หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าวสมาพันธ์

ระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้ ความล้มเหลวของการสื่อสารระหว่าง สธ กับ รัฐบาล

<< < (3/4) > >>

story:
ทำเนียบฯ 28 พ.ค.2561
-โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ระเบียบการจ้างพนักงานลูกจ้างโดยเงินนอกงบประมาณ ไม่กระทบกระทรวงสาธารณสุข

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีที่กระทรวงการคลังออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณ ว่า เรื่องนี้ไม่กระทบกับกระทรวงสาธารณสุขหรืออาชีพแพทย์ พยาบาล เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังอยู่แล้ว แต่การจ้างพนักงานในหน่วยงานอื่น จะต้องนำระเบียบนี้ไปใช้ เนื่องจากต้องการให้ในอนาคต ไทยมีจำนวนข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป แต่ระหว่างนี้ ผู้ที่ได้รับการจ้างก่อนระเบียบดังกล่าวจะออกมา ก็ยังได้รับค่าจ้างตามเดิมจนกว่าจะครบสัญญาจ้าง.

-สำนักข่าวไทย

story:
ที่ประชุมอธิการบดีม.ราชภัฏ ค้านระเบียบก.คลัง ให้เลี่ยงจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ ยันในปัจจุบันดำเนินการจัดจ้างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีการจัดทำแผนอัตรากำลัง มีระเบียบการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามหลัก
ธรรมาภิบาล

หลังจากกรมบัญชีกลาง ออกระเบียบกระทรวงการคลัง เรื่องการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 โดยระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ จนกระทรวงสาธารณสุข  ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ทันตแพทยสภา ออกมาคัดค้าน

ล่าสุดวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ออกแถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ  เรื่อง ระเบียบการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561

ตามที่กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้กระทรวงการคลังจัดระเบียบการจ้างพนักงานและลูกจ้างของหน่วยราชการแล้วนั้น ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏขอชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏได้มีการจัดจ้างพนักงานหรือลูกจ้างจำนวนหนึ่งจากเงินนอกงบประมาณเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานตามพันธกิจ โดยการดำเนินการจัดจ้างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีการจัดทำแผนอัตรากำลัง และมีระเบียบการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ  ขอยืนยันว่า ระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำให้ขาดความคล่องตัวในการบริหาร และไม่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิตเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย

วันเดียวกัน นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน แถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ. 2561 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ระบุถึงหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเงินนอกงบประมาณ

1. หลักเกณฑ์พิจารณา

1.1 พิจารณาตำแหน่ง หน้าที่ วุฒิการศึกษา อัตราค่าจ้าง เหตุผลความจำเป็น หากสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ ก.พ. กำหนดไว้ ซึ่งจะกำหนดเป็นรายตำแหน่ง

1.2 หากต้องการขอเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เช่น

- กรณีขอจ้างเกินระยะเวลาเกิน 1 ปี เช่น ต้องเป็นไปตามนโยบาย หรืองาน/โครงการที่มีกำหนดระยะเวลาเกิน 1 ปี

- กรณีการขอเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะพิจารณาความรู้ความสามารถ ความเหมาะสม ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้าน

2. มีการกำหนดปฏิทินการดำเนินการ

2.1 การกำหนดระยะเวลาการยื่นขอตกลง ภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนสิ้นปีงบประมาณ

2.2 ระยะเวลาพิจารณา ภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับหนังสือขอทำความตกลง

2.3 กำหนดแบบฟอร์มในการขอข้อมูลเพื่อประกอบพิจารณา

นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพียงต้องการจัดระเบียบ และใช้กับส่วนราชการโดยทั่วไป ถ้าไม่ใช่ส่วนราชการไม่ใช้ตามระเบียบนี้ สำหรับหน่วยงานที่ยังไม่รับอนุญาต มีการจ้างลูกจ้างอยู่ ยังไม่เคยได้รับการตกลงจากกระทรวงการคลัง ระเบียบฯ นี้ให้ดำเนินการไปตามนั้นทุกประการ จนหมดสัญญา และจะจ้างต่อถึงเข้าระเบียบนี้

