ผู้เขียน หัวข้อ: อาหรับ มาจากไหน?  (อ่าน 1092 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
อาหรับ มาจากไหน?
« เมื่อ: 22 กันยายน 2012, 21:20:11 »
คัดตัดตอนจาก คำนำบรรณาธิการแปล ทรงยศ แววหงษ์ แปลจาก History of the Arabs : Philip K. Hitti

ศาสตราจารย์ฟิลิป เค. ฮิตติ (Philip K. Hitti) เป็นชาวเลบานอน เกิด 1886 แต่ไปใช้ชีวิตและทำงานวิชาการในสหรัฐนับตั้งแต่ปี 1913 จนสิ้นชีวิตในปี 1978 เริ่มงานสอนและวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แล้วต่อมาย้ายไปสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยปรินสตัน จนเกษียณหน้าที่การงานในปี 1954 ขณะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานเขียนและการประพันธ์ภาษาเซมิติก อีกทั้งยังเป็นประธานของภาควิชาภาษาตะวันออกของมหาวิทยาลัยปรินสตันด้วย หนังสือเรื่อง History of the Arabs ของฮิตติเล่มนี้ อาจถือได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญของท่านเท่าๆ กับเป็นชิ้นสำคัญของงานศึกษาด้านอาหรับเลยทีเดียว

อาหรับ คือชื่อของหนังสือในพากย์ภาษาไทยที่ผมดัดแปลงมาจากชื่อเดิมของหนังสือ History of the Arabs ที่ศาสตราจารย์ฟิลิป เค. ฮิตติ เขียนและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1937 ในคราวนั้นท่านได้เขียนเชิงปรารภเอาไว้ในคำนำว่า "เป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนแห่งอเมริกา, แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่มีการศึกษาเกือบทั้งหมดขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหรับและมุสลิม" เป็นระยะเวลาถึง 4 ทศวรรษนับตั้งแต่บรรดาชาติมหาอำนาจทางตะวันตกได้เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากน้ำมันในตะวันออกกลาง อันเป็นที่มาของความยุ่งเหยิงและความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคนั้นจวบกระทั่งถึงทุกวันนี้ คำกล่าวของศาสตราจารย์ฮิตติข้างต้นก็ยังคงใช้ได้แม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ความ "ไม่รู้" ในเรื่องของอาหรับและมุสลิมของเราน่าจะแย่กว่าที่ศาสตราจารย์ฮิตติปรารภถึงชาวอเมริกันในคราวนั้นมากนัก ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อคราวที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ตัดสินใจตามแห่อเมริกากับอังกฤษไปอิรักเพื่อค้นหาอาวุธทำลายล้างอานุภาพร้ายแรง โดยการส่งทหารไทยเข้าร่วมปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2546 และอีกรูปธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดแจ้งก็คือความยุ่งเหยิงที่กำลังเกิดอยู่ใน "สามจังหวัด" ชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ในปัจจุบันเรามีนักธุรกิจ พ่อค้าวาณิช ที่มุ่งไปทำการค้ากับประเทศที่พูดภาษาอาหรับจำนวนหนึ่ง เราเคยมีแรงงานช่างฝีมือที่ไปขายแรงงานใน "ตะวันออกกลาง" อยู่ระยะหนึ่ง เรามีสาธุชนที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญเป็นรายปี มีนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ที่เดินทางไปเยือนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และยังมีนักวิชาการอีกจำนวนน้อยนิดที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาด้านประวัติศาสตร์และศิลปะของอารยธรรมแห่งภูมิภาคนี้ แต่เราก็คงจะพูดได้เต็มปากว่าเรายังขาดแคลนความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับโลกอาหรับ ดังสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปของหนังสือจำนวนน้อยเล่มที่เขียนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของที่นี่

อาหรับมาจากไหน?

