ผู้เขียน หัวข้อ: เร่งระดมความเห็น กม.กองทุนผู้เสียหาย  (อ่าน 434 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 เตรียมระดมความเห็นผู้ให้บริการ - ภาคประชาชน ร่าง กม. กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ก่อนเสนอ รมว.สธ. พิจารณา ด้านแพทยสภาออกตัวค้านเต็มที่ เหตุสิ้นเปลือง ควรขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมทุกสิทธิ เพิ่มวงเงิน
         
        นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ผ่านการประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาคแล้ว โดยอีก 1 - 2 สัปดาห์ จะระดมความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในส่วนภาคประชาชน ผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา เป็นต้น ก่อนนำมาประมวลเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการคุ้มครองทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ เนื่องจากผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ป่วย และบุคลากรผู้ให้บริการทุกคน ประเด็นสำคัญคือ กฎหมายนี้จะไม่มีการเอาผิดใคร เป็นลักษณะประนีประนอมเพื่อยุติปัญหาการฟ้องร้อง
       
        “ในร่างกฎหมายจะระบุชัดว่า หากได้รับการช่วยเหลือแล้วจะต้องยุติการฟ้องร้องทางแพ่ง ส่วนคดีอาญา แม้กฎหมายจะไม่สามารถระบุชัดว่าห้ามฟ้อง แต่ปัญหาการฟ้องร้องส่วนใหญ่มาจากการเสียหาย หากทั้งผู้ป่วยและแพทย์ หรือคู่กรณีมีการตกลงยินยอมทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา อย่างข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า เมื่อได้รับการเยียวยา ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยุติ หากจะมีการฟ้องร้องก็เป็นจำนวนไม่มากคิดประมาณ 2%” นพ.ธเรศ กล่าว
       
        นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนอัตราการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่แต่งตั้งต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ. ประกาศใช้ก่อน แต่ที่ชัดเจนคืออัตราการช่วยเหลือมากกว่ามาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยเงินที่จะนำมาใช้ในกองทุน ในร่างกฎหมายกำหนดให้โอนมาจากเงินในมาตรา 41 และให้บอร์ด สปสช. กำหนดจำนวนเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1 โดยกองทุนอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะต้องมีการประมวลกฎหมาย ข้อคิดเห็นอีกครั้ง
       
        นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมี 2 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯของ สธ. และ 2. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยจะมีการพิจารณาหารือว่าจะปรับปรุงอย่างไร ทั้งนี้ ร่างกฎหมายของ สธ. ได้ผ่านการพิจารณาบ้างแล้ว โดยมี สบส. ดูแลซึ่งจะมีการเรียกระดมความคิดเห็นกับภาคประชาชน เครือข่ายผู้เสียหายฯ วันที่ 5 มี.ค. จากนั้นวันที่ 12 มี.ค. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเปิดเวทีสอบถามความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางแพทย์ที่คัดค้าน และทางภาคประชาชน เพื่อเปิดโอกาสในการเสนอข้อคิดเห็น ทางออกที่ดีร่วมกัน
       
        ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การตั้ง พ.ร.บ. ใหม่ที่มีการตั้งกองทุนขึ้นมาพิเศษ เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ แทนที่จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ มาตรา 41 โดยขยายวงเงินช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันกำหนดอัตราการจ่ายเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต 400,000 บาท พิการจ่าย 240,000 บาท และติดเชื้อรุนแรงหรือเกิดความเสียหายอื่นๆ จ่าย 100,000 บาท ซึ่งสามารถขยายวงเงินได้ รวมทั้งขยายให้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 มีนาคม 2558