้งผู้ป่วยนำไปสู่การเป็นภาระของสังคม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องประชุมความร่วมมือเพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว
       
       ขณะที่ พท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ       โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการป้องกันระดับปฐมภูมิของโรคสมองเสื่อม (Primary Prevention of Dementia) ว่า  จากการทบทวนผลวิจัยจากหลายประเทศพบว่ายังไม่มีการยืนยันการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมตามที่มีการอ้างอิงในผลิตภัณฑ์หลายประเภท ชี้วิธีการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมที่ดีที่สุด คือ การออกกำลัง รักษาสุขภาพให้ห่างจากโรคที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง การทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด และเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
       
       “ว่ายาลดไขมันจำพวกสแตติน (Statin), ยาชาเฉพาะที่ Procain, ฮอร์โมนทดแทนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศชาย, กรดโฟลิค, วิตามินบี 6, ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID), สารสกัดใบแปะก๊วย (Ginkgo Biloba) และ กรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ตามคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บางชนิด นอกจากไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ยาบางตัวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาด้วยจึงไม่มีการสนับสนุนให้ยาดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการควบคุมการโฆษณาสรรพคุณยาที่มีส่วนประกอบดังกล่าวว่าในการอ้างถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสมองเสื่อม และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค” พท.พญ.พัฒน์ศรี กล่าว
       
       พท.พญ.พัฒน์ศรี กล่าวด้วยว่า การป้องกันโรคสมองเสื่อมที่ดี สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกาย หรือ การทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ และการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด (cognitive activities) เช่น การคิดเพื่อแก้ปัญหา การเขียน หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การคิดที่ซับซ้อน หรือแม้แต่การเรียนในระดับสูง ก็ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ ส่วนเรื่องอาหารแม้จะยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนในเรื่องผลของอาหารประเภทไหนสามารถป้องกันได้ แต่แนะนำให้รับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพเน้นผัก ผลไม้ และปลา ไม่ดื่มสุรามากเกินไป งดเว้นการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ มีกิจกรรมทางสังคม มีกิจกรรมในเวลาว่างเพื่อความผ่อนคลาย และรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง  ไขมันสูง และโรคซึมเศร้าเนื่องจากการมีโรคเรื้อรังเหล่านี้มีผลเสียต่อการทำงานของสมองระดับสูง
               
       ขณะที่ พญ.อรุณี ประจัญอธรรม  สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า  โรคสมองเสื่อม แบ่งได้หลายระดับตามความรุนแรงของโรค ตั้งแต่รุนแรงน้อย ผู้ป่วยจะยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จนกระทั่งถึงระดับรุนแรงมาก ที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย นอนอยู่บนเตียงเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ต้องตรวจหาความผิดปกติหลายด้าน เช่นความผิดปกติของความจำร่วมกับการใช้ภาษาและการรับรู้ รวมทั้งติดตามอาการต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการที่ทำการศึกษาการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม พบว่า ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มคนทั่วไป แต่ให้ตรวจประชากรสูงอายุที่มีอาการผิดปกติทางด้านความจำ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน หรือกลุ่มที่มีประวัติการเป็นโรคภายในครอบครัว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554

7159
เอเอฟพี - สารฆ่าเชื้อในเครื่องทำความชื้นอาจเป็นสาเหตุการตายอย่างปริศนาของสตรีมีครรภ์ 4 รายในเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข เผยวันนี้(1)
       
       ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเกาหลีใต้ (เคซีดีซี) เริ่มตรวจหาที่มาของเชื้อโรคปอด ซึ่งมีผู้ป่วยแล้วถึง 28 รายโดยไม่ทราบสาเหตุตั้งแต่ปี 2004 โดยปีนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เป็นหญิงมีครรภ์
       
       ล่าสุดพบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากเชื้อโรคชนิดนี้แล้ว 4 ราย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
       
       เคซีดีซีระบุว่า จากการตรวจสอบพบสารอันตรายในวัตถุฆ่าเชื้อซึ่งผู้ป่วยทุกรายใช้ในเครื่องทำความชื้น โดยสารดังกล่าวได้เข้าไปทำลายเซลล์ในปอด
       
       ผลการตรวจพบว่า ผู้ที่ใส่สารฆ่าเชื้อลงไปในเครื่องทำความชื้นมีโอกาสที่ปอดจะถูกทำลายมากกว่าคนปกติถึง 47.3 เปอร์เซ็นต์ เคซีดีซี เผย
       
       “ในทางคลินิกแล้ว อัตราความเสี่ยง 47.3 เปอร์เซ็นต์ นับว่าสูงมากทีเดียว” ยูน เซือง-กี เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก เคซีดีซี ระบุ
       
       เคซีดีซีปฏิเสธที่จะเผยชื่อสารอันตรายชนิดนี้ ซึ่งทางศูนย์บอกว่าเป็นส่วนผสมของสินค้าอุปโภคอีกหลายชนิด เช่น แชมพู และเครื่องสำอาง ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า การสัมผัสสารดังกล่าวทางผิวหนังจะเป็นอันตรายด้วยหรือไม่
       
       “เราต้องทดสอบอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แต่เบื้องต้นได้ออกคำเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าเชื้อในเครื่องทำความชื้น และขอร้องให้บริษัทต่างๆหยุดขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้ว” เคซีดีซีแถลง
       
       ผู้ผลิตสารฆ่าเชื้อรายใหญ่จำนวนหนึ่งยอมระงับการขายชั่วคราว จนกว่าเคซีดีซีจะประกาศผลการตรวจขั้นสุดท้าย ซึ่งน่าจะทราบผลภายใน 3 เดือนข้างหน้า ยูนกล่าว
       
       ชาวเกาหลีใต้เกือบทุกครัวเรือนมักใช้เครื่องทำความชื้นในฤดูหนาว ซึ่งมีอากาศแห้งและเย็นจัด
       
       เคซีดีซีอธิบายว่า หญิงตั้งครรภ์มักใช้เวลาอยู่กับบ้านมากกว่าคนกลุ่มอื่น จึงมีโอกาสสัมผัสสารพิษจากเครื่องทำความชื้นได้มาก นอกจากนี้ ผู้หญิงยังหายใจเอาอากาศเข้าปอดเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์หลังจากคลอดบุตร ซึ่งหมายความว่าพวกเธอจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กันยายน 2554

7160
ประเทศไทยกำลังมีแลปมหัศจรรย์ที่จะช่วยเรารอดพ้นจากการเจ็บป่วยใน 10 โรคร้ายได้
       • เพียงแค่เจาะเลือดก็สามารถถอดรหัสยีน-DNA ที่สามารถบอกได้ว่าคุณกำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายอะไรในอนาคต!
       • โดยเฉพาะโรคมะเร็งตัวการคร่าชีวิตในปัจจุบัน
       • ส่วนผู้สูงวัยที่ไม่ต้องการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน
       • รวมถึง พ่อ-แม่ มือใหม่หากต้องการรู้ว่าลูกคุณจะเป็นเด็กอัจฉริยะหรือออทิสติก ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป…..
      
