ผู้เขียน หัวข้อ: แฉ! ความสุขธุรกิจยาสูบบนความทุกข์คนจน เมินดูแลสุขภาพผู้สูบ  (อ่าน 386 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
หมอประกิต แฉ ความสุขของธุรกิจยาสูบบนความทุกข์ของคนจน แถมไม่เคยดูแลสุขภาพผู้สูบ ด้าน ก.เกษตรฯ แนะชาวไร่ปลูกใบยาสูบ ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน รายได้ดีไม่แพ้กัน ชี้ชาวไร่ปลูกใบยาสูบโชคดี โรงงานยาสูบดูแลดี

        ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยถึงกรณีที่สมาคมการค้ายาสูบไทยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... โดยขอให้ ครม. ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกและชาวไร่ยาสูบ ว่า สิ่งที่สมาคมการค้ายาสูบไทย และบริษัทบุหรี่ไม่เคยให้ความสำคัญเลยคือ ผลกระทบที่ผู้สูบบุหรี่ได้รับจากการประกอบธุรกิจยาสูบ โดยการสำรวจในปี 2554 พบว่า มีคนไทยที่สูบบุหรี่ที่จัดอยู่ในกลุ่มประชากรที่จนที่สุดของประเทศ 1,457,000 คน ที่มีรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องเสียเงินซื้อบุหรี่เพื่อสูบเดือนละ 548 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 27.4 ของรายได้แต่ละเดือน
       
       “ผมอยากให้สังคมถามสมาคมการค้ายาสูบไทยว่า เคยคิดบ้างไหมว่า ธุรกิจของท่านทำร้ายครอบครัวผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนอย่างไร และบริษัทบุหรี่ที่ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความเป็นไปของผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนเหล่านี้ ซึ่งครึ่งหนึ่งต้องการที่จะเลิกสูบ และ 1 ใน 3 พยายามที่จะเลิกสูบแต่เลิกไม่ได้ แต่กลับขัดขวางกระทรวงสาธารณสุข ที่เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่ ด้วยเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กๆ ที่จะเข้าไปเสพติดบุหรี่ ซึ่งเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนโดยแท้จริง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
       
       นางอรสา ดิสถาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ไม่น่ามีผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ เนื่องจากเนื้อหาใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ไม่มีการพูดถึงตัวเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ และไม่มีการจำกัดสิทธิของเกษตรกรในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ แต่หากในอนาคตข้างหน้า เกษตรกรมีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทำให้มีรายได้ลดลง ในความเป็นจริงยังมีพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิดที่สามารถทำรายได้สูงไม่แพ้ยาสูบ เช่น การปลูกมันฝรั่งเพื่อส่งโรงงาน การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผัก ฯลฯ
       
       นางอรสา กล่าวว่า การเปลี่ยนไปปลูกพืชรายได้สูงอื่นๆ เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบสามารถทำได้ทันที เนื่องจากมีทักษะ มีความสามารถในการดูแลใบยาสูบ ซึ่งเป็นพืชที่ละเอียดอ่อนมากอยู่แล้ว ซึ่งหากโรงงานยาสูบ หรือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ต้องการทักษะในการปลูกพืชชนิดอื่น ทางกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้และประสานหาภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ทั้งนี้ การปลูกยาสูบเป็นการทำเกษตรแบบประณีต เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรอื่นๆ แล้วมีความโชคดีกว่ามาก เนื่องจากได้รับการดูแลจากโรงงานยาสูบเป็นอย่างดี ตั้งแต่เรื่องโควตาการผลิต การสนับสนุนเทคโนโลยีและสินเชื่อในการผลิต รวมทั้งการรับซื้อยาสูบคืนในราคาประกันล่วงหน้าด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 มกราคม 2558