ผู้เขียน หัวข้อ: อำนาจกับความรู้แบบไทยๆ กับฝรั่งๆ---ย่อยสลายแนวคิดของคุณหมอประเวศ วะสี  (อ่าน 1481 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
หนีน้ำพลัดบ้านจากกรุงเทพฯมาอยู่ต่างจังหวัดครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสอ่านร่างบทความวิชาการน่าสนใจบทหนึ่งของศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างรอน้ำท่วมขังแถวบ้านผมทางฝั่งธนบุรีค่อยๆ ลด แทนที่จะเขียนเรื่องน้ำท่วมเลอะเทอะเฉอะแฉะต่อเป็นตอนที่ 5 ผมขอเปลี่ยนบรรยากาศหันไปเขียนเรื่องอื่นที่แห้งๆ บ้างสลับกันไป

สำหรับท่านที่สนใจประวัติและความคิดความอ่านของปัญญาชนคนสำคัญของไทยย่อมทราบว่าอาจารย์สายชลได้ทำงานวิจัยโดดเด่นชิ้นใหญ่เสร็จไปเมื่อไม่นานมานี้และกำลังจัดพิมพ์อยู่เรื่อง "ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535" ซึ่งได้รับรางวัล TRF - CHE - Scopus Researcher Award สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อันทรงเกียรติจากนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี พ.ศ.2552

ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ชอบงานวิจัยชุดนี้เป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะค้นคว้าศึกษาประวัติและผลงานของปัญญาชนกระแสหลักของไทยอย่าง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หลวงวิจิตรวาทการ, พระยาอนุมานราชธน, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ อย่างพิสดารและเจาะลึกถึง 10 คนแล้ว อาจารย์สายชลยังวิเคราะห์วิจารณ์และรวบยอดแก่นความคิด (conceptualize) ของปัญญาชนแต่ละคนรวมทั้งแนวคิด "ความเป็นไทย" อันเป็นผลลัพธ์รวมแห่งงานของคนเหล่านี้ออกมาอย่างแม่นยำ ลึกซึ้ง คมชัดและทรงพลัง ช่วยให้ผมเข้าใจสว่างไสวในเรื่องเหล่านี้แบบทุ่นแรงผ่าน "ครูพักลักจำ" ไม่ต้องไปลำบากลำบนค้นอ่านเอกสารหลักฐานชั้นต้นจำนวนมหาศาลเอง จนผมได้อาศัยอ้างอิงหยิบยืมมาสอนนักศึกษาและเขียนถึงในงานของตัวเองอยู่เนืองๆ

ในบทความชิ้นใหม่นี้ อาจารย์สายชลเขียนพาดพิงถึงหมอประเวศ วะสี ปัญญาชนอาวุโสของขบวนการ NGOs ไทยปัจจุบันไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งจุดประกายสะกิดใจให้ผมคิดถึงอะไรต่อมิอะไรเตลิดเปิดเปิงไปไกลเกี่ยวกับอำนาจกับความรู้

อาจารย์สายชลได้สกัดกลั่นและรวบยอดแนวคิดหลักในการวางกรอบ, วินิจฉัยปัญหาและเสนอทางออกแก่สังคมการเมืองไทยของหมอประเวศออกมาอย่างกระชับคมชัดว่า: -

เหตุแห่งปัญหา = ระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย

ทางออกจากปัญหา = ปัญญานิยม

ปัจจัยไปสู่ทางออก = วิถีไทยและวัฒนธรรมบนฐานความรู้

พอจะสรุปเป็นสมการเพื่อง่ายแก่การเข้าใจได้ว่า: -

[อำนาจนิยม -> ปัญญานิยม ด้วยวิถีไทยและวัฒนธรรมบนฐานความรู้]