       ปัญหาสุขภาพของสังคมไทยยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความพยายามยกระดับระบบสาธารณสุขของไทยมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม บรรดาโรคภัยต่างๆ ที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นของไทย จากข้อมูลพบว่าในช่วงปี 2548-2552 โรคมะเร็งเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ปอดอักเสบ ไตอักเสบ ฆ่าตัวตายและภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย
      
       แม้ว่าเทคโนโลยีการรักษา และเครื่องมือ ตลอดจนการศึกษาด้านสาธารณสุขของไทยจะพัฒนาขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้วก็ตาม ดังที่มุ่งหวังว่าไทยจะเป็นฮับด้านสุขภาพ แต่เหนืออื่นใดก็ต้องยอมรับว่า การรักษาสุขภาพที่ดีถือว่าเป็นการป้องกัน จะเป็นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ดีที่สุด หรือ “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งหลายครั้งก็พบว่า คนใกล้ตัวเสียชีวิตจากโรคร้ายอย่างกะทันหันโดยไม่ทันรู้ตัว
      
       จากปัญหาข้างต้น จึงมีความพยายามของนักวิชาการชาวไทยที่พยายามคิดค้นและสืบลึกลงไปถึงต้นเหตุและพัฒนาวิธีการตรวจค้นและป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี ซึ่งห้องปฏิบัติการ ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด ได้ค้นพบตรวจการระดับยีนแห่งแรกของไทย ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพก่อนที่จะสายเกินเยียวยา เพื่อเตรียมการป้องกันและรักษาอย่างถูกต้องที่สุด

รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร
      

ห้องปฏิบัติการบริษัทฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด
       “ไฮเทค-ข้อมูล”
       เจาะต้นตอพบโรคร้าย
      
       นวัตกรรมดังที่กล่าวมาเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ อย่างการตรวจเลือดเหมือนที่พบเห็นกันทั่วไป แต่มีการลงลึกไปในระดับเม็ดเลือด เซลล์ หรือโฟกัสไปยังยีน ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญของมนุษย์ในการทำหน้าที่และออกคำสั่งให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงาน ตลอดจนการคัดกรองเชื้อโรค
      
       การตรวจหาสาเหตุโรคร้ายในระดับยีนถูกพัฒนาไปอย่างสูงซึ่งสามารถตรวจจากเลือด และชิ้นเนื้อเพื่อสกัดลงไปในชั้นดีเอ็นเอ เพื่อตรวจสอบการเกิดโรค รวมถึงการใช้ยาและวิธีการที่ตรงกับ สาเหตุการเกิดโรค เนื่องจากยีนจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่และการทำงานของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งการตรวจในระดับยีนจะทำให้ทราบว่ายีนยังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ หรือมีปัญหาที่จะก่อให้เกิดโรคในอนาคตหรือไม่ รวมถึงคำนวณระยะเวลาที่จะเกิดโรคได้ ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนในการตรวจให้คำแนะนำและการปรึกษาก่อนทำการรักษา (PreCounselling) เพื่อส่งต่อข้อมูลให้แพทย์ทำการวินิจฉัยแนะนำการป้องกันในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะเกิดโรค หรือเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับชนิดและสาเหตุของโรคเพื่อทำการรักษาต่อไป
      
       การตรวจวิเคราะห์ยีนจึงเหนือกว่าการตรวจเลือดของโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยในเรื่องการถอดรหัสดีเอ็นเอเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่สำคัญคือมีการรวบรวมข้อมูลดีเอ็นเอไว้กว่า 28,000 ราย หรือมี “DNA Bank” มากที่สุดในประเทศ โดยเป็นการศึกษาวิจัยและค้นพบโดย รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร อดีตนักวิจัยด้านความหลากหลายและการกลายพันธุ์ของยีน (ทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล) และอื่นๆ ปัจจุบัน ซีอีโอ บริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐใน 2 หน่วยงาน คือ 1.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NIA) และ 2.ศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) จุดสำคัญก็คือ การเจาะเลือดโดยอ้างอิงและตรวจในระดับยีน ซึ่งการตรวจในรูปแบบเฉพาะรายบุคคลนี้จะช่วยให้การตรวจรักษามีความถูกต้องและเหมาะสมกับผู้เข้ารับการรักษาได้ดีที่สุด

       เจาะเลือดรู้ลึกถึงโรคร้าย
      
       รศ.ดร.คล้ายอัปสร บอกว่า การตรวจเลือดเพื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดโรคต่างๆ มีขั้นตอนดังนี้ คือ เมื่อเจาะเลือดทำการปั่นเลือด แยกเลือดระหว่างพลาสม่าและเม็ดเลือดขาวออกมา โดยเม็ดเลือดขาวจะนำไปตรวจหายีนที่กลายพันธุ์และนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ
      
       ขณะที่พลาสมาจะถูกนำไปสกัดดีเอ็นเอเพื่อหาจุดที่เกิดเซลล์มะเร็งในยีนทั้งจากครอบครัวที่มีประวัติการป่วยและที่ไม่มีการป่วย เพราะฉะนั้นความแม่นยำส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับครอบครัว การประพฤติปฏิบัติตัว สิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล และเมื่อนำผลการตรวจไปพิจารณาประกอบกับประวัติครอบครัวก็จะสามารถจำกัดวงและจุดที่จะเกิดโรคได้ รวมถึงการมีฐานข้อมูลในการศึกษาจากต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำเพื่อป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง
      
       วิธีการตรวจเลือดนี้จะทำการตรวจในระดับที่ลึกลงไปเพื่อตรวจในระดับพลาสมาของยีน ที่จะช่วยให้ได้รู้ถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ของการเกิดโรค ซึ่งทราบกันดีว่าดีเอ็นเอเป็นยีนพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งสามารถกลายพันธุ์ได้ใน 2 ลักษณะคือ 1.Germline Mutation ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดทางสายเลือดของบุคคลในครอบครัวซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ อันได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งสมอง และมะเร็งเม็ดเลือด
      
       2.Somatic Mutation เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองภายหลัง และจะถูกกระตุ้นให้เกิดโรคหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือสัมผัสสารก่อมะเร็งไม่รู้ตัว เช่น อยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ สัมผัสสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก หรือเชื้อไวรัสบางชนิด ซึ่งโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในชนิดที่ใกล้เคียงกับกลุ่มแรกเพียงแต่อาจเกิดโรคในช่วงอายุที่มากขึ้น โดยผู้ที่ประวัติครอบครัวไม่พบผู้ป่วยในโรคร้ายมาก่อนก็จะค่อนข้างมั่นใจในสุขภาพ โดยลืมไปว่าโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายมีอยู่เช่นกัน และเมื่อตรวจพบก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเกิดโรคและรับมือได้เร็วที่สุด
      
       สแกนมะเร็งตัวร้าย
      
       เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงด้านสุขภาพ โรคร้ายที่สร้างความสูญเสียแก่คนไทยเป็นอันดับ 1 ก็คือ โรคมะเร็ง ที่มีอัตราการเสียชีวิตแซงหน้าโรคร้ายอื่นๆ อย่างรวดเร็ว หรือกล่าวได้ว่าในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมาจะมีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยถึงชั่วโมงละ 6 คน ดังนั้น จึงกลับมาให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของโรคมะเร็งอย่างเข้มข้นมาก รวมถึงศึกษาวิจัยเพื่อความแม่นยำและเน้นถึงแนวทางในการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค
      
       จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนผู้ป่วยเนื้องอกและมะเร็งและเสียชีวิตรวมกันกว่า 58,076 ราย ขณะที่ในปี 2553 ตัวเลขผู้ป่วยใหม่สูงถึงประมาณ 118,601 ราย หรือมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 คนในแต่ละปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปริมาณผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากข้อมูลการวิจัยพบว่า พันธุกรรมเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการอยู่ที่สิ่งแวดล้อมไม่ดีจะนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งที่รวดเร็ว การค้นหาต้นตอก่อนการเกิดโรค ซึ่งสามารถทำได้ใน 2 ขั้นตอน คือ 1.การตรวจชิ้นเนื้อและนำมาสกัดดีเอ็นเอ ปัญหาบางส่วนมาจากการที่ไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจได้ ก็สามารถสกัดดีเอ็นเอจากเลือดได้ และ 2.การตรวจจากเลือดโดยตรง ซึ่งจะนำไปพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีการเทียบเคียงของผู้ป่วยโรคมะเร็งจนสามารถประเมินความเป็นไปได้ของการเจ็บป่วย
      
       ทว่า จุดสำคัญที่สุดในการตรวจหาโรคมะเร็งโดยทั่วไปที่มักตรวจพบในระยะที่ 1-4 ซึ่งหมายความว่าผู้เข้ารับการตรวจตกอยู่ในสถานะผู้ป่วยแล้วไม่ว่าจะอยู่ในขั้นที่ 1-4 ก็ตาม ซึ่งจะเป็นอันตรายเนื่องจากอัตราการขยายตัวของเซลล์เนื้อร้ายจะลุกลามแบ่งตัวขึ้นแบบทวีคูณหากมีการแตกตัวของเซลล์มะเร็งในขั้นที่ 2-4 และนำไปสู่การสูญเสียชีวิตในที่สุด
      
