ผู้เขียน หัวข้อ: “ปรีดี พนมยงค์” เห็นควรใช้ชื่อประเทศว่า “Muang Thai” ดีกว่า “Thailand”  (อ่าน 305 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
วันพฤหัสที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
https://www.silpa-mag.com/history/article_63674

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอดีตเรียกชื่อประเทศไทยว่า “สยาม” เพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเมื่อ พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงความ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ก็เห็นชอบที่จะเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย

แต่มีคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้คือ ปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ เล่าว่า “คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2482 ลงมติเห็นชอบกับชื่อประเทศใหม่ สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องยอมรับชื่อประเทศเป็นภาษาไทยว่า ‘ประเทศไทย’ ดังนั้น ด้วยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มีลักษณะคลั่งชาติคนหนึ่ง ชื่อของประเทศจึงเปลี่ยนเป็น ‘Thailand’ ในภาษาอังกฤษ และ ‘Thailande’ ในภาษาฝรั่งเศส”

“ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มีลักษณะคลั่งชาติคนหนึ่ง” ที่ปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “หลวงวิจิตรวาทการ” หนึ่งในขุนพลคนสำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง

ปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า ที่หลวงวิจิตรวาทการได้เสนอให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thailand” ภาษาฝรั่งเศสว่า “Thailande” และเรียกพลเมืองเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Thailandais” นั้น ทำให้ “ฝรั่งพากันงง”

โดยเสนอว่า ควรให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า “Siam” ตามที่คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อนี้อยู่แล้ว ได้ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ซึ่งเรียกชื่อประเทศเป็นภาษาเยอรมันว่า “DEUTSCHLAND” แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้เรียกชื่อประเทศตนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสตามชื่อภาษาเยอรมนี หากเรียกชื่อประเทศตนในภาษาอังกฤษว่า “GERMANY” และภาษาฝรั่งเศสว่า “ALLEMAGNE” ตามที่คนอังกฤษและฝรั่งเศสเคยเรียกและเคยรู้จักชื่อประเทศเยอรมนีในชื่อนั้น

ปรีดี พนมยงค์ ให้ความเห็นว่า หากจะต้องใช้ชื่อประเทศใหม่ เพื่อแสดงว่าประเทศนี้ปะกอบด้วยคนเชื้อชาติไทยเป็นส่วนมาก ควรจะเรียกตามที่คนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า “Muang Thai” แทนที่จะใส่คำว่า “Land” หรือ “Lande ” ต่อท้ายคําว่า “Thai”

อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จาก สยาม เป็น ไทย นามนั้นสำคัญไฉน. สำนักพิมพ์มติชน, 2548

สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทย หรือ สยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545

ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2563