ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐสภาปากีสถานใช้โซลาร์เซลล์ 100% แห่งแรกของโลก : นายกฯ ประยุทธ์เร่งหน่อย  (อ่าน 994 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมประชุมที่สหรัฐอเมริกา ท่านได้นำมาเล่าในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” (19 ก.พ. 59) ว่า สองข้างทางที่ท่านผ่านมีการติดโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้ากันเยอะมาก
       
       “ผมเห็นแล้วผมก็ต้องสั่งให้ทุกส่วนราชการไปหาทางซิว่า จะใช้โซลาร์เซลล์นี้อย่างไร…เดี๋ยวทำเนียบรัฐบาลก็คงต้องดูนะ …ผมคิดว่าเราต้องมาเริ่มต้นอย่างนี้ก่อนดีกว่านะ เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มมันติดไปหมด ไม่ได้หมด เพราะฉะนั้นเราทำไฟฟ้าใช้เองเลยดีกว่า ดีไหมนะ เพียงแต่ว่าเดี๋ยวรัฐต้องไปดูซิว่าจะช่วยยังไงได้บ้าง ใครมีกำลังแล้วก็ใช้เถอะครับ ใช้เลย เศรษฐีต่างๆ จะได้ไม่ใช้ไฟข้างนอกมากนักนะ ไม่ต้องไปเพิ่มพลังผลิตให้มากมายวุ่นวายไปหมดนะ เริ่มปีนี้เลย”
       
       ก่อนหน้านี้เล็กน้อยท่านพูดถึงปัญหาการจัดการของประเทศไทยเราว่า “ระบบส่งเรายังมีปัญหาอยู่เข้าระบบสายส่งปัญหาเยอะแยะ กฎหมายก็มีปัญหาอยู่ ระบบสายส่งก็ยังไม่ได้ครบมันใช้เงินมากสูงมาก”
       แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยในหลายเรื่องกับรัฐบาลนี้ (เช่น การใช้มาตรา 44 เปลี่ยนผังเมืองให้สามารถสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตที่เคยห้ามได้) แต่สำหรับคำพูดดังกล่าวข้างต้น ผมขอเชียร์และขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งขอแก้ไขสิ่งที่ผมเชื่อว่าท่านยังเข้าใจผิดอยู่ ดังต่อไปนี้ครับ
       
       1. การติดโซลาร์เซลล์ในรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการ
       
       ในวันที่ท่านนายกฯ พูด เว็บไซต์ Ecowatch ได้ลงข่าวว่า “รัฐสภาปากีสถานเป็นแห่งแรกในโลกที่ใช้พลังงาน 100% จากแสงอาทิตย์” โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศจีน ผมได้ตัดภาพมาเสนอด้วย


        เท่าที่ผมได้สืบค้นทราบว่า ขนาดติดตั้งทั้งหมด 80 เมกะวัตต์ (1 เมกะวัตต์อยู่บนอาคาร ซึ่งจะได้ไฟฟ้าปีละ 1.6 ล้านหน่วย ที่เหลืออยู่บนพื้นดิน) โดยที่ 62 เมกะวัตต์เพื่อใช้ในอาคารรัฐสภา และอีก 18 เมกะวัตต์เพื่อขายสู่ระบบสายส่งของชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนมิถุนายนนี้
       
       นับเป็นใบอนุญาตแรกของประเทศปากีสถานที่ใช้ระบบ “Net Metering” ซึ่งออกโดย The National Electric Power Regulatory Authority ซึ่งก็คงจะเหมือนกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของประเทศไทยเรา
       
