ผู้เขียน หัวข้อ: คุมเข้มยาปลอมระบาด อย.แนะอย่าเลือกราคาถูกผิดสังเกต  (อ่าน 1035 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
อย.ยันคุมเข้มยาปลอมระบาด ระบุยามะเร็ง-เบาหวาน ต้องนำเข้าโดยผู้มีใบอนุญาตเท่านั้น แนะ ปชช. ต้องไม่เลือกยาที่มีราคาถูกจนผิดสังเกต เพราะอาจเป็นยาปลอมได้...

วันที่ 8 ส.ค. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกรณีมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์พบยามะเร็งและยาเบาหวานปลอมจากจีนส่งขายในไทยเป็นจำนวนมากว่า ขอชี้แจงว่า ปัญหายาปลอมระบาดเป็นปัญหาที่ภาครัฐ และ อย.ให้ความสำคัญ โดยมีหลายมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาปลอมของประเทศไทย จนสามารถควบคุมปัญหายาปลอมให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยเฉพาะด่านอาหารและยาทุกด่านทั่วประเทศ ได้ตรวจสอบยาที่จะนำเข้าประเทศอย่างเคร่งครัด โดยการนำเข้าฯ ยานั้น ผู้นำเข้าฯ ต้องมีใบอนุญาตนำเข้ายาและต้องผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน ในส่วนของยามะเร็งและยาเบาหวาน ประชาชนมีโอกาสน้อยในการได้รับยาปลอม เนื่องจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของไทย ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายยาดังกล่าวตามสิทธิ์ได้ และยามะเร็งถือเป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น โอกาสที่จะหายากลุ่มนี้จึงเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นไปได้บ้าง เช่น การจัดซื้อโดยสถานพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตาม อย. ได้เตือนไปก่อนหน้านี้แล้วว่า สถานพยาบาลควรจัดหายากับผู้จัดจำหน่ายที่ไว้ใจได้ และต้องไม่เลือกยาที่มีราคาถูกจนผิดสังเกต เพราะอาจเป็นยาปลอมได้ ซึ่ง อย.ได้มีมาตรการในการตรวจสอบจับกุมอย่างสม่ำเสมอ

เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.มิได้นิ่งนอนใจในปัญหายาปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบและจับกุมผู้ผลิต/ผู้ขาย/ผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง ช่วงรอบปีที่ผ่านมาสามารถจับกุมยาปลอมรายใหญ่ๆ ได้ 20 ราย แบ่งเป็นความผิดจากการลักลอบนำเข้า 16 ราย และผู้จำหน่ายกระทำผิดกฎหมาย 4 ราย โดยสถิติยาปลอมที่จับได้ เป็นยากลุ่มรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งยาดังกล่าวปัจจุบันมีราคาแพง ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ยาก เช่น ยา Sildenafil และยา Tadalafil โดย อย.เคยขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ลดราคายาแต่ยังไม่ได้ผล ทำให้มีการลอกเลียนแบบยาต้นแบบ ลักลอบขายตามท้องตลาดและแผงลอยทั่วไป ซึ่ง อย.เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมกำลังขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในยากลุ่มประเภทรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศกับ อย. ซึ่งจะมีการจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่าย ช่วยลดปัญหายาปลอมได้อีกทางหนึ่ง

นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหายาปลอม คือ ความต้องการของประชาชน การเข้าถึงยา และราคายา ดังนั้น หากผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย สามารถลดราคายา ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยา ปัญหาผู้ที่คิดจะผลิตหรือนำเข้ายาปลอมก็จะลดลงตาม ทั้งนี้ ความหมายของยาปลอม คือ ยาหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือบางส่วน, ยาที่แสดงชื่อว่า เป็นยาอื่น หรือแสดงเดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุ ซึ่งไม่ตรงความจริง, ยาที่แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของผู้ผลิต หรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยาซึ่งไม่ตรงความจริง, ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งไม่ตรงความจริง และยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน สำหรับวิธีสังเกตยาปลอม คือ ดูทะเบียนและเอกสารกำกับยา, สังเกตฉลาก ตัวกล่อง ว่ามีความลบเลือนของตัวหนังสือหรือไม่ และซื้อยาในสถานที่ที่ได้มาตรฐาน เช่น คลินิก ร้านขายยา ส่วนร้านค้าประเภทแผงลอย หาบเร่ พบว่าส่วนใหญ่เป็นยาปลอม ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด หากผู้บริโภคพบเห็นแหล่งขายยาปลอม โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.โทร. 1556

ไทยรัฐออนไลน์