ผู้เขียน หัวข้อ: อาณาจักรแดนศิลา(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 818 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ชมภาพยอดหินและเถื่อนถ้ำอันน่าตื่นตาของจีน

ขณะหมอบอยู่บนพื้นโคลนในคูหาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน  เราไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจากเสียงลมหายใจของตัวเองและเสียงน้ำหยดติ๋งๆอยู่ไกลๆ เรามองไม่เห็นอะไรนอกจากความว่างเปล่า แต่เมื่อเปิดจอแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องสแกนเลเซอร์  ถ้ำหงเหมย์กุยก็เผยตัวออกมา

            ภาพดิจิทัลของถ้ำเหมือนจริงยิ่งกว่าของจริงเสียอีก ถ้ำจริงๆนั้นมืดอย่างที่สุด ในคูหาใหญ่ห้องหนึ่ง แม้แต่ไฟฉายคาดศีรษะรุ่นใหม่ยังส่องไปข้างหน้าหรือข้างบนได้แค่ราว 50 เมตร ไม่มากกว่านั้นแน่ หมอกหรือความว่างเปล่ากลืนกินแม้แต่ลำแสงเจิดจ้าที่สุด เป็นเรื่องธรรมดาที่เราย่อมอยากเห็นมากกว่านั้น

            ความอยากเห็นอะไรมากกว่านั้นนี่เองที่ดึงดูดให้แอนดี อีวิส มายังภาคใต้ของจีนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในประเทศที่ยังถือว่าค่อนข้างปิดแห่งนี้  คือแหล่งรวมของภูมิประเทศแปลกตาราวกับหลุดมาจากโลกอื่นซึ่งเรียกกันว่า คาสต์ (karst) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  อันประกอบไปด้วยหลุมยุบ เสาหิน ป่าหินที่มียอดแหลม และห้วยมุด ซึ่งก่อตัวขึ้นมานานหลายศตวรรษ เมื่อน้ำฝนละลายชั้นหินดานซึ่งมักเป็นหินปูน และสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและภายใต้ภูมิทัศน์ภูเขาอันเขียวชอุ่มที่มักปรากฏในภาพวาดดั้งเดิมของจีน คือเถื่อนถ้ำที่ยังไม่เคยมีการสำรวจหรือบันทึกมาก่อน  กระจุกตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดในโลก

            นั่นยังเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้อีวิสกลับมาประเทศจีนอีกครั้ง คราวนี้เขาแบกถุงกันน้ำใบเก่าสมบุกสมบันใส่อุปกรณ์สำรวจถ้ำ ได้แก่ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ แบตเตอรี่ และเครื่องสแกนเลเซอร์สามมิติ เทคโนโลยีสามารถจับภาพสิ่งที่ตามนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ภายในถ้ำ แผนการของเขาคือใช้เวลาหนึ่งเดือนในคูหาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างน้อยสามแห่ง เปิดเครื่องสแกน แล้ววัดขนาดถ้ำเหล่านี้อย่างแม่นยำเป็นครั้งแรก

            ครั้งนี้อีวิสมากุ้ยหลินพร้อมกับทีมนักสำรวจถ้ำนานาชาติ 10 ชีวิต พอมาถึงเราก็พบกับเสียงอึกทึกของรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ในเมืองที่ขยายตัวจนมีประชากรถึงราวหนึ่งล้านคน ประเทศจีนโฉมใหม่ซึ่งมีทางด่วนหลายสาย ศูนย์การค้าหรูหรา และยอดเขาน้อยใหญ่ที่กลายเป็นเหมืองหินเพื่อตอบสนองการก่อสร้างที่เฟื่องฟู ทั้งหมดล้วนช่างน่าพิศวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกสองคนในทีม คือ ริชาร์ด วอลเตอร์ส และปีเตอร์ สมาร์ต ผู้เคยมากุ้ยหลินกับอีวิสระหว่างปี 1985 ถึง 1986 ในการสำรวจครั้งแรกจากกว่า 20 ครั้งของการบุกเบิกโครงการสำรวจถ้ำในประเทศจีน (China Caves Project) ทั้งคู่ยังไม่เคยกลับมาอีกเลยจนกระทั่งครั้งนี้

            วอลเตอร์ส นักธุรกิจโทรคมนาคม จะช่วยควบคุมเครื่องสแกนร่วมกับดานีเอลา ปานี นักธรณีศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมามีส่วนร่วมในการค้นพบซากเรืออับปางสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนสมาร์ตเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่เชี่ยวชาญเรื่องคาสต์และเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยบริสตอลเมื่อปี 2009

            เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ ถ้ำหงเหมย์กุย ซึ่งเป็นคูหาถ้ำแห่งแรกที่เราวางแผนจะสแกน น่าจะมีขนาดพอๆกับสนามฟุตบอลแปดสนาม ถ้ำนี้อยู่ในอันดับที่แปดของรายชื่อคูหาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดของโลกประจำปี 2012 ตามหลังคู่แข่งในมาเลเซีย สเปน โอมาน เบลีซ และที่อื่นๆในประเทศจีน แต่จะอยู่ในอันดับใดถ้าวัดจากปริมาตร นี่เป็นคำถามที่เราหวังจะได้คำตอบจากการใช้เครื่องสแกนสามมิติ

            ความรู้สึกเมื่อเข้าสู่คูหาถ้ำหงเหมย์กุยมีทั้งงุนงงและคุ้นเคย ผมเห็นถึงความใหญ่โตมโหฬารได้ไม่ยาก เพราะมองเห็นอะไรได้ไม่มากนัก แสงไฟฉายของผมไม่อาจสะท้อนจากเพดานหรือผนังถ้ำอีกต่อไป อนุภาคฝุ่นละอองล่องลอยอยู่ในอากาศ แม้แต่ลมก็ไม่อาจพัดมาถึงบริเวณนี้ ก้อนหินมนใหญ่ขนาดพอๆกับรถบรรทุกหล่นลงมาอยู่บนพื้นจากที่ไหนสักแห่งที่อยู่สูงขึ้นไปมาก แรงกระแทกส่งให้พื้นโคลนกระจายออกเป็นแอ่งรูปวงแหวน ทีมงานตั้งชื่อหินก้อนนี้ว่า “อุกกาบาต” ตรงไหนสักแห่งไกลออกไปอีกด้านหนึ่งของคูหา ส่วนจะไกลแค่ไหนยากที่จะรู้แน่ชัด มีลำแสงวูบวาบจากไฟฉายคาดศีรษะของใครบางคน เมื่อผมเริ่มปีนขึ้นไปตามทางลาดเอียงที่เต็มไปด้วยเศษหิน ประสบการณ์นี้ก็ดูเหมือนจะคุ้นเคยขึ้นมา ทางลาดเอียงนี้กว้างใหญ่มาก ผมปีนขึ้นไปได้อย่างช้าๆ ภูมิประเทศช่างยากลำบากจนรู้สึกราวกับกำลังปีนเขาอยู่ในค่ำคืนไร้ดาว

            เมื่อผมตามทีมสแกนทัน พวกเขาอยู่ตรงบริเวณโคลนแห้งๆใกล้กับ “อุกกาบาต” ไม่ไกลจากริมทะเลสาบและผนังหินปูนสูงชันที่นำไปสู่เพดานถ้ำซึ่งซ่อนตัวอยู่ จุดนี้คือหนึ่งใน 17 สถานีสแกนในถ้ำหงเหมย์กุย เครื่องสแกนจะส่งสัญญาณเลเซอร์ออกมาเป็นชุดๆ แล้ววัดระยะทางโดยคำนวณว่าสัญญาณใช้เวลานานเท่าใดจึงจะสะท้อนกลับมา ระยะทางสามารถกำหนดได้ง่ายๆโดยยึดหลักความเร็วแสง

            ในการตั้งสถานีสแกน วอลเตอร์สใช้เครื่องมือวัดระดับขนาดพกพาเพื่อให้แน่ใจว่าขาตั้งเครื่องวางได้ในแนวระนาบกับพื้นถ้ำ กำหนดตำแหน่งเครื่องสแกนด้วยเข็มทิศ แล้วหยิบแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ส่งให้ปานี อีวิสยืนอยู่ใกล้ๆ พวกเขาต่อสายอีเทอร์เน็ตสีฟ้าอมเขียวเข้ากับแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ กดปุ่มเปิดเครื่องสแกนเลเซอร์ ทันใดนั้นมันก็มีชีวิตขึ้นมา ส่วนหัวของเครื่องหมุนไปรอบๆอย่างเงียบๆ ขณะที่ทั้งทีมดูเหมือนพร้อมใจกันกลั้นหายใจ

            สามนาทีต่อมา ผลก็ปรากฏบนแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ของปานี แผนภาพดิจิทัลเป็นสีขาวดำและมีความคมชัดต่ำ แต่ก็ช่างน่าทึ่ง ณ ที่นั้น ขณะที่เรานั่งคุดคู้อยู่บนพื้นโคลนท่ามกลางความมืด จ้องมองไปยังจอภาพสว่างจ้า ปานีก็พาเราบินเข้าสู่ถ้ำเสมือนจริง และในที่สุดผมก็มองเห็นว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เป็นประสบการณ์ที่เหมือนถอดจิตออกจากร่างเลยทีเดียว

