ผู้เขียน หัวข้อ: ปริศนา “มะเร็งตับอ่อน” คร่าทั้งโนเบลแพทย์ และ “สตีฟ จ็อบส์”  (อ่าน 1049 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
แม้ชื่อ “มะเร็งตับอ่อน” เหมือนกัน แต่โรคร้ายที่คร่าชีวิต “ราล์ฟ สไตน์มัน” นักวิทย์โนเบลแพทย์ปีล่าสุด และ “สตีฟ จ็อบส์” กลับแตกต่างกัน สำหรับมะเร็งที่คร่านักวิจัยสหรัฐฯ นั้นร้ายแรงยิ่งกว่ามะเร็งที่พรากชีวิตอัจฉริยะแห่งวงการไอที แต่ถึงอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจในปริศนาของโรคนี้
       
       ในระยะเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ “ราล์ฟ สไตน์มัน” (Ralph Steinman) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2011 และ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) อัจฉริยะแห่งวงการไอที ต่างลาโลกด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer) โดยสไตน์มันเสียชีวิตเพียง 3 วันก่อนหน้าประกาศผลรางวัลโนเบล ส่วนเจ้าพ่อไอทีจากแอปเปิล (Apple) เสียชีวิตให้หลังได้รับการวินิจฉัย 8 ปี แต่มะเร็งของทั้งสองคนแตกต่างกัน
       
       ทั้งนี้ รายงานจากไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนส่วนใหญ่ประมาณ 53% จะได้รับการวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้ก็เมื่อมะเร็งได้ลามไปมากแล้ว ในจำนวนนี้อัตรารอดชีวิตต่ำมาก ซึ่งมีเพียง 1.8% ของผู้ป่วยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปนานกว่า 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งนี้แล้ว และสำหรับมะเร็งชนิดอัตราผู้รอดชีวิตนาน 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยมีเพียง 3.3% เท่านั้น
       
       ส่วนกรณีของจ็อบส์ที่มีชีวิตอยู่ต่อนานถึง 8 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งนี้ ไซแอนทิฟิกอเมริกันรายงานคำอธิบายจาก ลีโอนาร์ด ซอลท์ซ (Leonard Saltz) จากศูนย์บริการมะเร็งทางเดินอาหารของศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เคทเทอริง (Memorial Sloan-Kettering Cancer Center) สหรัฐฯ ว่าจ็อบส์เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่พบบ่อยที่เรียกว่า "มะเร็งนิวโรเอ็นโดไครน์” (neuroendocrine cancer) ซึ่งเกิดจากเซลล์ของต่อมไร้ท่อ โดยเนื้อร้ายจะเติบโตขึ้นช้าๆ และรักษาได้ง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น
       
       “การมีชีวิตหลายปีหรือแม้แต่เป็นสิบปีขึ้นไปในกรณีเป็นมะเร็งเอ็นโดไครน์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลก สำหรับมะเร็งชนิดนี้ที่จ็อบส์เป็นนั้นประเมินได้ว่ามีชีวิตอยู่ต่อได้เป็นปี แต่ในกรณีมะเร็งตับอ่อนทั่วไปนั้นจะอยู่ได้เป็นเดือนเท่านั้น เมื่อคุณเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดนิวโรเอ็นโดไครน์นั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างจากมะเร็งตับอ่อนอย่างมาก” ซอลท์ซกล่าว
       
       กรณีของจ็อบส์นั้นมีชีวิตอยู่ต่อหลายปีตามลักษณะของมะเร็งที่เขาเป็น แต่ในกรณีของสไตน์มันผู้ค้นพบระบบภูมิคุ้มกันจำเพาะ (Adaptive Immune) จนนำไปสู่รางวัลโนเบลอันทรงเกียรตินั้นเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย โดย ซาราห์ ชเลซิงเกอร์ (Sarah Schlesinger) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและสรีรศาสตร์ระดับเซลล์จากมหาวิทยาลัยรอคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) สหรัฐฯ ซึ่งทำงานร่วมกับสไตน์มันกล่าวว่า สไตน์เป็นมะเร็งตับอ่อนที่พบได้ทั่วไปและเลวร้ายกว่าอย่างมาก
       
       ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาการบำบัดและวินิจฉัยโรคมะเร็งร้ายทั้ง 2 ชนิดให้ดีขึ้น และพยายามหาคำตอบให้ได้ว่า เหตุใดผู้ป่วยคนหนึ่งอาจมีชีวิตอยู่ต่อได้นานถึง 8 ปี ขณะที่ผู้ป่วยอีกคนมีชีวิตได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตามรายงานวารสารไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่พบน้อย เฉพาะในสหรัฐฯ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 44,000 ราย โดยราว 95% จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดเดียวกับสไตน์มัน และมีสัดส่วนอีกน้อยนิดที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกับจ็อบส์
       
