ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารสำหรับป้องกันโรคความจำเสื่อม ในวันอัลไซเมอร์โลก !!  (อ่าน 925 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
              องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ ได้ประกาศให้ วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันอัลไซเมอร์” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้าใจโรคนี้กันมากขึ้น
       
       โรคอัลไซเมอร์ ได้มีการค้นพบเมื่อศตวรรษที่แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ อลอยช์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) โดยได้พบกับผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งอายุ 55 ปี ชื่อ ออกุสต์ เด ที่ญาติทุกคนได้เชื่อว่าเธอเสียสติ เนื่องจากมีความจำเสื่อมและอารมณ์แปรปรวนอยู่บ่อยๆ ภายหลังจากเธอได้รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 ปี และเสียชีวิตลง นายแพทย์อัลไซเมอร์จึงผ่าสมองเพื่อตรวจดูสภาพภายใน พบว่าสมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ซึ่งทำหน้าที่ในการจำนั้น “มีปมพังผืดมากกว่าสมองของคนธรรมดา”
       
       โรคความจำเสื่อมนั้น จัดเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง เกิดจากการตายของเซลล์สมอง ทำให้การเรียนรู้ การจดจำลดน้อยถอยลงไป จนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและดูแลคนป่วยเหล่านี้อย่างมาก
       
       ความจริงแล้วสาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์ยังไม่แน่ชัดถึงความเชื่อมโยงทั้งหมด เช่น อายุมากขึ้น ความเครียดมาก การเกิดคราบในสมองที่เรียกว่าพลาก (Plaque) และแทงเกิล (tangle) การสะสมของแอมีลอยด์ บีตา (Beta Amyloid) การเกิดโรคจากกรรมพันธุ์ เกิดจากการอักเสบ การบาดเจ็บและการสูญเสียของเซลล์ประสาท การเสื่อมและการลดลงของสารสื่อประสาท ฯลฯ
       
       คำถามสำคัญเราจะมีอาหารอะไรและพฤติกรรมอะไรที่จะลดความเสี่ยงหรือบำบัดโรคความจำเสื่อมอย่างโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ อะไรจริง อะไรเท็จ ต้องมาดูงานวิจัยดังต่อไปนี้
       
       1.น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นช่วยบำบัดอัลไซเมอร์จากที่เกิดจากเบาหวานได้ : จากงานวิจัยในวารสารอัลไซเมอร์เมื่อปี พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ Insulin and Alzheimer’s disease: untangling the web. โดย Graft และคณะ และ งานวิจัยในวาสาร Biochem. Pharmocol ในปี พ.ศ. 2558 ในหัวข้อ Brain metabolic dysfunction at the core of Alzheimer’s disease. โดย de la Monte S. M., Tong M. พบว่า
       
       มีงานวิจัยจำนวนมากได้พบว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคเบาหวานที่ดื้อต่ออินซูลิน จะสามารถพัฒนากลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทและเสียชีวิตลงได้
       
       จากเหตุผลนี้เองทำให้มีนักวิจัยจำนวนมากไม่หลายชิ้นได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2556 (เช่น Kashiwaya และคณะ, Zhang และคณะ, Ziberter และคณะ) ได้นำเสนออาหารในกลุ่มคีโตเจนิค (น้ำมันสูงโดยงดแป้งและน้ำตาล) ซึ่งเป็นสูตรอาหารช่วยลดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาโรคอัลไซเมอร์จากกลุ่มนี้ได้
       
       คำถามคือน้ำมันสูงกลุ่มในจะได้ช่วยบำบัดโรคอัลไซเมอร์ได้?
       
       งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Neurobiology Aging เมื่อปี พ.ศ.2547 ในหัวข้อ Effects of beta-hydroxybutyrate on cognition in memory-impaired aduts. โดย Reger M.A.และคณะ ได้ค้นพบว่าไตรกลีเซอร์ไรด์สายปานกลาง หรือกรดไขมันสายปานกลาง (ซึ่งพบมากที่สุดตามธรรมชาติเฉพาะในน้ำมันมะพร้าวเท่านั้น) สามารถพัฒนาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นระดับของความจำพัฒนาขึ้นซึ่งสอดคล้องกับระดับของสารคีโตนในกระแสเลือด ซึ่งได้ถูกผลิตมาจากกระบวนการออกซิเดชั่นของกรดไขมันสายปานกลาง เมื่อสารคีโตนสามารถพัฒนาความทรงจำได้ ดังนั้นอาหารคีโตเจนิคที่ใช้กรดไขมันสายปานกลางซึ่งสามารถเพิ่มระดับสารคีโตนได้ ย่อมส่งผลทำให้พัฒนาความทรงจำได้


