ผู้เขียน หัวข้อ: ที่เราเป็นทุกข์เพราะรักเดียวใจเดียว ... คุยเรื่องเพศวิถีกับชลิดาภรณ์  (อ่าน 1319 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
"คุยเรื่องเพศวิถีกับชลิดาภรณ์(1) : ที่เราเป็นทุกข์เพราะรักเดียวใจเดียว"

"...ชนชั้นกลางจึงให้คุณค่ากับรักเดียวใจเดียวสูงมาก ดังนั้นคนจึงตกใจเพราะผลสำรวจนี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมบอกว่าดี"

"ดังนั้นเราจึงโมโหเมื่อจับว่าแฟนเรามีกิ๊ก ขณะที่มันตีหน้าซื่อเพราะงงว่า มันทำผิดอะไร นี่คือปัญหาส่วนหนึ่งเพราะเราต่างคิดว่า คำว่านอกใจของเธอและฉันต้องเหมือนกัน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเรื่องเพศวิถีไม่มีทางที่ทุกคนจะคิดหรือรู้สึกเท่ากันได้ ไม่มีทาง (เน้นเสียง)"

"ถ้าเราไม่รักเดียวใจเดียวกลายเป็นว่า เราผิดทำศีลธรรม ทั้งที่ความเป็นจริงเราเพียงทำผิดกติกาที่สังคมวางไว้ แล้วเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ปฎิบัติตามศีลธรรมก็คือ การกลัวถูกประนาม นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมสังคมชอบรุมประณามดาราที่ทำผิดศีลธรรม  มันทำให้คนที่ประณามดาราอยู่นั้นรู้สึกดี รู้สึกว่า ฉันเนี่ยเป็นคนดีนะ"

"เวลาเกิดเหตุการณ์นอกใจมันกระทบหัวใจทุกเศร้าในรักสามเศร้าเลย ทุกคนเจ็บปวดเหมือนกันหมด นั่นก็เพราะกรอบกติกาที่สังคมบอกว่ามนุษย์ควรจะรักเดียวใจเดียว ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับกรอบกติกานั้น แม้ว่ามันจะทำให้มนุษย์ต้องเจ็บปวดกันอยู่ตั้งมากมาย"
---

หลังจากมีการรายงานข่าวผลสำรวจการจัดอันดับพฤติกรรมนอกใจของมนุษย์ของผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัยยี่ห้อหนึ่ง

โดยสำรวจพฤติกรรมนอกใจจากจำนวนประชากร 29,000 คน 36 ชาติ

ผลลำรวจออกมาปรากฎว่า ชายไทยมีพฤติกรรมนอกใจอันดับหนึ่งร้อยละ 54 ส่วนหญิงไทยเป็นอันดับสองร้อยละ 59

รายละเอียดอื่น ๆ ติดตามหาอ่านได้ในหน้าเฟซบุ๊กและห้องสนทนาออนไลน์อื่น ๆ

เพราะในตอนนี้ผลสำรวจดังกล่าวก็ยังถูกกล่าวถึงอยู่ปัจจุบัน

ปฎิกิริยาของคนไทยที่มีต่อผลโพลนี้ก็แตกต่างกันไป

เช่น บ้างก็ว่า ไม่น่าเชื่อถือ บ้างก็ว่า อีกแล้วคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก หลายคนก็บอกว่า "ไม่จริงนะ ชั้นไม่ใช่หนึ่งในนั้น ไม่จริ้งงงง"

ผู้ชายนอกใจเป็นเรื่องปกติแต่หญิงไทยนี้สิติดอันดับสองได้อย่างไร?  บอกแล้วหาแฟนเป็นชาวต่างชาติสบายใจกว่าเยอะ  เห้อ! อายชาวโลกจัง
---

แม้ปฎิกิริยาที่แต่ละคนที่มีต่อผลสำรวจนี้จะแตกต่างกันไป แต่กลับไม่มีใคร "ตั้งคำถาม" ถึงแนวคิด "รักเดียวใจเดียว"

หรือกรอบเรื่องเพศที่สังคมไทยถือและปฎิบัติกัน เป็นกรอบความคิดหนึ่งเป็น "ชุดเดียวกัน"

ส่วนที่ในรโหฐานจะปฎิบัติ "กิจกรรมทางเพศ" อย่างไรนั่นอีกเรื่องหนึ่ง...