       ซอลท์ซยังชี้ลงไปอีกว่า ในส่วนของตับอ่อนยังประกอบด้วยอวัยวะ 2 ชนิด ซึ่งมีเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้ในตับอ่อนนั้นมีมะเร็ง 2 ชนิดที่แตกต่างกันมาก โดยมะเร็งตับอ่อนชนิดที่เป็นกันมากเรียกว่า “อะดีโนคาร์ซิโนมัส” (adenocarcinomas) ซึ่งเกิดในบริเวณเนื้อเยื่อต่อมมีท่อของตับอ่อน และเป็นบริเวณส่วนใหญ่ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร ซึ่งจะส่งไปยังระบบทางเดินอาหารผ่านท่อพิเศษ อีกส่วนคือเนื้อเยื่อต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนสู่กระแสเลือด ซึ่งมะเร็งของจ็อบส์เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อประเภทนี้
       
       ส่วนมากผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อนมักจะเสียชีวิต เพราะมักจะตรวจพบในระยะท้ายๆ แล้ว อีกทั้งต่างจากมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ มะเร็งชนิดนี้จะไม่แสดงอาการของโรคในระยะแรกมากนัก ซึ่งซอลท์ซกล่าวว่า เขาค่อนข้างลังเลว่าอาการต่อไปนี้เป็นข้อบงชี้ของโรค ที่มีทั้งอาการปวดท้องส่วนบน น้ำหนักลด ไม่อยากอาหารและการอุดตันของลิ่มเลือด เพราะอาการเหล่านี้ค่อนข้างเป็นอาการทั่วไปที่ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่หลายกรณีพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนหลังมีบางอาการยืดเยื้อหรือพบตัวบ่งชี้ที่ร้ายแรงอย่าง “โรคดีซ่าน”
       
       มีหลายกลุ่มที่พยายามหาวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อน ด้วยความหวังว่าจะพบโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งในส่วนของ ฟิลิป อาร์เลน (Philip Arlen) ประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนีโอจีนิกซ์ออนโคโลจี (Neogenix Oncology, Inc.) บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังหาทั้งวิธีวินิจฉัยและบำบัดมะเร็งตับอ่อน กล่าวว่าขณะนี้มีแรงกดดันมหาศาลให้มีพัฒนาการตรวจในเลือด ทั้งนี้ พบเครื่องหมายทางพันธุกรรม (genetic markers) คู่หนึ่งที่ปรากฏในมะเร็งตับอ่อน แต่ไม่พบในเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งอดีตนักวิจัยจากสถาบันมะเร็งสหรัฐฯ (National Cancer Institute) ผู้นี้กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาชุดทดสอบคล้ายที่ใช้ทดสอบมะเร็งต่อมลูกหมาก
       
       รายงานการวิจัยในไซน์แอนทิฟิกอเมริกันยังระบุว่า มีข้อบ่งชี้หลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามะเร็งตับอ่อนนั้นไม่ใช่โรคที่จู่โจมอย่างกะทันหัน ซึ่งหลังศึกษาการเพิ่มจำนวนการกลายพันธุ์ระดับยีนในเนื้อร้ายมะเร็งตับอ่อน นักวิจัยสรุปว่า โรคนี้ใช้เวลาในการสร้างเนื้อร้ายที่เป็นปัญหาประมาณ 7 ปี และใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการเริ่มลุกลามสู่อวัยวะอื่น ด้วยความรู้นี้และการค้นหาอาการเริ่มต้นของโรค อาร์เลนมีความหวังว่าในที่สุดจะมีการพัฒนาวิธีคัดกรองโรคที่ไม่รุกล้ำร่างกายผู้ป่วย
       
       ปกติเมื่อมะเร็งตับอ่อนถูกตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะถูกผ่าตัดออกไป แต่ถึงอย่างนั้นซอลท์ซจากศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เคทเทอริงกล่าวว่าโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาหลังจาก 1-2 ปียังมีอยู่สูงมาก และการผ่าตัดก็มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะว่าตับอ่อนนั้นฝังอยู่ลึกในช่องท้อง และยังแวดล้อมและเชื่อมต่อกับอวัยวะสำคัญหลายอวัยวะ และหากมะเร็งลุกลามไปแล้วอย่างกรณีของสไตน์นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด โดยทั่วไปก็จะรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด ซึ่งไม่ค่อยได้ผลสำหรับมะเร็งตับอ่อนทั่วไป เช่น ยาบางตัวอย่าง “เจมซิทาบีน” (gemcitabine) ซึ่งเป็นหนึ่งในยาที่สไตน์ได้รับนั้นไม่ส่งผลทางการรักษาในบางคน แต่ช่วยยืดอายุบางคนออกไปได้อีก 2-3 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงความแตกต่างระดับโมเลกุลในเนื้อร้ายของแต่ละคน
       