       “เซลล์เพียงเซลล์เดียวหลุดมาเพียง 1 เซลล์ในกระแสเลือด ในช่วงก่อนที่จะพบว่าเป็นมะเร็งตรวจเจอค่อนข้างยากแต่ก็สามารถตรวจได้อย่างแม่นยำ ทำให้เตรียมตัวรักษาได้ และที่สำคัญคือผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งก็สามารถตรวจได้ เพราะมีโอกาสเป็นเช่นกัน”
      
       รวมถึงระยะเวลาของการบ่มเพาะและการเติบโตและแสดงอาการของโรคมะเร็งใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลว่า ผู้ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงไม่พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่การตรวจวิเคราะห์ในพลาสมาดีเอ็นเอเพื่อค้นหาเซลล์มะเร็งก่อนการป่วยระยะที่ 1 (ระยะที่ 0) หรือเรียกว่า ZeroPlus นี้ บุคคลทั่วไปไม่สามารถที่จะสังเกต หรือตรวจพบอาการใดๆ ได้เลย
      
       ขณะที่การตรวจในระยะที่ 0 หรือก่อนเข้าสู่การป่วย ซึ่งตรวจในขั้นตอนปรกติค่อนข้างยากเนื่องจากจะมีเซลล์มะเร็งปรากฏในกระแสเลือดเพียง 1ใน 1,000,000 เซลล์ รวมถึงดีเอ็นเอในพลาสม่าจะย่อยสลายตัวเร็ว จึงค่อนข้างยากในการตรวจสอบ แต่การตรวจเจอในขั้นนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดโรคด้วยการรักษาสุขภาพ รับประทานอาหารชีวจิต ซึ่งหากเข้าสู่ในขั้นที่ 1 ที่สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งได้ง่าย เนื่องจากมีจำนวนเซลล์มะเร็งไหลเวียนในกระแสเลือดถึง 1,000 ล้านเซลล์ แต่ก็ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้การรักษาแล้ว ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
      
       ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการดังกล่าวสามารถตรวจเซลล์มะเร็งในระดับ 0 ก่อนขั้นที่ 1 (Zero plus) ได้เพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเป็น 1 ใน 4 แห่งที่สามารถตรวจได้ในโลก โดยมีในสหรัฐอเมริกา 2 แห่ง เยอรมนี 1 แห่ง และไทย 1 แห่งเท่านั้น

       วางแผนชีวิต
       “สร้างอัจฉริยะ - ป้องกันโรคร้าย”
      
       นอกเหนือจากการตรวจมะเร็งแล้ว ยังสามารถตรวจโรคอื่นๆ รวมถึงการตรวจยีนเพื่อค้นหาความเป็นอัจฉริยะของลูกก็สามารถตรวจพบได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฝึกฝนและพัฒนาอย่างถูกวิธีโดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่ความเป็นอัจฉริยะที่สามารถตรวจหา “พรสวรรค์” และครอบครัวสามารถฝึกฝน “พรแสวง” ให้พัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อสร้างเด็กอัจฉริยะให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในช่วงเด็กแรกเกิดสามารถตรวจได้ทันทีจากการเจาะเลือด ซึ่งในช่วงวัย 3-5 ขวบเป็นช่วงของการบ่มเพาะความสามารถของเด็กให้พัฒนาอย่างถูกทางและเหมาะสมที่สุด
      
       “เด็กแรกเกิดสามารถตรวจค้นแววความเป็นอัจฉริยะได้ทั้งในทางวิชาการ หรือด้านกีฬา ซึ่งเมื่อทราบว่ามียีนเด่นเรื่องใด พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถจะปรับหรือสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาให้พรสวรรค์ที่ติดตัวมาปรากฏขึ้นมาได้ ซึ่งหากช้าไปหรือพัฒนาไม่ถูกทางพรสวรรค์ที่ติดตัวมาก็จะหายไปเนื่องจากไม่ถูกพัฒนาอย่างถูกวิธี” รศ.ดร.คล้ายอัปสรกล่าว
      
       รวมถึงปัญหาของเด็กออทิสติก หรือสมาธิสั้น ก็สามารถตรวจพบจากการตรวจยีนเช่นกัน เมื่อผู้ปกครองทราบตั้งแต่ต้นจะสามารถเตรียมการรับมือและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูแลได้อย่างถูกต้องต่อไป แต่สำหรับผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถตรวจค้นหาโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อที่จะวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม และวางแผนในชีวิตและการรักษาโรคไว้ล่วงหน้า ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามเกินแก้ไข
      
       นอกจากนี้ ตรวจหาโรคภัยที่เมื่อล่วงเข้าสู่วัยชราที่มักพบเจอกันบ่อย อันได้แก่ โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ซึ่งโรคเหล่านี้จะสร้างปัญหาในช่วงวัยชราและเมื่อค้นพบแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธี ซึ่งวิธีการตรวจในระดับยีนสามารถตรวจค้นโรคได้กว่า 10 โรค ดังนี้
      
       1.มะเร็งทุกชนิด 2.โรคหลอดเลือดหัวใจ-สมอง อุดตันจากคอเลสเตอรอล 3.โรคหัวใจอุดตันกะทันหัน 4.โรคเบาหวาน (เบาหวานเมื่ออายุเยอะและตรวจไม่พบในช่วงแรก) 5.โรคอ้วนจากพันธุกรรม 6.โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ 7.โรคตับแข็ง 8.โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 9.สมาธิสั้น ออทิสติก และ 10.ความเป็นอัจฉริยะ
      
       ขณะเดียวกัน แล็บของฮาร์ท เจเนติกส์ ยังสามารถตรวจสุขภาพระดับยีนเพื่อหาโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกได้อีก ด้วยการกำหนดรหัสจำเพาะเพื่อตรวจหาแต่ละโรคได้ด้วย
      
       เปรียบเทียบตรวจ
       “ดีเอ็นเอ-เลือด”
      
       แต่เมื่อถามว่าการตรวจโรคในระดับของยีนและการเจาะเลือดทั่วไปตามที่พบเห็นในโรงพยาบาลทั่วไป มีความแตกต่างกันอย่างไร แม้ว่าเบื้องต้นจะมีการเจาะเลือดที่เหมือนกันโดยเก็บตัวอย่างได้ใน 2 ทาง คือ เจาะเลือดทั่วไปหรือการใช้เซลล์เยื่อกระพุ้งแก้ม แต่การตรวจค้นในระดับยีนซึ่งลึกลงไปและเฉพาะเจาะจงกว่าการตรวจเลือดทั่วไป
      
       จุดที่แตกต่างกันก็คือ การตรวจเลือดโดยทั่วไปสามารถบอกได้เพียงว่าเป็นโรคใด จำนวนกี่โรค รวมถึงสามารถตรวจได้เพียงในรายการที่กำหนดไว้ และที่สำคัญคือ การตรวจภายหลังที่มีการป่วยหรือเกิดการติดเชื้อหรือขยายตัวของโรคแล้ว
      
       แต่การตรวจเลือดในระดับดีเอ็นเอ นอกจากจะสามารถรู้ว่าป่วยเป็นโรคใดแล้ว ยังสามารถรู้ถึงโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ก่อนที่จะแสดงอาการ รวมถึงยังประเมินระยะเวลาในการเกิดโรค ไปจนถึงสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงระบุจุดที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ โดยเทียบเคียงกับประวัติของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมและข้อมูลการวิจัยเพื่อความแม่นยำในการพิจารณาเป็นข้อมูลให้กับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการในการรักษาต่อไป
      