        และกรณีศึกษาที่น่าสนใจไปทั่วโลก ก็คือการเผยแพร่และตีพิมพ์ในนิตยสาร Times ฉบับเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กรณีคู่สามีภรรยา นายสตีฟ นิวปอร์ท และ พ.ญ.แมรี่ นิวปอร์ท จากมลรัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายสตีฟ ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์อย่างหนัก ส่วนพ.ญ.แมรี่ ฝ่ายภรรยาได้ศึกษาเรื่องกรดไขมันสายปานกลางว่าจะสามารถสร้างสารคีโตนไปเลี้ยงสมองได้ จึงได้ให้นายสตีฟซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้ดื่มน้ำมันมะพร้าวก่อนอาหาร 7 ช้อนชา ทั้ง 3 มื้อ ผลปรากฏว่าก่อนที่จะดื่มน้ำมันมะพร้าวแทบไม่สามารถวาดรูปนาฬิกาได้เลย ผ่านไป 14 วัน เริ่มกลับมาวาดได้มากขึ้น และเกือบสมบูรณ์เมื่อดื่มน้ำมันมะพร้าวผ่านไป 37 วัน
       
       2.ไขมันโอเมก้า 3 ยังไม่แน่ชัดถึงผลต่ออัลไซเมอร์ แต่เสริมเพื่อช่วยระบบไหลเวียนเลือดได้: เป็นที่ทราบกันดีว่าไขมันโอเมก้า 3 นั้นมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด ลดการอักเสบ ซึ่งตรงกันข้ามกับไขมันโอเมก้า 6 (มีมากในน้ำมันพืชที่มนุษย์เรานิยมบริโภค) ไขมันโอเมก้า 3 มักจะพบในสัตว์หรือในพืชที่อยู่ในอุณภูมิเย็นจัด เช่น งาขี้ม้อน เมล็ดแฟลกซ์ ปลา สาหร่าย ฯลฯ แต่เนื่องจากเป็นไขมันที่มีความไม่อิ่มตัวสูงมาก จึงหืนง่ายและกลายสภาพง่ายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นจึงห้ามบริโภคโดยผ่านความร้อนโดยเด็ดขาด
       
       จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2553 ในหัวข้อ Omega-3 fatty acid : Potential role in the management of early Alzheimer’s disease. โดย Jicha และ Markesbery ไขมันโอเมก้า 3 ช่วยยับยั้งการอักเสบของระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ลดลิ่มเลือด ของการลดการอักเสบอาจจะเป็นผลทำให้ลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับระบบไหวเวียนเลือดของสมอง อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้กลับยอมรับว่ามีการทดลองทางการแพทย์ในระดับคลีนิคหลายชิ้นพบว่าการใช้ไขมันโอเมก้า 3 ยังไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ จึงขึ้นอยู่กับว่าระดับความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์นั้นมีมากน้อยเพียงใด
       
       สรุปว่าไขมันโอเมก้า 3 อาจจะช่วยโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ยังไม่แน่ชัด แต่อย่างน้อยก็มีประโยชน์ในการละลายลิ่มเลือด การแข็งตัวของเลือด และลดการอักเสบ โดยเฉพาะในหมู่คนทั่วไปที่มักจะชอบกินของผัดทอดด้วยน้ำมันพืชที่มีไขมันโอเมก้า 6 มาก (เช่น จากน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทางตะวัน ฯลฯ) มานานแล้ว
       
       3.ขมิ้นชันช่วยละลายคราบในสมองลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้ : จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal Neurochemistry ในปี พ.ศ. 2550 ในหัวข้อ “Curcumin lables amyloid pathology in vivo, disrupts existing plaques, and partially restores disotorted neuritis in an Alzheimer mouse model. โดย Garcia-Alloza M และคณะ และงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neuroscience ในปี พ.ศ. 2544 ในหัวข้อ The Cury spice curcumin reduces oxidative damage and amyloid pathology in Alzheimer transgenice mouse. โดย Lim GP และคณะ งานวิจัยทั้ง 2 ได้ทำการทดสอบในหนู และพบว่าสาร Curcumin ในขมิ้นชันมีผลต่อการป้องกันการทำลายสมองในหนู
       
