ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อเปาบุ้นจิ้นเลิกประหารชีวิต พลิกคำตัดสิน ปล่อยแพะฯ  (อ่าน 794 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9775
    • ดูรายละเอียด
กระบวนการยุติธรรมจีนก้าวสู่มิติใหม่ พิจารณาร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เปลี่ยนแปลงลดบทลงโทษสูงสุดประหารชีวิต พลิกคำตัดสินจากโทษประหารเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตให้กับนักโทษสตรี และปล่อยนักโทษชายแพะรับบาปอันผู้อื่นก่อฯ
       
       ในรอบเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเด็นกระบวนการยุติธรรมจีนนับว่าได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อคณะกรรมาธิการแห่งรัฐ เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงลดบทลงโทษสูงสุดประหารชีวิต เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตใน 9 ฐานความผิดอาญา อาทิ การทุจริตรับสินบนของเจ้าหน้าที่ฯ ประกอบกับการพลิกคำตัดสินจากโทษประหารเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตให้กับนักโทษสตรีที่ฆ่าสามีของตนตอนกลางปี และข่าวนักโทษชายกวางตุ้ง ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลจีน 3.3 ล้านหยวน (ราว 16 ล้านบาท) หลังศาลสูงปล่อยตัวทันที่ที่พบว่าตกเป็นแพะรับบาปที่ผู้อื่นก่อฯ ต้องโทษจำคุกนาน 16 ปี ในความผิดที่ตัวเองไม่ได้กระทำ
       
       รายงานข่าวกล่าวว่า นักโทษชายนายสู่ว์ หุย ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยให้รอการประหารฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ในข้อหาข่มขืนและฆ่าเพื่อนบ้าน หย่าน ชุนจวน หลังมีคนพบศพเธอบนถนนในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทั้งสองทำงานอยู่
       
       คดีนี้ทนายความของสู่ว์ นายโหว ยั่นโถว มั่นใจในความบริสุทธิ์ของนายสู่ว์ มาตั้งแต่แรกรับว่าคดีฯ และได้เกาะติดคดีฯ ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมเพื่อให้เขาได้รับอิสรภาพไม่ตกเป็นแพะฯ จนกระทั่งศาลสูงได้รับรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2555
       
       ส่วนคดีของ หลี่หยาน ภรรยาที่ฆ่าสามีและอำพรางศพด้วยการหั่นเป็นชิ้นๆ และต้มนั้น ศาลจีนได้ตัดสินประหารชีวิต และรอการประหารมาตั้งแต่ปี 2553 แต่คดีนี้ เมื่อศาลสูงได้นำมาพิจารณาใหม่ พบว่ามีหลักฐานที่สนับสนุนฝั่งจำเลยว่า เธอถูกกระทำทารุณกรรมทั้งร่างกายและจิตใจจากสามี ทุบตี ใช้บุหรี่จี้ร่างกาย อีกทั้งจับศีรษะโขกผนังกำแพง จึงถือเป็นเหตุที่ศาลสูงบรรเทาโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตตามช่องกฎหมายและบรรทัดฐานฏีกาที่น่าสนใจ
       
       จากข่าวทั้ง 3 ชิ้นทำให้เห็นย่างก้าวใหม่ของกระบวนการยุติธรรมจีนที่ให้อำนาจแก่ศาลประชาชนสูงสุดในการรื้อทบทวนคดีโทษประหาร เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบรัดกุม ซึ่งผลแห่งการนี้ทำให้จำนวนนักโทษประหารชีวิตของจีนลดลงมาเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด
       
       กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปี พ.ศ. 2539 ของจีนนั้น กำหนดวิธีการประหารชีวิตไว้ 2 วิธี คือการฉีดยา และการยิงเป้า แต่วิธียิงเป้านั้น ข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันศาลสูงจีนไม่ใช้แล้ว โดยยกเลิกไปเมื่อปี 2553 ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม
       
       การประหารด้วยวิธีฉีดยา กลายเป็นวิธีหลักวิธีเดียวในปัจจุบัน โดยใช้ยาฉีดที่มีส่วนผสมของยา 3 ขนาน ได้แก่ ยาระงับประสาท ยาชา และโพแทสเซียมคลอไรด์ อันเป็นไปตามมาตรฐานสากล ได้รับการกำหนดรับรองตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และใช้มาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับวิธียิงเป้าอันเป็นวิธีประหารฯ ที่รัฐบาลจีนเองก็ต้องการยกเลิกมานานแล้ว
       
       ในยุคแรกๆ นั้น การประหารชีวิตด้วยการฉีดยาจะเป็นการประหารนักโทษในรถตู้ที่มีเตียงและอุปกรณ์ฉีดยาอยู่ข้างใน จนเป็นที่รู้กันว่าเมื่อใดที่มีรถตู้วิ่งเข้าไปในเรือนจำ วันนั้นมีนักโทษถูกประหารชีวิต แต่การใช้รถตู้ก็ยกเลิกไปเมื่อมีการจัดสถานที่โดยเฉพาะแทน
       
