ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารคือความรื่นรมย์-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1064 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตราบใดที่มนุษย์ยังคงล้อมวงกินและแบ่งปันอาหาร เราก็จะยังคงเฉลิมฉลองพลานุภาพของอาหารในการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้แช่มชื่นและหลอมรวมผู้คนให้เป็นหนึ่ง

ทุกปีต่อเนื่องกันหลายปีมาแล้วที่ผู้คนในเขตมิลปาอัลตาของกรุงเม็กซิโกซิตี  เตรียมอาหารปริมาณมหาศาลราวกับต้องใช้ปาฏิหาริย์ก่อนถึงวันคริสต์มาส  พวกเขาทำอาหารพื้นเมืองเม็กซิกันอย่างตามาเล 60,000 ห่อกับช็อกโกแลตร้อน 19,000 ลิตรสำหรับผู้คนหลายพันคนที่มาร่วมงานเฉลิมฉลอง

            การเลี้ยงคนมากมายเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย “มีงานให้ทำไม่หวาดไม่ไหวเลยค่ะ” บีร์คีเนีย เมซา ตอร์เรส พูดอย่างหนักแน่นราวกับบอกเป็นนัยว่า นี่ไม่ใช่เวลาจะมาพูดคุย  เฟร์มิน ลารา คีเมเนซ สามีของเธอ ยืนอยู่ข้างๆบนระเบียงบ้าน ทั้งคู่ได้รับเลือกให้เป็น มาคอร์โดโม หรือพ่องานแม่งานจัดกิจกรรมจาริกแสวงบุญประจำปีสู่ถ้ำชัลมาซึ่งอยู่ห่างออกไป 95 กิโลเมตร

            งานเฉลิมฉลองนี้มีชื่อว่า ลาเรคุนตา (La Rejunta) แปลว่า “การชุมนุม” ซึ่งเป็นกุศโลบายในการสร้างบรรยากาศของความคาดหวังรอคอยในการจาริกแสวงบุญ เมื่อชายหญิงและเด็กราว 20,000 คนจากมิลปาอัลตาเดินข้ามเขาไปยังถ้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐาน เอลเซญอร์เดชัลมา หรือรูปปั้นสีเข้มขนาดเท่าพระองค์จริงของพระเยซู

            ทุกขั้นตอนของลาเรคุนตาคือส่วนหนึ่งของพิธีกรรม หนึ่งปีก่อนวันงาน พวกผู้ชายจะเข้าป่าไปตัดฟืนมากองไว้ใกล้บ้านของมาคอร์โดโมเพื่อตากให้แห้งสนิทสำหรับใช้ก่อไฟหุงหาอาหารกลางแจ้ง ชาวไร่ชาวนาที่นี่ปลูกข้าวโพด พืชผัก และเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่มาของวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ใช้   ในมิลปาอัลตา อาหารเป็นศูนย์กลางของชีวิตมากเสียจนกลายเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนกับการทำงาน การแบ่งปันความรัก และการสืบทอดศรัทธา ณ เมืองเล็กๆแห่งนี้ ในช่วงเวลาแห่งงานฉลองลาเรคุนตา คนจนจะรู้สึกมั่งมี ความเจ็บปวดหรือทุกข์ยากใดๆในชีวิตจะลบเลือนไปในโลกแห่งความสมบูรณ์พูนสุข

            มิลปาอัลตาเป็นเขตยากจนที่สุดของกรุงเม็กซิโกซิตี ประชากรท้องถิ่นเกือบครึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจน แต่คนที่เกิดและเติบโตที่นั่นอย่างควน การ์ลอส โลซา คูราโด กังขาถึงนัยสำคัญของสถิติดังกล่าวเขาย้อนถามว่าอะไรคือความยากจน ในเมื่อสมาชิกทุกคนของครอบครัวขยาย ไม่ว่าจะมีงานทำหรือไม่ก็ตาม ต่างมีอาหารกินทุกวัน และยังได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ อะไรคือความยากจนในเมืองที่จัดงานเฉลิมฉลองแทบไม่ว่างเว้นตลอดทั้งปี โลซาซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนบทศึกษา มองชุมชนของตนผ่านประสบการณ์ส่วนตัวและมุมมองเชิงวิชาการ เขาเห็นว่าความผูกพันทางสังคมของที่นี่เข้มแข็งอย่างยิ่ง “ผู้คนในมิลปาอัลตามีมุมมองของตนเองครับ  ทั้งสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ผู้คนมักพูดกันว่า เราอยู่ดีมีสุขกันที่นี่”

