ผู้เขียน หัวข้อ: อีสานบันเทิง หนังกลางแปลงไม่มีวันตาย  (อ่าน 1453 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในเมืองใหญ่อาจจะพบเห็นหนังกลางแปลงได้น้อยลง แต่สำหรับคนอีสานยังคงพบเห็นการล้อมผ้าฉายหนังกลางแปลงตามชุมชนได้ไม่ยากนัก

ผ้าสีขาวสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ตั้งเด่นในระยะไกล มีโครงเหล็กยึดโยงแต่ละด้านอย่างแน่นหนา ส่งให้ผ้าขาวตึงพร้อมจะรองรับเฟรมภาพที่จะปล่อยออกจากห้องส่งภาพ หลายคนอาจจะนึกออกว่า นี่คือ ‘หนังกลางแปลง’ สื่อบันเทิงคดีที่เคยครองใจนักดูหนังมาก่อน หากแต่วันนี้ อาจจะพบเห็นได้น้อยลง เพราะผู้คนต่างมีทางเลือกในการชมความบันเทิงมากขึ้น

ในเมืองใหญ่อาจจะพบเห็นหนังกลางแปลงได้น้อยลง แต่สำหรับคนอีสานยังคงพบเห็นการล้อมผ้าฉายหนังกลางแปลงตามชุมชนได้ไม่ยากนัก คนอีสานคุ้นเคยกับหนังกลางแปลงที่ตระเวนฉายในแต่ละหมู่บ้าน ผู้คนที่รีบหอบหมอนหอบเสื่อเพื่อมารอดูอย่างใจจดใจจ่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของหนังกลางแปลงที่ได้เข้าไปอยู่ในจิตใจผู้ชม เกิดเป็นความผูกพันและทำให้นาฎกรรมบนจอผ้าขาวได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องเล่าจากจอผ้าขาว

เมื่อลองสำรวจเจ้าของหนังกลางแปลงในจังหวัดมหาสารคาม หลายรายปิดตัวลง แต่ยังมีบางเจ้าที่ยึดอาชีพฉายหนังกลางแปลงมานานนับสิบปี ดังเช่น ศิริวรรณ พลคำมาก ผู้จัดการสำนักงานกิมแชภาพยนตร์ จังหวัดมหาสารคาม

ศิริวรรณเล่าว่า เดิมทีหนังกลางแปลงอาจจะไม่มีเทคนิคที่ดึงดูดผู้ชมมากเท่าที่ควรและอาจสู้สมัยปัจจุบันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านแสง สีและเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ในการฉายต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีมากมายที่ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แม้บางคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้บทบาทและความนิยมของหนังกลางแปลงลดลงไปบ้างก็ตาม

ใครที่คิดว่าหนังกลางแปลงจะปิดกิจการจึงไม่ใช่เสียทั้งหมด เนื่องจากลูกค้ามักว่าจ้างหนังกลางแปลงไปแสดงในงานมหรสพต่างๆ มากกว่าหมอลำซิ่งด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทและการก่อกวนภายในงาน แทนที่จะสร้างความสุขให้ผู้ชมกลับต้องสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายมากกว่าเดิม เท่าที่สังเกตเห็นคือผู้ชมยังให้ความสนใจและยังมีจำนวนหนาแน่นในการชมการฉายหนังกลางแปลงตามสถานที่ต่างๆ ทุกครั้งเช่นเคย

“คงไม่มีใครอยากทำธุรกิจนี้ เพราะวิวัฒนาการมันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ถึงแม้จะทำได้ แต่ก็คงไม่เหมือนเดิม” เจ้าของกิจการคนเดิมเล่าทิ้งท้าย

ขณะที่ ไพศาล แซ่ลิ้ม ผู้ฉายหนังกลางแปลงบริษัทกิมแชภาพยนตร์ ย้อนอดีตประสบการณ์ว่า เริ่มทำงานฉายหนังกลางแปลงตั้งแต่อายุ 10 ปี ตลอดจนปัจจุบันอายุ 45 ปี ซึ่งเป็นเวลา 35 ปี แล้ว และอาชีพหนังกลางแปลงเป็นสมบัติของตระกูลที่มีการสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นอีกด้วย ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูล จึงมีความชำนาญและคลุกคลีกับหนังกลางแปลงมาโดยตลอด