       อย่างไรก็ตาม ในโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่งก็พบว่ามีการตรวจเลือดในระดับดีเอ็นเอเช่นกัน หากแต่มีในกลุ่มโรคที่มีปริมาณผู้ป่วยมาก และใช้เวลานานเนื่องจากในแต่ละกรณีต้องส่งข้อมูลไปยังต่างประเทศเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งใช้เวลาในการตรวจราวๆ 1 ปี แต่ข้อดีของฮาร์ท เจเนติกส์ คือ การตรวจภายในประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาวิเคราะห์และมีความสะดวกในการเข้ารับการตรวจและรักษา รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในด้านการถอดรหัสดีเอ็นเอ ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่หากวัดจากปริมาณทั้งหมดทั่วโลกจะมีเพียง 100 แห่งทั่วโลก
      
       ตรวจยีน ตรงยา-รักษาง่าย
      
       การพัฒนาวิธีการตรวจค้นหาสาเหตุหรือการรักษาที่ตรงจุดของของโรคโดยตรง ซึ่งไม่รู้เพียงแค่ป่วยเป็นโรคอะไร แต่สามารถรับรู้ได้ว่าร่างกายของผู้ป่วยจะรับหรือปฏิเสธสารเคมีประเภทใดบ้าง จึงเหมือนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาโรคที่เหมาะสมได้ง่าย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคได้ดียิ่งขึ้น หรือการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีต่างๆ อาทิ การฉายรังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง การใช้เคมีบำบัด “การทำคีโม” ตลอดจนการบำบัดด้วยฮอร์โมน ซึ่งการรักษาในบางวิธีอาจส่งผลร้ายต่อการรักษาแทน ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ค้นพบว่ายีนในร่างกายไม่อาจถูกรังสีได้ ซึ่งหากทำการรักษาอาจจะทำให้เป็นการกระตุ้นให้มะเร็งแตกตัวได้เร็วขึ้น แทนที่จะหยุดยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
      
       ดังนั้น วิธีการตรวจในระดับยีนจึงมีความพิเศษกว่าการตรวจทั่วไป โดยจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ว่ารักษามาถูกทางหรือไม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการหายจากโรค ลดความเจ็บปวดจากขั้นตอนการรักษา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค หรือมีข้อควรระวังเช่นไรทั้งการรับประทานอาหาร การอยู่ใกล้วัตถุที่เพิ่มความเสี่ยงของโรค รวมถึงการตรวจภายหลังการรักษาโรคว่าโรคร้ายหายจริงหรือไม่หรือยังมีเชื้อโรคร้ายอยู่ หรือสรุปง่ายๆว่า “เลือกยา ตรงยีน” นั่นเอง
      
       “บางครั้งผู้ป่วยต้องการที่จะทราบถึงกระบวนการรักษาของแพทย์ที่จะได้ผลหรือไม่ ซึ่งต่อมาก็พบว่าการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นอยู่มีสาเหตุจากการใช้ยาไม่ถูกประเภท การใช้ยาหรือวิธีการรักษา ซึ่งการใช้ยาในบางกลุ่มไม่ถูกกับโรค เมื่อใช้ไป ซึ่งมะเร็งลำไส้ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ไม่ตอบสนองต่อตัวยาจึงทำให้ยาที่ให้ไปไม่เกิดผลในการรักษา และเซลล์มะเร็งก็กระจายต่อไปได้” รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร กล่าว
      
       หวั่นข้อมูลดีเอ็นเอไทยไหล
      
       อย่างไรก็ตาม การตรวจโรคในระดับยีนกำลังเป็นทิศทางที่วงการแพทย์ของโลกพยายามที่จะยกระดับขึ้นไป ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยในการรักษา ขณะที่ส่วนหนึ่งก็คือ ฐานข้อมูลยีนของประเทศต่างๆ จะถูกพัฒนาและปรับปรุงในการออกแบบยาและอาหารเสริมให้เหมาะสมตามแต่ละภูมิภาค โดยปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างกว้างขวางในสัตว์เศรษฐกิจและพืชเศรษฐกิจไปแล้ว
      
       ดังนั้น การค้นคว้าวิจัยยีนเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดและผลิตอาหารและยาให้ตรงกับกลุ่มผู้ใช้ให้เหมาะสมมากขึ้น จะถือว่าเป็นการยกระดับการรักษาโรคครั้งสำคัญ แต่ยังมีจุดที่น่าเป็นห่วงก็คือ การค้นคว้าวิจัยและการเก็บข้อมูลในต่างประเทศมีความพร้อมและมีนักวิจัยเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีกลุ่มธุรกิจที่พร้อมลงทุนมากกว่า ซึ่งหากข้อมูลยีนของคนไทยไปอยู่ในมือต่างชาติ อาจทำให้เกิดการผลิตสินค้าต่างๆ มาขายในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ราคาสูง หรือมองในแง่ร้ายในประเด็นด้านความมั่นคง ก็อาจนำไปสู่การผลิตอาวุธชีวภาพ ที่เกิดผลเฉพาะกลุ่มได้ด้วย
      
       ด้วยเหตุนี้ การวิจัยในระดับยีนจึงเป็นก้าวแห่งการค้นคว้าที่สำคัญของวงการวิทยาการทางการแพทย์ไทย เบื้องต้นจะสามารถช่วยในการป้องกันการเกิดโรคและอาจลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยได้...
      
       มะเร็งครองแชมป์คร่าชีวิต
       พบคนกรุงเสี่ยงมะเร็ง ‘ลำไส้ใหญ่-เต้านม’ สูง
      
       มะเร็งครองแชมป์โรคที่คร่าชีวิตอันดับ 1 เฉลี่ยกว่า 60% ตาย! เผยอัตรายอดผู้เป็นมะเร็งเพศชายตายมาก ด้านผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติหวั่น มะเร็ง ‘ลำไส้ใหญ่-มะเร็งเต้านม’ ยอดพุ่ง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เข้ากลุ่มเสี่ยงสูง
      
       มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แม้การแพทย์จะทันสมัยมากขึ้น แต่ผู้เป็นมะเร็งยังมีเพิ่มมากขึ้นในทุกปี อาจเนื่องจากวิถีชีวิตของคนที่ก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
      
       ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งเปิดเผยว่า มะเร็งที่พบในร่างกายมนุษย์มีมากกว่า 100 ชนิด สาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งมี 2 สาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้ 1.ปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น อาหาร, อากาศ, ยารักษาโรค, แสงแดด, เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ 2.ปัจจัยภายในร่างกายที่ผิดปรกติ อาทิ พันธุกรรม, ระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ

....มีต่อ      


7161
แพทย์​เปิดผลศึกษาชาย​ไทยอายุระหว่าง  40-70 ปีมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทาง​เพศสูง​ถึง 42% ขณะนี้​ได้พัฒนาสมุน​ไพรที่หา​ได้​ในประ​เทศ ​ทำ​เป็นยา​เสริมสมรรถภาพสำ​เร็จ

กรุง​เทพฯ * ตะลึง ชาย​ไทย 42% นก​เขา​ไม่ขัน พบอายุ 35 ปีขึ้น​ไป​ก็มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทาง​เพศ ​แพทย์​ไทย​เผยผลงานวิจัยกลุ่มยาสมุน​ไพรจีนหลายชนิดช่วยอวัยวะ​เพศ​แข็งตัวปึ๋งปั๋ง คิดค้นสูตร​เฉพาะ​เพิ่มสมรรถภาพทาง​เพศทด​แทนนำ​เข้ายา​ไวอะกร้าจากต่างประ​เทศ หลังทดลองกับ​ผู้ป่วย​แล้ว​เห็นผล ​ไร้อา​การข้าง​เคียง