ผมสงสัยตงิดๆ มานานแล้วว่าวิธีวิเคราะห์ปัญหาของคุณหมอประเวศออกจะง่ายและเนี้ยบ (neat) เกินไป ในขณะที่โลกความเป็นจริงทั้งยากและยุ่ง จึงอยากถือโอกาสนี้ลองเขย่า เจาะ คว้าน รื้อสร้าง ย่อยสลายแนวคิดของคุณหมอเหล่านี้ให้มันสับสนวุ่นวายซับซ้อนขึ้นบ้าง ไม่ใช่ในเชิงว่ามันถูกหรือผิดนะครับ เพียงแต่อยากเสนอมุมมองทางเลือกที่อาจทำให้เห็นการตั้งปัญหาและคำตอบแบบอื่นต่อโจทย์ทำนองนั้นได้

หมอประเวศนับเป็นนักคิดทางสังคมแบบอิงโมเดลวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและการแพทย์ยุคก่อน มิเชล ฟูโกต์ โดยแท้ (pre-Foucauldian, หมายถึง Michel Foucault, ค.ศ.1926-1984 นักปรัชญาและทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสผู้ลือชื่อ) กล่าวคือคุณหมอคิดและเขียนเกี่ยวกับสังคมและการเมืองราวกับไม่รู้ไม่เห็น ไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือเดียงสาต่อข้อวิเคราะห์อันทรงอิทธิพลต่อวงวิชาการสังคมศาสตร์ทั่วโลกของฟูโกต์เลย !?!

เห็นได้จากคุณหมอขีดเส้นแบ่งแยกชัดเจนระหว่างอำนาจ (นิยม) กับปัญญา (นิยม) ซึ่งผมคิดว่าเป็น false dichotomy หรือการขีดเส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งที่เอาเข้าจริงเกี่ยวข้องกลืนกลายแนบแน่นกันอย่างยิ่ง ดังที่ฟูโกต์เสนอว่าความรู้คืออำนาจ (Le savoir est pouvoir.) ในงานชื่อ Surveiller et punir: Naissance de la prison (การสอดส่องควบคุมและลงทัณฑ์: กำเนิดคุก, ค.ศ.1975) ตอนหนึ่งว่า:

"จำต้องยืนยันว่าอำนาจก่อให้เกิดความรู้, ว่าอำนาจกับความรู้มีนัยเกี่ยวพันสืบเนื่องซึ่งกันและกันโดยตรง, ว่าไม่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจใดๆ ที่ไม่ประกอบส่วนสร้างสาขาวิชาความรู้ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันหนึ่งๆ ขึ้นมา, และในทางกลับกันก็ไม่มีความรู้ใดที่ไม่ตั้งอยู่บนสมมติฐานของหรือประกอบส่วนสร้างขึ้นซึ่งความสัมพันธ์ทางอำนาจด้วยในเวลาเดียวกัน"

(Il faut constater que le pouvoir produit du savoir ; que pouvoir et savoir s′impliquent directement l′un l′autre ; qu′il n′y a pas de relations de pouvoir sans constitution correlative d′un champ de savoir, ni de savoir qui ne suppose et ne constitue en meme temps des relations de pouvoir.)

เขาชี้ว่าระบบระเบียบความรู้ที่สถาปนาขึ้นไว้และดูเหมือนปลอดการเมืองนั้น (เช่น แพทยศาสตร์, จิตเวชศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ศึกษาศาสตร์) เป็นฐานที่มาของสถาบันเชิงอำนาจอย่างหนึ่งในการควบคุมกำกับพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม (คลินิก, โรงพยาบาล, สถาบันจิตเวช, สภาพัฒน์, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย ฯลฯ)

หากเริ่มจากฐานคตินี้ คำถามต่อการวินิจฉัยและทางออกของหมอประเวศก็คือ ปัญญาหรือความรู้แบบไหนกันแน่ที่จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากอำนาจนิยม? ผมสันนิษฐานว่าคงไม่ใช่ความรู้เชิงเทคนิค (technical knowledge) เพราะเป็นเครื่องมือกลางที่ใครก็หยิบไปใช้ได้และผู้มีอำนาจก็ชอบใช้ด้วย

