ผู้เขียน หัวข้อ: ก่อนยุคสโตนเฮนจ์-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1003 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เมื่อ 5,000 ปีก่อน ชนพื้นเมืองโบราณแห่งหมู่เกาะออร์กนีย์ ก่อร่างหมู่สิ่งก่อสร้างอันใหญ่โตไม่เหมือนสิ่งใดที่พวกเขาเคยสร้างมาก่อน

พวกเขามีเทคโนโลยียุคหิน แต่กลับมีวิสัยทัศน์ก้าวล้ำนำหน้ายุคสมัยของตนหลายพันปี เมื่อ 5,000 ปีก่อน ชนพื้นเมืองโบราณแห่งออร์กนีย์ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะอุดมสมบูรณ์นอกชายฝั่งปลายสุดด้านทิศเหนือของสกอตแลนด์ในปัจจุบัน ก่อร่างหมู่สิ่งก่อสร้างอันใหญ่โตไม่เหมือนสิ่งใดที่พวกเขาเคยสร้างมาก่อน

พวกเขาขุดหินทรายเนื้อละเอียดนับพันๆตัน สกัดให้ได้ขนาด ก่อนลำเลียงเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรไปยังที่ลุ่มชื้นแฉะที่ทอดขนานไปกับสะพานแผ่นดินเชื่อมระหว่างทะเลสาบสองแห่ง งานฝีมือของพวกเขาสมบูรณ์ไร้ที่ติ กำแพงสูงตระหง่านที่พวกเขาสร้างขึ้นอาจถือเป็นงานชิ้นเอกแม้แต่ในสายตาของกองทหารโรมัน ผู้ซึ่งในอีกราว 3,000 ปีต่อมาจะสร้างกำแพงเฮเดรียนขึ้นในอีกมุมหนึ่งของอังกฤษ

ภายในกำแพงดังกล่าวมีสิ่งก่อสร้างนับสิบหลังกระจุกรวมกันอยู่ ในจำนวนนี้มีโครงสร้างมีหลังคาขนาดใหญ่ที่สุด หลังหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรปเหนือ โครงสร้างดังกล่าวมีความยาวกว่า 25 เมตร กว้าง 19 เมตร และมีกำแพงหนาถึง 4 เมตร หมู่สิ่งก่อสร้างนี้มีทั้งทางเดินปูหิน งานหินแกะสลัก ผนังประดับด้านนอกที่ลงสี และมีแม้กระทั่งหลังคามุงแผ่นหินสกัด

ตัดเวลาเดินหน้าไปอีกห้าพันปีต่อมา บนหัวแหลมผาชันอันงดงามที่รู้จักกันในชื่อ เนสส์ออฟบรอดการ์ (Ness of Brodgar) ณ ที่แห่งนี้ ทีมงานซึ่งประกอบด้วยนักโบราณคดี อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และอาสาสมัคร กำลังขุดค้นและไขปริศนาของโครงสร้างใหญ่โตกลุ่มหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ไร่นาผืนหนึ่งมาช้านาน นิก คาร์ด นักโบราณคดีและผู้อำนวยการโครงการขุดค้น บอกว่า การค้นพบซากปรักดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้กำลังพลิกเรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอังกฤษชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

“โครงสร้างเหล่านี้ใหญ่โตและซับซ้อนเกือบเท่าแหล่งโบราณคดียุคคลาสสิกอันยิ่งใหญ่บางแห่งในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อะโครโพลิสในกรีซ เว้นแต่สิ่งที่เราเห็นที่นี่อายุเก่าแก่กว่าที่นั่น 2,500 ปี และเช่นเดียวกับ อะโครโพลิส หมู่สิ่งก่อสร้างนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ตั้งตระหง่านเหนือภูมิประเทศ ทั้งสร้างความตรึงตรา ตื่นตะลึง และแรงบันดาลใจในเวลาเดียวกัน หรืออาจกระทั่งข่มขวัญใครก็ตามที่พบเห็น”

แม้จะเรียกขานโดยทั่วไปว่า “วิหาร” แต่เป็นไปได้ว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้น่าจะใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆอีกหลายด้านในช่วงเวลาราวหนึ่งพันปีที่ถูกใช้งาน ที่แน่ๆคือ ผู้คนมากมายมารวมตัวกันที่นี่เพื่อร่วมพิธีกรรม งานเลี้ยงฉลอง และทำการค้าขายตามฤดูกาล

การค้นพบนี้ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากซากปรักดังกล่าวตั้งอยู่ ณ ใจกลางแหล่งอนุสรณ์สถานโบราณที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ

หากยืนอยู่ที่เนสส์ออฟบรอดการ์ หรือ “เนสส์” ในทุกวันนี้ เราจะมองเห็นหมู่สิ่งก่อสร้างยุคหินอันเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนแถบนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งทั้งหมดกอปรกันขึ้นเป็นใจกลางแหล่งมรดกโลกที่เรียกว่า “หัวใจของออร์กนีย์ยุคหินใหม่” (Heart of Neolithic Orkney) แท่งหินเรียงเป็นวงกลมขนาดมหึมาที่เรียกว่า วงแหวนบรอดการ์ (Ring of Brodgar) ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินปกคลุมด้วยพุ่มเฮเทอร์ห่างออกไปหนึ่งกิโลเมตร วงแหวนหินใช้ประกอบพิธีกรรมวงที่สอง นั่นคือวงหินสเตนเนสส์ (Stones of Stenness) อันโด่งดัง ก็มองเห็นได้จากอีกฟากของทางยกระดับที่ทอดไปสู่เนสส์ และถัดออกไปอีก 1.5 กิโลเมตรคือมูนดินแปลกประหลาดชื่อ เมสฮาว (Maes Howe) ซึ่งเป็นสุสานขนาดมหึมา ภายในแบ่งเป็นห้องๆ มีอายุเก่ากว่า 4,500 ปี ทางเข้าสุสานจัดวางตำแหน่งไว้อย่างเหมาะเจาะเพื่อให้ลำแสงอาทิตย์อัสดงในวันก่อนล่วงเข้าสู่เหมายัน (winter solstice) ทอดผ่านประตูเข้าไปฉายฉานภายในห้อง