       ระบบ “Net Metering” คือระบบที่อนุญาตให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์แล้วเหลือใช้สามารถไหลเข้าสู่สายส่งของชาติได้ และในเวลากลางคืนซึ่งผลิตไฟฟ้าเองไม่ได้ ก็อนุญาตให้กระแสไฟฟ้าจากระบบสายส่งไหลกลับมาสู่อาคารรัฐสภาได้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีเพื่อหายอดรวมการใช้ ถ้าผลิตได้มากกว่าที่ใช้ ผู้ผลิตก็จะได้รับเงินในอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายกันตามปกติ ไม่มีการบวกค่าไฟฟ้าเพิ่ม ไม่เป็นภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ไม่ต้องเก็บค่าเอฟทีจากคนทั่วประเทศแล้วไปจ่ายให้กับบางบริษัท (เหมือนที่ประเทศไทยทำ)
       
       “ระบบ Net Metering ได้ช่วยในการส่งกระแสไฟฟ้าและเพิ่มส่วนที่ผลิตได้เกินให้กับระบบสายส่งของชาติ โครงการนี้จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมันช่วยลดการปล่อยก๊าซอันตราย” ประธานรัฐสภา Ayaz Sadiq กล่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ Dawn (http://www.dawn.com/news/1239167)
       
       “ต้องขอบคุณสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา และสื่อมวลชนที่ให้ความมั่นใจและการสนับสนุนที่ช่วยเป็นแรงส่งให้เกิดอนาคตที่ดีกว่า” ประธานรัฐสภากล่าว
       
       ในตอนท้ายของข่าวชิ้นนี้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐสภาของประเทศอิสราเอลก็ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเช่นกัน แต่ผลิตได้เพียง 10% ของความต้องการเท่านั้น ในขณะที่ของปากีสถานผลิตได้เกิน 100%
       
       สิ่งที่ผมต้องคิดอยู่หลายรอบ เพราะไม่มั่นใจในตัวเลขที่เขารายงาน ก็คือเรื่องของต้นทุนครับ เขาบอกว่าเงินลงทุนทั้งหมดมาจากประเทศจีน คิดเป็นมูลค่า 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเฉลี่ยต่อกิโลวัตต์และคิดเป็นเงินไทย (35 บาท/$) ก็เท่ากับ 22,750 บาทเท่านั้น
       
       ในขณะที่ราคาบางบริษัทในประเทศไทยเสนอขายอยู่ที่ 7-9 หมื่นบาท หรือที่โรงเรียนศรีแสงธรรมติดตั้งโดยไม่คิดค่าแรงและใช้แผงมือสอง ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาท ทำไมราคาจากประเทศจีนจึงได้ถูกมากถึงเพียงนี้ หรือว่าเขาไม่คิดภาษี ประเด็นนี้รัฐบาลช่วยได้ครับ
       
       สิ่งที่ต้องตอกย้ำและช่วยกันเผยแพร่ให้คนไทยได้ทราบกันมากๆ ก็คือ ระบบ “Net Metering” ที่ประเทศปากีสถานนำมาใช้นั้น ประเทศไทยเราถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายครับ ประเด็นนี้รัฐบาลต้องรีบแก้ไข
       
       ก่อนที่ผมจะแสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรี ผมขออนุญาตเสนออีก 2 ภาพเพื่อเป็นข้อมูลประกอบครับ
       
       ภาพแรกเป็นภาพโซลาร์เซลล์บนอาคารทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา อาคารบริหารในประเทศญี่ปุ่น และอาคารรัฐสภาของประเทศออสเตรเลีย บางที่ก็ตั้งใจโชว์อย่างชัดเจน บางที่ก็หลบๆ ไม่ให้เสียทิวทัศน์


        ภาพที่สอง เพื่อให้เห็นความเอาจริงเอาจังและให้ทันกับสถานการณ์โลกร้อน ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลีย จากกราฟพบว่าในช่วงเวลา 60 เดือนจากปี 2010 ถึง 2015 ชาวออสเตรเลียซึ่งมีประชากรเพียง 24 ล้านคนได้ติดโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 4,728 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นถึง 1038%
       