ในประเด็นใกล้เคียงที่ล้อกัน มีข้อเสนอของ Jurgen Habermas นักปรัชญาและทฤษฎีวิพากษ์ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1929-ปัจจุบัน) ที่เคยเสนอว่าในโลกสมัยใหม่ มีวิธีคิดเชิงเหตุผล (reason) ใหญ่ๆ อยู่ 3 แบบ ได้แก่: -

1.Technical/instrumental reason เหตุผลบนฐานคิดว่าหากสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องมือหรือเทคนิคไปบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุนที่สุดก็ถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว ไม่ว่าวัตถุประสงค์นั้นจะมีคุณค่าอย่างไรก็ช่าง สนใจแต่ว่าจะทำมันได้อย่างไร? ไม่ยี่หระว่าจะทำมันไปทำไม? เหตุผลชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เน้นการคาดการณ์และควบคุมเหนือธรรมชาติและสังคม แต่มองข้ามเป้าหมายหรือคุณค่าอย่างอื่นของมนุษย์ไปเสีย

2.Practical/communicative reason เหตุผลบนฐานคิดว่ามีสาส์นที่ต่างฝ่ายต่างต้องการสื่อให้คู่สนทนาเข้าใจ หากสามารถสื่อสารให้คู่สนทนาเข้าใจกันได้ก็ถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว ในเหตุผลแบบนี้การสื่อสารและเข้าใจกันของคนเราจึงสำคัญเหนือการคาดการณ์และควบคุม อีกทั้งเป็นพื้นฐานให้ปฏิบัติการทางสังคมร่วมกันต่อไปได้ ในกรอบเหตุผลแบบนี้ วิธีการหรือกระบวนการไปบรรลุการสื่อสารเข้าใจกันจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย และเรียกร้องให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอื้อเฟื้ออะลุ้มอะล่วยกันระหว่างคู่สื่อสารสนทนาในความสัมพันธ์แบบต่างๆ

3.Emancipatory reason เมื่อการสื่อสารเป็นไปโดยสองฝ่ายสมัครใจยินยอมอย่างแท้จริงและปลอดการควบคุมครอบงำ มันก็จะเป็นพื้นฐานให้คู่สนทนาเข้าร่วมในการสื่อสารแลกเปลี่ยนนั้นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ใช้ความรู้ที่ได้ไปสำรวจตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงขึ้นต่อหรือพึ่งพาแบบใดๆ ที่คงมีอยู่ เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกกันและกันให้มีลักษณะไตร่ตรองใคร่ครวญและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น นำไปสู่เหตุผลที่ปลดปล่อยเป็นอิสระหลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิด

ตามนัยข้างต้นนี้ ความรู้แบบที่เหมาะแก่การช่วยเกื้อกูลให้คนไทยหลุดพ้นจากอำนาจนิยม ก็น่าจะเป็นความรู้เพื่อการปลดปล่อยทางความคิดหรือ emancipatory knowledge (โดยอิงข้อคิดเรื่อง emancipatory reason ของ Habermas) ซึ่งปฏิเสธฐานคติเดิมแบบไทยๆ ที่มักแบ่งคนไทยออกเป็นผู้รู้ กับ ผู้ไม่รู้ และฝ่ายแรกมีสิทธิอำนาจที่จะอบรมดัดแปลงฝ่ายหลังเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่สั่งสอนผู้น้อยในนามของอุดมคติอันดีงามต่างๆ

แต่ตั้งต้นใหม่แบบฝรั่งๆ เลยว่าคนไทยเท่ากัน ความรู้เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสมัครใจและไม่ครอบงำ เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองวิพากษ์วิจารณ์ท้าทายต่อต้านการกำกับควบคุมของบรรดาสถาบันอำนาจนิยมทั้งหลายในสังคมและการเมือง ซึ่งเท่ากับ [อำนาจนิยม -> เสรีนิยม ด้วยการถกเถียงกันอย่างเสมอภาค]

แบบนี้พอจะไหวไหมครับอาจารย์หมอ?

โดย เกษียร เตชะพีระ

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554)