ผู้เขียน หัวข้อ: พระสังฆราชประทานคติธรรม สร้าง “สุขภาวะ” ที่ดีต้องเข้าใจกฎธรรมชาติ พร้อมประกาศ  (อ่าน 502 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมเปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ระบุ ต้องเข้าใจกฎธรรมชาติทั้ง 5 จึงมี “สุขภาวะ” ที่ดีได้ พร้อมประกาศ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ฉบับแรกของไทย หวังพระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ประธานจัดงานเผยปี 60 เสนอนโยบายสาธารณะ 4 วาระ ด้านกิจกรรมทางกาย ขยะ พื้นที่เล่นเด็ก และยาเสพติด

วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2560 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมแก่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่า มนุษย์ต่างมีสัญชาตญาณแห่งความรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทุกคน สุขภาวะที่ดีจึงเป็นสิ่งพึงปรารถนาของทุกชีวิต อย่างไรก็ตาม การจะมีสุขภาวะที่ดีได้ต้องเข้าใจกฎธรรมชาติอย่างถูกต้องก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติบรรเทา แก้ไข หรือทำความเข้าใจต่อภาวะอันเป็นไปนั้นๆ ได้อย่างปราศจากทุกข์ ในทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายกฎธรรมชาติไว้ 5 ประการ กล่าวคือ
อุตุนิยาม (Physical Laws)
พีชนิยาม (Biological Laws)
จิตนิยาม (Psychic Laws)
กรรมนิยาม (Kamic Laws) และ
ธรรมนิยาม (General Laws)

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนิยาม หรือกฎธรรมชาติทั้ง 5 เหล่านี้ แต่ทรงสอนธรรมนิยามเน้นในส่วนที่เกี่ยวกับจิตนิยามและกรรมนิยาม ทรงสอนเรื่องอุตุนิยามและพีชนิยามเล็กน้อย ในลักษณะกลับกัน นักวิทยาศาสตร์สุขภาพอาจพากเพียรศึกษาธรรมนิยามในส่วนที่เกี่ยวกับกายภาพและชีวภาพ แต่ไม่ใคร่สนใจกรรมนิยาม และอาจสนใจจิตนิยามเล็กน้อยการเสริมสร้างสุขภาวะอย่างครบวงจรในแนวทางพระพุทธศาสนา จึงสมควรเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจทางพระพุทธธรรมควบคู่ไปกับการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อความลึกซึ้งในการสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืนทั้งคติโลกและคติธรรม

ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับแรก โดยพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และมีการลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมสักขีพยาน

พระพรหมวชิรญาณ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เป็นธรรมนูญที่ดำเนินการตั้งแต่ ปี 2555 ผ่านมติมหาเถรสมาคม เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ 3 ด้าน คือ 1. พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตามหลักพระธรรมวินัย 2. ชุมชนเป็นอุปัฏฐากพระสงฆ์อย่างถูกต้องตามหลักพระวินัย และ 3. บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำชุมชนดูแลสุขภาพ และนำพระธรรมไปสู่ชุมชน ทั้งทางด้านกายจิตสติปัญญา หากพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนก็เป็นสุข

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพตามแนวประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ โดยปี 2560 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “10 ปี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” โดยมีประเด็นที่ได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณา 4 ระเบียบวาระ ได้แก่
1. การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
2. การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
3. การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา และ
4. ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
ซึ่งทั้งหมดถือเป็นประเด็นใกล้ตัว มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมโดยรวมของคนไทย อย่างกิจกรรมทางกายหากทุกคนใส่ใจก็สามารถลดโรคไม่ติดต่อได้หลายชนิด พื้นที่เล่นของเด็กเป็ยได้แทบทุกสถานที่ แต่ต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย สร้างความรักความอบอุ่นให้เด็ก เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎธรรมชาติทั้ง 5 นั้น อุตุนิยาม เป็นเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ พีชนิยาม คือเรื่องพันธุกรรม จิตนิยาม เป็นเรื่องของจิต กรรมนิยาม คือ เรื่องกฎแห่งกรรม และ ธรรมนิยาม คือ พระธรรมเรื่องกฎไตรลักษณ์ สำหรับในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 ยังมีการเสวนานโยบายสาธารณะในหลายประเด็น เช่น สุขภาวะชาวสวนยาง การส่งเสริมกีฬามวยเด็ก...ยุติมวยเด็กหาเงิน การผลักดัน พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย เป็นต้น

20 ธ.ค. 2560 2 โดย: MGR Online