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นพ.สรรชัย วิ​โรจน์​แสงทอง ศัลย​แพทย์ระบบปัสสาวะ ​และ​ผู้อำนวย​การศูนย์วิจัยนวัตกรรม ซี​ไออาร์ดี ศูนย์วิจัย​และพัฒนาองค์​ความรู้ด้าน​การ​แพทย์​และสมุน​ไพรตะวันออก ​เปิด​เผยว่า จาก​การศึกษาพบว่า ชาย​ไทยอายุระหว่าง 40-70 ปี พบภาวะหย่อนสมรรถภาพทาง​เพศ (ED) ​หรือนก​เขา​ไม่ขัน 42% ​ซึ่ง​เป็น​ผู้ที่มีอา​การ​เล็กน้อยจน​ถึงรุน​แรง วิธี​การรักษา​ในปัจจุบันมี​การ​ใช้ยาสัง​เคราะห์​ใน​การบำบัด ​ซึ่งต้องนำ​เข้าจากต่างประ​เทศ​และมีราคา​แพง รวม​ทั้งมีอา​การข้าง​เคียงที่​ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น​จึง​ได้นำ​เอาภูมิปัญญาด้านศาสตร์สมุน​ไพรมาพัฒนาต่อยอด ​เพื่อ​ให้​ได้คุณสมบัติของสมุน​ไพรที่​เชื่อถือ​และปลอดภัย ​โดยร่วมมือกับนักวิจัยจากคณะ​แพทยศาสตร์ ​และคณะ​เภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำ​เนิน​การศึกษาวิจัยกลุ่มยาสมุน​ไพรหลายชนิดที่ช่วย​เพิ่มสมรรถภาพทาง​เพศ ช่วย​ให้อวัยวะ​เพศ​แข็งตัว ขณะนี้ผ่านขั้นตอน​การวิจัยทางคลินิก​เป็นที่​เรียบร้อย​แล้ว

นพ.สรรชัยกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ​การวิจัยกลุ่มยาสมุน​ไพรตะวันออก​เป็น​การ​แพทย์ทาง​เลือก ​ใน​การป้องกัน​และรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทาง​เพศ ทด​แทน​การ​ใช้ยา​เคมีนำ​เข้าจากต่างประ​เทศ ตัวยาสมุน​ไพรที่สำคัญ ​เช่น ​เขากวาง, สอ​เอี้ยง, อิม​เอี้ยคัก, ​เม็ด​เก๋ากี้, ปา​เ​ก็ก​เทียน, ​เก้ากุ๊ก​เฮี้ยง, ​เน็กฉ่งยัง ​เป็นต้น ​ซึ่ง​เป็นสมุน​ไพรจีนที่มีรายงาน​การวิจัยสรรพคุณทางวิชา​การ​เผย​แพร่​ในระดับนานาชาติ ​โดยนำมาพัฒนา​เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ ​แล้วทดสอบกับ​ผู้ป่วยจำนวน 60 ราย ด้วย​การ​ให้รับประทานยาจริง​และยาหลอก ผล​การทดลองพบว่า ช่วยสร้าง​ความพึงพอ​ใจ​ให้​แก่​ผู้ป่วย​โดย​ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ขณะนี้​ได้จดสิทธิบัตรสูตรยาสมุน​ไพร​เป็นที่​เรียบร้อย​แล้ว

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทาง​เพศ​เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะร่างกาย​และจิต​ใจของ​ผู้ป่วย​โดยตรง ​และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตคู่​ในที่สุด ​แต่ที่จริง​แล้วพบ​ได้​ในกลุ่ม​ผู้สูงอายุมากกว่า ​ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสมรรถภาพทาง​เพศส่วนมากขึ้นกับอายุ สา​เหตุของอวัยวะ​เพศ​ไม่​แข็งตัว​หรือ​แข็งตัว​ไม่​เต็มที่ขณะมี​เพศสัมพันธ์​เกิด​ได้หลายปัจจัย ​แบ่ง​ได้​เป็น 2 กลุ่ม​ใหญ่ๆ คือ 1.ภาวะทางกายภาพ ​ได้​แก่ ​โรค​เบาหวาน ​ทำ​ให้​เส้น​เลือด​เสื่อม ​ไม่​ไปหล่อ​เลี้ยงอวัยวะ​เพศ ​และ 2.ภาวะจิต​ใจ ​เช่น ​ความ​เครียดกังวล นอกจากนี้ยังอาจ​เกิดจากสภาพร่างกาย​ไม่พร้อม ​เพราะ​ทำงานหนัก​เป็น​เวลานานๆ ​โดย​ไม่มี​การพักผ่อนอย่าง​เพียงพอ ​ซึ่งจะมีผล​ทำ​ให้​การผลิตฮอร์​โมน​เพศชายลดลง

"ปัจจุบันมี​การ​ใช้ยาสัง​เคราะห์​ในกลุ่ม PDE5-Inhibitor ​เพื่อรักษาอา​การดังกล่าว ​เป็นยา​เคมีที่มีอา​การข้าง​เคียง​ไม่พึงประสงค์​ในระดับสูง ​เช่น ​ความดัน​โลหิตต่ำ ปวดศีรษะ คัดจมูก อีก​ทั้งยากลุ่มนี้มีราคาสูง หาก​ผู้ป่วยมีอา​การรุน​แรง​ก็ต้อง​ใช้วิธี​การฉีดยา​และ​การผ่าตัด​ใส่​แกนอวัยวะ​เพศ​เทียม ​ซึ่งมีค่า​ใช้จ่ายสูง​เช่นกัน" นพ.สรรชัย​เผย

ส่วน​การวิจัยทางคลินิก​ได้ดำ​เนิน​การที่ห้องทดลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​โดยคัด​เลือก​ผู้ป่วยที่หย่อนสมรรถภาพทาง​เพศระดับ​เล็กน้อย​ถึงปานกลาง อายุ 35 ปีขึ้น​ไป พบว่า ​ผู้ป่วยมีภาวะ​การ​แข็งตัวของอวัยวะ​เพศดีขึ้น ​โดย​ใช้​เวลาทดสอบประมาณ 1 ปี ​เสร็จสิ้น​เมื่อ​เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ​ทั้งนี้ กลุ่มยาสมุน​ไพรที่วิจัยขึ้นมา​ไม่​ใช้กับ​ผู้ป่วยที่มีอา​การรุน​แรง​หรือ​ผู้มีภาวะหลั่ง​เร็ว ​เพราะสรรพคุณของยาตัวนี้ คือ ช่วย​ให้​เลือดหมุน​เวียนดีขึ้น​และบำรุงร่างกาย ​เพิ่มสมรรถภาพทาง​เพศ

ด้านนายสุ​เมธ นิร​เพียรนันท์ ​ผู้พัฒนาสูตรยาสมุน​ไพรที่มีสรรพคุณ​ทำ​ให้อวัยวะ​เพศ​แข็งตัว กล่าวว่า สมุน​ไพรจีน​เหล่านี้มีฤทธิ์ร้อน ช่วย​ให้​เลือด​ในร่างกายสูบฉีด​และ​ไหล​เวียนดีขึ้น ​ทำ​ให้อวัยวะ​เพศ​แข็งตัว ยกตัวอย่างสรรพคุณสมุน​ไพรที่มีรายงานวิจัยอย่าง​เป็นทาง​การ ​เช่น ​เขากวาง ช่วยบำรุง​เลือด, สอ​เอี้ยง ช่วยบำรุง​ไต, อิม​เอี้ยคัก ​ซึ่ง​เป็นพระ​เอกของกลุ่มยาสมุน​ไพรสูตรนี้ ช่วย​ใน​เรื่อง​การขยายหลอด​เลือด ​ในประ​เทศสหรัฐอ​เมริกา ยุ​โรป​และจีน นำ​ไป​ใช้​เป็นส่วนประกอบตัวหลัก, ​เม็ด​เก๋ากี้ ที่​ใช้ต้มยา​ในบ้าน​เรา ช่วยบำรุงร่างกาย, ​เน็กฉ่งยัง ช่วย​เพิ่มปริมาณน้ำ​เชื้ออสุจิ นอกจากนี้ยังมีดอกคำฝอย ​ซึ่งช่วยขับปัสสาวะ​และ​เหงื่อ​เพื่อ​ไม่​ให้ตัวยาตกค้าง​ในร่างกาย

"กลุ่มยาสมุน​ไพรนี้ผลิตขึ้น​ในประ​เทศ​ไทย ​และต้อง​การ​ให้คน​ไทยหันกลับมา​ใช้สมุน​ไพร​ใน​การดู​แลรักษาสุขภาพมากขึ้น ทด​แทน​การซื้อยา​ไวอะกร้า รวม​ทั้งยาปลอมที่มีผลอันตรายต่อสุขภาพ ​และ​ในอนาคตจะมี​การวิจัยสมุน​ไพรพื้นบ้าน​ในประ​เทศ​ไทยต่อยอด​ใน​เชิงพาณิชย์ ​ทั้งนี้ สา​เหตุที่​เลือกวิจัยสมุน​ไพรจีน ​เพราะมีสรรพคุณสำคัญต่อสมรรถภาพทาง​เพศดีกว่าสมุน​ไพร​ไทย" นายสุ​เมธกล่าว​ในที่สุด.