       ข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิตบางแห่ง บอกว่านักโทษที่ถูกประหารด้วยการฉีดยานั้น ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และอาชญกรรมการเมือง ขณะที่นักโทษคดีอาญาทั่วไปนั้นมักโดนประหารด้วยการยิงเป้าฯ
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความพยายามที่จะยกเลิกการประหารด้วยวิธียิงเป้าฯ ก็ได้หยิบยกเหตุต่างๆ มาอ้าง และหนึ่งในเหตุผลนั้นคือ เพื่อลดต้นทุนในการประหารชีวิต เนื่องจากค่าชุดกระสุนในการประหารฯ นั้นแพงกว่า ชุดยาฉีด (ชุดกระสุนประหารฯ อยู่ที่ราว 700 หยวนต่อคน แต่ชุดยาฉีดมีค่าใช้จ่ายราว 300 หยวนต่อคน) นอกจากนั้นยังคำนึงถึงจิตใจของครอบครัวนักโทษประหารชีวิต ซึ่งแม้จะเป็นการประหารฯ ในที่ลับ แต่การต้องรู้ว่านักโทษถูกยิงที่ด้านหลังกระโหลกศีรษะก็ก่อความโศกเศร้าให้กับทุกคนในครอบครัวฯ กระนั้น กว่าที่จะลดเลิกวิธียิงเป้านี้ก็ใช้เวลาเรียกร้องพิจารณากันอยู่นานทีเดียว
       
       จำนวนนักโทษที่โดนประหารชีวิตในจีน ถือเป็นความลับของทางการจีน จึงยากที่จะรู้ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด หลายคนถูกพาออกไปประหารชีวิตทันทีหลังฟังคำพิพากษาโดยไม่มีโอกาสรออาญา ขณะที่คนที่ได้รอการประหารฯ ก็จะไม่มีทางรู้ว่าวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ที่เป็นคราวของตัว
       
       ในปี 2551 ที่จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีการประเมินกันว่า จีนประหารชีวิตนักโทษราว 7,003 คน อันเป็นตัวเลขที่ผู้ประเมินบอกว่ายังต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ขณะที่ปีถัดมา ก็นับกันคร่าวๆ ว่ามีนักโทษถูกประหาร 140 คนในแต่ละสัปดาห์
       
       ล่าสุด ปีที่แล้ว 2556 ข้อมูลขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ประเมินว่ามีนักโทษถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 3,000 คน หรือเทียบเป็นสัดส่วนนักโทษถูกประหารฯ ต่อประชากรอยู่ที่ 1:446,204 คน
       
       ด้านมูลนิธิตุ้ยฮวา (The Dui Hua Foundation) หน่วยงานสิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ เผย(22 ต.ค.) รายงานจำนวนนักโทษประหารของจีน โดยประเมินว่ามีนักโทษในจีนถูกประหารชีวิตราว 2,400 คน ในปี 2556
       
       รายงานฯ ระบุว่า แม้จำนวนผู้ถูกประหารชีวิตจะสูงจนน่าตกใจ แต่เมื่อเทียบกับสิบกว่าปีที่ผ่านมา นับว่าลดลงอย่างมาก โดยเทียบกับปี 2545 จีนประหารชีวิตนักโทษถึง 12,000 คน
       
       รายงานฯ ยังกล่าวว่า จำนวนนักโทษประหารจีนลดลงต่อเนื่องทุกปี โดยสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการให้อำนาจในการทบทวนฎีกาโทษประหารโดยศาลประชาชนสูงสุด ตั้งแต่เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา ซึ่งปีที่แล้ว มีการฎีกาโทษประหารชีวิตพร้อมทบทวนหลักฐานการพิจารณาฯ โดยศาลสูงสุดมากกว่าร้อยละ 39 คดีความผิดประหารชีวิตเหล่านั้นมีตั้งแต่ การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย, การเจตนาฆ่าผู้อื่น หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต, การก่อการร้าย, ข่มขืนผู้เยาว์, ข่มขืนสตรีและฆ่า, ปล้นธนาคาร ปล้นรถโดยสารสาธารณะ, ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ หรือค้าผู้หญิง, ค้ายาเสพติด, ผลิตอาหารปลอม ปนเปื้อน, ปลอมแปลงเงิน, ทุจริตคอร์รัปชั่น และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ, ปล่อยข่าวลือในช่วงภาวะสงคราม, ค้าอาวุธ ตลอดจนการก่อจลาจลของนักโทษในเรือนจำ
       
       อย่างไรก็ตาม หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ ลดโทษประหารใน 9 ฐานความผิดนั้น จะลดโทษให้กับความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ความผิดด้านอาชญากรรมเศรษฐกิจต่างๆ ค้าแรงงานมนุษย์ บังคับผู้อื่นให้ค้าประเวณี, ขัดขวางการจับกุมหรือต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน, การปล่อยข่าวลือในช่วงภาวะสงคราม, การลักลอบขนอาวุธ, ปลอมแปลงเงิน, ค้าอาวุธ ด้วย ซึ่งในส่วนของความคิดเห็นประชาชนนั้น ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทางอินเตอร์เน็ต จัดโดยศูนย์สำรวจสังคม ไชน่ายูธเดลี่ เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ที่เผยเมื่อต้นเดือนพ.ย.นี้ พบว่าในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 2,105 คนนั้น ประชาชนยังคงสนับสนุนให้ยังคงบทลงโทษประหารชีวิตกับคดีทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีผู้เห็นด้วยกับโทษประหารฯ สัดส่วนถึง 73.2%
       
       เฉอ ห่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า ความผิดอาญาที่ต่อไปจะไม่ลงโทษกันถึงประหารชีวิตนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดทางด้านทุจริต อาชญากรรมเศรษฐกิจและไม่มีธรรมชาติความผิดขั้นร้ายแรง แต่เมื่อพิจารณาถึงการรณรงค์ต่อต้านทุจริตนั้น ประชาชนกลับรู้สึกว่ายังคงต้องให้มีบทลงโทษสูงสุดประหารชีวิตไว้ก่อน ประเด็นพิจารณาเหล่านี้ จึงเป็นที่น่าสนใจติดตามด้วยเป็นย่างก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกระบวนการยุติธรรมและสังคมจีน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 พฤศจิกายน 2557