ผู้เขียน หัวข้อ: งัดกลยุทธ์ “รพ.สรรพสิทธิประสงค์” คุย “นพ.มนัส กนกศิลป์” ยอดนักบริหาร  (อ่าน 1974 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
 ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รัฐเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาให้กับประชาชนได้ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินของทุกโรงพยาบาลที่ต้องรับภาระ ทั้งค่าตอบแทนบุคลากร ค่าดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ฯลฯ ขณะที่งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปีมีอยู่อย่างจำกัด
       นพ.มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี นำพาโรงพยาบาลก้าวสู่อันดับหนึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีความมั่นคงทางการเงินสูงสุดของประเทศ ด้วยการดำเนินโยบายและยุทธวิธีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
       
       นพ.มนัส เล่าว่า การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ปัญหาทางการเงินการคลัง และระบบหลักประกันสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินผลสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดร่วม 900 แห่งทั่วประเทศ ไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤตการเงินการคลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการรักษาผู้ป่วยและการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
       
       ล่าสุด จากผลการประเมินที่ได้รับแจ้งผ่านการประชุมทางไกลผ่าน E-conference เรื่องการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาการเงินการคลังและระบบประกันสุขภาพหน่วยบริการทั่วประเทศทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน โดยศูนย์ปฏิบัติการการเงินการคลัง กลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2554 จากรายงานการเงินการคลัง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณที่ผ่านมา ปรากฏว่า โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้แซงหน้าขึ้นสู่อันดับหนึ่งแทน โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ซึ่งครองตำแหน่งโรงพยาบาลอันดับหนึ่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีสถานะความมั่นคงทางการเงินสูงสุดมาก่อนหน้านี้
       
       ภายในระยะเวลา 3 ปี ที่ นพ.มนัส ได้บริหารโรงพยาบาลด้วยนโยบายการลดต้นทุนและนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลหลากหลายรูปแบบทำให้โรงพยาบาลได้ขยับขึ้นจากโรงพยาบาลที่มีผลประกอบการทางด้านการเงินการคลังเกินกว่าสิบอันดับแรกของประเทศ และ ณ วันนี้ สามารถก้าวสู่อันดับหนึ่งได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นข่าวดี
       
       “ขณะที่หลายๆ คน คิดว่า โรงพยาบาลของรัฐไม่จำเป็นต้องมีกำไรก็ได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เนื่องจากเมื่อก่อนนี้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ มีบุคลากรแค่หลักร้อยเป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำเกิน 95% อีกไม่ถึง 5% เป็นลูกจ้างชั่วคราว ต้องใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจ่ายเป็นค่าจ้าง ค่าตอบแทน แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลฯ มีบุคลากรมากกว่า 3,000 คน มากกว่าครึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งต้องใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจ่ายเป็นค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ถือเป็นความจำเป็นในการอยู่รอดทางการเงินการคลังที่ต้องมีรายได้เพื่อนำมาจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร”
       
       โจทย์ใหญ่ในความจำเป็นข้างต้น ผอ.มนัส บอกว่า ทีมบริหารโรงพยาบาล ซึ่งมีรอง ผอ.มากที่สุดถึง 12 คน ได้ร่วมกันวาง 3 ยุทธวิธี เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินการคลังของโรงพยาบาล โดยยุทธวิธีแรก คือ การจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งการต่อรองราคาให้ประหยัดที่สุด ยุทธวิธีที่สอง คือ การบริหารจัดการส่งข้อมูลในการเรียกเก็บเงินให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และยุทธวิธีที่สาม คือ การสร้างค่านิยมให้องค์กรรู้จักประหยัดและมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ได้ค่าตอบแทนสูง และการจ่ายค่าตอบแทนที่ส่งเสริมให้เกิดรายรับขึ้นในโรงพยาบาลแล้วแบ่งรายรับบาลส่วนไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนผลงานของบุคลากร ซึ่งสอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
       
       สำหรับยุทธวิธีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดการประหยัดจากการต่อรองราคา การประหยัดจากการปรับระบบขนส่งวัสดุคงคลังต่างๆ ทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากรอง ผอ.ในสายงาน โดยเฉพาะ นพ.วิศิษฐ์ สงวนวงศ์วาน รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ และ นางเขมจรินทร์ วงศ์ตระกูลไชย รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร พร้อมด้วยคณะรอง ผอ.อีก 4 คน ที่เข้ามาช่วยในรายละเอียด โดยทีมงานของ นพ.เจนฤทธิ์ วิตตะ รองผอ.ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจะต่อรองราคากันสุดๆ
       
       การดำเนินยุทธวิธีเช่นนี้ทำให้ในปี 2552 สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ถูกกว่าปกติถึง 94 ล้านบาท ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการต่อรองราคา 138 คน ต่อมาในปี 2553 สามารถประหยัดในการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 54 ล้านบาท มีกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วย 143 คน และในปี 2554 มีการจัดซื้อจัดจ้างได้ถูกกว่าปกติอีก 68 ล้านบาท มีกำลังเจ้าหน้าที่ช่วยในการต่อรองราคามากกว่า 100 คน รวมเบ็ดเสร็จยอดสะสม 3 ปี กว่า 100-150 ล้าน
       
