ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดรหัสความแสนรู้ของโลมา-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 854 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
นักวิทยาศาสตร์พยายามขบคิดหาหนทางสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตที่อาจเรียกได้ว่าชาญฉลาดที่สุดเป็นอันดับสองบนพื้นพิภพ

เทรี เทอร์เนอร์ บอลตัน หัวหน้าผู้ฝึกสอน มองดูเฮกเตอร์กับฮาน โลมาโตเต็มวัยเพศผู้สองตัวที่กำลังยื่นจะงอยปากขึ้นมาเหนือน้ำ และรอคอยคำสั่งอย่างกระตือรือล้น โลมาปากขวดทั้งสองตัวที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลโรอาทานบนเกาะแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งฮอนดูรัส กำลังฝึกทำท่าหมุนตัวบิดเกลียวกลางอากาศตามคำสั่ง เคลื่อนตัวถอยหลังข้ามผิวน้ำในลักษณะยืนตรงบนหาง  และโบกครีบอกทักทายนักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญสัปดาห์ละหลายๆครั้ง

แต่นักวิทยาศาสตร์ที่นี่สนใจเรื่องการคิดของโลมามากกว่าสิ่งที่พวกมันทำได้  พอส่งสัญญาณมือให้ “แสดงท่าใหม่” เจ้าเฮกตอร์กับฮานก็รู้ว่าจะต้องดำลงใต้ผิวน้ำและเป่าฟองอากาศ กระโดดขึ้นเหนือน้ำ หรือดำลึกลงไปยังก้นทะเล หรือแสดงหนึ่งในหลายสิบท่าที่อยู่ในรายการแสดง แต่ไม่ซ้ำกับสิ่งที่ได้แสดงไปแล้วในโชว์รอบนั้นๆ น่าทึ่งมากที่พวกโลมาเข้าใจว่าต้องพยายามแสดงพฤติกรรมใหม่ๆในการแสดงแต่ละรอบ

เฮกเตอร์และฮานดำหายไปใต้ผิวน้ำ พร้อมกับสแตน คุซไซ นักจิตวิทยาเชิงเปรียบเทียบ เขานำกล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำขนาดใหญ่และไฮโดรโฟน (ไมโครโฟนใต้น้ำ) ลงไปด้วย  เพื่อบันทึกเสียงร้องแหลมๆ ความยาวหลายวินาทีระหว่างเฮกเตอร์กับฮาน และต่อมากล้องก็บันทึกภาพทั้งคู่กำลังหมุนพลิกตัวไปด้วยกันอย่างช้าๆ และสะบัดหางสามครั้งพร้อมกัน

เหนือผิวน้ำ บอลตันกดหัวแม่มือและนิ้วกลางเข้าด้วยกันเพื่อบอกให้โลมาทั้งสองแสดงท่าทางพร้อมกันแบบใหม่อีกเรื่อยๆ และพวกโลมาก็ทำตาม สัตว์ที่มีน้ำหนักตัว 180 กิโลกรัมดำดิ่งลงไป ส่งเสียงผิวปากแหลมๆที่ต่างออกไปเล็กน้อย  ก่อนจะเป่าฟองอากาศออกมาพร้อมกัน ต่อด้วยการหมุนรอบตัวเหนือผิวน้ำด้วยปลายหางและเดินบนหาง หลังจากที่ทำท่าทางเกือบจะพร้อมกันติดต่อกันแปดครั้ง การแสดงก็จบลง

มีคำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับพฤติกรรมที่โดดเด่นเช่นนี้สองประการ กล่าวคือโลมาตัวใดตัวหนึ่งเลียนแบบโลมาอีกตัวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำจนดูเหมือนว่าพวกมันทำไปพร้อมๆกัน หรือไม่ก็โลมาทั้งสองทำท่าพร้อมกันได้จริงๆ และการที่พวกมันผิวปากโต้ตอบกันใต้น้ำก็คือการปรึกษาแผนการกันนั่นเอง

 

