ผู้เขียน หัวข้อ: “พาณิชย์” แก้เกมระยะสั้น ส่งสายตรวจบุก รพ.เอกชน ตรวจเช็กติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายยา  (อ่าน 565 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
“พาณิชย์” ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนติดป้ายแสดงราคายาหรือไม่ พร้อมศึกษาข้อกฎหมาย สั่งให้แยกรายละเอียดค่ายาทุกรายการ ป้องกันมั่วนิ่มคิดเหมารวมแล้วโขกราคาแพง เผยรอสาธารณสุขส่งบัญชีรายการยาก่อนประกาศมาตรการควบคุม ส่วนค่ารักษาพยาบาลจ่อชง กกร.ขึ้นบัญชีคุมหากสาธารณสุขยืนยัน
       
       นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการเข้าไปแก้ไขปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพงในระยะเร่งด่วนว่า กรมฯ ได้เตรียมจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เพื่อติดตามดูว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องการปิดป้ายแสดงราคายาหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุม และต้องแสดงราคาจำหน่าย ณ จุดจำหน่าย หากไม่พบก็จะมีความผิดตามกฎหมาย
       
       “จะให้คนไปตรวจว่าสถานพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน มีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ มีสมุดแสดงรายการค่ายาหรือไม่ หรือมีจอคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้บริการเช็กราคายาหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดตรงนี้ให้ผู้ใช้บริการเช็กได้ ส่วนค่ารักษาพยาบาล แม้ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในบัญชีบริการควบคุม แต่ก็มีข้อกฎหมายให้แสดงราคาค่ารักษาพยาบาล กรมฯ จะใช้หลักการเดียวกันกับยาเข้าไปตรวจสอบด้วย” นายบุณยฤทธิ์กล่าว
       
       นอกจากนี้ กรมฯ กำลังศึกษาข้อกฎหมายอีกว่าสามารถที่จะกำหนดให้สถานพยาบาลและโรงพยาบาลเอกชนต้องแยกแยะรายการค่ายาแต่ละชนิดไว้ในใบรับยา ไม่ใช่คิดราคาแบบเหมารวม เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะใช้ยาของที่นี่ หรือจะไปซื้อยาข้างนอก ซึ่งลักษณะการบังคับก็เหมือนกับการขอให้กระเช้าของขวัญติดป้ายแสดงราคาสินค้าแยกรายละเอียดแต่ละชิ้น
       
       นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า การใช้มาตรการทางกฎหมายสำหรับยา ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมนั้น กรมฯ กำลังรอผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดรายการยา โครงสร้างราคายาให้เสร็จก่อน และเมื่อได้รายละเอียดมาแล้วว่าจะให้คุมยารายการใดบ้างก็จะออกมาตรการตามกฎหมาย เช่น การกำหนดราคาสูงสุด กำหนดกำไรสูงสุด หรือกำหนดส่วนต่างราคาขาย เป็นต้น
       
       ส่วนค่ารักษาพยาบาล ก็ต้องรอให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล เสนอเรื่องเข้ามาก่อนว่าต้องการให้เป็นบริการควบคุม กรมฯ ก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาเป็นบริการควบคุมทันที และจากนั้นก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนที่จะมีมาตรการในการดำเนินการต่อไป เช่น การกำหนดราคาค่าบริการ หรือเงื่อนไขในการให้บริการ เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ หากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลเอกชน หากพบเห็นการไม่ปิดป้ายแสดงราคา หรือคิดค่ายาแพงเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมการค้าภายในสายด่วน 1569


ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 พฤษภาคม 2558