ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เปิดตัวนวัตกรรมดูแลพัฒนาการเด็กแรกเกิด- 5 ปี  (อ่าน 1034 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
รมว.สาธารณสุข เปิดตัวนวัตกรรมใหม่เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง ครั้งแรกในประเทศไทย เสริมการเผยแพร่เทคโนโลยีรับประชาคมอาเซียน...

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ โรงแรมดุสิต ไอซ์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง และมอบนโยบายการพัฒนาด้านเด็กแรกเกิด - 5 ปี แก่ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้แทนเทศบาล อบต. ผู้แทนศูนย์เด็กเล็ก ผู้แทน รพ.สต. ในจังหวัดเชียงราย และ อสม.กว่า 1,000 คน จัดโดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ได้มอบอุปกรณ์ประเมินพัฒนาการเด็กให้แก่ตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล 18 อำเภอ และมอบคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปีให้แก่ตัวแทน อสม.18 แห่ง ในจังหวัดเชียงรายด้วย

นายวิทยา กล่าวว่า เด็กถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเจริญ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งมีเกือบ 5 ล้านคนเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเด็กวัยนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการสร้างรากฐานชีวิตและจิตใจ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ดูแลเรื่องพัฒนาการเด็ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และให้กรมสุขภาพจิต ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี และได้จัดทำเป็นคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี เข้าใจง่ายให้แก่ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กด้วยตนเองเป็นผลสำเร็จครั้งแรกใน ประเทศ

รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจล่าสุดในปี 2552 น่าเป็นห่วง พบเด็กไทยมีพัฒนาสมวัยทุกด้านเพียงร้อยละ 67 โดยพบเด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัยร้อยละ 20 เด็กไทยขณะนี้มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 10 มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 12 มีน้ำหนักต่อส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 4 เด็กที่ต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลต่อสติปัญญาและมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า เนื่องจากผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการ เพราะคิดว่าเด็กยังไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ หนังสือและของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการในไทยยังมีน้อย และปัจจุบันเด็กไทยดูโทรทัศน์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่น เช่น การเล่น ทักษะด้านภาษาและสังคม จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านทางช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ปกครองที่ปกติและที่พิการเข้าถึงและนำไปใช้ดูแลลูกหลานได้ทุก บ้าน และมีแนวคิดจะเผยแพร่เทคโนโลยีดังกล่าวไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น พม่า มาเลเซีย เพื่อความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาคุณภาพเด็ก ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558 ต่อไป

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว่า กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาคู่มือดังกล่าว 3 รูปแบบ คือ 1. หนังสือคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี มีภาพประกอบและคำอธิบายอ่านง่าย สีสันสวยงาม 2,000 เล่ม 2. แผ่นดีวีดี เป็นภาพเคลื่อนไหว มีเสียงพากย์พร้อมทั้งคำบรรยายภาษาไทยใต้ภาพ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน 1,000 แผ่น และ 3. เว็บไซต์ (www.thaichilddevelopment.com) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเอกสาร หรือโปรแกรมต่างๆ เกี่ยวกับความรู้ในการดูแลเด็กผ่านทางแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ในบ้านหรือ ส่วนตัว เพื่อให้ง่ายต่อการใช้และประเมินพัฒนาการเด็ก รวมทั้งยังสามารถฝากประวัติพัฒนาการเด็กไว้ในเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถ บันทึกพัฒนาการของบุตรหลานได้ คู่มือดังกล่าวใช้ได้ทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยผ่านการเล่น การจัดกิจกรรม การพูดคุย การจัดบทบาทสมมติ โดยมีแผนแจกคู่มือให้คลินิกสุขภาพเด็กดีในโรงพยาบาลทุกระดับ และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มี 20,043 แห่ง

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู โภชนาการ และการเลือกของเล่นที่เหมาะสม ของเล่นสำหรับเด็กในช่วงวัยแรกเกิดถึง 5 ปี มีความหมายและสำคัญต่อชีวิตเด็กอย่างมาก โดยทั่วไปการจัดหาของเล่นเด็กควรคำนึงถึงพัฒนาการเด็กตามวัยเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการเลือกคือ ต้องปลอดภัย ทำจากไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะ ไม่มีพิษ ไม่แหลมคม ไม่หลุดหรือแตกง่าย เป็นของที่เร้าความสนใจ สีสันสวยงาม สะดุดตา ควรมีความยากง่ายเหมาะสมกับระดับอายุ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง อาทิ เด็กแรกเกิด – 1 ปี เด็กวัยนี้ไม่สนใจการเล่นมากนัก แต่ระบบประสาทสัมผัสกำลังพัฒนา การแขวนของเล่นแกว่งไกว มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง ช่วยให้เด็กได้กรอกสายตา ฝึกการมองเห็นและการฟังได้สังเกตการเคลื่อนไหว เช่น โมบาย ของเล่นเขย่ามือ ของเล่นแบบนุ่ม ของเล่นที่บีบแล้วมีเสียง กระจกเงา ของเล่นจำพวก ผลัก ดึง หรือของเล่นและเครื่องเล่นที่ฝึกกล้ามเนื้อในเปล เสียงต่างๆ จากการฟังสำหรับเด็กวัย 1 - 3 ปี ของเล่นควรเป็นประเภทลากจูงไปมาได้ เช่น รถไฟ หรือรถลากต่อกันเป็นขบวนหรือกล่องกระดาษมีเชือกร้อยต่อกันเด็กจะได้สนุกกับ สิ่งใหม่ๆ ที่ได้พบเห็น เด็กวัย 3 - 5 ปี เด็กวัยนี้เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น ชอบเล่นออกแรง ทั้งวิ่ง กระโดด ปีนป่าย มีจินตนาการสูง ชอบทำท่าประกอบเรื่องราว ชอบทดลอง สนใจตัวหนังสือ ชอบวาดภาพระบายสี ชอบฟังนิทาน ของเล่น อาทิ ลูกปัด บล็อก ตัวต่อ หนังสือรูปภาพ เป็นต้น.

ไทยรัฐออนไลน์  2 พค 2555