       ถ้าคิดเฉพาะ 10 เดือนสุดท้ายของปี 2015 พบว่า ทุกๆ 2 นาทีชาวออสเตรเลียติดตั้งเพิ่มขึ้น 3.1 กิโลวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญและเป็นแบบอย่างให้กับภาคประชาชนในหลายประเทศ


        2. การลงทุน การใช้พื้นที่และผลตอบแทน
       
       โดยปกติหากติดตั้งเพียง 3 กิโลวัตต์จะใช้พื้นที่ประมาณ 21 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 แสนบาท จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,450 หน่วย ดังนั้น หากติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์จะได้ไฟฟ้าเดือนละ 362 หน่วย หากเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจะมีระยะเวลาคืนทุน 7.6 ปี (ดังแผ่นภาพ) โดยมีระยะการใช้งานนานถึง 25 ปี นั่นแสดงว่าที่เหลืออีกประมาณ 17 ปีจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี คุ้มไหมครับ นอกจากนี้ราคาแผงจะลดลงอีกปีละประมาณ 10%


        เท่าที่ผมทราบ ขณะนี้ส่วนราชการของไทยได้ค้างจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกันทั่วประเทศคิดเป็นเงินหลายพันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่ายทหารและโรงพยาบาล จะตัดไฟฟ้าก็ไม่ได้ ดังนั้น หากมีการติดโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นก็สามารถลดภาระลงได้
       
       3. ปัญหาสายส่ง ตัวอย่างจากเยอรมนีและสหรัฐเมริกา
       
       ตามที่ท่านนายกฯ กล่าวว่า “ระบบส่งเรายังมีปัญหาอยู่เข้าระบบสายส่งปัญหาเยอะแยะ กฎหมายก็มีปัญหาอยู่ ระบบสายส่งก็ยังไม่ได้ครบมันใช้เงินมากสูงมาก” ผมขออธิบายอย่างง่ายๆ ดังนี้ครับ
       
       การไหลของไฟฟ้าก็เหมือนกับการไหลของน้ำ คือไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำกว่า ไฟฟ้าก็ไหลจากศักดาสูงไปสู่ศักดาต่ำ ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะมีศักดาประมาณ 240 โวลต์ แต่ไฟฟ้าจากสายที่เข้าสู่บ้านเราจะมีศักดา 220 โวล์ตเท่านั้น ดังนั้น ไฟฟ้าที่ผลิตเองได้หากมีมากกว่าที่ใช้ ส่วนที่เหลือก็จะไหลเข้าสู่สายส่งไปตามธรรมชาติ
       
       ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้านว่าไปแล้วก็เปรียบเหมือนหยดน้ำเล็กๆ ในลำธารใหญ่เท่านั้น นอกจากจะไม่ทำให้ระบบใหญ่ไม่มั่นคงแล้ว ยังช่วยระบบใหญ่มีความเสถียร ช่วยลดปัญหากระแสไฟฟ้าตก ลดการสูญเสียในสายได้ด้วย แต่ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่จะทำให้สายส่งเต็มได้จริง แต่ทางราชการก็มีการอนุญาตให้มีได้ และจ่ายเขาในราคาแพงมาก!
       
       ประเทศเยอรมนีได้ออกเป็นกฎหมายว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้ก่อน” ผู้ผลิตจากพลังงานฟอสซิลส่งได้ภายหลัง ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในปี 2558 ได้ถึง 38,500 ล้านหน่วย มากกว่า 90% ของที่ใช้ในภาคครัวเรือนคนไทยรวมกันทั้งหมด
       
       ผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าฯ ท่านหนึ่งได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทนของสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า หากบริเวณใดมีการติดโซลาร์เซลล์แล้วไม่เกิน 20% ความสามารถของหม้อแปลงไฟฟ้าก็จะไม่มีปัญหา กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ ถ้ามีการติดโซลาร์เซลล์ไม่เกิน 20% ของจำนวนบ้านก็ไม่น่าจะมีปัญหา
       