วันนี้มติชนออนไลน์พาไปคุยกับ รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รู้จักกันดีในแวดวงวิชาการว่า "เป็นนักสตรีนิยม"

จะมาชวนกันตั้งคำถาม ตั้งแต่เรื่อง รักวัยใส ป๊อปปี้เลิฟไปจนถึงเรื่องผัวๆ เมียๆ รักๆ เลิกๆ และประเด็นนอกใจ

เรียกได้ว่า ไม่สามารถหาฟังได้ในสื่อ (ออนไลน์) อื่น ๆ

ไม่มีเซนเซอร์ แค่ติดเรท น20- "อายุต่ำกว่า 20 ต้องรับชมและแนะนำให้ผู้ปกครองมาดูด้วยกัน"

"มาทำความเข้าใจกับความรักกันเถอะครับ"

ชลิดาภรณ์เริ่มต้นบทสนทนาว่า "ดิฉันไม่แปลกใจกับข่าวนี้เท่าไรแต่แปลกใจกับพฤติกรรมของคนที่เสพข่าวนี้มากกว่า หลายคนรู้สึกอับอาย หรืออุทานมาว่างามหน้าอีกแล้วคนไทย ปฎิกิริยาของแต่ละคนต่อข่าวนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า สังคมให้คุณค่าของคำว่า "นอกใจ" ไม่เท่ากัน รวมถึงชนชั้นกลางเองจะมีกรอบความคิดเรื่องเพศที่ถูกต้องที่ดีงามชุดหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ต้องเกิดจากหนึ่งต่อหนึ่ง รักเดียวใจเดียว ถ้าแต่งงานกันได้ยิ่งดี ความรักที่ดีต้องเกิดจากความเข้าใจ โรแมนติกและสวยงามตลอดเวลา ชนชั้นกลางจึงให้คุณค่ากับรักเดียวใจเดียวสูงมาก ดังนั้นคนจึงตกใจเพราะผลสำรวจนี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมบอกว่าดี"

ชลิดาภรณ์กล่าวต่อไปว่า คนไทยความจำสั้นเกี่ยวกับเรื่องรักเดียวใจเดียวเพราะความคิดนี้สังคมไทยเอามาจากชาติตะวันตก  ในช่วงที่เกิดลัทธิล่าอาณานิคมและสังคมไทยต้องการปฎิวัติประเทศเป็น "รัฐสมัยใหม่" ด้วย ดังนั้นไทยจะสมัยใหม่ได้ก็ต้องเลียนแบบแนวคิดต่าง ๆ จากตะวันตก ซึ่งแนวคิดรักเดียวใจเดียวมันจึงไม่ค่อยไทย คำถามที่ดิฉันก็ยังไม่มีคำตอบคือ อยู่ดีๆสังคมไทยก็ไปรับเรื่องวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวมาวางไว้ในสังคมที่ความสัมพันธ์เรื่องเพศมันหลวม ไม่ต้องมีข้อผูกมัดมากนัก มันจึงผิดฝาผิดตัวรึเปล่าเพราะพฤติกรรมของมนุษย์มันไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมรักเดียวใจเดียว แต่สังคมไทยกับไปคาดหวังว่า คนจะต้องปฎิบัติตามแนวคิดนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นสูงและสามัญชนไม่ได้มีพฤติกรรมทางเพศที่เหมือนกันและไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดรักเดียวใจเดียวอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลโพลจะออกมาแบบนี้ แต่ถ้าสังคมเอากรอบรักเดียวใจเดียวเป็นตัวตั้ง สงสัยสังคมไทยคงจะต้องผิดหวังไปตลอดชาติเพราะสิ่งที่คนทำกับสิ่งที่สังคมคิดว่าดีมันไม่สอดคล้องกัน

