ผู้เขียน หัวข้อ: คนใช้สิทธิการตายไม่ถึง 1% เหตุไม่เข้าใจ แพทย์หวั่นฟ้องร้อง  (อ่าน 474 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9784
    • ดูรายละเอียด
คนทำพินัยกรรมชีวิตปฏิเสธการรักษามีไม่ถึง 1% สช. ชี้ “หมอ-ผู้ป่วย-ญาติ” ยังไม่เข้าใจ แนะหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายบนข้อมูลการรักษาจริง ลดปัญหาขัดแย้ง ด้านอายุรแพทย์ รพ.รามาฯ ยันไม่ใช่การฆ่าตัวตาย เป็นการปฏิเสธการรักษาให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งไม่ยื้อการตาย ขณะที่ รบ. ใหม่ผลักดันให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี ส่วนแพทย์หวั่นถูกฟ้องร้อง
       
       วันนี้ (15 ก.ย.) นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในงานสัมมนา “พินัยกรรมชีวิต : สิทธิในการตาย” ว่า ปัจจุบันไม่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และญาติยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องการทำพินัยกรรมชีวิตหรือหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will) ทำให้เกิดปัญหาในการรักษาผู้ป่วย เช่น แพทย์ไม่ทำตามเจตนารมณ์การปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยเนื่องจากมองว่าผู้ป่วยไม่มีความรู้ทางการแพทย์จึงไม่สามรารถตัดสินใจเรื่องสุขภาพของตัวเองได้ จนกลายเป็นสิทธิเหนือผู้ป่วย ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้ป่วยมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง ส่วนญาติที่ไม่ทำตามเจตนารมณ์ แต่ให้แพทย์ยื้อชีวิตของผู้ป่วยไว้ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องความกตัญญูและอาจถูกสังคมตีตราว่าไม่สามารถดูแลบุพการีได้ เป็นต้น
       
       นพ.อุกฤษฏ์ กล่าวว่า การทำพินัยกรรมชีวิตขอปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ต้องทำระหว่างที่มีสติครบถ้วน โดยสามารถทำได้ทั้งชนิดที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือพูดปากเปล่าให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันทั้งแพทย์ ว่าจะปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการใดบ้าง ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แต่จะต้องเป็นวาระท้ายของชีวิตจริงๆ คือรู้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นเพียงแค่การยืดระยะเวลาการเสียชีวิตออกไปเท่านั้น แต่ตรงนี้ยังมีการตีความต่างกันอยู่ทางออกคือทั้งญาติ ผู้ป่วยและแพทย์ต้องมาหารือทางออกร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Family Meeting โดยแพทย์ต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงกับผู้ป่วยและญาติเพื่อประกอบการตัดสินใจ และลดความขัดแย้งลง ซึ่งหากเห็นตรงกันทั้ง 3 ฝ่ายก็ไม่มีปัญหา
       
       “การใช้สิทธิปฏิเสธการรักษาสามารถใช้ได้กับทุกโรค ซึ่งแต่ละโรคจะมีวาระท้ายของชีวิตต่างกัน ตรงนี้ต้องมีการพิจารณาว่าขั้นไหนคือระยะท้ายชีวิตที่ไม่สามารถรักษาต่อไปได้แล้ว ส่วนกรณีผู้ป่วยที่มีการทำพินัยกรรมชีวิตปฏิเสธการรักษาไว้แล้ว แต่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น แพทย์จะต้องทำการรักษาเฉพาะหน้าไปก่อน จนกว่าอาการเข้าเกณฑ์ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว จึงค่อยเป็นไปตามสิทธิในการตายที่ผู้ป่วยระบุไว้ในพินัยกรรมชีวิต” นพ.อุกฤษฎ์ กล่าวและว่า สำหรับพินัยกรรมชีวิตอยู่ในแผนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลใหม่ด้วย ในส่วนระบบสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุและผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งจะต้องทำให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี และมีผลต่อเนื่องอย่างยั่งยืน เน้นการดูแลโดยชุมชนและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถานบริการสุขภาพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       
       นพ.อุกฤษฎ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องที่แพทย์ 3 ราย ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเมื่อปี 2553 ให้ปรับปรุงแก้ไข ม.12 เนื่องจากเห็นว่า 1. การออกประกาศดังกล่าวไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง
2. ผู้ป่วยไม่มีความสามารถในการตัดสินภาวะสุดท้ายของชีวิตเนื่องจากไม่มีความรู้ทางการแพทย์ และ
3. ขัดกับรัฐธรรมนูญสิทธิในร่างกายของผู้ป่วยนั้น ตนได้ส่งเอกสารหลักฐานพร้อมกับเดินทางไปชี้แจงต่อศาลเรียบร้อยแล้ว คาดว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาภายใน 2-3 เดือน
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้สิทธิในการตายของพินัยกรรมชีวิต ถือเป็นการฆ่าตัวตายหรือไม่ พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อายุรแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไม่ถือเป็นการฆ่าตัวตาย เนื่องจากผู้ป่วยรู้ดีว่ารักษาต่อไปอย่างไรก็ไม่หาย และต้องเสียชีวิต แต่ต้องเป็นการจากไปอย่างธรรมชาติ คือไม่เร่งการตายและไม่ยืดการตายออกไป ส่วนผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว หากจะตัดสินใจหยุดการรักษาผู้ป่วย จะยึดเกณฑ์อาการสมองตาย
       
       ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนทำพินัยกรรมชีวิตเพื่อปฏิเสธการรักษาไม่ถึง 1% ของคนทั้งประเทศ โดยคนที่ทำมักเป็นผู้ที่มีฐานะ มีความรู้ความเข้าใจ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ส่วนที่เหลือยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ เนื่องจากมองว่าระบบการรักษาของไทยเป็นการรักษาฟรีก็ต้องรักษาอย่างถึงที่สุด และจะมองว่าแพทย์ต้องการประหยัดค่ารักษา แม้ผู้ป่วยจะมีการทำพินัยกรรมชีวิตปฏิเสธการรักษาไว้ก็ตาม ตาม มาตรา 12 แพทย์ก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวถูกฟ้องร้องเนื่องจากญาติไม่เข้าใจ และต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าถึงวาระสุดท้ายในชีวิตแล้วหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยแพทย์เจ้าของไข้จะเป็นผู้พิจารณา ดังนั้น จึงควรมีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในโรงพยาบาลเช่นต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าถึงวาระสุดท้ายแล้วจริง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 กันยายน 2557