            ก่อนหน้านี้ระหว่างทางไปยังถ้ำหงเหมย์กุย เราแวะที่อำเภอเฟิ่งชานซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกุ้ยหลินไปทางตะวันตกราวแปดชั่วโมงทางรถยนต์ และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีเล่อเย่-เฟิ่งชานขนาด 930 ตารางกิโลเมตร ที่นี่มีถ้ำขนาดใหญ่ชื่อชวานหลงเหยียนซึ่งทางเทศบาลใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ภายในมีถนนกว้างสองเลน พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และสนามกีฬา

            ในอำเภอเฟิ่งชาน เราเห็นหลายครอบครัวสวมเสื้อชูชีพสีส้ม นั่งอยู่ในเรือที่มีคนถ่อล่องไปตามแม่น้ำสีเขียวแกมน้ำเงิน คนถ่อเรือส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกขณะผ่านหินย้อยในถ้ำเพดานต่ำ อุทยานแห่งชาติจื่อหยุนเก๋อทูเหอชวานต้งที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือสิบชั่วโมงทางรถยนต์ กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักปีนเขาไปแล้ว เมื่อเราเดินทางจากอำเภอเล่อเย่และถ้ำหงเหมย์กุยไปถึงที่นั่น  คนงานกำลังขุดเจาะทางเดินเท้าสำหรับนักท่องเที่ยวเข้าไปในผนังสูงของถ้ำเยี่ยนจื่อ ซึ่งได้ชื่อตามนกนางแอ่นที่มาทำรังอยู่บนผนังถ้ำ  ทางเดินนำไปสู่ลิฟต์ตัวใหม่ 

            เมื่อเราทั้งหมดกลับขึ้นมาสู่โลกเบื้องบนในสภาพเนื้อตัวมอมแมมและอ่อนล้าเต็มที เราคิดว่าการสำรวจเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่อีวิสมีเรื่องให้เราประหลาดใจในวันก่อนนั่งเครื่องบินกลับบ้าน นั่นคือการล่องเรือผ่านภูมิประเทศแบบคาสต์ไปตามแม่น้ำหลี โดยจะแวะพักที่ถ้ำซึ่งทีมของเขาเป็นผู้เข้าไปสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1985 เขาเองเคยล่องเรือไปตามลำน้ำสายนี้ในปี 1982 ตอนนั้นมีเรือล่องแม่น้ำเพียงไม่กี่สิบลำ ทุกวันนี้อาจมีถึงวันละสองสามร้อยลำ แต่ละลำบรรทุกนักท่องเที่ยวร่วมร้อยคน และคนหลายพันก็ออกันอยู่ในถ้ำมงกุฎ

            แม่น้ำหลียังคงงดงาม แต่หลังจากไปเยือนถ้ำที่ถานมาแล้ว ถ้ำมงกุฎกลับกลายเป็นสิ่งที่น่ากระอักกระอ่วนใจ เราถูกต้อนเข้าไปสู่ทางเข้าเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน แต่ละกลุ่มเดินตามมัคคุเทศก์ที่ถือไมโครโฟนกับลำโพงพกพา พลางตะโกนเสียงดังเพื่อให้กลบเสียงมัคคุเทศก์คนอื่น หินงอกและแอ่งน้ำภายในถ้ำประดับประดาด้วยไฟสีเขียว แดง และม่วง ในถ้ำมีทางเดินและราวจับ ในบางคูหามีแผงขายของที่ระลึกราคาถูก ทางเดินถ้ำช่วงหนึ่งติดตั้งลิฟต์แก้ว มัคคุเทศก์เร่งให้เราไปต่อแถวรอรถไฟใต้ดิน ซึ่งจะพาเราไปยังแถวเพื่อรอลงเรือที่จะล่องไปตามทางเหมือนรถไฟเหาะใต้ดินและข้ามสะพานเหนือแม่น้ำใต้ดิน

            อีวิสเดินตามหลังคนอื่นๆในกลุ่ม และถ่ายภาพทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่ตามลำพังในถ้ำมงกุฎเพื่อทำแผนที่และสำรวจทางเดินที่ซุกซ่อนอยู่ “นี่มันน่าสับสนไหมครับ” ผมถามอีวิส “ไม่หรอก” เขาตอบ เวลานี้นักท่องเที่ยวพากันหยิบกล้องของตัวเองออกมา ถ่ายภาพทุกซอกทุกมุมของถ้ำมงกุฎที่มองเห็นอยู่ในแสงเทียม จะว่าไปก็เป็นการสำรวจแบบหนึ่งเช่นกัน สำหรับอีวิส คงไม่มีอะไรเป็นธรรมดาของโลกมากไปกว่านี้อีกแล้ว

เรื่องโดย แมกเคนซี ฟังก์
กรกฎาคม 2557