ผู้เขียน หัวข้อ: "ศิริราช"ทนไม่ไหวเตรียมขึ้นค่าบริการ เจอพิษค่าแรง300และ1.5หมื่น /สธ.ลั่นรพ.ทั้งปท.จ่อปรับราคา  (อ่าน 756 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
พิษค่าแรง 300 และ 1.5 หมื่นบาทของรัฐบาลปู กระทบฐานะการเงิน รพ.ศิริราช เตรียมประกาศปรับค่าบริการภายในปีนี้ หลังต้องควักเนื้อจ่ายเงินเดือนลูกจ้างเพิ่มขึ้นถึงปีละ 800 ล้านบาท พ้อรัฐบาล ไม่เคยคิดว่าต้องแบกรับภาระลูกจ้าง ให้งบฯ มาแค่ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น ด้าน สธ.เผยเตรียมขึ้นค่ารักษาพยาบาลทั้งประเทศเร็วๆ นี้ "มฟล." ก็เจอพิษค่าแรงด้วยเหมือนกัน เฉือนเนื้อ จ่ายให้ลูกจ้าง 38 ล้าน
    ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทสำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ส่งผลกระทบต่อการบริการงบประมาณของทางโรงพยาบาล เพราะงบประมาณส่วนแรกที่ให้มานั้นครอบคลุมเฉพาะข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่รพ.ยังมีลูกจ้างอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 4-5 พันคน ที่ต้องใช้งบประมาณของทาง รพ.มาจ่ายค่าแรงปีหนึ่งประมาณ 700-800 ล้านบาท ตรงนี้ก็ต้องปรับให้ด้วย
    ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่อนุญาตให้ใช้ยาจากต่างประเทศ ให้ใช้ยาชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศไทยแทนนั้น ทำให้ทางโรงพยาบาลขาดรายได้จากส่วนนี้ไป โดยในปี 2555 ขาดรายได้จากค่ายาไปประมาณ 900-1,000 ล้านบาท จึงยิ่งทำให้โรงพยาบาลศิริราชต้องแบกรับภาระมากขึ้น
    “ตรงนี้กระทบมาก เพราะถ้าเพิ่มคนนี้ ไม่เพิ่มกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ ก็ต้องเพิ่ม และถ้าคนที่เพิ่งจบปริญญาตรีใหม่ๆ ได้เงินเดือน 15,000 บาท อาจจะไปเท่ากับผู้ที่เพิ่งทำงานมาเป็นสิบๆ ปี และเพิ่งจะได้เงินเดือน 15,000 บาท ตรงนี้เราก็ต้องมาปรับใหม่หมด และใช้เงินของเราเอง แต่รัฐบาลเขาไม่ได้คิดตรงนี้” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว และว่า ทาง รพ.ไม่มีนโยบายในการไล่คนออก แต่กลับให้การดูแลกันในทุกๆ ด้านไปจนถึงหลังเกษียณ
    ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น รพ.ศิริราชจึงได้แก้ปัญหาด้วยการเตรียมปรับเพิ่มค่าบริการในระดับที่เหมาะสม เช่น ค่าเตียง ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาประกาศปรับอัตราค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังจะปรับขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่า รพ.ศิริราชก็น่าจะปรับตามได้ภายในปี 2556 นอกจากนี้ รพ.ศิริราชยังต้องหารายได้จากด้านอื่น เช่น รูปแบบการให้บริการเพื่อดึงดูดให้คนมาใช้บริการ และร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนในการทำการวิจัยต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางในการลดต้นทุนด้วย อะไรที่พอประหยัดได้ก็ประหยัด
    ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การปรับอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่นานแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนการปรับอัตราค่าบริการ อาทิ ค่าบริการผ่าตัดต่างๆ โดยอาศัยการพิจารณาจากราคาต้นทุน ส่วนจะปรับอัตราค่าบริการเป็นอย่างไรนั้น ตนยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าคณะทำงานน่าจะสรุปผลได้ในเร็วๆ นี้
    นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัด สธ. กล่าวว่า เรื่องปรับค่าบริการรักษาพยาบาลคิดมาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยดูต้นทุน ค่าแรงอะไรต่างๆ เคยมีการประชุมและทบทวนไปแล้วครั้งหนึ่ง และมีการเสนอแนะประเด็นอะไรต่างๆ ถ้าไม่มีอะไรจะเสนอให้ปลัด สธ. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเลย และอยากเร่งให้เร็วที่สุด
    เมื่อถามว่าจะปรับค่าบริการส่วนใดบ้าง นพ.โสภณกล่าวว่า ทั้งหมดเลย เช่น ค่าทำหัตถการ กรณีนอนไอซียู จะมีบอกไว้หมด ส่วนจะเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์นั้นจำตัวเลขไม่ได้ ทั้งนี้ เหตุที่ต้องปรับค่าบริการใหม่เนื่องจากไม่มีการปรับมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว ค่าอุปกรณ์อะไรต่างๆ ราคาขึ้นทั้งหมด และมีหน่วยงานอื่นช่วยดูแล เช่น เรื่องการปรับค่าบริการ เช่น ค่ารังสี ค่าเอกซเรย์ ก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิด การผ่าตัด หรือการดมยาสลบก็มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดเช่นกัน
    รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท ในส่วนของมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวมาก ถึงแม้สำนักงบประมาณจะดูแลอัตราค่าจ้างลูกจ้างให้ได้ 300 บาทต่อวัน แต่ก็ดูแลเฉพาะลูกจ้างที่จัดสรรอัตรากำลังให้ ขณะที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีลูกจ้างอัตราที่มหาวิทยาลัยจ้างมาเอง ซึ่งมีจำนวนมาก แต่ในส่วนนี้รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบฯ เพิ่มให้ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องแบกรับภาระเอง ยิ่งมหาวิทยาลัยใดได้งบฯ น้อยอยู่แล้ว และไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง จะได้รับผลกระทบมาก จนอาจต้องใช้วิธีปรับลดอัตราลูกจ้างเงินมหาวิทยาลัยแน่นอน ทั้งนี้ อย่าง มฟล.เองได้รับงบฯ ต่อปีไม่ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายงบฯ ตัวเองเพิ่มอีกจำนวน 38 ล้านบาท เพื่อปรับขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างรายวัน และ ป.ตรี ที่มีอยู่กว่า 70% หรือเกือบ 200 คน ดังนั้นในปีงบฯ 2557 อาจจำเป็นต้องลดจำนวนการจ้างลงเพื่อคงรายจ่ายไว้.


ไทยโพสต์ 24 January 2013