       ยุทธวิธีที่สอง คือ การจัดทำข้อมูลเพื่อเรียกเก็บเงิน ซึ่งมี นพ.ศักดิ์ชัย ธีระวัฒนสุข รอง ผอ.ด้านพัฒนาคุณภาพบริการ ขุนพลหลักที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 300 คน ทั้งแพทย์ฝึกหัด แพทย์ Extern, Coder, Auditor นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ Staff รวมทั้งเจ้าหน้าที่เวชสถิติและพยาบาล ช่วยกันทำข้อมูลเพื่อเรียกเก็บเงิน ซึ่งปีนี้มีรายได้จากการเรียกเก็บเงินจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติสูงที่สุดในประเทศไทย คือ 143 ล้านบาท อาจกล่าวได้ว่า สรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยจากการส่งต่อมากที่สุดในประเทศ โดยในปี พ.ศ.2553 โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา มียอดผู้ป่วยในมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 91,000 คน ส่วนโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ มีผู้ป่วยในมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ (มากกว่า รพ.ศิริราช) คือ 90,216 คน แต่โรงพยาบาลมหาราช รับผู้ป่วยจากการส่งต่อ ประมาณ 55,000-60,000 คน ขณะที่ สรรพสิทธิประสงค์ รับผู้ป่วยในจากการส่งต่อมากกว่า 80,000 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประเทศไทย
       
       “เราเป็นโรงพยาบาลที่ไม่เคยปฏิเสธการรักษา มีค่านิยมขององค์กรแข็งแกร่งในเรื่องนี้ ดังนั้น เราเก็บเงินทุกบาททุกสลึงที่หล่นๆ จากการส่งต่อคนไข้ไปรักษาที่อื่นโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ เพราะเรามีขีดความสามารถสูงและรักษาเองได้แทบทุกโรค เรารักษาเองและจะไม่ส่งต่อผู้ป่วยที่เราคาดว่าจะรักษาเองได้ไปที่อื่น อีกทั้งผู้ป่วยก็ยังมีความศรัทธาโรงพยาบาลของเราและไม่ยอมไปรักษาที่อื่นด้วย นี่คือประเด็นหลักที่ทำให้เรามีรายได้เหลือมากกว่ารายจ่ายเยอะที่สุดในประเทศ” นพ.มนัส กล่าว
       
       ด้วย 2 ยุทธวิธีข้างต้น ทำให้ทำยอดรวมกันแล้วเป็นรายรับที่ได้จากการประหยัดและการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำข้อมูลเพื่อเรียกเก็บเงินนี้ร่วม 80-90% ของเงินรายได้ทั้งหมดของ
       เงินรายได้สุทธิที่มีประมาณ 330 ล้านบาท ในปีนี้ ส่วนที่เหลืออีกเล็กน้อยมาจากการเพิ่มรายได้ซึ่งไม่น่าจะถึง 20% ของเงินรายได้สุทธิทั้งปี ส่วนยุทธิวิธีที่สาม คือ การสร้างค่านิยมประหยัด โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งในระดับแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับประมาณ 3,000 กว่าคน รับทราบนโยบายดูแลผู้ป่วยเหมือนญาติตนเอง และคิดว่าเป็นการจ่ายเงินตนเองไม่ใช่เงินหลวง ให้ใช้หลักการประหยัดคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติและองค์กร ความคุ้มค่าของผลการรักษาที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นหลัก
       
       นอกเหนือจากการวางยุทธวิธีที่ชัดเจนในเป้าหมายแล้ว นพ.มนัส ยังเน้นย้ำถึงเคล็ดลับบริหารที่สำคัญว่า ไม่ว่ายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใดๆ ปัจจัยชี้ขาดของชัยชนะคือคนนั่นเอง ดังนั้น การบริหารจัดการและการควบคุมการเงินการคลังของโรงพยาบาล จึงมีรองผอ.อย่างน้อย 7 คน ที่เข้ามาช่วยดูแล โดยมี 3 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง คือ รองฯ ฝ่ายการแพทย์, รองฯ ฝ่ายบริหาร และ ภก.ดนุ
       
       ภพ ศรศิลป์ รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานงบประมาณและตรวจสอบภายใน ซึ่งทำหน้าเป็น Chief Finance Officer (CF0) ของโรงพยาบาล ส่วนรองฯ อีก 4 คน เข้ามาช่วยควบคุมการเงินการคลังเช่นกัน โดย นพ.สุรพล ตั้งสกุล รองผอ.ฝ่ายติดตามและประเมินผลจะเข้ามาช่วยติดตามประเมินผลโครงการต่างๆ ขณะที่ นพ.ปรีดา อิทธิธรรมบูรณ์ รองผู้อำนวยการด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ เป็นผู้คิดวิธีการหารายได้ช่องทางใหม่ๆ มาใช้เป็นทางเลือกในอนาคต เช่น ช่องทางเปิดคลินิกนอกเวลาราชการ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลมีบริการตรวจคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ และมีระบบนัดแพทย์ออนไลน์ ผ่าน "http://www.sappasit.go.th/clinic">www.sappasit.go.th/clinic ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ยังวางแผนขยายรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว เวียดนาม เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน โดยขณะนี้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เช่น การจัดทำปฏิทินปีใหม่ 2555 คู่มือการให้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ ได้จัดทำเป็น 3 ภาษา คือ ไทย ลาว และเวียดนาม เป็นต้น
       
       “หน้าที่ผมโดยแท้จริงแล้ว ก็คือ การมีกุศโลบายในการเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงานและบังเอิญโชคดีที่เรามีคนดี มีความสามารถจำนวนมากในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์แห่งนี้” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 มกราคม 2555