       แต่ความชัดเจนที่สำคัญคือ รายงานในวารสาร Journal of Alzheimer’s Diesase. เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ในหัวข้อ Inhalable curcumin: Offering the potential for translation to imaging and treatment of Alzheimer’s โดย Richard McClure, และคณะจากมหาวิทยาลัย แวนเดอร์บิลท์ มลรัฐเทนเนสซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองในหนูพบว่า สาร Curcumnin ในขมิ้นชันสามารถเข้าไปที่สมองและเข้าไปทำลายของคราบในสมองที่เป็นพลาก ในกลุ่มแอมีลอยด์ บีตา (Beta-Amyloid Plaque) ซึ่งเป็นคราบในสมองที่มักพบในกลุ่มโรคอัลไซเมอร์ได้
       
       4.สารต้านอนุมูลอิสระอยู่ระหว่างการหาคำตอบว่าสามารถบำบัดโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่?: ทั้งนี้การทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระมีหลายชนิด มีทั้งได้ผลและไม่ได้ผลบ้างโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเสริม แต่จะขอกล่าวให้ตรงประเด็นคืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อ Journal Nutrition Health Aging เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ A randomized controlled Alzheimer’s disease prevent trial’s evolution into an exposure trial the PREADVise Trial. โดย Kryscio และคณะ ที่เน้นความเป็นไปได้จากสารบำบัดและการป้องกันอัลไซเมอร์จากสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม วิตามินซี วิตามิน และ ซีลีเนียม ที่อยู่ระหว่างการศึกษาครั้งใหญ่ และอยู่ระหว่างการรอผลระยะยาวให้มีความชัดเจนต่อไป
       
       แต่ในระหว่างรอผลนี้ก็สามารถรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงๆเอาไว้ก่อน เช่น เครื่องเทศแทบทุกชนิด(เช่น กานพลู อบเชย ขมิ้นชัน พริกไทดำ ฯลฯ) ผัก ถั่วและเห็ดบางชนิดที่ให้ซีเลเนียมสูง ผลไม้รสเปรี้ยว ฯลฯ
       
       5. แปะก๊วยไม่มีผลต่อการชะลอโรคอัลไซเมอร์ : จากงานทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane Library เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ในหัวข้อ Ginkgo biloba for congnitive impairment and dementia. โดย Jacqueline Briks และ John Grimley Evans. พบว่า 3 ใน 4 ของงานวิจัยล่าสุด ไม่มีผลที่แตกต่างระหว่างผู้ที่กินแปะก๊วยกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่มี 1 ผลงานวิจัยที่พบว่าการบำบัดด้วยแปะก๊วยได้ผลกับโรคอัลไซเมอร์
       
       นอกจากนี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Medical Association เมื่อปี พ.ศ. 2551 ในหัวข้อ "Ginko biloba for Prevention of Dementia" โดย Dekosky และคณะ ซึ่งได้ศึกษาร่วมกับศูนย์วิชาการทางการแพทย์ 5 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2551 ติดตามผล 6.1 ปี ในจำนวนอาสาสมัครจำนวน 3,069 พบว่า การรับประทานแปะก๊วยในปริมาณ 120 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ไม่ได้มีผลต่อการลดลงของการอุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์ลงได้
       
       6. การทำกิจกรรมฝึกความคิดช่วยเรื่องอัลไซเมอร์: จากงานวิจัยเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 ในหัวข้อในวารสาร The New England Journal of Medicine "Leisure activities and the risk of dementia in the elderly" โดย นายแพทย์ Joe Verghese และคณะพบว่า การใช้ทักษะทางสติปัญญา เช่น การอ่านหนังสือ เล่นหมากกระดาน เล่นปริศนาอักษไขว้ เล่นดนตรี หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจะช่วยชะลอการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ได้ รวมถึงงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในวารสาร Neuropsychologia โดย Bialystok E และคณะในหัวข้อ "Bilingualism as a protection against the onset of symptoms of dementia." พบว่าการพูดได้สองภาษาสามารถชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
       
       7. เถียงกันยังไม่จบในเรื่องสภาพแวดล้อมทำให้เป็นอัลไซเมอร์หรือไม่? นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นในผู้ที่ทำงานในสามแม่เหล็ก หรือได้รับโลหะบางอย่างโดยเฉพาะอะลูมิเนียม แต่ก็มีข้อโต้เถียงในงานวิจัยอีกด้านว่าไม่มีความสัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์ เอาเป็นว่าเมื่อยังไม่มีข้อยุติแต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงสนามแม่เหล็ก และ หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะอลูมิเนียม
       
       แม้จะมีข่าวร้ายคือประมาณการการเกิดโรคอัลไซเมอร์กำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก แต่มีข่าวดีคือหลายสิ่งที่เป็นเรื่องการกินเพื่อบำบัดรักษาโรคอัลไซเมอร์มีอยู่ในเมืองไทย แต่ถึงกระนั้นใครไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ก็คงจะดีที่สุด

 ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    18 กันยายน 2558