ไทย​โพสต์ 31 สิงหาคม 2554

7162
 วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.มานิต  ธีระตันติกานนท์  อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการการสำรวจความชุกของวัณโรคระดับชาติในประเทศไทยว่า ปี 2553 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ว่า   ประเทศไทยผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ราว  92,300 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 44,400 ราย เป็นผู้ป่วยที่เสมหะพบเชื้อวัณโรค และเสียชีวิตปีละ 12,000 ราย ขณะที่รายงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค พบว่า จำนวนผู้ป่วยวัณโรค ที่ขึ้นทะเบียนรักษาปี 2553 มีผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท จำนวน 62,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นวัณโรคเสมหะพบเชื้อจำนวน 32,800 ราย นั่นหมายความว่ายังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษา หรือได้รับบริการแล้วแต่ยังไม่เข้าสู่ระบบที่เป็นมาตรฐาน คาดว่าประมาณ 30,000 รายทั่วประเทศ 
       
        อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า   ดังนั้นเพื่อการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในครั้งนี้เป็นแบบเชิงรุก โดยใช้รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ตรวจคัดกรองประชากรเพื่อดูความชุกของโรค เป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่เคยดำเนินการมาแล้ว  4 ครั้ง  โดยดำเนินการ ในกลุ่มประชากรตัวอย่างประมาณ 90,000 คน แบ่งเป็น 100 พื้นที่สำรวจ  ใน 24 จังหวัดรวมทั้งพื้นที่ เพื่อประโยชน์ใน 4 ด้าน คือ 1.ได้รับการตรวจเอกซเรย์ปอดฟรีและรู้ผลภายใน 30 นาที   2.ได้รับความรู้เรื่องวัณโรคและการป้องกัน รวมถึงสามารถสังเกตอาการสงสัยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษา     3.หากพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาวัณโรคให้หายขาด โดยกินยาให้ครบกำหนดอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากตรวจพบโรคได้ในช่วงแรก 4.ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าว  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้ขอความร่วมมือมาไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค  สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่น เพื่อเข้าร่วมดำเนินการในครั้งนี้ด้วย
       
       สำหรับอาการของผู้ป่วยที่มีสัญญาณในการเป็นวัณโรคมักมีอาการไอเรื้อรัง ทั้งนี้ ในปัจจุบันคือวัณโรคปอด เพราะเชื้อวัณโรคปอดสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ ง่ายโดยระบบทางเดินหายใจหากไม่ได้รับการรักษา อย่างถูกต้องร่างกายจะทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว และมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทางกรมฯ จึงจำเป็นต้องเร่งป้องกัน” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
       
       นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์   รองธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สำหรับกลุ่มอายุที่จำตรวจคัดกรองนั้น จะเริ่มตรวจในกลุ่มอายุ 15 ปี ขึ้นไป  โดยเริ่มโครงการในต่างจังหวัดราวเดือน ธ.ค. 2554 และในพื้นที่ กทม.เริ่มสำรวจ ปี 2555 โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงานราว 60 ล้านบาท       
                               
       อนึ่ง พื้นที่ที่จะการดำเนินงานได้แก่  1.นนทบุรี 2.ปทุมธานี 3.ชัยนาท 4.ลพบุรี 5.ชลบุรี 6.ฉะเชิงเทรา 7.กาญจนบุรี 8.สมุทรสงคราม 9.นครราชสีมา 10.สุรินทร์ 11.อุดรธานี 12.เลย 13.อุบลราชธานี 14.นครพนม 15.นครสวรรค์ 16.พิจิตร 17 สุโขทัย 18.เพชรบูรณ์ 19.เชียงใหม่ 20.พะเยา 21 .นครราชสีมา 22.กระบี่ 23.สงขลา 24 .ตรัง และ 25.กทม.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 สิงหาคม 2554

7163
“วิทยา” มอบนโยบาย 16 ประเด็น แก่เหล่าข้าราชการ สธ.เน้นระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนและปัญหาบุคลากร
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.) ได้ประชุมมอบนโยบายการบริหารงานกระทรวงสาธารณสุข แก่ผู้บริหารระดับสูง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และตัวแทนผู้บริหารโรงพยาบาลทั่วไป เป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริการ สธ.นั้น นายวิทยา ได้ประกาศขอความร่วมมือให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพงดเข้ารับฟังรายละเอียด ในระหว่างประชุมมอบนโยบาย และให้ออกมารอสัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุม
       
       ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการประชุมมอบนโยบายนั้น นายวิทยา กล่าวว่า มอบนโยบายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเร่งดำเนินการอย่างน้อย 15 ข้อ ได้แก่

1.พัฒนางานสาธารณสุข ตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์

2.เพิ่มคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการ อย่างที่มีคุณภาพมาตรฐานทั่วถึงเป็นธรรม สร้างระบบบริหารจัดการที่มีเอกภาพ

3.เร่งรัดมาตรการสร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมาย เพื่อลดอัตราป่วย ตายและผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดสมองและมะเร็ง

4.เร่งรัดดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ตลอดจนอาหารปลอดภัย

5.เตรียมความพร้อมพัฒนาระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย การจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทันการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ โรคระบาด และภัยธรรมชาติ
       
6.จำกัดให้มีการดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มเด็กสตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่น เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

7. สร้างแรงจูงใจและพัฒนาขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขทุกคนโดยสนับสนุนอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

8.สร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรสาธารณสุข โดยปรับระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสมและความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เป็นธรรมสร้างกลไกพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ

9.เพิ่มการลงทุนในระบบบริการทุกระดับ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ การแพทย์ ที่จำเป็น มุ่งเน้นการพัฒนา หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท

10.ส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ
       
11.ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub and Wellness)

12.สนับสนุนความร่วมมือ ระหวงภาครัฐและเอกชน ในการจัดบริการสุขภาพ

13.พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพให้มีคุณภาพ และบริการข้อมูลสุขภาพ สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

14.พัฒนาผลักดันและการบังคับใช้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อการสนับสนุนการดำเนินงาน ด้านสาธารณสุข และ

15.จัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ควบคุมป้องกัน การใช้สารตั้งต้น ในการผลิตยาเสพติดและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดใหม่

16.สื่อสารสาธารณะด้านสุขภาพ
       
       รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการมอบนโยบาย ว่า จะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงปัญหาเรื่องการกระจายงบประมาณให้กับโรงพยาบาลแต่ละจังหวัด ซึ่งยังมีช่องว่างในการกระจายงบประมาณต่อหัว บางจังหวัดเฉลี่ยแล้วได้อัตราเหมาจ่ายหัวละ 400 บาท แต่ในขณะที่บางจังหวัด เฉลี่ยแล้วได้หัวละ 2,000 บาท โดยจะต้องเร่งแก้ปัญหาให้ช่องว่างดังกล่าวอยู่ที่ 1,100-1,600 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะจังหวัดที่มีประชากรน้อย ก็จะได้รับงบประมาณเท่าเทียมกับจังหวัดที่ประชากรมาก ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ อาจจะตัดเงินเดือนออกงบประมาณรายหัว หรือใช้โมเดล ที่จะปรับเฉลี่ยค่าบริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยกำลังมีการศึกษาอยู่ ทั้งนี้โมเดลดังกล่าวจะศึกษาให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2555 สำหรับประเด็นเรื่องค่าตอบแทนจะมีการหารือเพื่อให้ได้งบประมาณที่มั่นคงกว่าเดิมที่ได้รับปีต่อปี
       