หากถอยเวลากลับไปสู่โลกโบราณอีกครั้งหนึ่งเราก็จะพบว่าอารยธรรมโบราณของโลกซีกตะวันตก(ของเรา)นั้นเริ่มที่อารยธรรมของลุ่มน้ำขนาดใหญ่สองแห่งคือบริเวณที่เรียกกันว่าเมโสโปเตเมีย ซึ่งหมายถึงพื้นที่ของแม่น้ำ 2 สายอันได้แก่ ไทกริสและยูเฟรตีส กับอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่อยู่ใต้ลงไปคือที่ลุ่มแม่น้ำไนล์ ทั้งสองอารยธรรมนี้ก่อให้เกิดชุมชนเมืองและอาณาจักรก่อให้เกิดภาษาและการจดบันทึกขีดเขียนเกิดระบบการค้าศาสนาและสงคราม ทั้งสองอารยธรรมปฏิสนธิต่อกันสร้างแบบแผนและวิถีชีวิตทางสังคมครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลอาณาจักรต่างๆเกิดขึ้นและเสื่อมถอยสลายหายไปในแง่องค์กรของรัฐ หากแต่ตะกอนแห่งอารยธรรมทั้งของสุเมเรีย บาบีโลเนีย อัสสิเรีย แล้วตามมาด้วยเปอร์เซีย กรีก และโรมันยังดำเนินต่อไป แล้วตกทอดไปสู่ชนเผ่าที่ร่อนเร่ ล้าหลังในพื้นที่อันทุรกันดารที่เรียกว่าอาระเบีย หรือดินแดนของชาวอาหรับ ในแง่ของชาติพันธุ์แล้ว ชาวอาหรับคือพวกเซไมต์ที่มีชีวิตร่อนเร่แบบพวกเลี้ยง ปศุสัตว์ขนาดเล็ก หรือเกษตรกรรมที่ล้าหลังเพราะความแล้งเข็ญของพื้นที่ ภาพใหญ่ของพื้นที่นี้เหมือนกับ "เกาะ" เพราะถูกกระหนาบด้วยทะเลกับทิวเขาอันสูงชันในขณะที่ใจกลางของพื้นที่นั้นเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง ชนเผ่าเซไมต์จึงอยู่กันอย่างกระจัดกระจายตามชุมชนปศุสัตว์และชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กของตัวเองอยู่ใน "เกาะ" นี้อย่างยาวนาน

ศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับ

อาจกล่าวโดยรวมๆ ว่าระยะเวลาที่ยาวนานนี้ดำเนินจวบจนกระทั่งเกิดศาสนาใหม่คือศาสนาอิสลามซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 6 ตอนปลายโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกสิกรรมขนาดเล็ก คือมะดีนะฮ์และชุมชนการค้าขนาดใหญ่คือมักกะฮ์ ศาสนาอิสลามกลายมาเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวชาวเซไมต์ในอาระเบียที่กระจัดกระจายให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้เป็นครั้งแรกโดยมีภาษาอาหรับซึ่งแตกต่างไปจากภาษาต่างๆที่ใช้กันในโลก เพราะมีสถานะเป็นภาษาในทางศาสนาด้วย ภาษานี้จึงกลายเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และใช้ทับซ้อนตลอดจนควบคู่กับภาษาท้องถิ่นแล้วได้กลายเป็นอีกพลังหนึ่งที่สำคัญซึ่งส่งเสริมพลังทางศาสนาจนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งเดียวกันผนวกผสานชุมชนปศุสัตว์ ชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนการค้าเข้าด้วยกัน ก่อตัวขึ้นเป็นเมืองเป็นรัฐและอาณาจักรในท้ายสุด ด้วยพัฒนาการอันซับซ้อน ศูนย์กลางของรัฐศาสนาใหม่นี้ได้ประกาศแยกตัวออกจากเยรูซาเล็มนครศักดิ์สิทธิ์โบราณเมื่อมีการกำหนดทิศของเมืองศักดิ์สิทธิ์ให้ย้ายมาอยู่ที่มะดีนะฮ์และมักกะฮ์แทนที่เยรูซาเล็มดังที่เคยทำมาในอดีตแต่ต่อมาอำนาจทางการเมืองของรัฐศาสนานี้ได้ย้ายศูนย์กลางจากมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ไปอยู่ที่ดามัสกัสของซีเรียแล้วจึงแตกแขนงออกไปยังนครแบกแดดของอิรัก(ปัจจุบัน) การช่วงชิงทางการเมืองในระยะเวลาต่อมาได้นำไปสู่การเกิดศูนย์กลางทางการเมืองอีกแห่งหนึ่งที่คอร์โดบาในสเปน

ความเป็น"แขก"

ศูนย์กลางของอำนาจรัฐแบบศาสนาทั้งหมดที่กล่าวถึงมานี้ได้ผนวกผสานขุมแห่งปัญญาที่หลากหลายทั้งกรีก โรมัน เปอร์เซียและไบซันไทน์ ก่อให้เกิดเป็นศิลปะวิทยาการที่เรืองรองที่สุดในโลกสมัยกลาง อันจะได้ส่งทอดกลับไปยังยุโรปผ่านสเปนผ่านอิตาลีทางตอนใต้และเมืองการค้าชายฝั่งทะเลของอิตาลีเข้าสู่ใจกลางของยุโรปต่อไป ในอีกด้านหนึ่งก็แผ่ขยายเข้าสู่เอเชียกลางจนมาถึงดินแดนอนุทวีปอินเดียในที่สุด ด้วยความซับซ้อนของพัฒนาการอันยาวนานของอารยธรรมอาหรับที่กล่าวถึงข้างต้น จึงเป็นเหตุให้เกิดภาพทับซ้อนของความเป็น "แขก" อาหรับ เปอร์เซีย มัวร์ ซะระเซ็น เติร์กและอิสลาม-มุสลิมในสายตาของชาวสยามแบบเราๆ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับสายตาของคนจำนวนไม่น้อยในโลก อีกทั้งมีไม่น้อยเลยที่สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดทั้งความชื่นชมและอคติที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

20 ก.ย. 2555
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  ที่มา มติชนรายวัน