เมสฮาวยังวางตัวอยู่ในแนวเดียวกันกับเส้นแกนผ่านศูนย์กลางและทางเข้าของวิหารซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่ที่เนสส์ นักโบราณคดีสงสัยว่า ซากปรักที่ขุดพบสดๆร้อนๆนี้อาจเป็นชิ้นส่วนเชื่อมต่อที่ขาดหายไปของปริศนาข้อใหญ่กว่าที่ไม่เคยมีใครคิดฝันว่ามีอยู่

กระทั่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง ยังเชื่อกันว่าวงแหวนบรอดการ์ วงหินสเตนเนสส์ และสุสานเมสฮาวเป็นอนุสรณ์สถานเดี่ยวๆที่มีประวัติความเป็นมาแยกจากกัน “สิ่งที่เนสส์กำลังบอกเราก็คือ อาณาบริเวณนี้มีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่ใครเคยคาดคิดครับ” คาร์ดบอก “อนุสรณ์สถานทั้งหมดเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นภายใต้รูปแบบขนาดใหญ่อะไรสักอย่าง และผู้คนที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นก็เป็นสังคมที่มีความซับซ้อนและชำนาญการมากกว่าที่เคยคิดกันมากครับ”

ปัจจุบัน นักโบราณคดีเพิ่งขุดค้นเนสส์แล้วเสร็จไปเพียงร้อยละสิบ ยังมีสิ่งก่อสร้างทำจากหินอีกจำนวนมากที่เรารู้ว่าซุกซ่อนอยู่ใต้ชั้นดินปกคลุมด้วยหญ้า แต่ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ก็นำไปสู่โบราณวัตถุล้ำค่าหลายพันชิ้น เช่น หัวคทาประกอบพิธีกรรม ขวานหินขัด มีดหินเหล็กไฟ รูปสลักมนุษย์ขนาดเล็ก หม้อดินจิ๋วที่ขึ้นรูปด้วยการใช้นิ้วกด ทัพพีหินที่สลักเสลาสวยงาม เครื่องปั้นดินเผาเขียนสีที่ละเอียดประณีตและบอบบางเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดว่าทำขึ้นในยุคนั้น ตลอดจนงานศิลปวัตถุยุคหินใหม่มากกว่า 650 ชิ้น นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในอังกฤษ

“ไม่มีที่ไหนในอังกฤษหรือไอร์แลนด์ที่เราจะเห็นบ้านหินจากยุคหินใหม่อยู่ในสภาพดีเช่นนี้อีกแล้วค่ะ” แอนโทเนีย ทอมัส นักโบราณคดี อธิบายและเสริมว่า “การสามารถเชื่อมโยงสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เข้ากับศิลปะ การได้เห็นผู้คนประดับตกแต่งพื้นที่ชีวิตและสภาพแวดล้อมของพวกเขาโดยตรงและเป็นส่วนตัวอย่างนี้ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆค่ะ”

ท่ามกลางซากปรัก นักโบราณคดียังพบสินค้าล้ำค่า เช่น แก้วภูเขาไฟจากดินแดนห่างไกลอย่างเกาะไอล์ออฟอาร์แรนทางตะวันตกของสกอตแลนด์ โบราณวัตถุเหล่านี้บ่งชี้ว่า ออร์กนีย์อยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างดินแดนต่างๆ และหมู่วิหารที่เนสส์อาจเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ

สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือ เศษเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งพบทั้งที่เนสส์และที่อื่นๆบ่งชี้ว่าเครื่องปั้นดินเผาลายเซาะร่องอันเป็นรูปแบบเฉพาะถิ่น และต่อมาแพร่หลายทั่วทั้งอังกฤษในยุคหินใหม่ มีต้นกำเนิดอยู่ที่ออร์กนีย์ เป็นได้อย่างยิ่งว่า ชาวออร์เคเดียนผู้มั่งคั่งและปราดเปรื่องคือผู้กำหนดแบบแผนความนิยมของยุคสมัยนั้น

“ประเด็นนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความเชื่อเดิมๆที่รู้กันมานานว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นวัฒนธรรมจะต้องมีต้นกำเนิดจากดินแดนที่เจริญแล้วทางตอนใต้ เพื่อนำไปปรับปรุงแดนเถื่อนทางตอนเหนือ” รอย ทาวเวอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องปั้นดินเผาประจำแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ บอกกลั้วหัวเราะ “แต่ดูจากที่นี่แล้วมันกลับตาลปัตรเลยนะครับ”

พ่อค้าและนักแสวงบุญยังกลับบ้านไปพร้อมความทรงจำถึงหมู่วิหารตระการตาที่พวกเขาได้พบเห็น และแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถานบนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในละแวกบ้านของตัวเองแบบที่ชาวออร์เคเดียนทำกัน แนวคิดซึ่งหลายศตวรรษต่อมาจะปรากฏเป็นผลงานชิ้นเอกอุในท้ายที่สุดที่สโตนเฮนจ์

 เรื่องโดย รอฟฟ์ สมิท
สิงหาคม