ผู้เขียน หัวข้อ: มาลาเรียดื้อยาแถมกลายพันธุ์ เปิดยาใหม่ “เคเออี 609” หวังทดแทน  (อ่าน 556 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
 วิจัยพบเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยา “อาร์ติซูเนต” ในภูมิภาคเอเชียเกิน 50% แถมมีการกลายพันธุ์ ระบุยังไม่ลามไปทวีปแอฟริกา เสนอเร่งกระชับวงเชื้อดื้อยา แนะใช้ยาอาร์ติซูเนตสูตรผสม ให้ยาต่อเนื่องนานขึ้น 6 วัน เผยเร่งวิจัยยาตัวใหม่ “เคเออี 609” พบกำจัดเชื้อมาลาเรียในร่างกายได้ไวภายใน 12 ชั่วโมง คาดอีก 3 ปีผลิตเป็นยาได้

       วันนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล แถลงข่าวความสำเร็จระดับโลกในฐานะศูนย์กลางการวิจัยโรคมาลาเรีย ว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศพบผู้ติดเชื้อปีละประมาณ 3 หมื่นราย อัตราการเสียชีวิตไม่สูงนัก แต่ที่น่าห่วงคือปัญหาการดื้อยา ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมาจากการใช้ยาอาร์ติซูเนต สามารถรักษาเชื้อมาลาเรียได้ดีมาก กินประมาณ 3 วันก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันพบว่าต้องกินยาเป็นเวลานานขึ้นจึงจะหาย จึงตั้งข้อสงสัยว่า เชื้อมาลาเรียอาจดื้อต่อยาอาร์ติซูเนต โดยเฉพาะเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล จึงร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศคือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ฯลฯ ว่ามีการดื้อยาจริงหรือไม่ และหากดื้อยาจริงจะมีทางแก้ปัญหาหรือไม่
       
       ศ.พญ.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เคยศึกษาพบว่าเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัมมีการดื้อยาคลอโรควินในปี 1957 ซึ่งหลังจากนั้นอีก 3 ปี พบว่ามีการกระจายการดื้อต่อยาตัวนี้ไปทั้งเอเชีย และลามไปถึงทวีปแอฟริกา ดังนั้น จึงต้องรีบทำการศึกษาการดื้อยาอาร์ติซูเนต เพื่อจำกัดวงการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย จึงทำการศึกษาใน10 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 7 ประเทศในเอเชีย ประกอบด้วย ไทย พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย และ 3 ประเทศในแอฟริกา ประกอบด้วย ไนจีเรีย เคนยา และคองโก ในคนไข้ประมาณ หมื่นกว่าราย โดยวัดประสิทธิผลของยาใน 3 วิธีรวมกัน คือ 1. เจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อดูว่าเชื้อหมดจากร่างกายเมื่อไร แต่วิธีนี้เมื่อเชื้อลดลงจากร่างกาย อาจทำให้ขาดความแม่นยำ หากเชื้อหลงเหลือในร่างกายเกิน 72 ชั่วโมง ถือว่าดื้อยา โดยพบว่าในส่วนของเอเชียมีการหลงเหลือของเชื้อในร่างกายเกิน 72 ชั่วโมง มากกว่า 50% ในผู้ป่วย ส่วนในแอฟริกาพบไม่ถึง 5%
       
       ศ.พญ.ศศิธร กล่าวอีกว่า 2. ดูเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรียว่าเร็วแค่ไหน ซึ่งมาตรฐานคือ 5 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้ถือวาดื้อยา โดยในเอเชียพบว่าใช้เวลาเกินมาตรฐานมากกว่า 50% และในแอฟริกาใช้เวลาเกินไม่ถึง 5% เช่นกันกับวิธีแรก และ 3. การทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูยีนมาลาเรียมีการดื้อยาหรือไม่ โดยพบว่าในเอเชียมีการดื้อยาและยีนเชื้อมาลาเรียมีการกลายพันธุ์ ขณะที่แอฟริกาการขจัดเชื้อมาลาเรียได้ช้าลง แต่ยังไม่กลายพันธุ์ หนทางแก้ปัญหาคือ ไม่ควรใช้อาร์ติซูเนตในการรักษามาลาเรียแบบสูตรเดี่ยว เพราะจะทำให้การดื้อยาง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยควรใช้เป็นแบบสูตรผสม นอกจากนี้ ต้องยืดระยะเวลาในการรักษาจากการให้ยา 3 วัน เพิ่มเป็น 6 วัน เพราะผลการศึกษาพบว่า การให้ยาเพิ่มเป็น 6 วัน ผู้ป่วย 97.7% รักษาหายเป็นปกติ
       
       “นอกจากมาตรการดังกล่าว การหายาสำรองเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้ศึกษายาเคเออี 609 พบว่ามีฤทธิ์สูงต่อเชื้อมาลาเรีย ทั้งระยะมีเพศและไม่มีเพศ ของเชื้อฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ ซึ่งการศึกษาวิจัยยังอยู่ในเฟส 2 คือ การประเมินประสิทธิภาพของยาตัวนี้ในผู้ป่วยจริงเป็นครั้งแรกของโลก โดยการให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจำนวน 21ราย พบว่า ค่าเฉลี่ยการขจัดเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วยทั้งหมดคือ 12 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรียอยู่ที่ 0.95 ชั่วโมง ซึ่งเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรียที่รวดเร็วไม่ถึง 1 ชั่วโมง พบน้อยมากจากการศึกษาอื่น” ศ.พญ.ศศิธร กล่าว
       
       ศ.พญ.ศศิธร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเคเออี 609 ยังมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ พบจำนวน 14 ราย เป็นอาการคลื่นไส้มากที่สุด แต่ไม่รุนแรงและไม่ต้องหยุดยา สรุปคือการให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน สามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียได้รวดเร็วในผู้ใหญ่ที่ติดเขื้อมาลาเรียไม่ซับซ้อน ถือว่ายานี้เป็นความหวังในการรักษาหากเกิดเชื้อมาลาเรียดื้อยาอาร์ติซูเนตจริง แต่คงต้องรอให้มีการวิจัยในเฟส 3 คือ มีการวิจัยในตัวผู้ป่วยจำนวนมากกว่านี้ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 3 ปีจึงจะสามารถผลิตเป็นยาได้ ทั้งนี้ ผลการวิจัยทั้ง 2 เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารชั้นนำทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ซึ่งจะเผยแพร่ในวันที่ 1 ส.ค. 2557 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งวารสารดังกล่าวจะตีพิมพ์ผลงานที่มีผลกระทบในวงกว้างมากๆ เชื่อว่าจะทำให้องค์การอนามัยโลกสนใจในประเด็นนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 กรกฎาคม 2557