       ทั้งนี้ หลังเสร็จการประชุม นายวิทยา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ภารกิจเร่งด่วนที่จะทำ คือ นโยบายทั้งหมดที่ได้มองหมายแก่ผู้ปฏิบัติงาน แต่ที่จะเน้นที่สุด คือ การให้บริการเรื่องหลักประกันสุขภาพ และปัญหาบุคคลากร ที่ยังมีความขาดแคลนอยู่ ซึ่งจะเน้นการประสานงานระหว่างกระทรวงต่อกระทรวง กรมต่อกรม โดยจะเร่งดำเนินการในการแก้ปัญหาภายในของกระทรวงก่อน โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน ที่จะต้องจัดสรรงบประมาณ 1,700 ล้านบาท เพื่อให้บุคคลากรมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ไม่ต้องแบกรับภาระอะไร
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดเก็บค่าบริการ 30 บาท ในระบบบัตรทองจะเริ่มเมื่อใด นายวิทยา กล่าวว่า จะต้องขอหารือในทางปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 สิงหาคม 2554

7164
 วันนี้ (31 ส.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 8 ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้มีในระบบบริการของโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับที่มี  10,851 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค การดูแลและบำบัดรักษาสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน  อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคไมเกรน รวมทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีทั้งหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์หลากหลาย  และหมอแผนไทยประยุกต์รุ่นใหม่เป็นกำลังคนด้านสุขภาพอีกกว่า 50,000 คน จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ควบคู่กับการแพทย์แผนตะวันตก  ตั้งเป้าในปี 2555 จะให้บริการให้ได้ 12 ล้านครั้ง และส่งเสริมให้โรงพยาบาลต่างๆใช้ยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวน 71 รายการ เพื่อทดแทน ลดการใช้ยาแผนตะวันตกให้ได้ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 20 ของมูลค่าการใช้ยาทั้งหมด
       
                 “นอกจากนี้จะส่งเสริมการทำวิจัยการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ด้วยสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ยังไม่มียาแผนปัจจุบันรักษาหายขาด  เช่น มะเร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน” นายวิทยากล่าว
       
       ด้าน พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯได้ สนับสนุนให้ทุกหมูบ้านปลูกป่าสมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน เป็นทั้งแหล่ง อาหาร ยา แหล่งรายได้ของชุมชนทุกหมู่บ้านในปี 2555 ซึ่งนำร่องไปแล้ว 6 จังหวัด ในปี 2550-2552ได้แก่สุรินทร์ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครสวรรค์ ตรังและพัทลุง จากการประเมินพบว่าในชุมชนที่นำร่องมีหมอพื้นที่บ้านที่เป็นผู้รู้ด้าน สมุนไพรทั้งหมด 114 คน พบพันธุ์สมุนไพรและพืชที่เป็นแหล่งอาหารและที่ใช้เป็นยาตำรับรักษาโรค ในพื้นที่มากถึง 737 ชนิด ป่าสมุนไพรบางแห่งเช่นที่ป่าทามท่าสว่าง จ.สุรินทร์ สร้างรายได้ชุมชนปีละ 7 แสนบาท
       
       สำหรับ งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ 18 องค์กร และมีเครือข่ายที่เข้าร่วมงานกว่า 100 เครือข่าย เป็นเวทีในการนำเสนอองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและได้สัมผัสการใช้การ แพทย์ดั้งเดิมและสมุนไพรเพื่อการดูแลตนเอง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2554 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 7 - 8 เวลา 10.00 - 20.00 น. 
       
       กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการประชุมวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก นิทรรศการยาไทย ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาไทยทุกภาค หลากตำรับ ตรวจสุขภาพเด็กวัยรุ่น ผู้หญิง ผู้ชาย และผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย แผนจีน และแพทย์ทางเลือก มีการแนะนำสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งภายในงานจะมีสูตรและวิธีการทำ สามารถให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำสูตรนี้ นำกลับไปใช้เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของตนเองได้ การปรุงยาสมุนไพร เช่น ยาดอง และ แจกต้นสมุนไพรแห่งยุค 5 ชนิด 5 วัน ได้แก่ ต้นอัคคีทวาร กินแล้วสวย ต้นรางจืดราชายาแก้พิษ ต้นเพกาต้านอนุมูลอิสระ ต้นเครือเขาแกลบ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และต้นตำยาน บำรุงกำลัง วันละ300 ต้น และแจกหนังสือบันทึกของแผ่นดินเล่มสี่เรื่องสมุนไพรบำรุงกำลังวันละ 200 เล่ม
       
       นอกจากนี้ยังมีการจัดการอบรมระยะสั้นมากกว่า 40 หลักสูตร เช่น การทำลูกประคบ สีผึ้งสมุนไพร แชมพู ยาสีฟันสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สปา การทำชันตะเคียน น้ำนัวปรุงรสแทนผงชูรส การนวดตนเอง การ กดจุดบำบัด การนวดเด็กแบบจีน และโยคะเพื่อการพึ่งตนเอง ประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนหน้างานได้และหลังจากที่อบรมแล้วจะได้รับ ประกาศนียบัตรรับรองความรู้ 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 สิงหาคม 2554

7165
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า  ขณะนี้ผู้หญิงมีความเสี่ยงหลายเรื่อง ทั้งจากโรคภัยคุกคามสุขภาพ ในปี 2553 มีรายงานผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรคได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด รวม 42,500 คน อันดับ 1 คือโรคมะเร็งทุกชนิด 24,417 คน รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง 7,477 คน และโรคหัวใจขาดเลือด 5,327 คน นอกจากนี้ผู้หญิงยังเสี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความสวยความงามที่ไม่ปลอดภัยเช่น เครื่องสำอาง ผลิตอาหารลดความอ้วนต่างๆ อีกด้วย
 
 ดังนั้นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขต่อไปนี้ จะเร่งรัดมาตรการการสร้างสุขภาพ เพื่อลดอัตราป่วย และการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว รวมทั้งการจัดบริการดูแลสุขภาพเฉพาะกลุ่ม ได้แก่กลุ่มเด็ก สตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ โดยเฉพาะในการดูแลสุขภาพกลุ่มสตรีนั้น กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือจากองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับผู้หญิง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้หญิง โดยร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์  รณรงค์ให้ทุกจังหวัดรวมทั้ง กทม. ตั้งชมรมสตรีไทยห่วงใยสุขภาพ ในปี 2554 นี้ตั้งเป้า 84 ชมรม เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งให้คนไทยทุกหมู่เหล่ามีสุขภาพดี และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าชมรมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการกระตุ้น ให้ความรู้ ไปสู่กลุ่มผู้หญิงด้วยกัน หันมาใส่ใจสุขภาพอย่างทั่วถึงมากขึ้น   

มติชนออนไลน์ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

7166
    นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ว่า ได้มีการต่อยอด 30 บาทเดิม ที่วันนี้แหล่งการบริการยังไม่คลอบคลุมดีพอ เราจะเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มการบริการ คำนึงถึงความรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ต่อปัญหาของประชาชนในการรักษา รวมทั้งคำนึงถึงการป้องกัน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพนี้ ตอนนี้การแก้ไขปัญหารักษาโรคจะหนักอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่จริงการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุขยังมีอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ให้คำนึงถึงการป้องกัน ตนคิดว่าเราสามารถบริหารจัดการดูแลพี่น้องประชาชนได้ ดึงคนป่วยมาอยู่ในฐานของ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีฐานการให้บริการอย่างชัดเจน ตนคิดว่าจะมีอะไรที่ทำอีกเยอะไม่ใช่แค่การรักษาอย่างเดียว อย่างไรก็ตามสามารถเริ่มโครงการได้ทันที

    นายต่อพงษ์กล่าวว่า วันนี้ตนและรมว.สาธารณสุขจะมอบนโยบายให้กับข้าราชการ เพื่อให้รับทราบแนวทางปฏิบัตินโยบายของกระทรวง ตอนนี้กระทรวงสาธารณาสุขพร้อมที่จะทำงาน เพียงแต่ต้องการทราบนโยบายที่ชัดเจนในวันนี้ ส่วนปัญหาเรื่องระเบียบการนั้นไม่น่าจะมี เพราะงบประมาณที่จะเข้าไปเพิ่ม ปี 2555 ก็พร้อมจนเหลือที่จะดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

