ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษาไทย: เมฆหมอกแห่งอำนาจและเงินตราอบอวล แสงแห่งปัญญาพร่าเลือน  (อ่าน 856 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สภาพการศึกษาและมหาวิทยาลัยของประเทศไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ผมรับรู้ถึงกระแสความเข้มข้นของอำนาจและเงินตราเพิ่มมากขึ้นในทั่วทุกบริบท เหตุผลและความมีเหตุผลถูกทอดทิ้งเพื่อสังเวยอำนาจและความเชื่อที่มืดบอด ธรรมาภิบาลและจริยธรรมถูกท้าทายด้วยเงินตราอย่างรุนแรง พื้นที่ซึ่งสร้างความเจริญเติบโตทางปัญญา การแสวงหาความจริง และจริยธรรมพร่าเลือนลงไปอย่างน่าใจหาย
       
        แม้อยู่ภายในแวดวงการศึกษาระดับสูง ผมกลับประสบพบเห็นกับวิธีคิดและการให้เหตุผลของผู้ที่มีการศึกษาสูงหลายคนและบางคนเป็นผู้บริหารมีลักษณะที่หาได้แตกต่างจากชาวบ้านทั่วๆไปแต่อย่างใด ราวกับว่าสถาบันการศึกษาระดับสูงทั้งในและต่างประเทศที่พวกเขาเคยร่ำเรียนมาในอดีต มิได้ปลูกฝังวิธีคิดและ การให้เหตุผลที่ดีแก่คนเหล่านั้นเท่าไรนัก หรือมิฉะนั้นก็สถาบันเหล่านั้นอาจสอนและกล่อมเกลาอยู่บ้างระหว่างการเรียนและอยู่ในห้องเรียน ครั้นออกมาสู่โลกทางสังคมวัฒนธรรม ความเข้มข้นของการมีเหตุผลกลับถูกทำให้เจือจางลงไปโดยบริบททางอำนาจที่พวกเขาเสพและวัฒนธรรมที่พวกเขาสังกัด หรืออาจด้วยสาเหตุอื่นๆที่ไม่อาจคาดคะเนได้
       
        ระบบคิดอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารองค์การ รวมทั้งผู้บริหารทางการศึกษานิยมใช้คือ การใช้ความหวาดกลัวเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใต้บังคับบัญชา ความหวาดกลัวเป็นสิ่งยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออยู่เป็นประจำในหลากหลายระดับของสังคม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ภายในสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ความหวาดกลัวถูกขับเคลื่อนจากความปรารถนาของมนุษย์ในการอยู่รอดและปราศจากจากภยันตรายทั้งปวงที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองและต่อสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า เช่น ครอบครัว องค์การ และประเทศ
       
        การใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือมีหลากหลายรูปแบบ แต่แก่นของมันคือ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อมายับยั้งพฤติกรรมที่ต่อต้านความประสงค์ของผู้สร้าง ขณะเดียวกันก็หนุนเสริมให้เกิดการยอมตามความประสงค์ของผู้สร้าง ผู้บริหารการศึกษาจำนวนไม่น้อยจึงนิยมใช้วิธีการนี้เป็นเครื่องมือในการบริหาร
       
        สิ่งเกิดขึ้นในเวลานี้ภายในแวดวงการศึกษาคือ การข่มขู่ว่าจะไม่รับรองหลักสูตร หากมหาวิทยาลัยไม่เขียนหรือกรอกข้อความลงไปในสิ่งที่เรียกว่า “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา” (มคอ.) ซึ่งมีแบบฟอร์มทั้งหมด 7 แบบ ตั้งแต่ มคอ. 1 ถึง มคอ. 7 เครื่องมือนี้ผู้มีอำนาจในแวดวงการศึกษาเชื่ออย่างลมๆแล้งๆ ว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ชวนให้คิดว่าที่จริงพวกเขาอาจไม่เชื่อเครื่องมือนั้นก็ได้ แต่ประสงค์ใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อสร้างอำนาจและใช้อำนาจนั้นเพื่อกดข่มมหาวิทยาลัยเป็นหลัก
       
        ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งกลัวจนลนลาน เร่งรีบนำมากำหนดบังคับให้อาจารย์ดำเนินการตามความประสงค์ของกลุ่มอำนาจนำทางการศึกษา ทั้งที่พวกเขาส่วนมากก็ไม่เชื่อว่า มคอ. เป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริง แต่เมื่ออำนาจแผ่อิทธิพลลงมา ความกลัวเข้าครอบงำ พื้นที่ทางปัญญาก็หดหายลงไป
       
        การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ความเชื่อที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ทำให้เกิดอิสระในการบริหาร ความเป็นอิสระจะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมหาวิทยาลัยดีขึ้นทั้งในงานด้านการผลิตนักศึกษา ด้านการวิจัย และด้านการบริการสังคม ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ได้ออกนอกระบบ แต่ความเป็นจริงก็แสดงออกมาว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งมิได้มีผลลัพธ์เกิดขึ้นตามความเชื่ออันเป็นรากฐานของการขับเคลื่อนในระยะเริ่มต้นแต่อย่างใด
       
        มหาวิทยาลัยนอกระบบหลายแห่งชำรุดทรุดโทรมลงไปทั้งคุณภาพการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ บางแห่งแปรสภาพเป็นศูนย์การค้า บางแห่งมีปัญหาเรื่องธรรมาธิบาลอย่างรุนแรงทั้งในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และระดับกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีการทุจริตคอรัปชั่นจนเป็นเรื่องอื้อฉาวเป็นที่รู้กันทั่วทั้งสังคม จนกระทั่งชาวมหาวิทยาลัยจำนวนมากแทบต้องเอาหน้ามุดดิน การกล่าวว่ามหาวิทยาลัยเป็นดินแดนที่ปลอดการทุจริต จึงเป็นเพียงตำนานที่ยาวนานซึ่งถูกฝังไว้ในอดีตเท่านั้น
       
        ด้านอาจารย์ จากเคยมีสถานภาพเป็นปูชนียบุคคลอันน่านับถือ ก็ถูกทำให้เป็นเครื่องจักรในการผลิตบัณฑิต ผลิตงานวิจัย ผลิตบทความวิชาการ และหาเงินเข้ามหาวิทยาลัยราวกับเป็น “กรรมกรที่ใช้แรงงานสมอง” หรือลูกจ้างบริษัทเอกชน ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ปัญญาและงานวิชาการที่มีคุณภาพไหนเลยจะเบ่งบานได้ ที่เห็นและเป็นอยู่ ก็มีแต่ปริมาณของตัวอักษรที่ซ้ำๆกันและกระดาษกองพะเนิน ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ไม่มีใครอ่าน
       
        มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ยังไม่ออกนอกระบบราชการ ผู้บริหารก็มีความกระเหี้ยนกระหือรือในการผลักดันให้ออกจากระบบราชการอย่างไม่ลืมหูลืมตา ยังไม่ทันตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะให้ออกหรือไม่ออก ระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย ก็เร่งรีบเขียนร่างพระราชบัญญัติเตรียมการรอตั้งแต่ไก่โห่ ซ้ำยังข่มขู่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยเกิดความหวาดกลัวโดยการสร้างภาพเชิงลบอันเกิดจากจินตนาการหรือมโนเอาเองว่าสิ่งที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นในอนาคต หากไม่ออกนอกระบบราชการ
       
        ขณะเดียวกันก็สร้างความหวังลมๆแล้งๆเชิงโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหวังจะดึงการสนับสนุน ทั้งปกปิดกลบเกลื่อนข้อเสียที่เกิดขึ้นจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งอำนาจ การสืบทอดอำนาจและผลประโยชน์ที่ฝ่ายบริหารได้รับจากการออกนอกระบบด้วย
       
