ผู้เขียน หัวข้อ: ร้อง สธ.ทบทวนนโยบายฉีดวัคซีนป้องมะเร็งปากมดลูกเด็ก 12 ปี  (อ่าน 1183 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ร่อนจดหมายเปิดผนึกร้อง สธ.ทบทวนนโยบายเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กหญิง 12 ปี เชื่อไม่ทำให้ลดต้นทุนการป้องกันโรค...

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. น.ส.ณัฐยา บุญภักดี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลักดันโครงการวัคซีนป้องกันไวรัส เอชพีวี (HPV:Human Papilloma vaccine) นำมาฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปี ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ว่า ในสัปดาห์หน้า ทางมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย รวม 21 องค์กร จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการผลักดันนโยบายดังกล่าว โดยข้อมูลวิชาการที่ศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โดยวัคซีนในปัจจุบันป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกสายพันธุ์ที่พบในหญิงไทย 50-70% เท่านั้น ทำให้แม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองอยู่ดี จึงไม่ได้ทำให้ลดต้นทุนการป้องกันโรคแต่อย่างใด

“ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมประมาณ 70% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 ที่มีประชาชนรับการคัดกรองเพียง 20% จึงคาดว่าในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลดลง 1,500 คนต่อปี ป้องกันการเสียชีวิตได้ 750 คนต่อปี ประหยัดงบประมาณในการรักษา 102 ล้านบาท ฉะนั้นการลงทุนฉีดวัคซีนในเด็กหญิงอายุ 12 ปี ซึ่งมีปีละ 400,000 คนทั่วประเทศ จึงยังไม่ใช่ทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เพราะเท่ากับเป็นการลงทุน 2 ต่อ คือยังต้องใช้การตรวจคัดกรองเดิม และเพิ่มวัคซีนเข้ามา” น.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลวิชาการถึงประสิทธิผลของวัคซีนในระยะยาวเกินกว่า 10 ปี เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ ทำให้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็มนี้ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานเพียงใด และต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขลดลง สอดคล้องกับประเด็นเรื่องราคาของวัคซีน ซึ่ง HITAP ได้ประเมินเรื่องความคุ้มค่าโดยหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หากวัคซีนราคาต่ำกว่า 190 ต่อเข็ม ถือว่ามีความคุ้มค่าในการใช้วัคซีนเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรอง เพราะจะทำให้ต้นทุนของการฉีดวัคซีนเท่ากับงบประมาณที่จะประหยัดได้จากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

น.ส.ณัฐยา กล่าวอีกว่า ภาคีเครือข่ายขอเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย เพื่อช่วยให้อุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงคือ 1.เพิ่มความครอบคลุมการตรวจคัดกรองให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศ คือ 80% ซึ่งจะช่วยลดผู้ป่วยมะเร็งได้เพิ่มอีก 530 ราย และลดผู้เสียชีวิตได้ 250 ราย 2.ควรมีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้สอดคล้องกับข้อมูลระบาดวิทยาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะใกล้เคียงกับประเทศไทยและสร้างความเข้าใจประชาชนใหม่ว่า การฉีดวัคซีนไม่สามารถทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ จึงต้องรับการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสมอยู่ดี 3.ควรนำนโยบายดังกล่าวผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.รวมทั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะจะต้องพิจารณาวัคซีนใหม่ไปพร้อมกันอีกหลายตัว และ 4.ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างเปิดเผย.

Thairath.co.th