       ทำไมหน่วยราชการไทยจึงชอบยกสิ่งที่ไม่มีปัญหามาเป็นปัญหา
       
       ข้อมูลเมื่อปี 2558 ของรัฐออสเตรเลียใต้ พบว่า โดยเฉลี่ยทุกๆ 5 หลังจะติดโซลาร์เซลล์หนึ่งหลังก็ไม่มีปัญหา
       
       ในสหรัฐอเมริกามีอย่างน้อย 43 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ได้มีกฎหมายว่าด้วย Net Metering แล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเสริมว่า ในปี 2015 ประชากรที่อาศัยอยู่ใน 6 เมืองที่ใหญ่ที่สุด (หรือประมาณ 30 ล้านคน) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากสายส่ง (grid parity) แล้ว และในปี 2017 จะเพิ่มเป็น 71 ล้านคน (http://cleantechnica.com/2015/05/22/solar-parity-coming-faster-expected/)
       
       4. การผลิตไฟฟ้ากับความเหลื่อมล้ำ
       
       ท่านนายกฯ พูดอยู่บ่อยๆว่า รัฐบาลจะลดความเหลื่อมล้ำ เราลองมาพิจารณาการผลิตไฟฟ้าของประเทศดูบ้าง
       
       ในปี 2557 คนไทยจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่าถึง 6.62 แสนล้านบาท ทั้งหมดของเงินจำนวนนี้จะไหลทางเดียว คือออกจากกระเป๋าของผู้บริโภคไปสู่กระเป๋าของผู้ผลิตซึ่งเป็นระบบผูกขาดและมีไม่กี่ราย ปีแล้วปีเล่าเป็นเช่นนี้เสมอมา ความเหลื่อมล้ำจึงเพิ่มขึ้นๆ
       
       เราลองมาพิจารณาถึงระบบการผลิตไฟฟ้าในยุคใหม่ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นั่นคือ กระแสไฟฟ้าสามารถเดินได้สองทาง จากผู้ผลิตรายใหญ่เข้าสู่บ้านผู้บริโภค และจากหลังคาบ้านผู้บริโภคเข้าสู่สายส่ง เงินจึงสามารถเดินได้สองทาง แทนที่จะเป็นทางเดียวอย่างเมื่อก่อน หากสามารถเป็นเช่นนี้ตลอดไปและในปริมาณที่มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะค่อยๆ ลดลงตามความตั้งใจของนายกฯ
       
       ในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ แต่ละวันเราต้องนำเข้าถ่านหิน 1 หมื่นตัน หากราคาตันละ $55 ในช่วง 30 ปี เงินจากประเทศไทยจะไหลออกไปรวม 2.1 แสนล้านบาท นี่แค่โรงเดียวนะครับ แต่เรามีแผนจะสร้างถึง 10 โรง แล้วเงินจะออกนอกประเทศถึง 2.2 ล้านล้านบาท เยอะนะ
       
       แต่ถ้าเราใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นเหลือจากปาล์มน้ำมันหรือแสงแดดซึ่งเรามีมากกว่าประเทศเยอรมนี เงินก็จะไม่ไหลออกนอกประเทศ ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลงได้ครับ
       
       นี่ยังไม่นับถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลต่อปัญหาโลกร้อนซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้ไปสัญญาไว้กับประชาคมโลกที่กรุงปารีสเมื่อปลายปีที่แล้ว
       
       ปัญหามันซับซ้อนนะครับท่าน เอาแค่ท่านสั่งการให้ข้าราชการทำตามได้ก็คงเหนื่อยแล้ว ยิ่งท่านบอกว่า “เริ่มปีนี้เลย” ท่านต้องเหนื่อยมากขึ้นหลายเท่า แต่ผมเชื่อว่าท่านสามารถทำได้อย่างแน่นอน ถ้าท่านมีความตั้งใจจริง


โดย ประสาท มีแต้ม       28 กุมภาพันธ์ 2559
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000021215