ขณะที่ชิมแปนซีจ้องผลไม้หรือกอริลลาเพศผู้ทุบหน้าอกเพื่อเตือนเพศผู้อีกตัวที่กำลังเข้ามา ไม่ยากเลยที่จะคิดจินตนาการว่า พวกสัตว์คิดอะไรอยู่  เราเองก็เป็นเอปใหญ่  เพียงแต่พวกมันมีสติปัญญาด้อยกว่า  หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นสติปัญญาในรูปแบบที่พวกเราคุ้นเคย  แต่โลมาเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โลมา “มองเห็น” ด้วยโซนาร์ (คลื่นเสียงสะท้อนใต้น้ำ) และทำได้ด้วยความแม่นยำเที่ยงตรงชนิดที่ว่า พวกมันแยกความแตกต่างของวัตถุที่อยู่ห่างออกไป 30 เมตรได้ว่าทำมาจากโลหะ พลาสติก หรือไม้ได้ โลมาต่างจากไพรเมตตรงที่ไม่ต้องใช้การหายใจโดยอัตโนมัติ นอนหลับโดยพักการทำงานของสมองครึ่งหนึ่งไว้ และดวงตาทั้งสองข้างก็ทำงานแยกจากกัน โลมาเป็นเหมือนมนุษย์ต่างดาวผู้มีสติปัญญาซึ่งอาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ และการเฝ้าสังเกตพวกมันก็ไม่ต่างไปจากการที่เราเผชิญหน้ากับมนุษย์ต่างดาว

โลมาเป็นสัตว์ช่างพูดเป็นพิเศษ พวกมันไม่เพียงผิวปากหรือส่งเสียงคลิก แต่ยังปล่อยชุดเสียงแถบความถี่กว้างที่มีความหลากหลายออกมาเป็นชุดๆ เรียกว่า กระแสคลื่นเสียงที่ส่งออกไปเป็นชุดๆ (burst pulse) เพื่อสั่งสอนโลมารุ่นเยาวน์หรือขับไล่ฉลาม นักวิทยาศาสตร์ฟังเสียงเหล่านี้และสงสัยมานานว่า เสียงมีความหมายหรือไม่ และถ้ามี หมายถึงอะไร แน่นอนว่าสัตว์ที่มีสมองขนาดใหญ่และมีความเป็นสัตว์สังคมสูงชนิดนี้คงไม่เสียพลังงานไปกับการพูดพล่ามใต้น้ำ เว้นเสียแต่ว่าการเปล่งเสียงนั้นจะมีความหมาย และแม้ว่าจะมีการศึกษามากว่า 50 ปี  แต่ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า หน่วยพื้นฐานการเปล่งเสียงของโลมามีอะไรบ้าง หรือหน่วยเสียงเหล่านั่นประกอบกันได้อย่างไร

“ถ้าเราพบรูปแบบที่เชื่อมโยงเสียงกับพฤติกรรมได้จะเป็นเรื่องใหญ่เลยละครับ” คุซไซ วัย 64 ปี ผู้ตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสติปัญญาของโลมามากกว่าผู้ใดในวงการ กล่าว เขาเชื่อว่า งานของเขากับเหล่าโลมานักแสดงที่สถาบันโรอาร์ทานอาจเป็นเหมือนศิลาโรเซตตาที่สามารถถอดรหัสหรือแปลความหมายการสื่อสารของโลมา

 

ก่อนที่สกุลโฮโมของเราจะล้ำหน้าพวกมันไป โลมาอาจเป็นสัตว์ที่มีสมองใหญ่ที่สุด และอาจเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ บรรพบุรุษร่วมของมนุษย์และชิมแปนซีมีชีวิตอยู่เมื่อราวหกล้านปีก่อน ส่วนโลมาซึ่งอยู่ในอันดับย่อยซีเทเชียน (สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม) แยกจากบรรพบุรุษสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เหลือเมื่อ 55 ล้านปีก่อน พวกมันและไพรเมตไม่ได้มีบรรพบุรุษร่วมกันมานานกว่า 95 ล้านปีแล้ว

