ผู้เขียน หัวข้อ: หมอสุรวิทย์ ประชุม 8 จ.ภาคเหนือแก้ปัญหาหมอกควัน  (อ่าน 1129 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
หมอสุรวิทย์ เตรียมลงพื้นที่เชียงใหม่ ประชุม 8 จังหวัดภาคเหนือ แก้ปัญหาหมอกควัน สถานการณ์การป่วยขณะนี้พบว่าอัตราป่วย 4 กลุ่มโรคส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น จังหวัดพะเยา เพิ่มสูงที่สุด ชี้ ผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีผลต่อการป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
       
       นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เดินทางจังหวัดเชียงใหม่ในวันพุธที่จะถึงนี้ และจะร่วมกับทางพื้นที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานราชการจากส่วนกลาง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมฝนหลวง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขคือกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
       
       นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ทราบว่า ในวันนี้ ปริมาณมลพิษในอากาศสูงขึ้นมากกว่าหลายวันที่ผ่านมา เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในหลายจังหวัด ปัญหาเหล่านี้ต้องดูแลร่วมกัน โดยในด้านการป้องกัน คือ การลดการเผาป่า หรือจุดไฟเผาวัชพืชในที่สาธารณะ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน้ากากอนามัยไปแล้วจำนวนมาก เพื่อป้องกันการสูดละอองควันไฟเข้าปอด และหากไม่เพียงพอก็จะส่งไปให้อีก ในส่วนของท้องถิ่นขณะนี้ได้เร่งบรรเทาปัญหาฝุ่น โดยได้ใช้รถออกพ่นน้ำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ขณะเดียวกัน ในวันนี้ กรมฝนหลวงวันนี้ได้เริ่มปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อให้ฝนตก แต่ยังห่วงว่า ความชื้นขณะนี้ยังต่ำอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลก็เป็นห่วงเป็นใยและติดตามเรื่องนี้ โดยผมจะเดินทางไปในวันพุธนี้
       
       ในส่วนของผู้ป่วยขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่ฝุ่นละอองมากๆ จะเป็นผลต่อผู้ที่มีความผิดปกติของทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ หรือแม้แต่โรคอื่นๆ ก็จะมีผลกระทบมาก ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือให้เตรียมพร้อมรองรับ และให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะการออกกำลังกายในที่กลางแจ้ง ควรลดน้อยลง ให้ปิดประตูบ้านป้องกันฝุ่นเข้าไปในบ้าน งดการสูบบุหรี่ สิ่งต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
       
       นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามเฝ้าระวังการเจ็บป่วย หลังจากที่เกิดปัญหาหมอกควัน ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ และ น่าน ล่าสุด ในช่วงวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2555 ใน 4 กลุ่มโรคที่มีโอกาสป่วยได้สูง ได้แก่

1.กุล่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ โรคหัวใจวาย ปรากฏว่า อัตราป่วยเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด โดยจังหวัดพะเยา อัตราป่วยเพิ่มสูงสุด คือ 1,446 ต่อแสนประชากร สูงกว่าช่วงวันที่ 1-7 เดือนมกราคม 2555 มากถึง 43 เท่าตัว

2.อัตราป่วยโรคทางเดินหายใจทุกชนิด เช่น โรคปอดบวม โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยจังหวัดพะเยา เพิ่มสูงสุดคือ 1,238 ต่อแสนประชากร เพิ่มสูงกว่าช่วงวันที่ 1-7 มกราคม 2555 มากถึงเกือบ 5 เท่าตัว

3.อัตราป่วยโรคหอบหืด โรคถุงลมปอดโป่งพอง พบว่าส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเช่นกัน พบสูงที่สุดที่จังหวัดพะเยา อัตรา 323 ต่อแสนประชากร สูงกว่าช่วงวันที่ 1-7 มกราคม 2555 มากถึง 5 เท่าตัว และ

4.กลุ่มโรคตาอักเสบ พบเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อยู่ในระดับไม่สูงมาก โดยพบสูงที่สุดที่จ.พะเยา อัตรา 112 ต่อแสนประชากร เพิ่มจากช่วงวันที่ 1-7มกราคม 2555 ประมาณ 7 เท่าตัว

แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลการเจ็บป่วยนี้ไม่สามารถสรุปหรือยืนยันได้ว่า ผู้ป่วยทั้งหมดเกิดจากปัญหาหมอกควัน เนื่องจากปัญหาหมอกควันเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดการเจ็บป่วยดังกล่าวแต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก
       
       นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า ผลของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากสูดเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

1.ระบบทางเดินหายใจตั้งแต่อาการน้อย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก จนถึงการอักเสบของไซนัส เจ็บคอ หรือมีไข้ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
2.เกิดหลอดลมอักเสบ ในรายที่เป็นโรคหัวใจประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อเกิดหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม จะซ้ำเติมให้หัวใจทำงานแย่ลงจนเกิดหัวใจวายได้
3.ปอดเป็นพังผืดจากการระคายเคืองเรื้อรัง จะเกิดพังผืดขึ้นในเนื้อปอด
4.โรคมะเร็งของระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของสารบางอย่าง เช่น สารกัมมันตรังสี สารอาเซนิก (Arsenic) สารโครเมท (Chromate) ซึ่งเมื่อสัมผัสกับเนื้อปอดจะทำให้เป็นมะร็งปอดได้ และถ้าสารดังกล่าวสามารถละลายน้ำได้ เมื่อไปสู่อวัยวะต่างๆนอกปอด ก็สามารถทำให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดมะเร็งได้เช่นกัน และ
5.เพิ่มอัตราการตายและอัตราการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2487 ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีความเข้มข้นจากระดับปกติ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้อัตราการตายสูงขึ้นร้อยละ 1-3.2

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 กุมภาพันธ์ 2555