ถามต่อว่า ในเมื่อวัฒนธรรมรักเดียวใจเดียวมาจากชาติตะวันตก แล้วสังคมฝรั่งล่ะเป็นอย่างไร
"เรื่องนอกใจในสังคมตะวันตกบางสังคมที่ให้คุณค่ากับเรื่องผัวเดียวเมียเดียวมากๆ ปรากฎว่า ก็ปฎิบัติไม่ได้ สังคมตะวันตกจึงตั้งคำว่า เห้ยทำไมวะ ทำไมคนจึงปฎิบัติตามไม่ได้ จะทำหรือร่างกติกาอย่างไรให้คนสามารถรักเดียวใจเดียวได้

มีคนตั้งข้อสังเกตของคำว่า "นอกใจ"  ในผลสำรวจนี้ว่า แท้จริงผลสำรวจนี้นิยามคำว่า นอกใจไว้ว่าอย่างไร ทำให้หลายคนตั้งคำถามกับคำว่า นอกใจของโพลนี้
"คำว่านอกใจของโพลหมายถึงเราไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น แต่แท้จริงแล้ว นอกใจ เนี่ยในตัวมันเองมีนิยามหลากหลายมาก ซึ่งแต่ละคนก็มีคำแปลในใจไม่เท่ากัน เช่น เรามองว่า มีกิ๊กแปลว่านอกใจดังนั้นเราจึงคาดหวังว่าแฟนของเราห้ามมีกิ๊ก ขณะที่แฟนเราอาจจะเข้าใจว่ามีกิ๊กไม่ใช่เรื่องนอกใจเพราะไม่ได้เกิดจากความรัก ดังนั้นเราจึงโมโหเมื่อจับว่าแฟนเรามีกิ๊ก ขณะที่มันตีหน้าซื่อเพราะงงว่า มันทำผิดอะไร นี่คือปัญหาส่วนหนึ่งเพราะเราต่างคิดว่า คำว่านอกใจของเธอและฉันต้องเหมือนกัน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเรื่องเพศวิถีไม่มีทางที่ทุกคนจะคิดหรือรู้สึกเท่ากันได้ ไม่มีทาง (เน้นเสียง)"

ถ้าเปิดให้คุยกันตรงๆ แล้วสร้างกติการ่วมกันชุดหนึ่งระหว่างคู่รักแล้วอาจจะใช้ร่วมกันทุกสังคมล่ะ
"ถึงคุยกันตรงๆ มนุษย์แต่ละคนก็รู้สึกไม่เหมือนกันเพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ ประเด็นไม่ใช่ทำกติกาให้ตรงกันแต่เป็นการสื่อสารให้ตรงกันมากกว่า เช่น ส่วนนี้ถ้าเธอทำฉันรับไม่ได้นะ แบบนี้ถ้าฉันทำเธอต้องรับได้นะ แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ถึงคู่รักจะสื่อสารให้ตรงกันเพื่อให้รักเดียวใจเดียวได้แต่สุดท้ายก็ปฎิบัติไม่ได้หรอกเพราะมนุษย์มีความสามารถรักกับมนุษย์ด้วยกันได้ไม่จำกัด  เอาง่ายๆ  คุณเกิดมาอายุขนาดนี้มีแฟนมาแล้วกี่คน  เพราะฉะนั้นถ้าคุณรักคนๆนั้น คนเดียว คุณจะมีแฟนมาได้เรื่อยๆไหม (หัวเราะ)"

