ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมจึงคัดค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ (สผพท)  (อ่าน 1540 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
ทำไมจึงคัดค้านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านประธานวิปรัฐบาล
จากสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)

เหตุผลในการคัดค้าน

1.ในหลักการและเหตุผลในการร่างกฎหมาย อ้างว่าจะช่วยลดการฟ้องร้อง แต่ความเป็นจริงจะทำให้มีการร้องเรียนและฟ้องร้องมากขึ้น เพราะมีกองทุนไว้ล่อใจ การร้องเรียนจะเริ่มจากขอเงินช่วยเหลือ อุทธรณ์คำสั่ง ร้องขอค่าชดเชย อุทธรณ์คำสั่ง ฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญา แล้วกลับมาขอเงินจากกองทุนอีกครั้ง ถ้าศาลตัดสินให้ผู้ฟ้องไม่ได้รับเงินชดเชย
ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องฟ้องศาลปกครอง ถ้ารู้สึกว่าตนเองไม่ได้ความยุติธรรม
ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระเกินสัดส่วน ขัดกับรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิบุคลากรทางการแพทย์

2..คณะกรรมการไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ(มาตรา 7) และการตัดสินของคณะกรรมการใช้เสียงข้างมาก(มาตรา 11) ไม่ได้วิเคราะห์โดยอาศัยความรู้และหลักปฏิบัติทางการแพทย์ จึงไม่ยุติธรรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะถูกเลือกปฏิบัติ

3. มาตรา 5 อ้างว่าไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่ความจริงบุคลากรทางการแพทย์จะต้องส่งเอกสารและไปให้ถ้อยคำ แก่คณะกรรมการตามมาตรา 18 ถ้าไม่ไปต้องติดคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือถูกปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 46)

4.มาตรา 6 กำหนดว่า ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัย แพทย์รักษาตามาตรฐานและความเสียหายนั้นไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตตามปกติ จึงขัดกันกับมาตรา 5
 และหมายความว่ากรรมการตัดสินให้จ่ายเงิน แสดงว่าบุคลากรทำผิด เพราะมาตรา 6 บอกว่าถ้าไม่ผิด ไม่จ่าย เมื่อกรรมการตัดสินว่าผิด แพทย์ก็จะต้องถูกกรรมการสภาวิชาชีพสอบสวนอีก จะทำให้แพทย์ถูกสอบสวนหลายครั้งในเรื่องๆเดียว
นอกจากนั้น ยังมีมาตรา 34 ที่ให้ประชาชนเลือกจะไปฟ้องศาลถ้าประชาชนไม่พอใจการตัดสินของคณะกรรมการ(และอนุกรรมการพิจารณาเงินช่วยเหลือและชดเชยแล้ว ให้ยุติคดี วรรคสองเมื่อศาลตัดสินให้จ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ฟ้อง คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยอาจพิจารณาจ่ายเงินจากกองทุนหรือไม่ก็ได้ (ทั้งๆที่คณะกรรมการกำหนดให้เก็บเงินจากสถานพยาบาลไปแล้ว) และวรรคสาม ถ้าศาลตัดสินว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ผิด คณะกรรมการยังอาจพิจารณาจ่ายเงินค่าเสียหายหรือไม่ก็ได้
 ประชาชนมีโอกาสได้เงินตลอดทุกกระบวนการ คณะกรรมการสามารถพิจารณาจ่ายเงินได้ทั้งที่บุคลากรจะทำผิดหรือไม่ ส่วนบุคลากรแพทย์ เหมือนลูกแกะ รักษาผู้ป่วยไป 1 คน ก็ต้องวิตกทุกข์ร้อนว่า จะถูกหมาป่ามาขย้ำเมื่อไรก็ได้

5. ชื่อคณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้(มาตรา 7) คือคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข แต่บุคลากรทางการแพทย์นั้นถูกกล่าวหาตั้งแต่ต้นว่า “เป็นผู้ทำความเสียหาย จนกว่าจะถูกพิสูจน์หลายขั้นตอนดังกล่าว”แล้ว จึงจะพ้นมลทิน ว่าไม่ใช่ “ผู้ทำให้เกิดความเสียหาย”
ถ้าท่านตกอยู่ในสภาพเช่นนี้แล้ว จะเกิดความรู้สึกอยากมี “ความสัมพันธ์ที่ดี”กับคนที่ทำให้เราต้องตกเป็น “ผู้ถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่?”

