ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดระบบกำจัดขยะติดเชื้อ “รพ.ละงู” ลดกระจายโรค  (อ่าน 604 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
การดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่ว่าจะด้วยอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงโรคต่างๆ แน่นอนว่าทุกครั้งที่ทำการรักษาย่อมต้องเกิดขยะติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งหากโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่มีขั้นตอนการดูแลการจัดการทำลายขยะติดเชื้ออย่างดี ก็จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเอง ทั้งโรคท้องร่วง อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ โรคบิด บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบ รวมไปถึงโรคเอดส์ด้วย
       
       และที่น่าตกใจคือ ทุกวันนี้ทั่วประเทศมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้นปีละ 43,000 ตัน หรือ 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี เฉลี่ย 120 ตันต่อวัน หรือ 1.2 แสนกิโลกรัมต่อวัน นับเป็นปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเยอะมาก

       ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยข้อมูลว่า ขยะติดเชื้อเกิดขึ้นได้จาก 3 แหล่งคือ โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ดูแลคนไข้ โรงพยาบาลสัตว์ และห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ แต่ประสิทธิภาพในการทำลายจากเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่ตามเทศบาลและเอกชนรองรับได้เพียงวันละ 100 ตัน หรือ 1 แสนกิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ที่เหลือปนเปื้อนไปกับขยะทั่วไป นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล
       
       “แนวโน้มของขยะติดเชื้อมีมากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายตัวและมีการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้การจัดการขยะติดเชื้อยังประสบปัญหา ตั้งแต่แหล่งกำเนิด เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของระบบคัดแยกขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล สภาพเตาเผาที่ชำรุด และไม่มีการตรวจวัดมาตรฐานอากาศเสียจากปล่องควันตามกฎหมาย อีกทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้สถานพยาบาลมีแนวโน้มในการส่งขยะติดเชื้อให้เอกชนกำจัดนอกสถานพยาบาลมากขึ้น”
       
       

       
       อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาสำหรับ รพ.ละงู ซึ่งมีวิธีในการจัดการขยะติดเชื้อที่น่าสนใจและเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมอนามัยเองก็เล็งเห็นว่าน่าจะเป็นต้นแบบที่ขยายไปทั่วประเทศได้
       
       ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องขยะของ รพ.ละงู พบว่า มีขยะติดเชื้อประมาณ 150 กิโลกรัมต่อวัน และจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเครือข่าย รพ.ละงู อีกจำนวน 11 แห่ง ประมาณ 160 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งการกำจัดขยะติดเชื้อเหล่านี้นพ.ปวิตร วิณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู อธิบายว่า เริ่มจากการแยกขยะก่อน โดยโรงพยาบาลแบ่งขยะเป็น 4 ประเภท คือ ขยะติดเชื้อ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย โดยขยะอันตรายเริ่มมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ แบตเตอรี หลอดไฟ ถ่าน เป็นต้น
       
       "ขณะนี้โรงพยาบาลจัดการด้วยการบรรจุลงกล่องพลาสติก ก่อนนำไปใส่ในถังที่เก็บไว้ในบ่อปูนปิดสนิท ซึ่งฝังอยู่ในดิน ทำให้ไม่มีปัญหาสารอันตรายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แต่ใน 5-10 ปี อาจมีปัญหาพื้นที่ไม่พอเก็บ แต่ในอนาคตอันใกล้มีการประสานกับ อบจ.ซึ่งจะรับขยะส่วนนี้ไปกำจัดให้ในภายหลัง"

เปิดระบบกำจัดขยะติดเชื้อ “รพ.ละงู” ลดกระจายโรค
       ขณะที่การทำลายขยะติดเชื้อ นพ.ปวิตร กล่าวว่า โรงพยาบาลจะมีการขนขยะติดเชื้อ ทุกวันๆ ละ 2 เวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 07.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 15.30 น. จากนั้นนำมาเผาด้วยความร้อนสูงของเตาเผาขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งจะเตาเผารองรับได้อยู่ที่ 120 กิโลกรัมต่อวัน โดยการเผาขยะนั้น เมื่อเปิดสวิทช์เครื่องจะต้องรออุณหภูมิให้สูงถึง 200 องศาเซลเซียสก่อน จากนั้นจึงค่อยใส่ขยะติดเชื้อทีละนิด เพื่อเร่งอุณหภูมิ โดยสังเกตได้จากตัวเลขบอกอุณหภูมิของเครื่อง
       
       สำหรับการขนย้ายขยะมานั้น โรงพยาบาลจะส่งรถขนขยะในระบบปิด ไม่ติดแอร์ไปรับขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. ทุกวันพฤหัสบดี โดยบรรจุในถังสีแดง แล้วนำกลับมาพักไว้ที่โรงพักขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลเพื่อรอเผาในวันศุกร์ ซึ่งขยะที่รับมาจะมีการชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ และติดป้ายชัดเจนว่ามาจากที่ไหน
       
       “การขนส่งจะทำอย่างระมัดระวัง เจ้าหน้าที่มีการใส่ชุดป้องกัน สวมหน้ากากและถุงมือ ส่วนรถขนขยะหลังจากขนแล้วต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง และพนักงานขับรถต้องอาบน้ำทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภารกิจ”
       
       ทพ.สุธา กล่าวว่า ชื่นชมกับการดำเนินงานของ รพ.ละงู โดยจะนำไปเป็นโมเดลเพื่อใช้กับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพราะระบบของ รพ.ละงู มีการช่วยเหลือ รพ.สต.ที่อยู่ห่างออกไปในการทำลายขยะติดเชื้อ นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเตาเผาขยะที่ได้มาตรฐานและเพิ่มเตาเผาขยะในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อที่จะได้เป็นศูนย์ในการดูแลกำจัดขยะให้แก่ รพ.สต.โดยรอบ
       
       “การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ โรงพยาบาลต้องพยายามลดการใช้ขยะลง เช่น ผ้าก๊อต จากเดิมใช้ 4 แผ่น อาจใช้เพียง 2 แผ่น ส่วนขวดแก้วยาปฏิชีวนะแทนที่จะเอาไปทิ้ง ก็ให้นำไปฆ่าเชื้อ อบไอน้ำ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหลอดและเข็มฉีดยาก็ทำลายตัวเหล็กแล้วนำพลาสติกที่เหลือไปขายเป็นขยะรีไซเคิลได้ เป็นต้น”
       
       หากกรมอนามัยนำขั้นตอนการกำจัดขยะติดเชื้อของ รพ.ละงู ไปขยายในทุกพื้นที่ เชื่อว่าน่าจะเปนอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้การกำจัดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นระบบขึ้น ลดโอกาสการแพร่กระจายโรคไปสู่ประชาชน

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 สิงหาคม 2557