ผู้เขียน หัวข้อ: วิจัยพบสมองแทบหยุดทำงานเมื่อดู “คลิปโป๊”  (อ่าน 1328 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
การดู “คลิปโป๊” นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สายตามาก แต่งานวิจัยใหม่ค้นพบว่าการชมภาพยนตร์อีโรติกนั้นอาจหยุดสมองส่วนกระตุ้นการมองเห็น ซึ่งปกติการชมภาพยนตร์หรือกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาอื่นๆ นั้น จะส่งเลือดไปไหลเวียนสมองบริเวณนี้ หากแต่ไม่ใช่ในกรณีการภาพยนตร์ “โจ๋งครึ่ม”
       
       ไลฟ์ไซน์ระบุว่า แทนที่เลือดจะไปถูกส่งไปไหลเวียนในสมองบริเวณดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าจะเกิดการสับเปลี่ยนเส้นทางไหลเวียนไปยังสมองส่วนอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจส่งไปยังสมองส่วนตอบสนองการปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ ซึ่ง เกิร์ต โฮลสทีจ (Gert Holstege) แพทย์ระบบประสาททางเดินปัสสาวะ จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน (University of Groningen Medical Center) ในเนเธอร์แลนด์ นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า สมองไม่จำเป็นต้องถูกใช้ในทุกรายละเอียดภาพของฉากวาบหวิว
       
       โฮลสทีจเปรียบเทียบว่า หากเราพิมพ์อะไรบางอย่างลงคอมพิวเตอร์ เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์อย่างเจาะจงและรอบคอบ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นหมายความว่าเราจะพิมพ์ผิดได้ แต่ในห้วงเวลาที่เรากำลังชมภาพยนตร์โป๊อันโจ๋งครึ่มเราไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะเรารู้แน่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และไม่สำคัญว่าประตูในภาพยนตร์นั้นเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง
       
       สมองนั้นอาจเกิดภาวะวิตกหรือตื่นตัว หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่โฮลสทีจกล่าวว่าภาวะทั้งสองจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน และระหว่างมีอารมณ์ถึงจุดสุดยอดนั้นเขาพบว่า กิจกรรมของสมองบริเวณที่สัมพันธ์กับความวิตกกังวลนั้นดิ่งลง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศต่ำจึงระดับความวิตกกังวลสูง เขาบอกด้วยว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผล หากเรากำลังมองไปรอบตัว และใส่ใจในรายละเอียดของภาพที่เห็น กวาดสายตาหาอันตรายแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใส่ใจในอารมณ์วาบหวิว
       
       “หากตัวคุณเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายมากๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณจะไม่มีความรู้สึกทางเพศเลย เพราะคุณต้องหาทางเอาตัวเองรอด ไม่ใช่ความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์” โฮลสทีจกล่าว
       
       งานวิจัยในการสแกนสมองก่อนหน้านี้เผยให้เห็นว่า ภาพวาบหวิวที่โจ๋งครึ่มนั้นอาจหยุดการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า บรอดมานน์'ส แอเรีย 17 (Brodmann's area 17) หรือ สมองเปลือกนอกส่วนรับรู้การมองเห็นส่วนหน้า (primary visual cortex) ซึ่งเป็นบริเวณแรกที่จัดการข้อมูลการมองเห็นที่เข้ามาในสมอง แต่ก็ยังไม่มีใครตั้งข้อสงสัยในการทำงานของสมองผู้หญิง
       
       ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดการศึกษาผลสแกนสมอง ทางโฮลสทีจได้ทดสอบสมองเปลือกนอกส่วนรับรู้การมองเห็นส่วนหน้าของผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้ามในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงทุกคนในการทดลองนี้อยู่ในช่วงคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน ซึ่งตัดปัญหาเรื่องรอบการมีประจำเดือนที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในความปรารถนาทางเพศหรืออารมณ์วาบหวิว
       
       ผู้หญิงแต่ละคนได้ชมวิดีโอ 3 เรื่อง ขณะที่สมองของพวกเธอนั้นถูกบันทึกภาพไว้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพรังสีจากการปลดปล่อยโพสิตรอน (positron emission tomography) หรือที่เรียกว่า “เพทสแกน” (PET scan) โดยการสแกนดังกล่าวจะตรวจหาการเปลี่ยนแปลงทางรังสีภายในสมองที่เกิดขึ้นชั่วชณะ ซึ่งตอบสนองปริมาณการไหลของกระแสเลือดในบริเวณที่สนใจ และอนุมานได้ว่าบริเวณที่มีการไหลของกระแสเลือดมากกว่าบริเวณอื่นคือส่วนที่มีกิจกรรมมากกว่าบริเวณอื่น
       
       หนึ่งในวิดีโอที่ใช้ในการทดลองนี้เป็นสารคดีพื้นๆ เกี่ยวกับชีวิตทางทะเลในคาริบเบียน ส่วนสองวิดีโอที่เหลือเป็นวิดีโอวาบหวิว โดยวิดีโอหนึ่งเป็นเพียงการเล่าเรื่องการเล้าโลมและการใช้มือช่วย ส่วนอีกวิดีโอนั้นแสดงการร่วมเพศทางปากและการสอดใส่อย่างชัดเจน ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้เผยว่าวิดีโอที่มีเนื้อหาเข้มข้นกว่าในการแสดงการสอดใส่อย่างชัดเจนนั้นกระตุ้นให้มีการตื่นตัวเชิงกายภาพในผู้หญิงมากกว่าคลิปวิดีโอที่พุ่งเป้าไปที่การเล้าโลม
       
       ผลการตรวจสมองเผยว่ามีเพียงวิดีโอที่มีเนื้อหาอีโรติกเข้มข้นเท่านั้นที่ส่งผลให้มีกระแสเลือดส่งไปยังสมองเปลือกนอกส่วนรับรู้การมองเห็นส่วนหน้าน้อยกว่าผลจากวิดีโออื่นๆ มาก แต่สมองยังคงทำงานอยู่แม้จะน้อยมากๆ โดยปกติผลเช่นนี้จะพบได้ในคนที่ถูกถามให้นึกถึงภารกิจที่ไม่ต้องใช้การมองเห็น เช่น การให้นึกคำขณะที่ยังมองภาพบางอย่าง เป็นต้น
       
       สำหรับโฮลสทีจแล้วผลเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า สมองพุ่งความสนใจไปที่อารมณ์ทางเพศว่ามีความสำคัญมากกว่ากระบวนมองภาพระหว่างการชมภาพยนตร์อีโรติกเหล่านี้ โดยเขาอธิบายว่าสมองจำเป็นต้องสำรองพลังงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น หากมีสมองส่วนใดไม่ต้องการทำงานมาก สมองส่วนนั้นก็จะหยุดการทำงานลงในทันใด
       
       โฮลสทีจกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้มีนัยสำคัญในกรณีความผิดปกติทางเพศ โดยความปลอดภัยนั้นมีความสำคัญสูงสุด และความวิตกกังวลถือเป็นสิ่งพิฆาตความใคร่ ดังนั้น เขาแนะนำว่าหากผู้ชายต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายต้องสร้างสถานการณ์ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเขาได้รายงานผลการศึกษาครั้งนี้ลงวารสาร เจอร์นัลออกเซกชัลเมดิซีน (Journal of Sexual Medicine)

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 เมษายน 2555