ผู้เขียน หัวข้อ: "กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ" แนะวิธีตรวจสอบสถานพยาบาลเถื่อนและหมอเถื่อน  (อ่าน 2762 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
วันนี้ (22 ก.ย.)กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปผลการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ ระบุว่า คลินิกเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ในเขต กทม.มีประมาณ 4,000 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นคลินิกที่จัดให้บริการเกี่ยวกับการเสริมความงามประมาณ 500 แห่ง ในปีที่ผ่านมาได้มีการสุ่มตรวจและปรับปรุงไปแล้ว 350 แห่ง และปราบปรามดำเนินคดีคลินิกที่ไม่ถูกต้อง จำนวน 14 คดี ส่วนใหญ่เป็นคลินิกที่จัดให้มีบริการเสริมความงาม ลดน้ำหนัก ศัลยกรรมตกแต่ง ดูแลผิวพรรณ ทำแท้งเถื่อน และหมอเถื่อน ในปี 2555 ได้มีการตรวจสอบสถานพยาบาลเฝ้าระวังสถานพยาบาลดังนี้


​1. ตั้งแต่เดือนพ.ค. – ก.ค.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการสุ่มตรวจสถานพยาบาลที่จัดให้มีบริการเกี่ยวกับการเสริมความงาม จำนวน 150 แห่งพบมีคลินิกที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล จำนวน 10 แห่ง ความผิดที่พบเป็นเรื่องการฝ่าฝืนการโฆษณาสถานพยาบาล จำนวน 7 แห่ง เปิดสถานพยาบาลไม่ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล จำนวน 2 แห่ง และไม่มีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผย จำนวน 1 แห่ง สำหรับสถานพยาบาลที่พบว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 10 แห่ง อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ


2. ตั้งแต่เดือนส.ค. – ก.ย. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังคลินิกกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จำนวน 200 แห่ง และดำเนินคดีแล้ว 20 คดี ประกอบด้วย คลินิกศัลยกรรมเถื่อน 4 คดี คลินิกทำแท้งเถื่อน 3 คดี และเป็นหมอเถื่อนอีก 13 คดี และพบคลินิกที่กระทำผิดกฎหมาย 20 แห่ง ประกอบด้วยคลินิกที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล แต่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำการ จำนวน 14 แห่ง ที่เหลืออีก 6 แห่ง เป็นคลินิกเถื่อนเนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาล


การตรวจสอบสถานพยาบาลเถื่อนและหมอเถื่อน

1. ในการสังเกตสถานพยาบาลว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ด้านสถานที่ จะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและรับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล โดยสถานพยาบาลจะต้องติดใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ไว้ในที่เปิดเผย และเห็นได้ง่าย เพื่อการตรวจสอบ

2. ในการตรวจสอบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ผู้ที่ให้การรักษาจะต้องมีใบออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ และให้สังเกตใบสีฟ้าหน้าห้องตรวจ จะมีรูปภาพ พร้อมชื่อ-สกุล และเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ ของแพทย์ผู้นั้น

กรณีบุคคลที่ถือกระเป๋าให้การรักษาหรือฉีดยาตามบ้าน หรือที่มีการรักษาตามสถานที่ต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม รถ หรือในสถานที่ลับตา ถือว่าเป็นหมอเถื่อนและถือเป็นสถานพยาบาลเถื่อน หากต้องการรับการรักษาหรือรับบริการจะต้องรักษากับหมอจริงและรับการรักษาจากสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ยาที่ใช้ในการรักษาหรือยาที่ใช้ให้บริการ จะต้องได้รับอนุญาตหรือมีการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับสารเหลวที่มีการฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อเสริมความงามเกือบ ทั้งหมดเป็นยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงถือเป็นยาเถื่อน ซึ่งยาเถื่อนดังกล่าวแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพก็ไม่สามารถนำมาฉีดได้ ถือเป็นการกระทำผิดกฏหมาย

การฉีดยาหรือสารเหลวเพื่อเสริมความงามอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างร้ายแรงได้ เช่น อาจเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อเนื่องจากวิธีการและสถานที่ที่ให้บริการไม่สะอาดเพียงพอ หรืออาจเกิดก้อนแข็งผิดรูปผิดร่างซึ่งยากต่อการแก้ไข หรืออาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจช็อกหมดสติ หายใจไม่ออกได้ และหมอเถื่อนส่วนใหญ่ที่ฉีดสารเหลวเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากอาจทำให้เกิดการพลาดพลั้งฉีดเข้าเส้นเลือดทำให้เกิดอาการช็อกหมดสติ หัวใจหยุดเต้นได้ ตามที่เป็นข่าวในปัจจุบัน

สำหรับโทษของการเปิดสถานพยาบาลเถื่อน (ไม่ได้รับอนุญาต) ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 16 และมาตรา 24 แห่ง พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541เป็นการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ที่กระทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ให้การรักษาโดยที่มิใช่แพทย์ ถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 26 แห่ง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำหรับสายด่วน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บริการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสทำแท้งเถื่อน หมอเถื่อน เปิดคลินิกเถื่อน ให้ข้อมูลข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านระบบบริการสุขภาพ และระบบสุขภาพภาคประชาชน ตลอด 24ชั่วโมง ผ่านทาง เลขหมายโทรศัพท์ 0-2193-7999