My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => สหสาขาวิชาชีพ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 03 กันยายน 2017, 23:07:23

หัวข้อ: สธ.ยัน “พยาบาล” ไม่ใช่จำเลยรถพยาบาลมุกดาหารเกิดอุบัติเหตุ เร่งดูแลตามขั้นตอน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 03 กันยายน 2017, 23:07:23
 สธ. ยัน “พยาบาล” ไม่ใช่จำเลยเคสรถพยาบาลมุกดาหารประสบอุบัติเหตุ ชี้ได้รับการเยียวยาตาม ม.41 สปสช. ได้ เผยจากการสอบสวนเป็นเหตุสุดวิสัย อยู่ระหว่างเจรจาค่าเสียหายจากประกันภัย

จากกรณีเฟซบุ๊กเพจ “สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย” เปิดเผยถึงเหตุการณ์ “พยาบาล” ร้องเรียนว่าตกเป็นจำเลยหลังรถพยาบาล รพ.มุกดาหารเกิดอุบัติเหตุหลังจากส่งต่อผู้ป่วย โดยระบุว่า ไม่ได้รับการดูอลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากการตรวจสอบยืนยันว่า พยาบาลทั้ง 2 ท่านไม่เข้าข่ายเป็นจำเลย แต่ถือว่าได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ โดย 1 รายบาดเจ็บไม่สาหัส ส่วนอีกรายบาดเจ็บสาหัส ซึ่งกรณีเหล่านี้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรา 44 ปลดล็อกหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงว่า ไม่สามารถใช้เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการได้ ซึ่งหลักเกณฑ์การเยียวยาหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้รับสูงสุด 4 แสนบาท สูญเสียอวัยวะหรือพิการสูงสุด 2.4 แสนบาท บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องสูงสุด 1 แสนบาท ขั้นตอนคือทำเรื่องไปยัง สปสช. สาขาในพื้นที่นั้นๆ แต่ต้องใช้เวลานาน 1 - 2 เดือน
“คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ รพ.มุกดาหาร พบว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยของคนขับรถ และอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องประกัน ซึ่งมาตรการเรื่องความปลอดภัยนั้น สธ.สั่งให้รถพยาบาลของ รพ. ในสังกัดทุกแห่งต้องทำประกันชั้น 1 ทั้งหมด พร้อมทั้งติดจีพีเอส เพื่อติดตามความเร็วในการขับรถ รวมทั้งคนขับต้องผ่านการฝึกอบรมด้วย อย่างไรก็ตาม สธ. อยู่ระหว่างพยายามเยียวยาบุคลากรที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนอกจากการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แล้ว ยังควรให้มีการเยียวยาที่ได้รับอัตราจำนวนเงินมากขึ้น ขณะนี้กำลังการือว่าจะทำเป็นประกาศกระทรวงฯ หรือบรรจุร่วมใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ พ.ศ. ...” ปลัด สธ. กล่าว

รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า อุบัติเหตุรถพยาบาล รพ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 เวลา 01.03 น. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า เป็นเหตุสุดวิสัยและตอนนี้ ขั้นตอนการดำเนินการอยู่ระหว่างนัดเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน ซึ่งทางโรงพยาบาลต้นสังกัดได้เบิกเงินช่วยเหลือทำขวัญเบื้องต้นคนละ 5,000 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเบิกจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ โรงพยาบาลมุกดาหาร ได้ให้การดูแลรักษาตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยให้การดูแลรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายดีและสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนเงินค่าเสียหายที่ทำให้ได้รับการบาดเจ็บและเสียชีวิต เรียกร้องจากประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 (ประกันชั้น 1) โดยอยู่ระหว่างนัดเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อหน้าเจ้าพนักงานเจ้าของคดี ที่ สภ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ระหว่างผู้เสียหาย และเจ้าของบริษัทประกันภัย ผู้คุ้มครองรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 และครั้งที่ 3 วันที่ 17 ส.ค. 2560 ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวน โดยในชั้นนี้ยังไม่มีการดำเนินการส่งฟ้องร้องใดๆ และยังไม่มีผู้ตกเป็นจำเลยทางคดี ทั้งหมดคาดว่าจะได้ข้อยุติโดยเร็ว ส่วนกรณีพยาบาลผู้ประสบเหตุที่พักรักษาตัวและทำให้ขาดรายได้ ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดให้ยืมเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 15,000 บาท และจะพิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไปหลังจากที่ได้ข้อยุติจากการเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย เรียบร้อยแล้ว

นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) มุกดาหาร กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนน ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งการติดตั้งระบบจีพีเอส พร้อมกริ่งสัญญาณควบคุมความเร็วรถ การติดตั้งกล้องบันทึกภาพหน้ารถและห้องคนขับ การอบรมฟื้นฟูทักษะพนักงานขับรถพยาบาลในหลักสูตร Ambulance safety การจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 โดยให้รถพยาบาลทุกคันติดจีพีเอส และกล้องตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ กำกับให้ทำประกันภัยภาคสมัครใจภาคสมัครใจ ประเภท 1 ทุกคัน 100% การอบรมฟื้นฟูทักษะพนักงานขับรถรายเก่า รายใหม่ 100% และให้ทุกโรงพยาบาลจัดเวรพนักงานขับรถเป็นเวร 8 ชั่วโมง มีการกำกับผลการปฏิบัติเรื่องความเร็วรถพยาบาลในที่ประชุมคณะกรรมการวางแผนและประเมินผลระดับจังหวัด (กวป.) พบว่า เมื่อช่วงต้นปีงบประมาณผลคือรถทุกคันใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. จึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติมโดยติดตั้งกริ่งสัญญาณเตือนความเร็วเกินกำหนดให้รถพยาบาลทุกคัน และเชื่อมฐาน GPS กับขนส่งจังหวัดให้ช่วย monitor ความเร็วพร้อมออกจดหมายเตือนถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลจากสำนักงานขนส่งจังหวัด

13 ส.ค. 2560 17:26:00   โดย: MGR Online