"มาตรฐานเวลาจ้างลูกจ้าง คือ 1 ปี หากจำเป็นต้องจ้างเกินกว่า 1 ปี ก็ทำเรื่องขอมา ส่วนอัตราจ้าง เป็นไปตามกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ใช้กรอบเดียวกับกพ. ระบบราชการที่จ่ายจากเงินงบประมาณ"

อธิบดีกรมบัญชีกลาง  กล่าวด้วยว่า กรมบัญชีกลางมีกองลูกจ้าง ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นการพิจารณาจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงานรองรับอยู่แล้ว

25 พฤษภาคม 2561 เวลา 18:37 น.เขียนโดย thaireform
สำนักข่าวอิศรา

story:
ทปอ.แถลงค้านระเบียบ ก.คลัง จ้างพนง.-ลูกจ้าง จ่ายเงินนอกงบฯ 61 กระทบสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ ทำให้ขาดความคล่องตัว ไม่เอื้อทำงาน ขอกรมบัญชีกลางทบทวนให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้สภามหาวิทยาลัย

สืบเนื่องจากกรณีที่มีกระแสการคัดค้านระเบียบกระทรวงการคลังฉบับใหม่ ว่าด้วยเรื่องการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายจากเงินงบนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ไม่ให้ต่อสัญญาลูกจ้างเดิม หรือจะจ้างใหม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงการคลัง และห้ามขึ้นเงินเดือน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการจ้างนั้น (อ่านประกอบ:สธ.เผยผลหารือกรมบัญชีกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้าง)

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 24 พ.ค. 2561 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 มีรายละเอียดว่า

จากการที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายจากเงินงบนอกงบประมาณ พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้กระทรวงการคลังจัดระเบียบการว่าจ้างพนักงานและลูกจ้างของหน่วยราชการแล้วนั้น

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่จัดจ้างพนักงานหรือลูกจ้างจำนวนหนึ่ง จากเงินนอกงบประมาณ ในการช่วยปฏิบัติงานตามพันธกิจ

ทั้งนี้ การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย มีการจัดทำแผนอัตรากำลัง และระเบียบการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในเรื่องดังกล่าว เพื่อความโปร่งใสตามหลักการบริหารงานด้วยธรรมาภิบาล

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่า ระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่ขาดความคล่องตัว และไม่เอื้อต่อการทำงานของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นพลังขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และการผลิตผลงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมได้

จึงขอให้กรมบัญชีกลางได้พิจารณาทบทวนการจ้างพนักงานและลูกจ้างจากเงินนอกงบประมาณ โดยในส่วนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย .

24 พฤษภาคม 2561 เวลา 13:28 น.เขียนโดยThaireform
สำนักข่าวอิศรา

story:
ประกาศล่าสุดของกระทรวงการคลังเรื่องการควบคุมการจ้างบุคลากรของหน่วยงานรัฐทุกวงการโดยใช้เงินนอกงบประมาณนั้น ส่งผลต่อวิกฤติศรัทธาของคนทำงานในระบบอย่างยิ่ง ตั้งแต่ระดับบริหารหน่วยงานไปจนถึงระดับปฏิบัติการ จะยกเว้นก็คงเป็นเพียงวงอำนาจในส่วนกลาง

05232018 ss
 

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมคงไม่ไปก้าวล่วงในวงการอื่น แต่จะแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อระบบสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาลภาครัฐ ที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลประชาชนทั่วประเทศ

ในปัจจุบันคนทำงานหน้างานในพื้นที่ต่างๆ ต่างพูดได้เป็นเสียงเดียวกันว่า เจอปัญหาขาดแคลนทั้งคน เงิน ของ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานดูแลรักษาประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยการเอาตัวรอดโดยการระดมหาเงินบริจาคจากแหล่งต่างๆ มาไว้เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบงาน และจ้างบุคลากรมาช่วยกันทำงานโดยไม่หวังพึ่งงบประมาณจากรัฐ แม้จะพอเอาตัวรอดได้ แต่ก็ทำงานกันเต็มที่ภายใต้คุณภาพชีวิตที่จำกัดจำเขี่ยเต็มทน