หมายความว่า แนวคิดรักเดียวใจเดียวไม่ได้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์เลย
"ในสังคมที่ให้คุณค่ากับเรื่อง รักเดียวใจเดียว มากๆ ถึงกับลงไปสำรวจ ลงลึกเพื่อหาคำตอบว่าแท้ที่จริงความเป็นมนุษย์มันเอื้อให้คนรักเดียวใจเดียวหรือไม่ ซึ่งผลออกมาก็ไม่ค่อยเอื้อเลย (ลากเสียงยาว) แปลว่า แนวคิดนี้นำมาปฎิบัติจริงได้ยากมาก แต่สมมติว่าถ้าสังคมบอกว่ารักเดียวใจเดียวเป็นสิ่งที่ดีมาก แม้เป็นเรื่องยากก็ต้องทำให้ได้ โอเคมันก็ทำได้เหมือนกันแต่เราต้องลงทุน ใช้เวลา และให้ความเข้าใจกับมันมหาศาล อาจถึงขั้นต้องทำวิจัย ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่มีสังคมไหนมาบังคับหรือพยายามให้มนุษย์รักเดียวใจเดียวได้  ดังนั้นสังคมที่ให้คุณค่ากับการรักเดียวใจเดียวจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่กับแนวคิดนี้ได้ต่างหาก ซึ่งทางหนึ่งที่สังคมทำอยู่ก็คือ การใช้สร้างคำว่า "ศีลธรรม" ถ้าเราไม่รักเดียวใจเดียวกลายเป็นว่า เราผิดทำศีลธรรม ทั้งที่ความเป็นจริงเราเพียงทำผิดกติกาที่สังคมวางไว้ แล้วเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ปฎิบัติตามศีลธรรมก็คือ การกลัวถูกประณาม นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมสังคมชอบรุมประณามดาราที่ทำผิดศีลธรรม  มันทำให้คนที่ประณามดาราอยู่นั้นรู้สึกดี รู้สึกว่า ฉันเนี่ยเป็นคนดีนะ ที่เธอทำอยู่นั้นเป็นเรื่องแย่มาก คนดีรับไม่ได้"

สรุปเราต้องเข้าใจว่ามนุษย์นอกใจได้
"ก็ไม่เชิงแต่สังคมต้องเข้าใจว่า มนุษย์มีความรักได้ จืดจางได้และหมดลงได้ นี่เป็นธรรมชาติของความรักซึ่งมนุษย์ทุกคนรู้ดี แต่ปัญหาก็คือ พอเราพบว่ามีคนในสังคมกำลังนอกใจคนรัก ซึ่งแน่นอนล่ะว่า นอกใจเนี่ยมันมีหลายหลายเหตุผลเต็มไปหมด ไม่ได้หมายความว่า ไอ้คนนั้นมันจะห่วยเพียงอย่างเดียว แต่พอเราจับว่าแฟนเรานอกใจได้ก็ไปประณามว่าทำผิดศีลธรรม รุมด่า ทำร้ายร่างกายกัน ทั้งที่ควรจะคุยกันว่า ทำไมมนุษย์จึงต้องนอกใจกัน มีเหตุผลหรือความรู้สึกอะไร โดยเฉพาะสื่อเราสังเกตข่าวดาราได้เลย พอใครมีข่าวนอกใจแฟน เท่านั้นล่ะ โดนสื่อ สังคม รุมประณามทั้งที่ยังไม่ได้ถามเหตุผลเลย ประณามไปก่อน มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะหาเหตุผลต่างๆ เพื่อบอกตัวเองไม่ให้เชื่อถือผลสำรวจนี้เพราะมันกระทบกับจินตนาการของชนชั้นกลางในเรื่องรักเดียวใจเดียว"

แสดงว่า "นอกใจ" ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องการให้คุณค่ากับคำว่านอกใจ
"เรื่องนอกใจเนี่ยเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แม้ดิฉันมองว่า นอกใจไม่ใช่ปัญหาแต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนอกใจนั่นไม่สำคัญ เพราะนอกใจเป็นเรื่องซับซ้อน และมีคำว่า "ใจ" อยู่ในคำว่านอกใจ แล้วที่ว่าทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญนั่นก็เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์นอกใจมันกระทบหัวใจทุกเศร้าในรักสามเศร้าเลย ทุกคนsuffer (เจ็บปวด) เหมือนกันหมด ที่เจ็บปวดกันหมดก็เพราะกรอบกติกาที่สังคมบอกว่ามนุษย์ควรจะรักเดียวใจเดียว แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับกรอบกติกานั้น แม้ว่ามันจะทำให้มนุษย์ต้องเจ็บปวดกันอยู่ตั้งมากมาย"

