ผู้เขียน หัวข้อ: บุหรี่ 1 มวนทำอายุสั้นลง 7 นาที  (อ่าน 521 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9799
    • ดูรายละเอียด
บุหรี่ 1 มวนทำอายุสั้นลง 7 นาที
« เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2014, 22:53:54 »
สูบบุหรี่ 1 มวนทำอายุสั้นลง 7 นาที สูบต่อเนื่องเป็นประจำทำอายุสั้นเฉลี่ยถึง 12 ปี ย้ำช่วง 2 ปีสุดท้ายจะยิ่งทรมานจากการเป็นโรคเกี่ยวกับบุหรี่ แนะขึ้นภาษีทั้งบุหรี่ซองและยาเส้น ป้องกันคนหันสูบยาสูบราคาถูก ควบคู่การกำหนดราคายาสูบขั้นต่ำ เสนอราคาที่ 50-60 บาทต่อซอง ช่วยคนลดสูบบุหรี่ได้
       
       วันนี้ (16 พ.ค.) ที่โรงแรมสุโกศล นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างแถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก เรื่อง บุหรี่ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด ตามคำขวัญขององค์การอนามัยโลกในวันงดสูบบุหรี่ 31 พ.ค. 2557 ว่า การสูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้อายุสั้นลง 7 นาที เท่ากับจะทำให้อายุสั้นลง 12 ปี และช่วง 2 ปี สุดท้ายจะเป็นช่วงที่ทรมานมากที่สุด เพราะจะป่วยหนักด้วยโรคเกี่ยวกับบุหรี่ และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในแต่ละปีมีคนตายจากบุหรี่ 6 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนี้จะเสียคนเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่โดยไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับผลกระทบ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ 50,710 คน และเป็นสาเหตุของภาระโรคของคนไทย ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรรวมกัน 628,061 ปีสุขภาวะ และสูญเสียปีสุขภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184 ปีสุขภาวะทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา 52,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี
       
       “เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 57 คือทำให้คนสูบบุหรี่ไม่เกินร้อยละ 18.7 ในขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการตั้งเป้าไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ให้ได้ โดยมาตรการขึ้นภาษีบุหรี่ ทำให้ราคาบุหรี่มากขึ้นจะมีผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งทำให้ลดการบริโภคลงได้”นพ.นพพร กล่าว
       
       รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่องระบบทิศทางภาษีและราคายาสูบในภูมิภาคอาเซียนและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า การที่ประเทศไทยใช้มาตรการกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงสุด ทำให้บริษัทบุหรี่ใช้วิธีแจ้งราคาเท็จที่ต่ำกว่าความเป็นจริงในการประเมินภาษี หรือ การนำเข้าบุหรี่ต้นทุนต่ำเข้ามาจำหน่าย จากการศึกษาระบบภาษียาสูบของประเทศไทยในภูมิภาคเอเซียน ประเทศอินโดนีเซีย ใช้วิธีกำหนดราคาขายต่ำสุด ทำให้บริษัทบุหรี่มีแนวโน้มที่จะขายบุหรี่ในราคาที่สูงเพื่อเพิ่มกำไร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มมาก สำหรับในอาเซียน อัตราการสูบบุหรี่มากที่สุด คือ ประเทศลาว และยังผู้สูบมากที่สุดยังอยู่ในเพศหญิง ส่วนการสูบบุหรี่ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี คือ ประเทศติมอร์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ
       
       รศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า การคำนวณราคาภาษียาสูบมีหลายแบบ ซึ่งระบบภาษียาสูบในประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกและประเทศไทย มีเหตุผลและผลกระทบที่น่าเรียนรู้ คือ 1. การควบคุมราคาสินค้ามีอยู่สองระบบ คือ ราคาสูงสุด และ ราคาต่ำสุด คือห้ามขายสูงกว่า หรือต่ำกว่าที่กำหนด ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้การควบคุมราคาต่ำสุด สุดท้ายอุตสาหกรรมบุหรี่ต้องวิ่งเต้นขอเปลี่ยนราคา เพื่อให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องหาความสมดุลระหว่างราคาต่ำสุด สูงสุดให้ได้ 2. การเก็บอัตราตามสภาพ และอัตราตามราคา ข้อเสียการเก็บภาษีตามสภาพ คือเวลาผ่านไป สินค้าราคาแพงขึ้น แต่ทำให้อัตราภาษีเท่าเดิม ส่วนการเก็บอัตราภาษีตามราคา มักพบการแจ้งประเมินภาษีค่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งการคำนวนภาษีจึงควรมีการปรับอัตราภาษีเป็นระยะ
       
       
       “แนวทางหนึ่งที่ไทยควรดำเนินการคือต้องกำหนดราคาขั้นต่ำ ซึ่งราคานี้จะต้องคุ้มกับต้นทุนความสูญเสียด้านสุขภาพจากการบริโภคยาสูบ และต้นทุนการผลิต ซึ่งเท่าที่พิจารณาดูคิดว่าควรกำหนดอยู่ที่ประมาณ 50-60 บาทต่อซอง ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่แบบซองหรือยาเส้นก็ควรเก็บในราคาประมาณเท่าๆ กัน เพราะเมื่อยาสูบมีราคาสูงขึ้น แม้บริษัทบุหรี่จะได้กำไรแต่เราให้ความสำคัญกับเรื่องคนจะสูบน้อยลงมากกว่า นอกจากนี้ จะต้องขึ้นภาษียาสูบราคาถูกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้คนหันมาสูบยาสูบราคาถูกแทน ซึ่งปัจจุบันนี้มีการรักษาราคาให้คนจนสามารถซื้อได้ไม่เป็นภาระมากเกินไปนั้น มองว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง หากอยากคุ้มครองคนกลุ่มนี้ ต้องสนับสนุนให้เลิกสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้ต้องใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ด้วย” รศ.ดร.อิศรา กล่าว
       
       นางวิไล ตันตินันท์ธนา รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีบุหรี่ มีการปรับเพิ่ม 2-3 ปี ครั้ง ปัญหาในการจัดเก็บภาษียาสูบ การปรับปรุงในเรื่องกฎหมายภาษียาสูบเพื่อลดการบิดเบือนราคา ต้องมีความชัดเจนเป้าหมายของการจัดเก็บภาษี แนวคิดระหว่างรายได้หรือสุขภาพ โดยหลักการภาษีที่ดี ต้องมีความโปร่งใส ความเรียบง่าย ความเท่าเทียมกัน นำมาผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้า ป้องกันการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาสูบบุหรี่คุณภาพต่ำ แยกเป็นภาษีเพื่อรายได้และความฟุ่มเฟือยอย่างชัดเจน
       
       ดร.ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฎ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ม.มหิดล กล่าวว่า ภาระโรคจากการสูบบุหรี่พบว่า ร้อยละ 44 มาจากการสูบยาเส้น ส่วนการขึ้นภาษีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าช่วยทำให้คนสูบลดลง จึงเสนอว่าควรต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ

1. ต้องขึ้นภาษีทั้งยาสูบ และยาเส้น เพื่อลดการหันไปสูบยาสูบกลุ่มที่ราคาถูกกว่า

2. ยาสูบพันธุ์พื้นเมืองจะต้องนำเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วนด้วย แต่เรื่องนี้จะต้องมีการแก้มาตรการทางกฎหมายเสียก่อน จึงจะดำเนินการได้ แต่ที่ต้องระบุและทำความเข้าใจให้ชัดคือ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้เสียภาษี และไม่ใช่เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบพันธุ์พื้นเมือง และ

3. มาตรการทางภาษีต้องทำควบคู่กับการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพิษของบุหรี่ซอง ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งไทยดำเนินการแล้ว การขับเคลื่อนชุมชนปลอดบุหรี่ และช่วยให้ผู้สูบเลิกบุหรี่ให้ได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 พฤษภาคม 2557