ไพศาลต้องทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่ดูแลอุปกรณ์การฉาย เทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ เพราะเรื่องฉายหนังไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความรู้ มีไหวพริบในการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า ตลอดจนการสั่งสมประสบการณ์ ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด เพื่อให้การฉายหนังแต่ละครั้งมีคุณภาพ ทำให้เจ้าภาพและผู้ชมเกิดความพึงพอใจและประทับใจ จวบจนส่งผลพวงให้เมื่อมีงานบุญก็เรียกใช้บริการของบริษัทอีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตามคนคนเดียวคงทำงานทุกตำแหน่งไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องหาลูกจ้างมาช่วยในการแบ่งเบาภาระหน้าที่ ไพศาลเล่าว่า การฉายหนังกลางแปลงแต่ละครั้งต้องมีพนักงานประมาณ 4-6 คน โดยแต่ละคนจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ส่วนเรื่องค่าจ้างในอดีตจะได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบันลดน้อยลง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยก็คงเป็นตัวแปรสำคัญ ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลและเทศกาลด้วย ถ้าเป็นช่วงออกพรรษา ลอยกระทง ปีใหม่ สงกรานต์และงานทำบุญต่างๆ ที่ต้องจ้างมหรสพไปแสดงก็จะมีงานจำนวนมาก แต่ถ้าช่วงเข้าพรรษาจะไม่ค่อยมีงาน ถึงมีก็มีน้อย ถ้าไม่เป็นงานด่วน งานแก้บน และล้อมผ้าฉายหนังหาเงิน

ผู้ฉายหนังคนเดิมย้ำว่า หนังกลางแปลงจะอยู่ได้ต้องขึ้นอยู่กับการจัดงานบุญต่างๆ เพราะ “ตราบใดที่คนอีสานยังมีงานบุญก็อยู่ได้” เนื่องจากภาคอีสานเป็นคนใจบุญ ชอบจัดงานบุญต่างๆ เป็นประจำ จึงทำให้ภาคอีสานเป็นภาคเดียวที่นิยมจ้างมหรสพหนังกลางแปลงมากที่สุดในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้งานบุญจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังกลางแปลงอยู่รอดแล้ว ถ้าไม่ปรับปรุงเทคนิคให้ทันสมัยใหม่เสมอก็คงอยู่ไม่รอดเช่นเดียวกัน เพราะหัวใจหลักของหนังกลางแปลงขึ้นอยู่กับคุณภาพของแสง สี เสียง รวมถึงการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้ชม และถ้าใจไม่รักคงทำไม่ได้ ต้องทำให้ผู้ชมเข้าถึงอรรถรสในการรับชมอย่างเต็มที่

“อาชีพฉายหนังกลางแปลงคงไม่มีใครอยากสืบทอดและเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผมมีลูกสาวคนเดียว คงจะทำไม่ได้และอาชีพนี้ก็เหมาะสมกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะต้องใช้แรงกายเป็นส่วนใหญ่คงต้องปล่อยไปตามกาลเวลาและอายุไขของตน แต่อย่างไรก็ตามจะทำอาชีพนี้ต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว” ชายฉายหนังคนเดิมเล่า

ราคาถูก ใกล้ชิดชุมชน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังกลางแปลงอยู่ได้คือ ความต้องการหนังไปฉายตามงานบุญต่างๆ นอกเหนือจากนั้น สิ่งสำคัญคือ ผู้ชมหนังกลางแปลงที่เป็นคนรุ่นใหม่ ตามต่างจังหวัด นับเป็นส่วนสำคัญให้หนังกลางแปลงจะทำกิจการต่อไปได้ เช่น การจัดฉายหนังกลางแปลงของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

เอกพงษ์ พึ่งตน นิสิตปี4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ชมหนังกลางแปลง เล่าว่า หนังกลางแปลงในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มีมานานแล้ว เพราะตั้งแต่เข้ามาเรียนในสถาบันนี้เมื่อตอนปี 1 จนปัจจุบันเรียนอยู่ปี 4 เห็นการฉายหนังกลางแปลงมาโดยตลอดและมาชมทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ทว่าหนังกลางแปลงให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และที่สำคัญยังถือเป็นยาชั้นดีในการผ่อนคลาย เนื่องจากตลอดสัปดาห์ก็เรียนทุกวัน อีกอย่างราคาก็ไม่แพงด้วย และการดูหนังกลางแปลงสามารถเชื่อมโยงให้นึกถึงสมัยตอนเป็นเด็ก เพราะบรรยากาศไม่แตกต่างมากเท่าที่ควร

ด้วยความชอบส่วนตัวที่ได้ชมหนังกลางแปลงบ่อยครั้ง เอกพงษ์บอกว่า ปัญหาในการฉายหนังกลางแปลงก็มีบ้าง เช่นเรื่องสถานที่ในการฉายหนังกลางแปลงที่คับแคบและค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ชม ทั้งยังเรื่องยุงที่คอยก่อกวนทุกครั้งเวลารับชม จนต้องหาอุปกรณ์กันยุงมาด้วยทุกครั้ง 

ผู้ชมคนเดิมเล่าต่อว่า สิ่งที่หนังกลางแปลงในมมส.ยังเป็นที่นิยมและตอบสนองความต้องการของนิสิต เนื่องจากนิสิตส่วนมากมีภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคอีสานและมาจากท้องถิ่นห่างไกล แน่นอนว่าต้องเคยรับชมหนังกลางแปลงที่บ้านเกิดของตนเองมาก่อนและอาจจะติดการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ก็ว่าได้ จึงมาชมหนังกลางแปลงในครั้งนี้ ที่สำคัญเป็นโอกาสที่หาชมได้ยากมาก เพราะปัจจุบันหนังกลางแปลงก็เลือนลางลงทุกที แต่อย่างไรก็ดี “ตราบใดที่มีผู้ชมให้ความสำคัญและมาชมทุกครั้งเมื่อมีโอกาส หนังกลางแปลงก็อยู่ได้ เพราะหนังกลางแปลงกับผู้ชมเป็นสิ่งคู่กัน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งคงไม่ได้”

