ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ส่อป่วน กลุ่มแพทย์ชนบทนัดชุมนุมไล่"หมอประดิษฐ์"พ้นรัฐมนตรี ฝ่ายหนุนจัดม็อบบุคคลากรสาธารณสุข  (อ่าน 965 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
วงการแพทย์-สาธารณสุขส่อเค้าป่วนอีกรอบ หลังกลุ่มสนับสนุนและคัดค้านนโยบายการปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากภาระงาน หรือพีฟอร์พี(P4P -Pay for Performance) เคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้กลุ่มสนับสนุนจะระดมบุคคลากรทางการแพทย์ราว 1,000คน เดินทางไปให้กำลังใจปลัดกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 25มีนาคม ขณะที่กลุ่มคัดค้านที่มีแพทย์ชนบทเป็นแกนนำจะนัดชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในวันที่ 26มีนาคม
 
  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ทางกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลชุมชนพูดคุยถึงการขึ้นป้ายขับไล่ นพ.ประดิษฐ ผ่านทางโซเซียลเน็ตเวิร์ก เบื้องต้นระบุข้อความว่า   “ขอไว้อาลัย ประดิษฐ  ณรงค์ จงไปสู่สุขคติ” พร้อมกันในกลุ่มโรงพยาบาลที่คัดค้าน โดย  นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพานกระต่าย จ.กำแพงเพชร  กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ขึ้นป้ายดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์ลักษณะนี้ ทั้งนี้จะติดป้ายจนกว่ากระทรวงสาธารณสุขยกเลิกวิธีการจ่ายเงินด้วยพีฟอร์พี เพราะวิธีการจ่ายแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทำให้เพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์อยู่ในระบบได้มากกว่าวิธีอื่น
 
 
นพ.วัฒนา พาราสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุพราช ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ร่วมคัดค้านการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นกัน
 
 
 นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ แพทย์ดีเด่นในชนบทปี 2552 จาก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์ชนบทและกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองฝ่ายฟังกันน้อยไป พูดกันน้อยไป จำเป็นต้องหาทางพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
 
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า   ขณะนี้ทางกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท  เตรียมตัวเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 มีนาคมนี้   โดยการชุมนุมในครั้งนี้จะแห่โลงศพขับไล่  พร้อมวางพวงหรีดและดอกไม้จันทน์  นอกจากนี้ กลุ่มแพทย์ชนบททั้งหมดจะกล่าวคำปฏิญญาณไม่ยอมรับผู้นำอย่าง นพ.ประดิษฐ  เนื่องจากการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีเสมือนการบั่นทอนจิตใจ และเป็นการนำผู้ป่วยมาเป็นตัวประกัน
   
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า  การที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาคัดค้านน่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน  เพราะคนที่ทำงานต่างเห็นด้วยทั้งหมด ที่สำคัญแพทย์เองก็ควรที่จะมีจริยธรรม เนื่องจากหากแพทย์ชนบทจะหยุดงานยาวช่วงสงกรานต์  หากทำจริงจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย   ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ บุคลากรจากโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศจะรวมตัวกันประมาณ 1,000 คน เดินทางเข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กำลังใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ต้องกังวลว่าในโรงพยาบาลจะขาดบุคลากร  ที่มาให้กำลังใจเป็นเพียงตัวแทนเท่านั้น แต่แพทย์ประจำยังคงอยู่โรงพยาบาล
 
ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ตัวแทชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 10 คน นำโดย ภก.ประทิน ฮึงวัฒนากุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในฐานะประธานชมรมเภสัชกร ได้นำเภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจ สธ.การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี

 ภก.ประทิน กล่าวว่า นโยบายการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบ P4P จะเป็นแนวทางสร้างความเป็นธรรมและขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและโรงพยาบาล ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการจ่ายแบบพีฟอร์พี   เนื่องจากปัจจุบันงานสาธารณสุขมีภาระงานมากขึ้น หลายคนเริ่มบ่นว่าเหนื่อย ดังนั้น หากการทำงานมากขึ้นแล้วจะได้เงินเพิ่มก็จะเป็นขวัญกำลังใจที่ดี 
  ภก.ฉวีวรรณ ม่วงน้อย  ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน  กล่าวว่า  เห็นด้วยกับหลักการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี   แต่อยากฝากผู้บริหาร สธ.พิจารณาในเรื่องของเกณฑ์พื้นที่และสัดส่วนการคิดคะแนนตามภาระงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเกณฑ์การคิดคะแนนของวิชาชีพเภสัชกรอยู่ที่ 0.35 คะแนน ถือว่าน้อยเกินไป เนื่องจากภาระงานของเภสัชกรก็ไม่ได้น้อยกว่าแพทย์ ดังนั้น ค่าคะแนนควรได้ไม่ต่ำกว่า 0.5 คะแนน จึงขอปรับก่อนจะเริ่มใช้การจ่ายแบบพีฟอร์พี

 นพ.ณรงค์ กล่าวว่า  การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนระยะแรกจะเริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยจะเป็นเพียงการเริ่มเก็บข้อมูลตามภาระงานเท่านั้น ยังไม่เริ่มจ่ายจริง หากโรงพยาบาลใดมีความพร้อมในเรื่องของข้อมูลก็จะเริ่มจ่ายทันที คาดว่าประมาณ 3 เดือนทุกอย่างจะพร้อมและเริ่มจ่ายตามพีฟอร์พี สำหรับการบันทึกข้อมูลตามภาระงานของแพทย์จะไม่มีความยุ่งยาก  เพราะเป็นการเก็บข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว โดยการบันทึกนั้นจะมีการตั้งกรรมการระดับโรงพยาบาลตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  ทั้งนี้ การจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี มีดำเนินการบ้างแล้วตั้งแต่ปี  2549 ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10 แห่ง เช่น รพ.พนมสารคาม รพ.สูงเนิน และรพ.พาน