6.จากเหตุผลต่างๆดังกล่าวข้างต้น  แพทย์ก็จะไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ก็จะส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ซึ่งผู้ป่วยเองจะเป็นผู้สูญเสียโอกาสในการที่จะได้รับการรักษาให้รอดชีวิตหรือก่อนที่โรคจะลุกลามร้ายแรง

7. ให้มีการตั้งกองทุนขึ้นตามมาตรา 20 และคณะกรรมการมีสิทธิใช้เงินกองทุนมาบริหารจัดการได้ไม่เกินร้อยละ 10 โดยคณะกรรมการจะเป็นฝ่ายกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและระเบียบทุกชนิดในการรับเงิน จ่ายเงิน และการบริหารงาน
กรรมการตามบทเฉพาะกาลมาตรา 50 ก็คงจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจเพราะมีเสียงข้างมากอยู่ในมืออยู่แล้ว

8. มาตรา 10(2)คณะกรรมการสามารถออกระเบียบกำหนดอัตราการเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาลเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
และมาตรา 21 กำหนดว่าถ้าสถานพยาบาลใดไม่ส่งเงินเข้าสมทบกองทุน หรือส่งช้า ส่งไม่ครบ จะถูกปรับร้อยละสองต่อเดือน เศษของเดือนให้คิดเป็นรายวันถ้ายังไม่ส่งให้ฟ้องศาลปกครอง และยังกำหนดว่าให้ศาลปกครองมีอำนาจพิพากษาและบังคับคดีมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้ขำระเงินนั้นได้
ถ้าไม่เรียกว่าเป็นพ.ร.บ.กรรโชกทรัพย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โรงพยาบาลไหนมีผู้ป่วยมากก็ต้องจ่ายมาก โรงพยาบาลก็คงต้องพัฒนากลับหลัง คือไม่อยากบริการประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งทำมากก็เสี่ยงต่อความผิดมาก ต้องจ่ายเงิน”ค่าคุ้มครอง”มาก โรงพยาบาลของรัฐก็คงจะลดการให้บริการผู้ป่วยลงไปเรื่อยๆ
และพ.ร.บ.นี้มีอำนาจไปสั่งให้ศาลปกครองเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดีปกครองได้ด้วย!

9.มาตรา 22 บอกว่าเงินกองทุนและดอกผล ไม่ต้องส่งเข้าคลัง
ถ้าพิจารณาตามสถิติแล้วกองทุนนี้โอนเงินมาจากมาตรา 41 เก็บเงินจากสถานพยาบาลล่วงหน้าประจำปี รวมเงินค่าปรับตามมาตรา 21 และดอกเบี้ยของกองทุนแล้ว จะเห็นว่าจำนวนเงินคงเป็นหลายพัน(หรือหมื่น)ล้านบาท คณะกรรมการคงจะได้ใช้เงิน 10% อย่างสบายๆ เพราะมีอำนาจ(มาตรา
10)กำหนดค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทางและอาจมีโบนัสด้วยก็ได้

10. มาตรา 25 กำหนดอายุความจากคดีแพ่ง 1 ปี ขยายเป็นสามปีและไม่เกิน10 ปี นับแต่วัน “รู้”ถึง ความเสียหาย และรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุข
เป็นการขยายอายุความไปได้ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยหรือทายาท(ลูกหลาน) “อ้าง” ว่าเพิ่งรู้ว่ามีความเสียหายและรู้ตัวบุคลากรผู้ “ทำ” ให้เกิดความเสียหาย แล้วจะเอาอะไรมาพิสูจน์ว่า “รู้” เมื่อไร และที่อ้างว่า ไม่เพ่งโทษบุคคล ไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด จึงไม่เป็นความจริง (โกหกทั้งเพ)

