หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าวสมาพันธ์

ระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้ ความล้มเหลวของการสื่อสารระหว่าง สธ กับ รัฐบาล

(1/4) > >>

story:

'คลัง' ให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงจ้างลูกจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณ หากจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน


กระทรวงการคลังออกระเบียบการจ้างลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ ระบุให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ หากจำเป็นต้องจ้างต้องขออนุญาตคลังก่อน และจ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ และอัตราค่าจ้างไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่ง-วุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ลงนามในหนังสือถึง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ อธิการบดี เรื่องระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยระบุว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 อนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้มีระเบียบเกี่ยวกับการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงาน

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังคนส่วนราชการที่ใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จึงยกเลิกหนังสือกระทรวงการคลัง ที กค 0527.6/ว 31 ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 และ ที่ กค 0415/ว 23 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2546 และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2562

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 กระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญใน

ข้อ 4 ที่ระบุว่า “ให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ

กรณีได้ดำเนินการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณก่อนระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งมิใช่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังไว้เป็นการเฉพาะ ให้ส่วนราชการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างต่อไปได้ตามกำหนดระยะเวลาเดิม และเมื่อพนักงานหรือลูกจ้างลาออกหรือส่วนราชการหมดความจำเป็นในการจ้างให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้างนั้น

ข้อ 5 ในกรณีส่วนราชการมีความจำเป็นต้องจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน โดยต้องแสดงเหตุผล ความจำเป็น เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อ 6 ระยะเวลาการจ้าง ให้จ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ หรือตามระยะเวลาที่กระทรวงการคลังอนุญาต สำหรับอัตราค่าจ้าง ให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่งและวุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง

ข้อ 7 ให้ส่วนราชการรายงานการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง ทั้งจำนวนอัตราและจำนวนงินค่าจ้างให้กรมบัญชีกลางทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ หรือสิ้นระยะเวลาการจ้างที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยให้รายงานภายใน 30 วัน นับจากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว”

ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวนี้ ได้กำหนดว่า “เงินนอกงบประมาณ” หมายความว่า บรรดาเงินทั้งปวงที่ส่วนราชการจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือจากนิติกรรมหรือนิติเหตุ หรือกรณีอื่นใดที่ต้องนำส่งคลัง แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำสั่งคลัง

และกำหนดว่า “พนักงานหรือลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายคาบ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขหรือพนักงานของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีลักษณะเดียวกัน

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

Tue, 2018-05-22 13:10   -- hfocus
..........................................................................
หนังสือกระทรวงการคลังที่ยกเลิก(กค0415/ว 23) จากระเบียบจ้างลูกจ้างด้วยเงินบำรุง


.......................................................................
หนังสือกระทรวงการคลังที่ยกเลิก(กค0527.6/ว 31-26 เมษายน 2542)


story:
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่า ระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจ้างพนักงาน หรือลูกจ้างของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่จัดจ้างพนักงานหรือลูกจ้างจำนวนหนึ่ง จากเงินนอกงบประมาณ ในการช่วยปฏิบัติงานตามพันธกิจ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่ขาดความคล่องตัว และไม่เอื้อต่อการ ทำงานของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นพลังขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และการผลิตผลงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมได้ จึงขอให้กรมบัญชีกลางได้พิจารณาทบทวนการจ้างพนักงานและลูกจ้างจากเงินนอกงบประมาณ โดยในส่วนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับชมรมแพทย์ชนบทที่ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุถึงกรณี ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างลูกจ้างเงินนอกงบประมาณ โดยได้มีการเรียกร้องต่อรัฐบาล คือ

1.ขอให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างลูกจ้างเงินนอกงบประมาณ
2.ขอให้ รมว.สธ.แก้ไขระเบียบเงินบำรุงปี 2561 และ
3.การออกระเบียบใหม่หรือแก้ไขระเบียบเดิมที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการ ต้องมีผู้แทนของสถานบริการในพื้นที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเข้าร่วมทุกครั้ง

หากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการไม่ได้รับการตอบสนองแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วจะรวมพลังของพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อแสดงออกหน้ากระทรวงการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้.

 โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 25 พ.ค. 2561

story:
ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเรื่องการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินนอกงบประมาณ ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์แสดงความไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นค่าจ้างของลูกจ้างที่อาจลดลง และไม่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ทำให้วันนี้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังร่วมหารือก่อนยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับลูกจ้างชั่วคราวปัจจุบัน ส่วนอนาคตต้องเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด

เมื่อวันที่ (23 พ.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ถูกโพสต์ผ่านแฟนเพจเฟชบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” ทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการออกระเบียบดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาจ้างงาน กำหนดไว้เกินปีงบประมาณ  จ้างได้ไม่เกินอัตราขั้นต่ำของตำแหน่งและวุฒิ และไม่สามารถเลื่อนขั้นค่าจ้างได้ หลายคนมองว่าอาจทำให้ลูกจ้างขาดกำลังใจในการทำงาน และอาจส่งผลต่อการจ้างบุคลากรเข้าทำงาน ในแต่ละโรงพยาล เพราะหากพิจารณาตัวเลขบุคลากรลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขมีมากถึง 140,000 คน

หนึ่งในกลุ่มคัดค้านระเบียบของกระทรวงการคลัง คือ น.ส.จารุจิต ประจิตร รองประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ปกติแล้วลูกจ้างชั่วคราว จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนปีละ 100 บาท แต่ระเบียบฉบับใหม่สั่งห้ามขึ้นเงินเดือน ถือว่าสร้างความเหลื่อมล้ำ

ขณะที่ระเบียบข้อ 4 ที่ระบุให้สั่งยุบตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้างทันที หากลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง อาจทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากร และส่งผลให้การขออัตรากำลังล่าช้า จนส่งผลกระทบกับการให้บริการประชาชน

หลังมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก  ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขขอเข้าพบ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง คืออธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อทำความเข้าใจ ได้รับคำชี้แจงว่า การออกระเบียบ เพราะต้องการจัดระเบียบการใช้เงินนอกระบบของหน่วยงานภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาเงินส่วนนี้ ไม่ถูกรายงานมายังกระทรวงการคลัง

ส่วนกรณีกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการออกระเบียบใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณไว้อย่างชัดเจน จากการหารือครั้งนี้สรุปว่า ยังใช้แนวทางเดิมต่อไปกับลูกจ้างที่อยู่ในระบบในปัจจุบัน จนกว่าจะหมดสัญญา  ส่วนลูกจ้างใหม่และ ลูกจ้างที่หมดสัญญา และต้องการต่อสัญญาใหม่  ส่วนจำนวนอัตราและการปรับเงินตามตำแหน่งกระทรวงสาธารณสุข สามารถเสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาได้

ปลัดกระทรวงสาธาณสุข ยืนยันว่า เชื่อว่าการขออัตรากำลัง และเพิ่มเงินของกระทรวงสาธารณสุข จะไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางพิจารณามาตลอด แต่ถึงแม้กระทรวงสาธาณสุข จะยืนยันว่าระเบียบการที่ออกมาไม่มีปัญหา แต่อนาคตการพิจารณาอัตรากำลัง การปรับขึ้นเงินเดือน หรือเงินพิเศษต่างๆ ของลูกจ้างชั่วคราว ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกระทรวงการคลังหลังจากนี้

23 พ.ค. 2561
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/81880

story:
เมือวันที่ 24 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า กรณีที่ทางชมรมแพทย์ชนบทจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกในวันที่ 1 มิุถนายนนี้ ถือเป็นสิทธิของแต่ละกลุ่ม แต่ทางกลุ่ม สพศท.คงไม่ได้ไปร่วมเคลื่อนไหวด้วย เนื่องจากทางกระทรวงการคลังได้มีการออกมาชี้แจงแล้วว่าระเบียบเรื่องการจ้างลูกจ้างที่ออกมาใหม่นั้นไม่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะได้มีการทำข้อตกลงกันไว้ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามการจ้างลูกจ้างของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถือว่าจำเป็นมาก เพราะร้อยละ50ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นพนักงานลูกจ้าง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคืออยากให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เห็นสภาพปัญหาของโรงพยาบาลว่ามีภาระงานมาก จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น แต่โรงพยาบาลก็ต้องให้บริการผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่ สพศท. จะเดินหน้าคือ การกระตุ้นให้ ก.พ.จัดสรรบุคลากรให้เพี่ยงพอกับภาระงานที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะใช้วิธีการหารือกันผ่านทางช่องทางต่างๆมากกว่า