จู่ๆ ส่วนกลางคงไม่มีอะไรจะทำ จึงออกนโยบายมาบังคับกะเกณฑ์ ห้ามจ้างเพิ่มโดยเงินนอกงบประมาณ หากจะจ้างต้องทำเรื่องขออนุมัติก่อนแถมต้องส่งข้ามกระทรวงซะด้วย ทำอย่างกับกระทรวงต่างๆ นั้นมีคนทำงานที่เพียงพอจะดูแลอย่างครบถ้วนทั่วถึงและทันเวลา คนอ่านนโยบายจึงเดาได้ว่าส่งเรื่องไป กว่าจะได้ผลคงเป็นชาติ ไม่ต้องทำงานทำการกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่หนำใจ ดันเขียนไว้อีกว่า จ้างได้ทีละปีงบประมาณ ห้ามเกินค่าจ้างขั้นต่ำ และห้ามขึ้นหรือเลื่อนขั้นเงินเดือน ในทางปฏิบัติจริงจึงน่าจะถามคนเขียนนโยบายว่า หากเป็นท่านและลูกหลานท่าน จะมาทำงานแบบมองหาอนาคตไม่เจอแบบนี้ไหม ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ สถานพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศคงระส่ำระสาย ขาดคนมาทำงาน ตั้งแต่เวรเปล ประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล หมอ และอื่นๆ แล้วใครล่ะจะได้รับผลกระทบระลอกถัดมา รู้ทั้งรู้ว่าสถานพยาบาลภาครัฐต้องรับดูแลประชาชนทั้งประเทศแบบปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นคนในระบบที่ขาดแคลนอยู่แล้วนั้นก็จำเป็นต้องแบกรับภาระเกินตัวมากยิ่งขึ้น ปัญหาลาออกจากระบบจะทวีความรุนแรง และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่เจ็บป่วยไม่สบายก็จะได้รับการดูแลรักษาได้น้อยลง ช้ามากขึ้น ไม่ทั่วถึง และอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพของการดูแลรักษาต่างๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การออกนโยบายดังกล่าวนั้นบ่งถึงทัศนคติของการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ เราจึงควรมาทำความเข้าใจกันสักนิดเกี่ยวกับเรื่องนี้

บทความของสถาบันพระปกเกล้าได้นำเสนอเรื่องการรวมศูนย์อำนาจไว้อย่างกระชับน่าอ่าน โดยปกติแล้วการรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) มีได้ 2ประเภท คือ การรวมศูนย์อำนาจในทางการเมืองและการรวมศูนย์อำนาจในทางการปกครอง โดยความหมาย ประเภทแรกการรวมศูนย์อำนาจในทางการเมือง หมายถึง มีศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยหรือมีเอกภาพในการใช้อำนาจรัฐทั้งภายในและภายนอกรัฐโดยสมบูรณ์ และประเภทที่สองการรวมศูนย์อำนาจในทางปกครอง หมายถึงการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ โดยให้รัฐแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินการปกครองหรือจัดทำบริการสาธารณะต่างๆให้แก่ประชาชน โดยมีการรวมอำนาจในการตัดสินใจ การวินิจฉัยสั่งการเป็นยุติเด็ดขาดอยู่ที่รัฐส่วนกลาง (1)

ลักษณะสำคัญของการรวมศูนย์อำนาจปกครองเป็นการรวมอำนาจไว้ที่เดียว กล่าวคือ เป็นการรวมอำนาจตัดสินใจในภารกิจหลักๆของรัฐ อาทิ เช่น กำลังทหาร ตำรวจ อำนาจวินิจฉัยสั่งการ อนุมัติ ยกเลิก แก้ไข ระงับหรือเพิกถอนการกระทำต่างๆที่เกิดจากการบริหารราชการส่วนกลาง ซึ่งเป็นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่แบบลดหลั่นกันไป (Hierarchy) ให้ทุกฝ่ายขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ เพื่อสะดวกและสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้ทันท่วงที