11. มาตรา 27 คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นภายในเวลาไม่เกิน 60 วัน ถ้าพิจารณาไม่เสร็จในระยะเวลานี้ ให้ถือว่าคณะอนุกรรมการสั่งจ่ายเงินและถือว่าเป็นที่สุด
คณะอนุกรรมการทำงานช้า ไม่สามารถวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นตามเวลาที่กำหนด ทำให้ต้องจ่ายเงินจากกองทุนโดยอาจจะไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่ไม่เห็นมีบทลงโทษคณะอนุกรรมการ?

12.มาตรา 28 ถ้าคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่รับคำขอ ให้ส่งต่อให้คณะอนุกรรมการอุทธรณ์เลย
การกำหนดนี้ก็ประหลาดที่สุดในโลก ตัวเองตัดสินว่าไม่ให้เงินแล้ว ยังไม่แน่ใจ ต้องส่งไปให้คณะอนุกรรมการอีกชุดวินิจฉัยอีก แสดงว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง สมควรถูกปลดออก

13.คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยตามหลักความละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งนี้ ต้องทำให้เสร็จใน 60 วันหรือไม่เกิน 90 วัน

14.มาตรา 31 ถ้าผู้ร้องไม่พอใจกับจำนวนเงินที่ได้รับ ให้ยื่นอุทธรณ์ได้ หรือไปฟ้องศาลได้ตามมาตรา 34

15.คณะกรรมการสามารถกำหนดอัตราการจ่ายเงินได้เองตามม. 32 และมาตรา 23

16. มาตรา 33 เมื่อมีการตกลงยอมรับเงินชดเชยแล้ว ต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
แต่ถ้าไม่ยอมรับเงินชดเชยยังไปฟ้องศาลได้ตามมาตรา 34 และยังได้เงินช่วยเหลือก้อนที่ 1 ตามาตรา 35  เห็นอย่างนี้แล้วแพทย์คงอยากลาออกไปเป็นผู้ป่วยดีกว่า เพราะมีแต่ได้กับได้ เผลอๆอาจได้มรดกให้ลูกหลานมากกว่าการอดทนทำงานและอดออมมาตลอดชีวิต

17.มาตรา 37 หลังจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วผู้ป่วยเกิดรู้ว่าได้รับความเสียหายจากยาที่สะสมอยู่ในร่างกาย ก็ยังมีสิทธิไปร้องขอรับเงินชดเชยได้อีกโดยขยายเวลาไปถึง 3 ปีนับจากวันที่รู้ตัวถึงความเสียหายแบะรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณาสุข
ให้ย้อนไปอ่านคำวิจารณ์ในข้อ10

18.มาตรา 38 หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการไกล่เกลี่ย ให้สำนักงานดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันในเรื่องอื่นนอกเหนือจากเงินค่าเสียหายตามพ.ร.บ.นี้
พระพุทธเจ้าช่วย ได้รับการดูแลรักษาแล้ว ได้เงินค่าเสียหายแล้วยังต้องให้อะไรเขาอีกล่ะ? แพทย์และสถานพยาบาลต้องเตรียมเงินไว้อีกต่างหาก เพื่อจ่ายหลังจากการไกล่เกลี่ย นอกเหนือจากค่าเสียหาย

19.มาตรา 39 สำนักงานยังต้องจ่ายค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยด้วย
แพทย์และโรงพยาบาลรับผิดชอบทำงานแล้วต้องจ่ายเงินออกท่าเดียว

