ผู้เขียน หัวข้อ: ระวัง! “โรคซึมเศร้า” ภัยเงียบคุกคามทุกวัย จ่อป่วยอันดับ 1 ของโลก  (อ่าน 770 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
โรคซึมเศร้าจ่อขึ้นแท่นภัยคุกคามสุขภาพอันดับ 1 ของโลก ในอีก 18 ปีข้างหน้า พบทั่วโลกป่วยมากกว่า 350 ล้านคน ส่วนไทยป่วยแล้วกว่า 1.5 ล้านคน แต่เข้าถึงการรักษาน้อย เสี่ยงฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไป 20 เท่า สธ.เตรียมอบรม อสม.ค้นหาผู้ป่วยใน 5 กลุ่มเสี่ยง แนะออกกำลังกายป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้
       
       วันนี้ (10 ต.ค.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบบริการดูแลปัญหาสุขภาพจิต ประชาชนของโรงพยาบาลปักธงชัย อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พร้อมเยี่ยมชมการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคทางกายและทางจิตด้วยดนตรีบำบัด ของโรงพยาบาลครบุรี อ.ครบุรี ว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งปีนี้เน้นเรื่อง “ภาวะซึมเศร้า : วิกฤตโลก” (Depression: A Global Crisis) โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก เร่งรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นภัยเงียบของสุขภาพ ที่สำคัญ เป็นได้ทุกวัย หากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบรุนแรง ทำงานหรือเรียนหนังสือไม่ได้ กลายเป็นภาระการดูแลรักษาอันดับ 1 ของทั่วโลก ในอีก 18 ปีข้างหน้า หรือใน พ.ศ.2573
       
       “ล่าสุด ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่า 350 ล้านคน ผู้หญิงป่วยมากกว่าผู้ชาย ในจำนวนนี้เข้าถึงบริการรักษาเพียง 1 ใน 10 ส่วนในไทย จากข้อมูลของศูนย์ โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต รายงานว่า ขณะนี้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมด สังคมไทยยังให้ความสำคัญโรคนี้น้อย ส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้ป่วยโรคนี้เป็นคนบ้า และจากข้อมูลการให้บริการของสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน เข้าถึงบริการได้รับการวินิจฉัยและรักษา 28 คนเท่านั้น” รมช.สาธารณสุข กล่าว
       
       นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 70 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และต้องทรมานในภาวะไร้สมรรถภาพมาก เป็นอันดับ 3 ในหญิงไทย รองจากโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงจะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ซึ่งในปี 2556 สธ.จะป้องกันแก้ไขและลดความสูญเสียจากโรคซึมเศร้าโดยเน้นนโยบายบริการเชิงรุก 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ให้กรมสุขภาพจิตเร่งรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่บ้าและรักษาหาย 2.ขยายบริการการรักษาโรคนี้ลงในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ซึ่งโรคนี้รักษาได้ง่ายๆด้วยยาเพียงเม็ดเดียว กินวันละครั้ง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน และต้องกินยาติดต่อกันนาน 6 เดือน จะสามารถป้องกันการกลับซ้ำได้ดีมาก และ 3.กระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายชนิดที่ต้องออกแรงและมีเหงื่อ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยานอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากจะทำให้สมองหลั่งสารต้านเศร้า ซึ่งมีชื่อว่า เอ็นดอร์ฟิน (Endorphine) ทำให้มีความสุข รู้สึกสบาย คลายความเครียดกังวลได้ดี
       
       นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิต ได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าระดับจังหวัด โดยอบรมแพทย์ พยาบาลวิชาชีพกว่า 5,000 คน และอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เร่งค้นหาผู้ที่มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้าใน 5 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคทางกายเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง 2.ผู้สูงอายุ 3.หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด 4.ผู้ติดสุราและสารเสพติด 5.ผู้สูญเสียทรัพย์สินจำนวนมากหรือสูญเสียคนรัก ทั้งในภาวะปกติทั่วไปและประสบอุบัติภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น โดยการคัดกรองหาผู้ที่มีความเศร้าในชุมชนต่างๆ และโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องโดยการรักษาด้วยยาหรือจิตบำบัด ตั้งเป้าจะเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีปัญหาให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ด้วย
       
       นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด เป็นโรคของสมอง เกิดจากความบกพร่องของสารสื่อประสาท ส่งผลให้มีภาวะผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ อาการที่เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า ได้แก่ มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวังอย่างรุนแรง อาการเกิดตลอดวัน ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลิน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการเบื่อหน่าย หมดความสนใจในงาน การเรียนหรือกิจกรรมที่ทำอย่างมาก หากพบผู้ใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ต้องพาไปพบจิตแพทย์
       
       “การป้องกันการเกิดโรคทางจิต หากประชาชนที่มีปัญหาเครียด ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ ไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว ควรระบายปัญหาออก เช่น ปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจที่สุดเพื่อหาทางออก ช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัวสอบถามทุกข์สุข ทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที จะสามารถคลี่คลายปัญหาสุขภาพจิตได้ดีมาก โดยร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้นอนหลับสนิททุกวัน และที่สำคัญไม่ควรใช้สารเสพติดหรือดื่มสุราดับทุกข์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการเสพติด นอกจากนี้ สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2555