ชลิดาภรณ์สะท้อนประเด็นเรื่องรักเดียวใจเดียวไว้อย่างน่าฟัง
"สังคมไทยนำกรอบความคิดบางอย่างที่คนไทยทำไม่ได้มาบังคับใช้ แม้แต่ต้นตำรับแนวคิดนี้คือฝรั่งก็ยังทำไม่ได้เลย (เน้นเสียง) แล้วสังคมไทยก็ทำให้แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งมันผิดความเป็นจริง สังคมต้องตั้งคำถามใหม่เลยว่า เมื่อไรคนจะเลิกเพ้อเจ้อเรื่องนอกใจหรือรักเดียวใจเดียวซะที"

แต่สังคมก็มีกรอบเรื่องเพศค่อนข้างหลากหลาย
"แน่นอนแต่ก็มีกรอบกติกากรอบหนึ่งที่เสียงดัง นั่นก็คือเรื่อง ต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง เพศสัมพันธ์ที่ดีต้องเกิดหลังจากการแต่งงาน และต้องเป็นไปเพื่อความเจริญพันธุ์เท่านั้น  ส่วนถามว่าทำไมเสียงถึงดัง นั่นก็เพราะถ้าผลสำรวจเรื่องพฤติกรรมนอกใจของชาย-หญิงไทยมันไม่บังเอิญกระทบต่อกรอบกติกาดังกล่าว เราก็คงไม่ต้องมานั่งคุยกันอยู่ในตอนนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้กรอบกติกานี้เสียงดังคือรัฐกับสื่อ"

เมื่อพูดถึงสื่อ มติชนออนไลน์ตั้งคำถามเพื่อโยงให้เห็นปัญหาของสื่อว่า ทำไมสื่อถึงเลือกนำเสนอผลสำรวจที่ไร้ซึ่งระเบียบวิจัย สมมติฐานอื่นๆ หรือแม้แต่เปิดเผยคำถามในแบบสอบถามมาเผยแพร่ เป็นข่าวสำคัญกลบข่าวน้ำท่วมในช่วงเวลาหนึ่ง
"สื่อกระแสหลักของไทย ชอบตื่นเต้น กรี๊ด! เวลาที่ใครสักคนในสังคมไม่ปฎิบัติตามกฎกติการเรื่องเพศ แล้วไม่รู้สื่อกระแสหลักความจำสั้นรึเปล่า เพราะคนทำสื่อก็เห็นภาพที่คนในสังคมไม่ประพฤติตามกรอบเพศวิถีที่เสียงดังมาโดยตลอด นั่นก็สะท้อนแล้วว่า คนไทยมีเพศวิถีที่ไม่ตรงกับกรอบกติกาที่สังคมกำหนดไว้ แต่สื่อกลับพาดหัวข่าวแสดงความตกใจ สังคมไทยกำลังเสื่อมลงบ้างล่ะ วิปริตทางเพศบ้างล่ะ  ประณามกันอยู่ตลอดเวลา แทนที่สื่อควรจะตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงไม่ปฎิบัติตามกฎกติกาที่สังคมวางไว้ เรื่องแบบนี้ที่มันเกิดขึ้นในสังคมน่ะมันไม่ได้ทำให้สังคมเสื่อมเลย แต่สังคมมันเป็นแบบนี้อยู่แล้วต่างหาก"

