ผู้เขียน หัวข้อ: นศพ.ศิริราชระดมว่าที่หมออาเซียนถกระบบสาธารณสุข ชูมาตรฐาน-สร้างสมดุล  (อ่าน 1238 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ปี 2558 เป้าหมายของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะรวมเป็นหนึ่งในนาม ประชาคมเศรษฐ- กิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC)

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งรั้วสถาบันการศึกษาไทยต่างตื่นตัวเตรียมพร้อมกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เช่นเดียวกับนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ลุกขึ้นมาจัดการประชุม ผู้นำนักศึกษาแพทย์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 1 หรือ The First Southeast Asia Medical Students’ Leadership Summit 2012 (The First SEAM 2012) เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แม้วันนี้การประชุมจะปิดฉากไปแล้ว แต่ประสบการณ์ความรู้ที่ก่อเกิดจากวงสัมมนา ล้วนเป็นเรื่องสร้างสรรค์ แบบนี้ “ยายรหัส” ไม่รอรีต้องรุดไปเม้าท์กับสตาฟฟ์นักศึกษาแพทย์ (นศพ.) ศิริราช ทีมงานที่จัดงาน The First SEAM 2012 เพื่อกระจายข้อมูลเจ๋งๆ ให้รับรู้

ประเดิมที่ประธานโครงการ นศพ.สมาทร ถกลวิบูลย์ “เอิง” ปี 6 บอกถึงที่มาที่ไปว่า “กระแสความตื่นตัวเรื่องประชาคมอาเซียนทำให้ชมรมวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ได้ร่วมกันจัดประชุมผู้นำนักศึกษาแพทย์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2-5 ส.ค.ที่ผ่านมาที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาแพทย์ทราบการเปลี่ยนแปลงและมีการเตรียมตัวที่ดีในการตอบสนองวงการสาธารณสุขในอาเซียน โดยมีนักศึกษาแพทย์ไทยรวมศิริราช 150 คน และนักศึกษาแพทย์จากประเทศอาเซียน 13 คนเข้าร่วมวงสัมมนาได้พูดคุย 3 ประเด็นหลักคือการศึกษาแพทยศาสตร์ การรณรงค์ส่งเสริมทางสุขภาพและระบบการให้บริการทางสาธารณสุข”

“เอิง” แจกแจงว่า “สิ่งที่ทุกคนในวงสัมมนาอยากเห็นคือการจัดตั้งเครือข่ายนักศึกษาแพทย์อาเซียน การพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน  ซึ่งเรามองว่าเราต้องเดินไปพร้อมๆกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในระบบสาธารณสุขในภูมิภาค ทั้งนี้ สิ่งที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้คือ แรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนงานสู่เป้าหมาย วิสัยทัศน์ที่มองโลกกว้างขึ้น ได้ความสัมพันธ์ พัฒนาทักษะการทำงานและทั้งหมดคือคำตอบที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย ทรงพระดำริไว้ว่า ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้ แต่อยู่ที่การกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์”

นศพ.ภัทรพร   เมฆาวุฒิกุล “ตาณ” ปี 5 เสริมว่า “ไฮไลต์สำคัญในงาน คือ การบรรยายจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เช่น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งได้ฉายภาพ อาเซียนที่จะเกิดขึ้น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช พูดถึงการศึกษาแพทย์ที่ควรจะเป็นเพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีสุขภาพดี รวมถึง ศ.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ Prof.John Wong อดีตคณบดี Yong Loo Lin Medical School จาก National University of Singapore ที่ชี้ถึงความสามารถของแพทย์ในศตวรรษที่ 21 เป็นความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งและงานครั้งนี้ที่เกิดขึ้นได้เพราะความเมตตาจาก ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.ประสิทธิ์ รองคณบดี และคณาจารย์ทุกท่าน ที่สนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษาแพทย์อย่างดียิ่ง”

ส่วน นศพ.พิชามญ กฤตาลักษณ์ “เอิร์น” ปี 4 บอกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า “ได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เพื่อนใหม่จากประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมที่เรามีเครือข่ายนักศึกษาในยุโรป อเมริกา เป็นประสบการณ์อีกแบบที่ทำให้รู้ว่านักศึกษา แพทย์เพื่อนบ้านก็ไม่ได้ด้อย บางเรื่องอาจจะนำหน้า เราด้วยซ้ำ ที่เห็นได้ชัดคือความทะเยอทะยานในการ ใฝ่หาความก้าวหน้าเพื่อพัฒนา ซึ่งหากตัวแทนทุกประเทศได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนไปสู่ความสำเร็จ”

ขณะที่ นศพ.วรพัจน์ วรปัญญา “พัจน์” ปี 4 บอกว่า “ได้เห็นไอเดียใหม่ๆ จากเพื่อนนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เห็นว่าเขามีความคิดที่น่าสนใจ เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีโอกาสเท่าเรา และเป้าหมายที่ทุกคนอยากเห็นคือระบบสาธารณสุขทั้งภายในประเทศเราเองและอาเซียนที่ได้รับการพัฒนาความก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน”

ด้าน  นศพ.อภิรักษ์ ตั้งอนันตรัตน์ “อู๋” ปี 4 ร่วมเสริมด้วยว่า “ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ วัฒนธรรมกับนักศึกษาแพทย์ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการใช้ชีวิต หลักสูตรการเรียนการสอน ถือเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางให้กับนักศึกษาแพทย์”

ปิดท้ายกับ นศพ.เจนวิทย์ วงศ์บุญสิน “ปิงปอง” ปี 5 ส่งเสียงมาขอแจมว่า “เป็นความท้าทายที่ทำให้ทุกคนได้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละประเทศผลิตหมอที่มีคุณภาพและกระจายการให้บริการอย่างเท่าเทียม  รวมถึงการมุ่งสู่ระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เพื่อนประเทศต่างๆ ต้องการนำไปเป็นแบบอย่าง ตรงนี้ผมว่าเป็นจุดดีที่เราได้มีส่วนร่วมแบ่งปัน และคาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ให้กับวงการศึกษาด้านสาธารณสุขให้กับอาเซียน”

ฟังว่าที่หมอศิริราชสะท้อนไอเดียเด็ดๆ กับการเป็น “ผู้ให้” หยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับสังคม “ยายรหัส” ต้องขอกดไลน์ชื่นชม พร้อมทั้งชักชวนทุกคนร่วมส่งเสริมให้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ได้เติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่ง

เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยและอาเซียนให้มีมาตรฐาน ทั้งเข้าถึงมวลมนุษยชาติอย่างเท่าเทียม.

 
ไทยรัฐ