นั่นหมายความว่า ไพรเมตและซีเทเชียนวิวัฒน์แยกจากกันเป็นสองเส้นทางมานานแล้ว และผลที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงรูปร่างที่ต่างกันสองแบบ  แต่ยังเป็นสมองที่ต่างกันสองชนิดด้วยด้วย ตัวอย่างเช่น ไพรเมตมีกลีบสมองส่วนหน้าขนาดใหญ่ซึ่งรับผิดชอบในการตัดสินใจและการวางแผน โลมาไม่ได้มีกลีบสมองส่วนหน้าขนาดใหญ่ แต่พวกมันยังคงมีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาอันน่าประทับใจ และดูเหมือนว่าจะมีความสามารถในการวางแผนล่วงหน้า นอกจากนี้ โลมายังมีสมองส่วนพาราลิมบิกที่มีพัฒนาการและความชัดเจนสูงที่ใช้ในการจัดการด้านอารมณ์ สมมติฐานข้อหนึ่งอธิบายว่า ระบบดังกล่าวอาจมีความจำเป็นในการเชื่อมโยงสายใยทางสังคมและอารมณ์อันใกล้ชิดกันภายในชุมชนโลมา

“โลมาที่อยู่ตัวเดียวโดดเดี่ยวไม่สมควรเรียกว่าโลมาค่ะ” ลอรี มารีโน นักชีวจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สัตว์คิมมีลา กล่าว “การเป็นโลมาหมายถึงการอยู่ในเครือข่ายสังคมอันสลับซับซ้อนยิ่งกว่าในมนุษย์เสียอีก”

เมื่อโลมาประสบปัญหา  พวกมันจะแสดงออกซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับที่แทบไม่พบในสัตว์กลุ่มอื่นๆ   ถ้าโลมาตัวหนึ่งป่วยและว่ายไปทางน้ำตื้น บางครั้งโลมาที่เหลือจะว่ายตามไปจนเกิดการเกยตื้นยกฝูง ดูราวกับว่าพวกมันพุ่งความสนใจทั้งหมดไปยังโลมาที่เกยตื้น  มารีโนกล่าว   ปรากฏการณ์โลมาเกยตื้นยกฝูงครั้งหนึ่งในออสเตรเลียเมื่อปี 2013   ยุติลงได้เพราะมนุษย์ยื่นมือเข้าไปช่วย โดยจับโลมาวัยเยาว์ออกจากฝูงแล้วพามันไปยังมหาสมุทรเปิด  การส่งเสียงขอความช่วยเหลือของโลมาน้อยดึงดูดโลมาทั้งฝูงให้ว่ายกลับสู่ทะเล

เพราะเหตุใดโลมาจึงต้องการสมองขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับสัตว์ทั้งมวลทั้งที่อยู่บนบกและในน้ำ  เพื่อตอบคำถามนี้  เราต้องมองหาจากบันทึกฟอสซิล ราว 34 ล้านปีก่อน  บรรพบุรุษของโลมายุคใหม่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่และมีฟันคล้ายหมาป่า ทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานว่า  ในช่วงเวลานั้น  อุณหภูมิของมหาสมุทรลดลงอย่างมาก  ส่งผลให้แหล่งอาหารเปลี่ยนแปลงไป และสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้น   เปิดโอกาสใหม่ๆให้โลมาและเอื้อให้พวกมันเปลี่ยนแปลงวิธีการล่าเหยื่อ   สมองของโลมามีขนาดใหญ่ขึ้น  ฟันที่เคยน่าครั่นคร้ามของพวกมันกลับเล็กลง และมีลักษณะเหมือนหมุดอย่างที่เห็นทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงของกระดูกในหูชั้นในบ่งบอกว่า ระยะเวลานี้ยังเป็นช่วงสำคัญของการเริ่มต้นการหาตำแหน่งของวัตถุด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echolocation) และโลมาบางตัวน่าจะเปลี่ยนจากการล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่เพียงลำพัง ไปเป็นการรวมกลุ่มเพื่อล่าฝูงปลาที่มีขนาดเล็ก โลมาเริ่มสื่อสารกันมากขึ้น มีความเป็นสังคมมากขึ้น และอาจฉลาดมากขึ้นด้วย

เรื่องโดย โจชัว ฟอร์
พฤกษภาคม 2558