       แม้ว่ามีสัญญาณเชิงบวกจากการบำบัดทางเคมี ซึ่งสไตน์มันก็มีผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่เพื่อนร่วมงานของเขาเผยว่า สไตน์มันก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนมีมีดดาบจ่อคอหอยอยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่ามะเร็งร้ายจะกลับมาอีกเมื่อไร ดังนั้น เขาจึงหันไปสนใจในสิ่งที่เขารู้ นั่นคือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเรารู้ซึ้งว่าสิ่งสำคัญในการรักษาคือการเร่งระบบภูมิคุ้มกันให้รวดเร็วเพียงพอที่จะต่อสู้กับเนื้อร้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ การทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับมะเร็งได้นั้นเป็นเป้าหมายของนักวิจัยหลายๆ คนมานานแล้ว แต่ตอนนี้มีทำได้ในมะเร็งผิวหนังบางชนิดเท่านั้น
       
       ชเลซิงเกอร์กล่าวว่าหลังจากข่าวสไตน์มันเป็นมะเร็งตับอ่อนแพร่ออกไป ข้อเสนอวิธีบำบัดโรคก็หลั่งไหลมามากมาย และเขาได้ลองการบำบัดที่มีผู้เสนอมาทั้งหมด 8 วิธี โดยยาที่เขาใช้รักษานั้นผ่านการศึกษาระดับคลีนิคและการทดลองในคนแล้ว ในจำนวนวิธีการบำบัดทั้งหมดนั้นมียา 2 ชนิดที่พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้เกี่ยวกับ “เซลล์เดนไดรติก” (dendritic cell) ที่เขาค้นพบ โดยเซลล์ดังกล่าวทำหน้าที่สำคัญในการปลดปล่อย “ทีเซลล์” (T-Cells) ที่จะเข้าโจมตีเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งคาดหวังว่าสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอและโปรตีนจากมะเร็งร้ายจะช่วยให้เซลล์เดนไดรติกกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เข้าโจมตีมะเร็งต่อไป
       
       ซอลท์ซกล่าวว่าไม่แนะนำการปลูกถ่ายตับใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน ถึงแม้ว่าการที่ตับทำงานล้มเหลวจะเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิต เพราะตับอยู่ใกล้ตับอ่อนมากและมะเร็งมักแพร่กระจายมายังอวัยวะส่วนนี้ แต่การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายตับนั้นยังไม่ใช่วิธีการรักษามาตรฐานและยังขาดหลักฐานสนับสนุนว่าวิธีนี้ได้ผล และถึงแม้ตับใหม่จะป้องกันตับทำงานล้มเหลว แต่ก็ต้องได้รับสารกดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันร่างกายปฏิเสธอวัยวะ อันจะเป็นการลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ และเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า วิธีรักษานี้ทำให้จ็อบส์อายุยืนขึ้นหรือสั้นลง
       
       ส่วนกรณีของสไตน์มันซึ่งมีการบำบัดรักษาที่หลากหลาย จนทำให้เขามีชีวิตอยู่นานกว่าปกติของโรคอยู่หลายปีนั้น ทางชเลซิงเกอร์เองก็ตอบไม่ได้ว่าวิธีใดกันแน่ที่ช่วยยืดอายุเพื่อนร่วมงานของเธอ แต่โดยส่วนตัวแล้วเธอเชื่อว่าเป็นผลจากการรักษาร่วมกันหลายๆ วิธี แต่สำหรับสไตน์มันแล้วเขาศรัทธาในเซลล์เดนไดรติกอย่างมาก และเชื่อว่าเซลล์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และเพื่อเข้าใจการทำงานภายในของมะเร็งตับอ่อนนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาพื้นฐานในมนุษย์ให้มากกว่านี้
       
       ด้านซอลท์ซชี้ว่าในปัจจุบันมีความพยายามที่จะเข้าใจความแตกต่างระดับโมเลกุลและพันธุกรรมในมะเร็งแต่ละชนิดให้มากขึ้น เพื่อเข้ารูปแบบการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายและการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การบำบัดรักษาที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่จะตัดสินได้ว่า เหตุใดผู้ป่วยคนหนึ่งมีชีวิตต่อได้ถึง 7 ปี ขณะที่อีกคนอยู่ได้แค่ 7 เดือนนั้น ขึ้นอยู่กับชีววิทยาของมะเร็งเหล่านี้
       
       “เป็นวิธีสวยๆ ที่จะบอกว่า เรายังไม่เข้าใจเลยจริงๆ” ซอลท์ซกล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554