ข้อดีของการรวมศูนย์อำนาจคือ

หนึ่ง เป็นการรวมกำลังและรวมอำนาจบังคับบัญชาไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ทำให้อำนาจของรัฐมั่นคง เป็นหลักที่ทำให้เกิดเอกภาพ (Unity) ในการปกครอง เป็นวิธีการปกครองที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างเสมอภาคกัน

สอง ในส่วนของการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนนั้น ส่วนกลางมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มีขนาดใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนมีความรู้ความสามารถ สามารถจัดบริการสาธารณะได้ดีอย่างมีมาตรฐาน และเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกันทั้งหมดทั่วประเทศ

ในขณะที่ข้อเสียที่ควรตระหนัก และควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเลือกใช้การรวมศูนย์อำนาจได้แก่

หนึ่ง การรวมศูนย์อำนาจทำให้อำนาจการตัดสินใจรวมอยู่ที่ส่วนกลาง เมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ห่างไกล การรั้งรอการตัดสินใจจากส่วนกลางย่อมทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและไม่ทั่วถึง

สอง การรวมศูนย์อำนาจจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีความสัมพันธ์กันในลักษณะบังคับบัญชาเป็นชั้นลดหลั่นกันไป การปฏิบัติหน้าที่เต็มไปด้วยความล่าช้า การแก้ปัญหาและการปฏิบัติงานต้องกระทำตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดตามลำดับขั้นตอนในการบังคับบัญชาก่อให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติงาน

สาม การแก้ปัญหาในพื้นที่ห่างไกล เช่นในท้องถิ่นต่าง ๆ อำนาจในการตัดสินมิได้เป็นของคนในพื้นที่นั้น ๆ ทำให้การจัดทำบริการสาธารณะและการแก้ปัญหาไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่

กล่าวสรุปได้ว่า การรวมศูนย์อำนาจทางการปกครองนั้นคือการที่รวมอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการ ในการจัดระบบระเบียบการบริหารราชการ หรือการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนไว้ที่รัฐส่วนกลางเพียงผู้เดียว ทำให้แบบแผนการดำเนินของทั่วประเทศเป็นแบบเดียวกัน มีลำดับการบังคับบัญชา ทุกภาคส่วนขึ้นอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด จึงทำให้ประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจมักจะมีเอกภาพในการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามในการดำเนินโดยผ่านการตัดสินใจของส่วนกลางเพียงผู้เดียว ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหาที่เร่งด่วน และยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในพื้นที่ต่างๆได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าหากพิจารณาข้อดีข้อเสียของการรวมศูนย์อำนาจแล้ว กรณีการประกาศนโยบายดังกล่าวนั้นมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดข้อเสียมากกว่าข้อดี ภายใต้ระบบบริหารจัดการภาครัฐที่ส่วนกลางมิได้มีกำลังคน กำลังเงิน และกำลังปัญญา ที่เพียงพอต่อการดูแลทุกองคาพายพในทุกเรื่อง

