ผู้เขียน หัวข้อ: บอร์ด สปสช.ซื้อเวลา ไม่ปรับจัดสรรงบบัตรทอง ให้นำร่อง 2 เขตค่อยว่ากันใหม่  (อ่าน 542 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
บอร์ด สปสช. ไม่เคาะจัดสรรงบบัตรทองรูปแบบใหม่ หลังถกเถียงยืดเยื้อมานาน เผยไตรมาสสองให้ใช้รูปแบบเดิมจัดสรร ซื้อเวลาให้นำร่องทดลองจัดสรรงบรูปแบบใหม่ในเขต 2 และ 10 หากได้ผลดีค่อยพิจารณาอีกรอบ

        วันนี้ (8 ธ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมซึ่งมีวาระการพิจารณาแนวทางจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ตามข้อเสนอของ สธ. ซึ่งในฝั่งของ สธ. มี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. เข้าร่วมด้วย ว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถพิจารณาปรับปรุงระบบการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวได้ ดังนั้น ในไตรมาส 2 จะจัดสรรงบตามหลักเกณฑ์เดิมเหมือนปี 2557 ไปก่อน ส่วนในไตรมาสที่ 3 - 4 ต้องรอคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ที่มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน สรุปผลการทดลองนำร่องการจัดสรรงบรูปแบบใหม่ใน 2 เขต มาเสนอต่อบอร์ด หากดำเนินการได้ทัน
       
       ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ข้อสรุปของคณะอนุฯที่เสนอบอร์ด สปสช. คือ รับทราบข้อเสนอการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัว ของ สธ. ที่ให้ปรับปรุงการบริหารงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน งบส่งเสริมป้องกันโรค โดยให้ไปทดลองนำร่องการจัดสรรงบรูปแบบใหม่ใน 2 เขตสุขภาพคือ เขต 2 และ 10 โดยจะให้มีการพิจารณาจัดสรรงบผ่านเขตสุขภาพ และ จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวขาลง เป็น 4 กลุ่ม จากเดิมที่เป็น 9 หมวด เป็นการทดลองระบบการบริหารงบ​เสมือนจริง เพื่อเปรียบเทียบกับการบริหารรูปแบบเดิม จากนั้นจึงจะสรุปผลก่อนนำไปขยายทดลองในทุกเขต
       
       ดร.คณิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ​เสนอให้รับหลักการการปรับปรุงเกี่ยวกับการบริการโรคเฉพาะ โดยให้เหตุผลว่า โรคเฉพาะบางประเภทหากบริหารในระดับเขตจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น และ เสนอให้ปรับปรุงการบริหารกองทุนที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเสนอให้แยกเงินส่วนนี้ออกมาต่างหากตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โดยในขณะที่อยู่ในกระบวนการดำเนินการทดลองจัดสรรงบประมาณฯ ขอให้ สปสช. บริหารงบไปตามประกาศของบอร์ด สปสช. ไปก่อน
       
       “รมว.สาธารณสุข ให้เวลา 1 เดือน แต่คาดว่าไม่น่าจะเสร็จได้ทันทั้งหมด โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนในส่วนผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และงบส่งเสริมป้องกัน แต่เรื่องบริการโรคเฉพาะน่าจะสามารถทำได้ทันเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ เมื่อแล้วเสร็จจะนำกลับมาเสนอบอร์ด สปสช. เพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักการวิธีการจัดสรรงบประมาณใหม่ อย่างไรก็ตาม การที่ยังไม่สามารถทำตามที่ สธ. เสนอได้ทั้งหมด เพราะเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดมาก หากจะต้องเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้ทุกคนดีขึ้นจริง ต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่แค่หลักการเท่านั้น” ดร.คณิศ กล่าว
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวภายในที่ประชุมว่า หากไม่รับในหลักการก็ยกเลิกการจัดสรรงบรูปแบบใหม่ตามที่ สธ.เสนอไปเลยดีกว่า เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานพอแล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย จ.ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย จ.มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ อำนาจเจริญ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 ธันวาคม 2557