        ปัญหาใหญ่ของการบริหารมหาวิทยาลัยนอกระบบคือ ปัญหา “อธรรมาภิบาล” อันเป็นผลมาจากการที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมาก แต่ไร้การตรวจสอบและควบคุม อีกทั้งเรื่องการที่ไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าเป็นกันกี่วาระติดต่อกันก็ได้ จึงทำให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งสร้างอำนาจและอิทธิพลครอบงำมหาวิทยาลัยได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกลายเป็นแก๊งมาเฟียทางการศึกษาขึ้นมา
       
        ยิ่งมหาวิทยาลัยใดที่มีวงจรปีศาจ ผลัดกันเกาหลังระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยและกรรมการสภาแล้วไซร้ มหาวิทยาลัยนั้นก็มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะได้ในไม่ช้า กระบวนการผลัดกันเกาหลังนี้ เริ่มจากมีกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งประสงค์สืบทอดอำนาจ พวกเขาใช้บทบาทในฐานะผู้บริหารแปลงสภาพตนเองให้เป็นผู้กำกับและใช้อำนาจสั่งการพวกพ้องของตนเอง โดยกำหนดชื่อบุคคลที่จะถูกเลือกมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยไว้ล่วงหน้า บางมหาวิทยาลัยถึงกับมีการทาบทามบุคคลที่ผู้บริหารหมายตาไว้ล่วงหน้าหลายเดือน ก่อนที่มีจะมีกระบวนการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป ขนาดยังไม่นอกนอกระบบราชการ ก็ยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลขนาดนี้ หากออกนอกระบบราชการจะเป็นถึงขนาดไหน
       
        เมื่อได้กรรมการสภามหาวิทยาลัยแล้ว กรรมการเหล่านั้นก็เลือกกลุ่มผู้บริหารชุดที่เลือกตนเองเข้ามาเป็นกรรมการเป็นผู้บริหารอีกครั้งในวาระต่อไป เรียกว่าผลัดกันชง ผลัดกันตั้ง และเมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนเดิมหมดวาระ พวกเขาก็จะวางทายาทสืบทอดอำนาจกันภายในกลุ่ม จากนั้นก็จะดำเนินการวงจรปีศาจนี้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยปัญหาการทุจริต การไร้ธรรมาภิบาล และความเสื่อมของระบบการศึกษาโดยรวม
       
        สิ่งที่เห็นและรับรู้หลายครั้งทำให้เกิดความพิศวงกับตรรกะและการให้เห็นเหตุผลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น กรณีการกำหนดจำนวนวาระของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งยืนกรานอย่างแข็งขันไม่ให้มีการกำหนดจำนวนวาระของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่า “หาบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยยาก ไม่ค่อยมีคนอยากมาเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย จึงไม่ควรกำหนดจำนวนวาระไว้” นัยคือให้กลุ่มเดิมเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยติดต่อกันไปเรื่อยๆได้จนกว่าจะตายไป หรือจนกว่าผู้บริหารไม่ประสงค์ให้บุคคลนั้นเป็นกรรมการสภาอีกต่อไปนั่นแหละ การให้เหตุผลเช่นนี้ดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับสิ่งที่เรียกว่าการมีปัญญาอยู่มากโข
       
        การศึกษาและมหาวิทยาลัยในยามนี้มีความเป็นจริงอันมืดดำหลากหลายมิติแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายใต้มายาภาพอันสวยหรู เมฆหมอกแห่งอำนาจ การเล่นพวกเล่นพ้อง ความฉาบฉวย และการมุ่งสู่การแสวงหาเงินตราเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นและแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่การเจริญเติบโตทางปัญญา การแสวงหาความจริง และความกล้าหาญทางจริยธรรมในการชี้นำสังคมของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าปัญญาชนได้มืดสลัว พร่าเลือนลงไปเรื่อยๆ ในยามนี้แสงสว่างแห่งปัญญาและจริยธรรมได้อ่อนล้าลงไปเสียแล้ว

ปัญญาพลวัตร
       โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ASTVผู้จัดการรายวัน    
   25 กันยายน 2558