ผู้เขียน หัวข้อ: สสส.เตรียมงานใหญ่ประชุมนานาชาติสสส.โลก 25-29 สค. นี้ ตัวแทนจาก 80 ประเทศทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมกว่า 2  (อ่าน 851 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 ThaiPR.net -- พฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2556 16:44:50 น.
กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ดาวิน ชอยส์
ครั้งแรกของเอเชีย สสส. พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่าย สสส.โลก 25-29 ส.ค.นี้ ขับเคลื่อนวาระ “การลงทุนที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพ” สู่วาระสุขภาพโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสร้างเสริมสุขภาพเข้าร่วมกว่า 2 พันคน จากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แสวงหากลไกสร้างเสริมสุขภาพที่ดีที่สุด พร้อมจัดทริปลงพื้นที่ดูงาน 8 เส้นทางสุขภาพ โชว์ความเข้มแข็งภาคีไทย


 
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการแถลงข่าวการจัดการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21(The 21st IUHPE World Conference on Health Promotion 2013) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 ส.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี

โดย ดร.ไมเคิล สปาร์ก ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (The International Union for Health Promotion and Education : IUHPE) กล่าวว่า การประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพครั้งที่ 21 ถือเป็นครั้งแรกที่จัดประชุมขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาแถบทวีปเอเชีย โดย IUHPE ได้ก่อตั้งมาเป็นที่ 62 และได้จัดการประชุมฯ เวียนไปยังประเทศสมาชิกทุก 3 ปี ซึ่งสสส. เป็นประเทศสมาชิกหลักของ IUHPE และเป็นประเทศที่มีบทบาทส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก การประชุมครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเสริมสุขภาพจากทุกมุมโลกเข้าร่วมการประชุม อาทิ ดร.ซาเนีย นิชทาร์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข ประเทศปากีสถาน, ดร.แดเนียล เวียสต็อก สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยมอนเทรียล แคนาดา, ศ.แอนน์ มิลส์ นักวิชาการด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อังกฤษ, นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และน.ส.สมสุข บุญญะบัญชา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย เป็นต้น

“ปัจจุบันการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพทั่วโลกล้วนประสบกับปัญหา เกิดจากการพัฒนาและความสามารถทำกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพแตกต่างกันในแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาคทั่วโลก วิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกยังส่งผลกระทบต่อการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการลดงบประมาณสนับสนุนการทำงานและการวิจัยการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์และแสวงหาทางออกในการประชุมที่พัทยา เพื่อร่วมค้นหาคำตอบว่า การลงทุนที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพคืออะไร และใครควรเป็นผู้ลงทุนหลัก” ดร.ไมเคิล กล่าว

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานกรรมการจัดการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 สสส. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ สสส. เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ เมืองพัทยา และมีเจ้าภาพร่วม 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการประชุมภายใต้หัวข้อหลักคือ การลงทุนที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพ (Best Investments for Health) สะท้อนถึงการลงทุนใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และความเท่าเทียมกัน นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน จากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเสริมฐานที่มั่นคงในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพไปสู่วาระสุขภาพหลักของโลก

ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า กิจกรรมการประชุมตลอดทั้ง 5 วัน มีทั้งด้านวิชาการ สันทนาการ และองค์ความรู้ด้านสุขภาพทั้งของไทยและทั่วโลก การประชุมวิชาการมีห้องประชุมย่อยรวม 126 ห้อง มีหัวข้อการประชุมวิชาการหลัก 9 เรื่อง เช่น นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โรคไม่ติดต่อ ระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ชุมชนเข้มแข็ง การมีส่วนร่วม ฯลฯ นอกจากนี้ มีการส่งบทคัดย่อทางวิชาการเข้ารับการคัดเลือกกว่า 2,000 ชิ้น การศึกษาดูงานในพื้นที่ต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพของสสส. และภาคีเครือข่าย ในจังหวัดใกล้เคียง 8 เส้นทาง และการจัดงานคืนวัฒนธรรมไทย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพของภาคีในประเทศไทย ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพคนทำงานของไทยและภูมิภาค ขยายเครือข่ายนานาชาติ ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านการสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาค และส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยามีความยินดีและเป็นเกียรติในการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การสร้างเสริมสุขภาวะถือเป็นวิสัยทัศน์หนึ่งของการบริหารการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นเมืองน่าอยู่ของคนทั่วโลก (Pattaya Healthy City) มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และมีนโยบายและแผนการดำเนินงานให้เมืองพัทยาเป็นเมืองน่าอยู่ เช่น โครงการหมอถึงบ้าน โรงพยาบาลเมืองพัทยา 20,000 เตียง การพัฒนาสาธารณสุข ครบ 4 มิติ ทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส และ การบริหารจัดการขยะมูลฝอย และมลพิษ เป็นต้น ซึ่งพื้นที่พัทยา ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางสุขภาพที่ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้เข้าศึกษาดูงานด้วย