                “จากประสบการณ์ของฉัน มีสายใยบางอย่างเชื่อมโยงเราอยู่ค่ะ เป็นความผูกพันที่เกิดจากการใช้เวลาร่วมกันที่   โต๊ะอาหาร” โคเซฟีนา การ์เซีย คีเมเนซ ผู้มาจากครอบครัวเลี้ยงแกะ บอก เธอมักทำอาหารให้หลานชายกับหลานสาวกิน และบอกว่า “ฉันรู้สึกเหมือนกำลังส่งผ่านขนบประเพณีค่ะ เมื่อหลานๆโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะจดจำสิ่งที่ฉันทำได้”

            เช่นเดียวกับคนเม็กซิกันอีกมาก โคเซฟีนาชื่นชอบ โซเบรเมซา หรือช่วงเวลายาวนานหลังมื้ออาหารที่ทุกคนในครอบครัวนั่งคุยกันโดยไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ขอตัวลุกไปก่อน นี่อาจเป็นเวลาของการนั่งหน้าเจื่อนสารภาพผิดเสียงหัวเราะ หรือการซุบซิบนินทา

 

มารีอา เอเลอาซาร์ ลาบัสตีดา โรซัส ใช้ไม้กวนแป้งตามาเลในหม้อใบใหญ่ โดยมีหัวหน้าแม่ครัว กาตาลีนา เปญา โกเมซ หรือที่ทุกคนเรียกว่า โดญากาตา คอยส่งสายตาแบบไม่ค่อยไว้ใจมาเป็นระยะ โดญากาตาปรับประสาทสัมผัสต่างๆให้รับรู้กลิ่นซอส ความเหนียวของแป้ง และแก้ไขสิ่งต่างๆด้วยความมั่นใจประดุจแม่ทัพ

            โดญากาตาอายุ 68 ปี และทนทุกข์กับโรคหลอดเลือดขอด แต่ก็ทำอาหารทั้งวันทั้งคืนระหว่างการเตรียมงานช่วงสุดท้าย “ฉันรู้สึกถึงความรักเวลาทำครัวค่ะ” เธอบอก แม้จะมีท่าทีขึงขังเอาจริงเอาจัง แต่เธอก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ขณะพูด “ฉันรู้สึกถึงความรักที่มีต่อพระเจ้า ฉันขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และขอให้ทรงอำนวยพรให้พวกเราทั้งหมดอยู่ดีมีสุข”

            มารีอา เอเลอาซาร์ ผู้ร่าเริงและกระตือรือร้น ไม่สนใจสายตาจ้องเขม็งของโดญากาตา เพราะรู้ดีว่าฝ่ายหลังทำไปเพื่อขู่เท่านั้น เธอยังคงพูดคุยกับผู้หญิงคนอื่นๆ หัวเราะเรื่องที่ผู้หญิงเม็กซิกันยอมให้สูตรอาหารแก่ลูกสาวและลูกสะใภ้แต่กับคนอื่นๆแล้ว จะเก็บงำความลับก้นครัวไว้ชนิดไม่ยอมแพร่งพราย พวกเธอแลกเปลี่ยนกันเรื่องหายนะในครัวซึ่งเป็น ผลของหลักคิดที่ไม่ถูกต้อง ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ความโกรธทำลายรสชาติ “การทำอาหารต้องทำด้วยความรักค่ะ” มารีอาบอก ขณะหยุดรวบผมเปีย “ผู้หญิงหลายคนทำอาหารแบบไม่ใส่ใจรัก รสชาติจึงไม่อร่อย ถ้าฉันรู้สึกไม่สบายใจ ฉันจะบอกตัวเองให้ลืมปัญหาเหล่านั้นไปก่อน แล้วก้มหน้าก้มตาทำอาหารด้วยความรักค่ะ”


เรื่องโดย วิกตอเรีย โป๊ป
ธันวาคม 2557