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ระเบียลกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ม.มหิดล ได้ออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว ระเบียบดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างหรือไม่ คงต้องมาศึกษาระเบียบให้แน่ชัดก่อนว่า ส่วนราชการนั้นจะครอบคลุมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือไม่ หากครอบคลุมก็อาจมีผลกระทบ

ด้าน ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ม.มหิดล ออกจากระบบทั้งหมด ตรงนี้คงต้องให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลไปศึกษาก่อนว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะออกจากระบบแล้ว

ด้าน ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า สือเนื่องจากกรณีที่กระทรวงการคลัง ออกระเบียบว่าด้ายการจ้างพนักงาน หรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ทันตแพทยสภาเห็นว่า แม้ว่าเจตนารมณ์ในการออกระเบียบ จะทำเพื่อต้องการจัดระเบียบการจ้างพนักงานและลูกจ้างของส่วนราชการ เพื่อวางกรอบอัตรากำลังหรือจัดสรรงบประมาณในอนาคต แต่การออกระเบียบแบบเหมารวมโดยไม่พิจารณาบริบทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ดี ได้ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของลูกจ้างและพนักงาน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่ปัจจุบันมีกรอบอัตรากำลังไม่สอดคล้องกับภาระงานในการดูแลสุขภาพของประชาชน และต้องใช้เงินบำรุงมาจ้างลูกจ้างหรือพนักงานให้ทำหน้าที่ต่างทั้่งภารกิจสนับสนุนเพื่อให้การรักษาเป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐาน
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ  กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณในทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เวรเปล ฯลฯ ทำงานสอดประสานเป็นทีมเดียวกัน ซึ่งทุกตำแหน่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้นทันตแพทย์สภาขอเรียกร้องให้กระทรวงการคลังทบทวนการออกระเบียบดังกล่าวไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพนักงานและลูกจ้างเงินนอกงบประมาณ และได้โปรดทำความเข้าใจบริบทการทำงานของโรงพยาบาล รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนการดำเนินการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมในวงกว้าง


24 พฤษภาคม 2561
มติชนออนไลน์

story:
23 พ.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ชมรมแพทย์ชนบท” และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ได้ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงจุดยืนคัดค้านการออกระเบียบฉบับใหม่ของกระทรวงการคลัง ที่สั่งห้ามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงเรียนแพทย์ และหน่วยบริการรัฐทั้งหมด ทำการจ้างและขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างจากเงินนอกงบประมาณ หรือหากต้องการจ้างก็ต้องขออนุญาตจากกรมบัญชีกลางก่อน

โดยกรณีดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากมองว่า เป็นการออกระเบียบที่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัดเกือบทุกแห่งอยู่ในภาวะที่งานล้นมือและค่าตอบแทนน้อย ซ้ำยังไม่มีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการเพิ่มมานาน ดังนั้นการออกระเบียบเช่นนี้ จึงยิ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มแรงบีบคั้นและเพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาลขึ้นมาโดยไม่จำเป็น รวมทั้งเป็นการทำลายขวัญกำลังใจลูกจ้างว่าให้ทำงานในอัตราขั้นต่ำราคาเดียวจนวันตาย คุณภาพจะมีได้อย่างไร บางแห่งขยายตึกขยายโรงพยาบาลเพื่อรองรับความต้องการ ก็ไม่ให้จ้างคนมาให้บริการ

ล่าสุดเฟซบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ ระบุว่า “รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ขึ้นป้ายไว้อาลัยกระทรวงการคลัง จี้ รมว.คลังและผู้เกี่ยวข้อง แสดงสปิริต ลาออก”

นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์ข้อความอย่างต่อเนื่อง เช่น “แพทย์หลายสาขาเรียกร้อง รมช.กระทรวงการคลัง ออกมารับผิดชอบ และมาดูแลสุขภาพประชาชนแทน”

รวมถึง “ชมรมแพทย์ชนบทไม่สน ป่าหี่กระทรวงการคลัง ที่จะทำเพียงแค่ชะลอคำสั่ง เพราะลงนามเผยแพร่ไปทั่วประเทศแล้ว จี้ลาออกทั้ง รมว.และ รมช. แสดงความรับผิดชอบ”

แนวหน้า 23 พค 2561
.............................................
ปิยะสกล’ โทรสายตรงจากสวิส ประสานรมช.ก.คลัง หาทางออกผลกระทบระเบียบคุมจ้างงาน สธ.
23 พฤษภาคม 2561
มติชนออนไลน์

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version