20.มาตรา 42 ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยวิเคราะห์สาเหตุแห่งความเสียหายเพื่อแจ้งให้สถานพยาบาลพิจารณาหาแนวทางพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย รวมทั้งการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบริการสาธารณสุข แล้วให้สถานพยาบาลนั้นทำรายงานการปรับปรุงแก้ไขและส่งให้สำนักงานภายในหกเดือน
คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยเก่งจังเลย ขนาดปลัดกระทรวงและหมอใหญ่ๆในกระทรวงสาธารณสุขยังวิเคราะห์สาเหตุและพัฒนาระบบไม่ได้เลย น่าให้คณะอนุฯชุดนี้มาบริหารกระทรวงสาธารณสุขแทนรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คงทำให้ประชาชนปลอดภัยเต็มร้อยจากการไปรับบริการสาธารณสุข  กองทุนก็ไม่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชย คณะกรรมการก็จะมีเงินบริหารมากขึ้นและคงได้โบนัสก้อนโตกันทุกปี
มาตรา 42 วรรคสอง ยังกำหนดไว้ว่า เมื่อสถานพยาบาลได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางในวรรคหนึ่งแล้ว คณะกรรมการอาจนำมาพิจารณากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามมาตร 21 ในทางที่เป็นคุณให้แก่สถานพยาบาลนั้นก็ได้
พระพุทธเจ้าช่วย แล้วสถานพยาบาลที่ไม่เคยมีการร้องขอเงินช่วยเหลือและชดเชยนั้น จะได้รับการ “พิจารณากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามมาตร 21 ในทางที่เป็นคุณให้แก่สถานพยาบาลนั้น” หรือไม่????

21. มาตรา 43 คณะกรรมการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินกองทุน ให้สถานพยาบาลที่เสนอโครงการเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายของผู้รับบริการสาธารณสุขและกิจกรรมด้านการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข
บทบัญญัติข้อนี้เอง อาจทำให้รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ฝันว่า จะหาเงินมาใช้ “พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข” เพราะนับแต่มีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และสปสช.เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขขาดทั้ง เงินงบประมาณ ขาดคน ขาดสิ่งของวัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่ ขาดทุกๆอย่าง มีก็แต่ภาระงานที่เพิ่มขึ้น ก็เลยหาทางร่วมมือกับเอ็นจีโอเขียนพ.ร.บ.นี้ เพื่อหวังเขียนโครงการเอาเงินจากกองทุนไปพัฒนาระบบตามมาตรา 43นี้เอง

22.มาตรา 45 เป็นมาตราที่กลุ่มผู้สนับสนุนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... บอกว่า “ช่วยหมอ”
แต่ขอโทษเถอะ ถ้าอยากจะช่วยหมอจริงๆกรุณาอย่าฟ้องคดีอาญาเลย เพราะหมอจะตั้งใจรักษาท่านอย่างดีที่สุด ลองสมมติว่าตัวเองเป็นหมอ ที่ไม่มีโอกาสเลือกว่าจะรักษาผู้ป่วยรายใดหรือไม่ เพราะเขาถูกนำมาส่งตรงหน้าแล้ว อาการป่วยหนักจะตายมิตายแหล่ เป็นตายเท่ากัน จะรักษาก็อาจจะตาย 50%หรือฟื้น 50%ก็ได้ ถ้ามีพ.ร.บ.นี้ดังที่พรรณนามาโดยพิสดาร(แปลว่าละเอียด) และยังฟ้องคดีอาญาได้อีก ท่านจะเห็นว่ามาตรา 45 เป็นการ “ช่วยหมอ” หรือไม่
หมอก็คงจะต้อง “เลือกรักษา” ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักและแน่ใจว่าไม่ตายในมือเรา ส่วนผู้ป่วยรายไหนที่หมอไม่แน่ใจ ก็ต้องบอกให้ญาติรีบหารถเอาไปส่งโรงพยาบาลอื่นๆ ที่อาจจะมีหมอเดี(กว่าเรา) ยาดี(กว่ารพ.เรา) และอุปกรณ์การแพทย์ที่ดี (กว่าของเรา) เพื่อผู้ป่วยจะได้ปลอดภัย
แต่ผู้ป่วยอาจทนพิษบาดแผลหรือพิษโรคร้ายไม่ไหว แล้วอาจตายบนรถขนส่งผู้ป่วย หมอจึงไม่กล้าแม้แต่จะให้รถของโรงพยาบาลไปส่งผู้ป่วย เดี๋ยวจะถูกร้องเรียนว่าตายบนรถอีก
ที่เขียนนี้ไม่ใช่ว่าหมอใจร้ายนะ แต่หมออยากให้ผู้ป่วยปลอดภัยและรอดชีวิต โดยหมอเองก็ปลอดภัยจากการร้องเรียนทุกขั้นตอนและปลอดภัยจากคดีอาญาด้วย