หลายปีที่ผ่านมา มีการประโคมข่าวให้คนทั้งประเทศตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันว่ารุนแรง และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และต่อประชาชน ดังนั้นจึงมุ่งที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อจัดการปัญหาคอร์รัปชัน แต่หากตามข่าวดูมาตลอดจะพบว่า สถานการณ์ดูจะไม่ค่อยคลี่คลาย เพราะยิ่งสาวก็ยิ่งเจอสายป่านที่โยงใยไปถึงคนในระบบบริหารภาครัฐหลายต่อหลายวงการ ซึ่งส่วนหนึ่งก็บ่งถึงความอ่อนแอของกลไกอภิบาลระบบ ไม่พร้อมที่จะดำเนินการแบบ inside-out ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเริ่มก่อให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลงเป็นคำถามวิจัยที่น่าหาคำตอบว่า "ต้นเหตุแห่งการคอร์รัปชันนั้นจะสัมพันธ์กับการรวมศูนย์อำนาจหรือไม่?" สำหรับผมแล้วคิดว่า คำถามนี้หน่วยงานวิจัยระดับประเทศควรลงทุนทำเพื่อหาคำตอบโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดจากการประกาศนโยบายดังกล่าว มาถึงตรงนี้แล้ว จะทำอย่างไรกันต่อดี?

ประเมินสถานการณ์แล้วคงยากที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของวงอำนาจ เพราะมีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าว่า จะเป็นคนกุมบังเหียนทิศทางการบริหารจัดการ ซึ่งเน้นการสั่งการจากบนลงล่าง กำกับตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือที่มีได้แก่ กฎหมาย และระเบียบต่างๆ และมีแนวโน้มจะเป็นการออกแบบในลักษณะ One size fits all มากกว่าจะคำนึงถึงความแตกต่างที่มีอยู่จริงในหน้างาน

บทเรียนจากนโยบายนี้ น่าจะเป็นตัวกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในสังคม และบุคลากรทุกคนในระบบสุขภาพ ได้เตรียมพร้อมรับมือปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาจากนโยบายนี้และนโยบายอื่นที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

หนึ่ง เค้าเน้นการจัดการตามระเบียบกฎเกณฑ์ เน้นความถูกต้องตามหลักการและลายลักษณ์อักษร มากกว่าการจะตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการที่แท้จริงที่หลากหลายของประชาชน ดังนั้นกรอบการทำงาน ทรัพยากรที่ขอและที่ได้รับ กระบวนการทำงาน และผลผลิตที่จะเกิดขึ้นจากระบบงานสาธารณะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปแบบดั้งเดิม ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถคาดหวังให้ออกไปจากกรอบได้ หากคิดอยากจะทำอย่างอื่นที่นอกไปจากกรอบ ก็จำเป็นต้องสร้างสนามใหม่ กลไกใหม่ กระบวนการใหม่ โดยไม่ยึดติด และดำเนินการแบบอิสระไม่ขึ้นกับระบบเดิม เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ทำให้ขัดต่อหลักกฎหมายบ้านเมือง

สอง จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ประชาชน ผู้นำในชุมชน (ทั้งผู้นำเชิงอำนาจนโยบาย และผู้นำทางความคิด) และคนทำงานในระบบ ต้องมาจับเข่าคุยกัน วางแผนพัฒนาให้เกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม และสร้างให้เกิดสายสัมพันธ์อันดีในชุมชน ให้เกิดภาวะชุมชนเข้มแข็ง และทำให้ชุมชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของบริการสาธารณะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งการกินการอยู่ การเดินทาง การสื่อสาร ตลอดจนการรักษาพยาบาล และร่วมกันพัฒนากลไกสังคม ที่ประกอบด้วยทั้งคน เงิน ของ ที่เกิดจากการร่วมกันลงทุน ร่วมกันสร้าง ร่วมกันพัฒนา โดยหวังพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากทำเช่นนั้นได้ ก็จะทำให้"ชุมชนยืนได้ด้วยตนเอง (Community resilience)" ไม่หวั่นไหวต่อ"วันมามาก" หรือวันที่รัฐครึ้มอกครึ้มใจประกาศนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณะดังกรณีศึกษานี้ในอนาคต