ชลิดาภรณ์กล่าวต่อว่า ปัญหาหนึ่งที่สำคัญของสื่อคือ "สื่อมักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปในอีกมุมหนึ่งและเป็นมุมที่ค่อนข้างไม่ดี"  เช่น สังคมกำลังเสื่อมแล้ว จะทำอย่างไรให้คนรักเดียวใจเดียวให้ได้  มีสังคมไหนไหมที่ศึกษาทำวิจัยเพื่อที่จะทำให้คนรักเดียวใจเดียว ซึ่งคำถามของสื่อกระแสหลักเหล่านี้เนี่ยมันสะท้อนให้เห็นว่า สังคมมีแนวความคิดหนึ่งซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกต้องสำหรับสังคม ดังนั้นทุกคนในสังคมจะต้องปฎิบัติตามกรอบนี้ให้ได้ แน่นอนว่าแนวคิดนี้มันน่ากลัว

แต่แนวโน้มของโลกตอนนี้มีทีท่าจะเน้นทำลายหรือรื้อกรอบมากกว่า เช่น  การ Occupy Wall Street หรืออย่างประเทศไทยก็พูดถึงการรื้อกรอบทางการเมือง กรอบว่าด้วยชนชั้นศักดินา แล้วสำหรับกรอบเรื่องเพศจะโดนรื้อไหมครับ
"เรื่องเพศน่ะ ไม่ว่ากรอบไหนก็เอาไม่อยู่ ไม่มีคนที่ไหนๆ อยู่ในกรอบหรอก"

---

หลังจากผ่านบทสัมภาษณ์กับอาจารย์ชลิดาภรณ์ในช่วงแรก ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถาม
เปล่าครับ...ไม่ใช่การตั้งคำถามกับกรอบเรื่องรักเดียวใจเดียว
แต่เป็นการตั้งคำถามถึง "ความรัก" เพราะชลิดาภรณ์ทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่รับรู้มาเกี่ยวกับความรัก
ตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันมันผิดหมดเลย
โดยทั่วไปเหตุการณ์ปกติของความรักที่เป็นวังวนอยู่คือ ชอบ/จีบ/คบ/ "สุข"  /คลี่คลาย/ทะเลาะ/เลิกรา/ "เศร้า"/เหงา/พบปะพูดคน
แล้วก็วนไปที่เดิมเป็นวงกลม ซึ่งแน่นอนวังวนเหล่านี้อยู่ในกรอบของรักเดียวใจเดียวทั้งสิ้น
แต่ถ้าเราลองสมมติเหตุการณ์ใหม่
ผู้ชายคนหนึ่งคบผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งสองคนคุยกันว่า เราคบกันนะแต่ฉันคบกับอีกคนหนึ่งนะ เราสองคนจะไม่ยึดอยู่กับวาทกรรมรักเดียวใจเดียวนะ
เพราะมนุษย์ "มีความสามารถรักมนุษย์ด้วยกันได้หลากหลาย" นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
บางที ถ้าคู่ันี้เลิกรากันไป อาจจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลยก็เป็นได้
แน่นอนว่าที่ไม่เจ็บปวดเพราะต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน
แต่ถ้าเหตุผลที่ไม่เศร้าเป็นแบบนี้่ล่ะ
"อ่อ ฉันไม่เศร้าหรอกเพราะฉันมีที่คบอยู่อีกหลายคน"

คำถามก็คือ จะมีใครเข้าใจความรักในลักษณะแบบนี้หรือไม่ รักที่ไม่ครอบครอง รักที่ไม่ใช่เจ้าของ รักที่แชร์กันทั่วถึงทุกคน (เหมือนเฟซบุ๊ก)
แล้วเราจะรักอย่างไรไม่ให้เศร้าโศกและเจ็บปวดเพราะความรักไม่เคยทำร้ายใคร
หรือแท้จริงแล้ว รักเดียวใจเดียวน่ะ "โกหกทั้งเพ"
ดังนั้นใครบอกว่ารักเราคนเดียว...สงสัยต้องคิดให้จงหนักเลยก็เป็นได้

สัมภาษณ์โดย พันธวิศย์ เทพจันทร์
มติชนออนไลน์  22 ธันวาคม พ.ศ. 2554