23.มาตรา 48 ให้โอนเงินตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาเป็นของกองทุน
และรัฐบาลยังยื่นขอแก้ไขมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สอดคล้องกับมาตรา 48 ของพ.ร.บ.นี้ด้วย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเลขาธิการสปสช.ยังบอกว่าขยายมาตรา 41 ไม่ได้
ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจจะแก้ปัญหาและมีเสียงสส.ข้างมากในสภา จะแก้พ.ร.บ.อะไรก็แก้ได้ ถ้ามันเหมาะสมและเป็นธรรม คงไม่ต้องให้ประชาชนเสียเวลาทำมาหากิน วิ่งเข้าวิ่งออกสภา หรือทำเนียบรัฐบาล  และอื่นๆอย่างที่เป็นอยู่

24. มาตรา 50 ยังกำหนดกรรมการจากเอ็นจีโอ 6 ใน 11 คน เป็นกรรมการเสียงข้างมากในบทเฉพาะกาล อีกสามคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุข
ยังไม่ได้กำหนดอีกสามคน ซึ่งคิดว่าอีแอบนี้คงเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ร่างและแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาล ตามคำสั่งของเจ้านายซีกกระทรวงสาธารณสุขและเจ้านายซีกเอ็นจีโอ
แล้วจะให้บุคลากรทางการแพทย์เชื่อว่า เราจะสามารถไปแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ในวาระกรรมาธิการได้หรือ?

ข้อเรียกร้องของสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท).

  1.ต้องการให้ถอนร่างหรือชะลอการนำพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ออกจากระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำประชาพิจารณ์และตั้งกรรมการพิจารณาแก้ไขให้เกิดความสมานฉันท์จริงๆ ไม่ใช่รวบหัวรวบหางอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่ เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมตามอำนาจของผู้บังคับบัญชา

   2.ให้รัฐบาลรีบเร่งพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ประชาชนพลเมืองไทยทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกัน ในการได้รับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งฉบับ โดยให้พลเมืองที่มีรายได้เหนือระดับความยากจนของกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์กำหนดไว้ ต้องมีหน้าที่ร่วมจ่ายค่าบริการสาธารณสุขด้วย เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการรักษา รับผิดชอบการสร้างสุขภาพและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี และช่วยลดอัตราการใช้บริการสาธารณสุข จะทำให้โรงพยาบาลมีงบประมาณในการรักษาพยาบาลที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้พัฒนาการทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องถอยหลังเข้าคลอง เนื่องจาก สปสช.จำกัดงบประมาณและชนิดของยา  ทั้งๆที่การบริหารและการสั่งการของสปสช.นี้ อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของสปสช.ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

   3. ควรแยกการบริหารงานบุคคลของกระทรวงสาธารณสุขออกจากกพ. เพราะปัจจุบันนี้ เนื่องจากนโยบายของกพ.ที่ จำกัดอัตรากำลังทำให้ต้องจ้างบุคลากรเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นหลายสิบปี บุคลากรขาดขวัญและกำลังใจทำงาน  และกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดของกระทรวงโยตรง อันน่าจะผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดิน สมควรได้รับการแก้ไข

  4.รัฐบาลควรตวจสอบว่าสปสช. สสส. สวรส. สช. และองค์การเภสัชกรรม ได้บริหารงานถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือไม่ ใช้เงินงบประมาณถูกประเภทหรือไม่ และระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ (Conflict of interest)  มีการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องหรือไม่ ควรตรวจสอบความซ้ำซ้อนของคณะกรรมการด้วย

.