ผู้เขียน หัวข้อ: อันดับมหา'ลัยไทยสุดห่วย WEF ให้แทบรั้งท้ายอาเซียน จ่อชง รมต.ศึกษาฯ ดันงบวิจัย  (อ่าน 729 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
ทปอ. เซ็ง! ผลจัดอันดับ WEF ชี้เฉพาะอุดมศึกษาได้อันดับค่อนข้างน่าเกลียด เตรียมชง รมต.ศึกษาฯ ผลักดันงบวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศและปรับเกณฑ์ประเมิน สมศ. ให้สะท้อนคุณภาพแท้จริง พร้อมระบุทุกระดับการศึกษาต้องร่วมแก้ไขปัญหาด้วย ด้าน “ชัยพฤกษ์” ชี้กลุ่มอาเซียนควรร่วมกำหนดมาตรฐานการศึกษากลางร่วมกัน เพื่อที่หากมีการประเมินจะได้รับผลสะท้อนที่ชัดเจน

        ตามที่มีข้อมูลเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลก จากรายงานโกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015 (Global Competitive Report 2014-2015) โดย เวิร์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF) โดยสรุปปรากฏว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะดัชนีด้านการศึกษาแล้ว จะเห็นว่ามีความน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง โดยคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่ อันดับ 7 ของอาเซียน จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับ 6 และเป็นอันดับที่ 86 ของโลก โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ขยับไปแทนที่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และทิ้งห่างไทยไปอยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก ส่วนคุณภาพของระบบอุดมศึกษา ของไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 78 ของโลก ตามหลัง สปป.ลาว ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และอันดับที่ 57 ของโลก ส่วนประเทศกัมพูชา อยู่ในอันดับที่ 7ของอาเซียน อันดับ ที่ 76 ของโลก แม้ว่าขีดความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์จะค่อนข้างดี คืออยู่ที่อันดับ 5 ของอาเซียน แต่ก็อยู่ถึงอันดับ 80 ของโลก
       
        นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สำหรับผลการจัดอันดับที่ออกมานั้นถือเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในภาพรวม ในทุกระดับ ยอมรับว่า ตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างน่าเกลียด ทั้งที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่คุณภาพการศึกษากลับแย่ลงเรื่อยๆ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันเร่งแก้ไข จะกระทบกับความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพการศึกษาของประเทศอย่างมาก
       
        “ตัวเลขการจัดอันดับที่ออกมาค่อนข้างน่าเกลียด โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ที่อยู่ในอันดับ 8 ของอาเซียน ตามหลัง สปป.ลาว ที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน โดยในการประชุม ทปอ. วันที่ 26 ตุลาคม นี้คงจะต้องมีการหารือเรื่องดังกล่าว และการที่ผลการจัดอันดับออกมาเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ส่วนตัวคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ควรจะต้องหาแนวทางแก้ไขในภาพรวมร่วมกัน” นายประดิษฐ์ กล่าว
       
        รักษาการประธาน ทปอ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ทปอ. คงจะหารือเฉพาะปัญหาของอุดมศึกษาก่อนว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นคิดว่า ควรจะต้องมีการหารือในภาพรวม ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ประเด็นแรกของอุดมฯ ที่จะต้องเร่งแก้ไข และอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ รมช.ศึกษาธิการ ช่วยผลักดันงบประมาณด้านการวิจัย เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ และปรับเกณฑ์การประเมินและตัวบ่งชี้ การประเมินภายนอกของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้มีสะท้อนคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง
       
        ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบมาตรฐานการจัดการศึกษาของไทย จากประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศได้เห็นการพัฒนาการศึกษาตามมาตรฐานต่างๆ ทั้งมาตรฐานผู้เรียน มาตรฐานการเรียนการสอน ความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนและสถานที่เรียน ถือได้ว่าประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานที่สูงในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่การจัดอันดับของ WEF เป็นการประเมินด้วยตัวชี้วัดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ทราบการประเมินดังกล่าวจะใช้ข้อมูลเชิงทุติยภูมิ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าที่เหมาะสมคือกลุ่มประเทศอาเซียนควรจะกำหนดมาตรฐานการศึกษาร่วมกัน กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลาง และให้แต่ละประเทศนำไปพัฒนาการศึกษาของแต่ละประเทศให้ได้ตามข้อตกลง เพราะทุกวันนี้แต่ละประเทศต่างก็มีมาตรฐานแตกต่างกันทำให้เวลามีประเมินผลก็มักจะได้รับผลแตกต่างกัน
       
        “เวลาหน่วยงานภายนอกประเมินก็จะวัดด้วยมาตรฐานที่แตกต่างแต่ตอบโจทย์ความต้องการที่กำหนดไว้ แต่หากเป็นหน่วยงานในฐานะผู้จัดการศึกษาก็จะมีมาตรฐานการวัดอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเราใช้ไม้บรรทัดวัดกันคนละแบบ แต่ถ้ากลุ่มประเทศอาเซียนมาหารือและกำหนดมาตรฐานอาเซียนร่วมกัน โดยอาจจะมีคณะกรรมการกลางขึ้นมาดูแลให้แต่ละประเทศพัฒนาไปสู่เป้าหมายเดียวกันเมื่อมีการประเมินผลจะได้สะท้อนภาพรวมชัดเจน ยกตัวอย่าง สอศ. เองก็มีมาตรฐานร่วมกับกลุ่มเอเชียแปซิฟิก มีการกำหนดว่าอาชีวศึกษาจะเดินไปสู่เป้าหมายใดและมีการประเมินผลการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาและต้องบอกได้ว่าจุดเด่นอยู่ตรงไหน จุดอ่อนอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เพื่อรู้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าผู้ที่ได้รับการจัดอันดับก็ยังไม่ได้พอใจกับผลที่ได้รับเพราะแต่ละประเทศจะรู้ดีมาตรฐานที่พึงประสงค์ของตนเป็นเช่นไร ดังนั้น คิดว่ายังไม่มั่นใจในไม้บรรทัดอันนี้เท่าใดนักเพราะอาจจะเหมาะสมที่จะอธิบายบางสิ่งอย่างเท่านั้นแต่ไม่ได้สะท้อนคุณภาพทั้งหมด” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 กันยายน 2557