เช่นเดียวกับ ปณวรรณ โพธิ์มูล ผู้ชมหนังกลางแปลงอีกคนเล่าเสริมว่า เป็นครั้งแรกที่มาชมหนังกลางแปลง เพราะเรื่องที่จะฉายมีความน่าสนใจ แล้วในการชมหนังกลางแปลงก็มีความเป็นส่วนตัวและบางครั้งคุ้มค่ามากกว่าการที่จะดูในโรงภาพยนตร์ด้วยซ้ำ โดยการชมหนังกลางแปลงในครั้งนี้จะช่วยคลายความคิดถึงบ้าน เพราะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ไม่มีอะไรทำ ซึ่งหนังกลางแปลงจะช่วยเสริมและเติมเต็มในส่วนนี้ได้ แม้จะเป็นความสุขแค่ระยะเวลาสั้นก็ตาม แต่ถ้าหนังกลางแปลงมีเทคนิคด้านแสง สี เสียง เนื้อเรื่องดีและฉายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรยากาศที่น่าจดจำ อาจจะทำให้เกิดความประทับใจและหลงเสน่ห์ของหนังกลางแปลงโดยมิรู้ลืมก็ว่าได้

ส่วนมุมมองของผู้ว่าจ้างหนังกลางแปลงมาฉายในมหาวิทยาลัย อย่าง สุชาดา จนจันทึก ประธานชมรมอาสาพัฒนา ผู้ว่าจ้างหนังกลางแปลงในการทำกิจกรรมชมรม เล่าว่า การที่เลือกหนังกลางแปลงมาจัดกิจกรรมของชมรม เพื่อหารายได้บำเพ็ญประโยชน์และพัฒนากิจกรรมของชมรม ที่สำคัญถือเป็นทางเลือกให้นิสิต มมส. ได้มีความหลากหลายในการรับชมภาพยนตร์ที่อยากจะชมหนังที่ใหม่และยังอยู่ในกระแส ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้พลาดโอกาสที่จะไปชมในโรงภาพยนตร์  ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะเป็นนิสิตที่พักอยู่หอใน ตอนแรกไม่คิดว่านิสิตจะให้ความสำคัญมากขนาดนี้ ตรงกันข้ามนิสิตที่ให้ความสนใจ อาจมาจากรายการหนังที่น่าสนใจ มีความสดใหม่ อยู่ในกระแส บวกกับนักแสดงในหนังเรื่องนั้นเป็นที่ชื่นชอบและสถานที่แสดงหนังกลางแปลงสะดวกต่อการเดินทาง

ผู้จ้างหนังคนเดิมยังเล่าต่อว่า แม้หนังกลางแปลงจะมีมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหนังกลางแปลงถือเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งที่คอยอยู่เคียงข้างเรา แม้บางครั้งจะมีอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ เหงาและเปล่าเปลี่ยว ก็จะช่วยเสริมในข้อด้อยจุดนี้ได้ แต่ถ้าจะเพิ่มความสุขให้มากกว่าเดิมต้องไปชมกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน แฟนและบุคคลที่อยู่รอบๆตัวเรา

แม้ใครหลายคนจะคิดว่าหนังกลางแปลงสมัยอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกัน แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งแล้ว คงต่างกันตรงเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้หรือพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้นตามยุคสมัยเท่านั้น ส่วนเรื่องสถานที่ยังฉายกลางแจ้ง เพื่อได้บรรยากาศเหมือนสมัยก่อนและคงความเป็นหนังกลางแปลงดังเดิม แต่เมื่อพูดถึงความอยู่รอดแน่นอนว่าต้องประกอบหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน แต่ที่เห็นชัดคงเป็นเรื่องการให้ความสนใจของแต่ละบุคคล ซึ่งบางคนยังเล็งเห็นความสำคัญและคุณค่า จึงอยากจะอนุรักษ์และขวนขวายการใช้ชีวิตความเป็นคนอีสานในแบบฉบับหนังกลางแปลง

การดำรงอยู่ของหนังกลางแปลงในภาคอีสานจึงสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนอีสานกับหนังกลางแปลงได้อย่างดี เพราะไม่ใช่แค่เพียงความบันเทิงที่ผืนผ้าขาวได้มอบให้คนดู หากแต่บรรยากาศและการเติมเต็มชีวิตบางส่วนที่ขาดหายของคนต่างจังหวัด ทำให้หนังกลางแปลงดำรงสถานะไม่ต่างจากมหรสพชีวิตที่ไม่มีวันตายจากไป

กรุงเทพธุรกิจ  10 ตุลาคม 2555