ผู้เขียน หัวข้อ: แกะรอยขบวนการค้างาช้าง-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 724 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
กองกำลังติดอาวุธบางกลุ่มในแอฟริกาหาเงินทุนจากการล่าช้างและค้างาเถื่อน งาช้างปลอมฝังอุปกรณ์จีพีเอส จะช่วยขัดขวางคนเหล่านั้นได้หรือไม่

           ตอนที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันต้องการปรับปรุงห้องจัดแสดงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม                     จากทวีปอเมริกาเหนือให้ทันสมัย จอร์จ ดันเต นักสตัฟฟ์สัตว์ ได้รับมอบหมายงานนั้น แต่นักสตัฟฟ์สัตว์ฝีมือระดับโลกอย่างดันเตไม่เคยทำสิ่งที่ผมขอให้เขาทำ และไม่มีใครเคยทำสิ่งนี้มาก่อน

            ผมอยากให้ดันเตออกแบบงาช้างจำลองซึ่งมีหน้าตาและผิวสัมผัสเหมือนงาช้างของจริง แล้วฝังอุปกรณ์ติดตามผ่านดาวเทียมและระบบจีพีเอสที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษไว้ภายใน  ในโลกของอาชญากร งาช้างไม่ต่างอะไรจากเงินตรา ดังนั้นจึงเท่ากับว่าผมกำลังขอให้เขาพิมพ์ธนบัตรปลอมเพื่อให้ผมติดตามและแกะรอยได้นั่นเอง

            ผมจะใช้งาช้างของเขาไล่ล่าพรานฆ่าช้าง และแกะรอยเส้นทางขบวนการค้างาช้างเถื่อนว่า สินค้าเหล่านี้     ลงเรืออะไร ออกจากท่าเรือแห่งไหน ผ่านเมืองและประเทศใดบ้าง และมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ใด

            พ่อค้างาช้างจะทดสอบสินค้าโดยใช้มีดขูดผิวงาหรือเอาไฟลน งาช้างก็คือฟันดีๆนี่เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ละลาย งาของผมต้องมีคุณสมบัติเหมือนงาช้าง “และผมต้องหาวิธีทำให้มันแวววาวด้วยสินะ” ดันเตเอ่ย  เขาหมายถึงความเงางามของงาช้างที่ได้รับการทำความสะอาดแล้ว

            จอร์จ ดันเต ก็เหมือนคนอีกมากมายในโลกที่รู้ว่า ช้างแอฟริกาถูกล่าอย่างหนัก ความนิยมในงาช้างที่ดูเหมือนไม่รู้จักพอของชนชั้นกลางชาวจีนที่เติบโตขึ้น กอปรกับปัญหาความยากจนในแอฟริกา การบังคับใช้กฎหมายที่ย่อหย่อนและฉ้อฉล ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้สถานการณ์สุกงอม ส่งผลให้ช้างแอฟริกาถูกฆ่า ปีละประมาณ 30,000 ตัว งาช้างผิดกฎหมายส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จีนที่ซึ่งตะเกียบงาคู่หนึ่งอาจมีราคาสูงกว่าหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐ และงาช้างแกะสลักขายได้กิ่งละหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ

            ปัจจุบัน ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกคือแดนวิกฤติของการฆ่าช้าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลแทนซาเนียประกาศว่า ประเทศสูญเสียช้างถึงร้อยละ 60 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 110,000 ตัวเหลือไม่ถึง 44,000 ตัว ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างโมซัมบิกก็รายงานการสูญเสียช้างราวร้อยละ 48 ผู้คนในท้องถิ่นล้วนฆ่าช้างเพื่อหารายได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่พวกเขายอมแลก เพราะต่อให้ถูกจับ บทลงโทษ  ก็มักเล็กน้อยจนไม่ทำให้หลาบจำ แต่ในแอฟริกากลาง การฆ่าช้างขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น นั่นคือ  กองกำลังติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายที่ได้เงินสนับสนุนบางส่วนจากการค้างาช้าง กลุ่มคนเหล่านี้ออกล่าช้าง  อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยมักลงมือนอกประเทศของตน และถึงขั้นเข้าไปซ่อนตัวในอุทยานแห่งชาติต่างๆ ปล้นสะดมชุมชนในท้องถิ่น จับผู้คนไปเป็นทาส และสังหารเจ้าหน้าที่อุทยานที่เข้าขัดขวาง