สาม สมดุลอำนาจและพลังการต่อรองเชิงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ตราบใดที่มีแต่การตั้งรับรอนโยบายแบบบนลงล่างดังเช่นที่ผ่านมา ก็จะเกิดวิกฤติแบบเดิมไม่มีที่สิ้นสุด หากนโยบายจากเบื้องบนลงมาดีก็ดีไป แต่หากไม่ดี ก็ต้องมานั่งเก๊กซิมทักท้วงหรือวางแผนแก้ปัญหาอย่างที่เห็น ดังนั้นคงจะดีมาก หากเราสามารถทำให้เกิดกลไกพัฒนานโยบายสาธารณะจากระดับรากหญ้า ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ร่วมกันคิดร่วมกันพัฒนา ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลักและความต้องการจำเป็นในแต่ละที่เป็นเช่นไร และผลักดันหรือชงนโยบายจากล่างขึ้นบน อย่างทันต่อเวลา และสม่ำเสมอ ก็จะเกิดประโยชน์ระยะยาว แสดงถึงความเข้มแข็งของชุมชน การรู้เท่าทัน และกระตุ้นให้เกิดความกระหายขวนขวายแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมต่อนโยบายสาธารณะ และสร้างสมดุลอำนาจระหว่างบนกับล่างได้ โดยหวังว่าหากทำได้ดีพอ จะเป็นการฝึกให้ส่วนกลางต้องหันมาฟังเสียงจากระดับพื้นที่ ก่อนจะประกาศนโยบายใดๆ ออกมา

สิ่งที่อยากฝากไปยังหน่วยงานนโยบายของรัฐคือ ก่อนจะประกาศนโยบายสาธารณะในลักษณะรวมศูนย์อำนาจออกมา โปรดตอบคำถามง่ายๆ 3 ข้อ (2) ได้แก่

หนึ่ง เป็นภารกิจจำเป็นที่ต้องทำตามที่กฎหมายระบุ หรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นหรือไม่?

สอง หากประกาศแล้วทำได้เองอย่างมีประสิทธิภาพแน่นะ?

สาม เกิดผลดีและผลเสียอย่างไร คุ้มจริงหรือที่จะรวมศูนย์อำนาจ?

หากทั้งสองฝ่ายได้ช่วยกันทำเช่นนั้นได้ สังคมเราก็จะเห็น "Mano policy" ลดลง แต่เป็น Evidence-based policy มากขึ้น

23 พฤษภาคม 2561 เวลา 10:42 น.เขียนโดยผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
สำนักข่าวอิศรา

story:
กรมบัญชีกลาง สยบดรามา ยืนยัน ระเบียบจ้างพนักงานฉบับใหม่ไม่กระทบต่อลูกจ้างสาธารณสุขโรงพยาบาลต่างๆ หลังชมรมแพทย์ชนบท เตรียมแต่งดำประท้วงทั่วประเทศ

ชมรมแพทย์ชนบท ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หลังออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่ทางชมรมแพทย์ชนบท อ้างว่า จะกระทบต่อการจ้างลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมประกาศรณรงค์ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศแต่งชุดดำเพื่อเป็นการประท้วง

ภายหลังทางกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อทำความเข้าใจระเบียบดังกล่าว โดยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานของลูกจ้าง สธ. แต่ระเบียบมุ่งเน้นกับส่วนราชการที่ยังไม่เคยทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง

ด้านนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าวรัฐต้องการแค่จัดระเบียบข้อมูลพนักงานและลูกจ้างนอกงบว่ามีกี่คน ใช้เงินงบประมาณเท่าไร แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งคลังมาแล้วว่าจะจ้างพนักงานและลูกจ้างนอกเงินงบประมาณแบบ 1 ปี 7,900 อัตรา และแบบ 4 ปี 31,000 อัตรา ซึ่งน่าจะได้รับอนุมัติทั้งหมด อีกทั้งยังมีระเบียบการใช้เงินบำรุงซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณของตัวเองกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความเข้าใจ การสื่อสารที่ไม่ตรงกันระหว่างคนเขียนกฎหมาย และคนที่อ่านกฎหมาย ทำให้เกิดการสื่อความที่คลาดเคลื่อน ทั้งที่จริงแล้วหากทำความเข้าใจกันได้ ระเบียบนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

24 พฤษภาคม 2561
http://www.one31.net/news/detail/2112

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version