เนชั่นทันข่าว 30 สค. 2554

7167
นายชัยวัน ​เจริญ​โชคทวี คณบดีคณะ​แพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุง​เทพมหานคร กล่าวว่า คณะ​แพทยศาสตร์วชิรพยาบาล รับสมัครสอบคัด​เลือกบุคคล ​เพื่อ​เข้าศึกษาหลักสูตร​แพทยศาสตรบัณฑิต ระบบรับตรง​โควตาพิ​เศษ ประจำปี​การศึกษา 2555 จำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม 1 นัก​เรียนของ​โรง​เรียนสังกัดกรุง​เทพมหานคร จำนวน 2 คน

กลุ่ม 2 นัก​เรียนที่มีภูมิลำ​เนา​ใน​เขตกรุง​เทพ มหานคร จำนวน 2 คน ​และ

กลุ่ม 3 นัก​เรียนที่​เป็นบุตรของข้าราช​การ/ลูกจ้างประจำสังกัดกรุง​เทพมหานคร ​หรือพนักงาน มหาวิทยาลัยกรุง​เทพมหานคร จำนวน 6 คน

ผู้สน​ใจ​ให้ขอ​และยื่น​ใบสมัครด้วยตน​เองที่ฝ่าย​แพทยศาสตร์ศึกษา​และกิจ​การนักศึกษา ชั้น 6 อาคาร​เพชรรัตน์ คณะ​แพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุง​เทพมหานคร ​หรือ download ​ใบสมัคร​ได้จาก webside : www.vajira.ac.th ​หรือ www.vajira.ac.th/mededu ตั้ง​แต่บัดนี้​ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ​ในวัน​และ​เวลาราช​การ สอบถาม​โทร. 02-2443151-2

แนวหน้า 30 สิงหาคม 2554

7168
    เมื่อวานนี้โฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ในกรุงไทเป ทำรายงานชี้แจงอย่างละเอียดภายในวันพรุ่งนี้ กรณีที่มีการผ่าตัดนำอวัยวะของผู้บริจาคที่ติดเชื้อเอชไอวี สาเหตุของโรคเอดส์ ไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยถึง 4 คน
    ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ได้กล่าวขอโทษสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและบอกว่าขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับอวัยวะของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กำลังได้รับยาต้านเอดส์แล้ว นอกจากนี้เวบไซต์ของโรงพยาบาลได้โพสข้อความชี้แจงเมื่อสุดสัปดาห์ว่า ความผิดพลาดเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ได้ยินผิดพลาดว่า ผลการตรวจสอบหาเชื้อเอชไอวีในอวัยวะของผู้บริจาคมีผลเป็นลบ แต่จริงๆแล้วมีผลเป็นบวก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์โดยไม่มีการตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งอื่นซ้ำอีกรอบตามที่ขั้นตอนกำหนด
    ผู้บริจาคอวัยวะชายวัย 37 ปีในเมืองซินฉู่ ล้มป่วยถึงขั้นโคม่าเมื่อวันที่ 24 ส.ค. และหัวใจ ตับ ปอด และไตสองข้าง ของเขาได้รับการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย 4 คนในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันและผู้ป่วยอีก 1 รายในโรงพยาบาลอีกแห่ง โดยที่ครอบครัวของผู้บริจาค ไม่รู้ว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี
    ขณะนี้แพทย์และพยาบาลที่ร่วมทำการปลูกถ่ายอวัยวะเริ่มแสดงความกังวลว่าพวกเขาอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีด้วยก็เป็นได้
    เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะส่งทีมไปตรวจสอบเรื่องนี้และจะตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการลงโทษต่อโรงพยาบาลอย่างไร ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีและทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน อาจต้องถูกสั่งห้ามทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนาน 1 ปี

เนชั่นทันข่าว 29 สค. 2554

7169
 “ต่อพงษ์” ชู “อุดรโมเดล” เป็นต้นแบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดึงเครือข่ายสังคมออนไลน์มาช่วยแจ้งเตือนข่าวสาร เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กับส่วนกลาง และจัดบริการอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์น้ำท่วม ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน เอกเซรย์ทุกข์สุขชาวบ้าน 300 หลังคาเรือน
       
       วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ จ.อุดรธานี นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา ผู้ตรวจราชการ เขต 10 นายแพทย์สัญชัย ปิยะพงษ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

       นายต่อพงษ์กล่าวว่า ต้องการให้จังหวัดอุดรธานีเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข บริการผู้ประสบภัย หรือเรียกว่า อุดรโมเดล เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว โดยการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือระบบไอที เข้ามาช่วยในการประสานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่วนกลาง ในการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมถึงประชาชนในพื้นที่
       
       นายต่อพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการเตรียมรับมือน้ำท่วมได้แบ่งความรุนแรงของปริมาณน้ำฝนและระยะเวลาของระดับน้ำท่วม เช่น หากน้ำท่วมในพื้นที่มีระยะเวลาน้ำท่วม 3 วัน จะต้องมีการส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และยารักษาโรคลงพื้นที่ หากมีระยะเวลาน้ำท่วมเกิน 5 วัน จะต้องส่งหน่วยสุขภาพจิตดูแลด้านจิตใจของประชาชนผู้ประสบภัย นอกจากนี้ จะมีหน่วยค้นหาปัญหาสุขภาพ หรือเฮลท์ ยูนิต แสกน (Health Unit Scan) โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน ออกให้ความรู้เรื่องระบบการดูแลสุขภาพประชาชน คนละ 300 ครอบครัว ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้ในการปฏิบัติตัวในช่วงน้ำท่วมได้อย่างถูกต้อง จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่จะมาใช้บริการโรงพยาบาลได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 สิงหาคม 2554

7170
 ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากสารพิษ สระบุรี บุก สธ.อีกระลอก จี้ “วิทยา” ให้แก้ปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
       
       วันนี้ (29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วยโรคสารพิษและได้รับสารพิษจากบ่อขยะอันตราย (คสส.) ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี กว่า 70 ราย นำโดย น.ส.ศรีวรินทร์ บุญทับ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.หนองปลาไหล ได้เข้ามายื่นหนังสือขอบคุณนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่มีปัญหาสุขภาพจากสารพิษนานาชนิด

       โดย น.ส.ศรีวรินทร์กล่าวว่า ประเด็นหลักๆที่ชาวบ้านคาดหวังมากที่สุด ในการแก้ปัญหาสุขภาพ คือ
1.เรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลโรคสารพิษ หรือ สถาบันโรคสารพิษขึ้นในพื้นที่เสี่ยงและเกิดสารพิษระบาด อาทิ ในพื้นที่บ่อขยะ จ.สระบุรี พื้นที่มาบตาพุด และร่อนพิบูลย์ เป็นต้น
2.จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะอาจจะเป็นกรมสุขภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญโรคจากสิ่งแวดล้อมคอยให้บริการประชาชน และ
3.เร่งรัดให้หน่วยงานดังกล่าวลงพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งตนเชื่อว่า รมว.สธ.จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยดี
       
       หลังจากที่เครือข่ายได้นำเสนอปัญหาและความเดือดร้อน ไปเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่บ้านพักของนายวิทยา ซึ่งได้รับปากแล้วว่าจะเร่งหาทางแก้ให้โดยเร็ว
       
       “จากการเข้าพบที่ผ่านมา รัฐมนตรีแค่รับปากว่าจะหาทางแก้ปัญหาสุขภาพแก่ประชาชนที่ได้รับสารพิษโดยเร็ว แต่ในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ที่เสนอนั้นยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในฐานะตัวแทนประชาชน ให้ความไว้วางใจในการทำหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุข จะมีวิธีแก้ที่ดีกว่า ก็ยินดี ขอพียงแค่บรรเทาปัญหาก็พอ ” น.ส.ศรีวรินทร์กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 สิงหาคม 2554

หน้า: 1 ... 476 477 [478] 479 480 ... 535