            เซาท์ซูดาน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซูดาน และชาด ห้าประเทศที่อยู่ในทำเนียบชาติที่ขาดเสถียรภาพมากที่สุดในโลกตามการจัดอันดับขององค์การกองทุนเพื่อสันติภาพ (Fund for Peace) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คือบ้านของพรานเถื่อนที่ออกล่าช้างในเขตประเทศอื่นๆ  ปีแล้วปีเล่าที่การฆ่าช้างครั้งใหญ่และน่าสะพรึงกลัวที่สุดหลายครั้งสาวกลับไปถึงซูดาน ซึ่งไม่มีช้างเหลือให้ล่าแล้ว แต่เป็นที่กบดานของผู้ก่อการร้ายนักล่าช้างชาวต่างชาติ และเป็นแหล่งซ่องสุมของกองกำลังติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) และกลุ่มโจรหัวรุนแรงชาวซูดานกลุ่มอื่นๆที่ก่อเหตุปล้นฆ่าข้ามพรมแดน

            เจ้าหน้าที่อุทยานมักเป็นกำลังหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ต้องรับมือกับเหล่านักล่า พวกเขาปักหลักสู้อยู่ในแนวหน้าของสงครามรุนแรงที่ส่งผลต่อเราทุกคน ทั้งๆที่มีจำนวนน้อยกว่าและมักขาดอาวุธยุทโธปกรณ์

                  อุทยานแห่งชาติกาแรมบาซึ่งตั้งอยู่ ณ หัวมุมทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และมีพรมแดนติดกับเซาท์ซูดาน เป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ที่นี่เป็นบ้านของโขลงช้างป่าและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลที่โด่งดังระดับโลก แต่เมื่อผมถามเด็กๆและผู้สูงอายุในหมู่บ้านคไพกา ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนด้านตะวันตกของอุทยานราว 50 กิโลเมตร ว่าใครเคยไปเที่ยวอุทยานบ้าง ไม่มีใครยกมือเลยสักคน แต่พอถามต่อว่า “มีกี่คนเคยถูกแอลอาร์เอลักพาตัว” ผมก็เข้าใจทันทีว่าเป็นเพราะเหตุใด

            คุณพ่อเออร์เนสต์ ซูกูเล บาทหลวงประจำหมู่บ้าน เล่าให้ผมฟังว่า เด็กหลายคนในสังฆมณฑลของท่านเห็นคนในครอบครัวถูก “กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า” หรือแอลอาร์เอ (Lord’s Resistance Army: LRA) สังหาร กลุ่มกบฏยูกันดากลุ่มนี้นำโดยโจเซฟ โคนี ผู้ก่อการร้ายที่ถูกหมายหัวมากที่สุดคนหนึ่งของแอฟริกา คุณพ่อซูกูเลตั้งกลุ่มช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกองกำลังของโคนีทำร้าย

            โคนีประกาศพันธกิจโค่นรัฐบาลยูกันดาในนามของชาวอาโชลีที่อยู่ทางตอนเหนือของยูกันดา นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 คนของโคนีเริ่มปฏิบัติการในยูกันดา เชื่อกันว่าพวกเขาสังหารผู้คนไปหลายหมื่นคน ข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงและเด็ก และลักพาตัวเด็กชายไปสร้างกองทัพทหารเด็กที่โตขึ้นมาเป็นนักฆ่า

            ต่อมาในปี 1994 โคนีออกจากยูกันดาและพากองกำลังสังหารโหดออกเดินทาง เขาไปซูดานเป็นที่แรกซึ่งในขณะนั้นสงครามกลางเมืองระหว่างซูดานเหนือกับซูดานใต้กำลังดำเนินอยู่ โคนีเสนอตัวช่วยรัฐบาลซูดานในกรุงคาร์ทูมบ่อนทำลายทางใต้ เพื่อแลกกับอาหาร ยา และอาวุธ เมื่อปี 2008 กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯขนานนามโคนีว่า “ผู้ก่อการร้ายคนสำคัญระดับโลก” และสหภาพแอฟริกา (African Union) ประกาศให้แอลอาร์เอเป็นองค์กรก่อการร้าย

            โคนีต้องเสียเจ้าภาพไปเมื่อซูดานเหนือและใต้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 2005 พอถึงเดือนมีนาคม ปี 2006 เขาหนีไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและตั้งค่ายพักที่อุทยานแห่งชาติกาแรมบา ซึ่งเวลานั้นมีประชากรช้างราว 4,000 ตัว จากกาแรมบา โคนีส่งสัญญาณว่าต้องการสงบศึกกับยูกันดา ขณะที่เขากับคนของเขาอยู่อย่างปลอดภัยภายในและรอบๆอุทยานด้วยอานิสงส์ของข้อตกลงหยุดยิง โคนีถึงกับเชิญผู้สื่อข่าวต่างชาติไปสัมภาษณ์ในค่าย ขณะเดียวกัน คนของเขาก็ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงด้วยการข้ามพรมแดนเข้าไปในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ที่นั่นพวกเขาลักพาตัวเด็กหลายร้อยคนและฉุดคร่าผู้หญิงกลับมาเป็นทาสบำเรอความใคร่

            คุณพ่อซูกูเลแนะนำให้ผมรู้จักเด็กสาวคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อลักพาตัวของพวกแอลอาร์เอเมื่อไม่นานมานี้ เกลี โอห์ วัย 16 ปี ทนทุกข์อยู่กับกองกำลังของโคนีถึงสองปีครึ่ง  เธอเล่าว่าเห็นช้างหลายตัวในอุทยานแห่งชาติกาแรมบาซึ่งเป็นจุดที่แอลอาร์เอจับตัวเธอไป “คนพวกนั้นบอกว่ายิ่งฆ่าช้างมากเท่าไร ก็ยิ่งได้งามากเท่านั้น”

            กองกำลังของโคนีลดลงจากช่วงเฟื่องฟูที่มีนักรบ 2,700 คนเมื่อปี 1999 มาอยู่ราว 150-250 คนในทุกวันนี้ การสังหารพลเรือนก็ลดลงด้วย จาก 1,252 คนเมื่อปี 2009 เหลือ 13 คนเมื่อปี 2014 แต่การลักพาตัวกลับสูงขึ้นอีกครั้ง ในหมู่บ้านแห่งแล้วแห่งเล่า ผมพบเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากกองกำลังของโคนีหลายคนที่เล่าว่าเคยกินเนื้อช้าง และเล่าถึงวิธีการที่พวกทหารฆ่าช้างและขนงาไป

            แต่ไปไหนเล่า

            ขณะเขียนเรื่องนี้ งาช้างปลอมของผมส่งข่าวล่าสุดมาจากเมืองเอดดาอัยน์ในซูดาน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาร์ทูมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 800 กิโลเมตร ผมรู้ว่ามันอยู่ในบ้านหลังไหนจากการใช้โปรแกรมกูเกิลเอิร์ท  ผมเห็นหลังคาสีฟ้าอ่อนจากหน้าจอ จนถึงตอนนี้ มันเดินทางรวมแล้ว 950 กิโลเมตรจากป่าสู่ทะเลทรายภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน เมื่อสารคดีเรื่องนี้อยู่ในมือของผู้อ่าน งาช้างของผมอาจไปถึงกรุงคาร์ทูม หรืออาจไปถึงประเทศปลายทางซึ่งเป็นตลาดงาช้างเถื่อนใหญ่ที่สุดอย่างจีนแล้วก็เป็นได้


เรื่องโดย ไบรอัน คริสตี
กันยายน 2558