แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 51
46

ภาพ : ปริศนาดวงตา
ภาพโดย : National Geographic
คำบรรยายภาพ : ดวงตาปูดโปนรูปร่างคล้ายผ้าโพกศีรษะนี้เอื้อให้มองเห็นในสภาพแสงน้อย และพบในแมลงชีปะขาวเพศผู้บางชนิดเท่านั้น

ช่างภาพผู้หลงใหลการถ่ายภาพโลกใบจิ๋วอาศัยเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง เผยความน่าอัศจรรย์แห่งดวงตาของเหล่าแมลงตัวเล็กจ้อย

ผมสนใจเรื่องวิวัฒนาการเป็นพิเศษ และตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ดวงตาก็มีพัฒนาการในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆได้อย่างน่าทึ่ง  แมลงชีปะขาวเพศผู้ในภาพนี้มีดวงตาปูดโปนขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายผ้าโพกศีรษะ [เป็นที่มาของชื่อ turban eyes) มันใช้ดวงตานี้ในการสอดส่องมองหาเงาร่างของเพศเมียท่ามกลางแสงสลัวยามโพล้เพล้ ลองคิดจินตนาการว่า ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่วันเดียว เฉกเช่นชีปะขาวเพศผู้เหล่านี้ คุณคงไม่เสียเวลาไปการกิน แต่คุณต้องมีดวงตาขนาดใหญ่เอาการเพื่อตามหาเพศเมียให้พบก่อนที่ตัวเองจะตายลง

                ผมเป็นนักวิจัยมะเร็ง  แต่ก็ทำงานเป็นช่างภาพแนววิทยาศาสตร์โดยใช้นามปากกาว่า “ไมโครนอต” (Micronaut) ด้วยที่ใช้คำว่า “ไมโคร” ก็เพราะผมเชี่ยวชาญการถ่ายภาพสิ่งของเล็กๆ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (scanning electron microscope) ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ในเมืองมุทเทนซ์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนคำว่า “นอต” นั้นมาจากว่าผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนักบินอวกาศ (astronaut) ผู้ท่องไปในโลกใบจิ๋วและค้นพบสิ่งต่างๆ  ภาพที่ได้จากกล้องเป็นภาพขาวดำ และผมต้องใช้เวลาร่วมสัปดาห์กว่าจะเติมสีเข้าไป งานวิจัยเช่นนี้ไม่เพียงสำคัญในเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสวยงามสุดๆ อีกด้วย 



 เรื่องโดย มาร์ติน เอิกเกร์ลี
มิถุนายน 2558

47

ภาพ : กัญชาแรงฤทธิ์
ภาพโดย : ลินน์ จอห์นสัน
คำบรรยายภาพ : ผู้สนับสนุนกัญชาเชื่อว่า พืชที่ถูกใส่ร้ายมาเป็นเวลานานนี้อาจเป็นคุณต่อชีวิตดี โดยช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บและบรรเทา ความเจ็บปวด คนงานไร่กัญชาในรัฐซีแอตเทิลถือช่อดอกที่มียางของกัญชาสายพันธุ์ชื่อ บลูเบอรีชีสเค้ก

กัญชากำลังมาแรงในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมๆกับการถกเถียงเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์และโทษของพืชชนิดนี้

กัญชาอยู่กับมนุษยชาติมานานแสนนานแล้ว ในไซบีเรียมีผู้พบเมล็ดกัญชาที่­ไหม้เป็นเถ้าถ่านอยู่ภายในเนินฝังศพอายุ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนใช้กัญชาเป็นยามานานหลายพันปี กัญชาหยั่งรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯเช่นกัน ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้  กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยมักพบในทิงเจอร์และสารสกัดต่างๆ 

จากนั้น  ท่ามกลางกระแสต่อต้านกัญชาที่โหมแรง  กัญชาก็ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ และการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ก็หยุดชะงักลงเกือบตลอด 70 ปีต่อมา ในปี 1970 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทำให้การศึกษากัญชายิ่งยากขึ้นไปอีกด้วยการกำหนดให้กัญชาเป็นยาประเภท 1 หรือสารอันตรายที่ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และมีโอกาสเสพติดสูงประเภทเดียวกับเฮโรอีน ดังนั้นหากว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้ว ในสหรัฐฯ คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาจึงถือเป็นอาชญากร

แต่ปัจจุบัน เมื่อมีผู้นำกัญชาไปใช้เป็นยารักษาโรคมากขึ้น วิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องนี้จึงเหมือนเกิดใหม่อีกครั้ง เรากำลังค้นพบความน่าประหลาดใจหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในพืชซึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้าม

ในรัฐ 23 รัฐของสหรัฐฯ และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เป็นบางกรณีอย่างถูกกฎหมาย  และชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนให้การเสพกกัญชาเพื่อการหย่อนใจเป็นสิ่งถูกกฎหมาย  ขณะที่หลายประเทศกำลังทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาเช่นกัน ในอุรุกวัย  มีการลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โปรตุเกสแก้กฎหมายให้การครอบครองกัญชาเพื่อเสพเองไม่เป็นความผิดทางอาญา อิสราเอล แคนาดาและเนเธอร์แลนด์มีโครงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศยังออกกฎหมายอนุญาตให้ครอบครองกัญชาได้

กัญชาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น การสูบกัญชาอาจทำให้คนหัวเราะโดยไม่มีสาเหตุชั่วขณะ จ้องมองของพื้นๆใกล้ตัว (อย่างรองเท้า) หลงลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสองวินาทีก่อน และอยากกินขนมขบเคี้ยว แม้ว่ายังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากการเสพเกินขนาด แต่กัญชาโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ออกฤทธิ์แรงในปัจจุบันยังถือว่าเป็นยาแรง และในบางกรณีก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน

แต่สำหรับหลายคน กัญชาเปรียบเสมือนยาบรรเทาความเจ็บปวด  ช่วยให้นอนหลับ กระตุ้นความอยากอาหาร อีกทั้งช่วยทุเลาเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นในชีวิต  ผู้นิยมชมชอบกัญชากล่าวว่า  กัญชาช่วยให้คลายเครียด  เชื่อกันว่ากัญชายังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น เป็นยาระงับปวด  ยาแก้อาเจียน  ยาขยายหลอดลม และยาแก้อักเสบ นักวิทยาศาสตร์บางรายยืนยันว่าสารประกอบบางอย่างในพืชชนิดนี้อาจมีส่วนช่วยในกระบวนการทำงานบางอย่างของร่างกายที่จำเป็นต่อชีวิต  เช่น ป้องกันการบาดเจ็บทางสมอง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และช่วย “ลบความทรงจำ” หลังเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆได้

ความเร่งรีบในการทำให้กัญชาเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน  การเก็บภาษีและออกกฎระเบียบควบคุม ตลอดจนการทำให้กัญช้าเป็นสิ่งถูกกฎหมายและกลายเป็นสินค้า  ก่อให้ให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า พืชชนิดนี้มีอะไรดีซ่อนอยู่ กัญชาส่งผลต่อร่างกายและสมองอย่างไร สารเคมีในกัญชาอาจบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท และสารเคมีเหล่านั้นจะนำเราไปสู่ตัวยาชนิดใหม่ๆได้หรือไม่

หากกัญชามีอะไรบางอย่างบอกเรา สิ่งนั้นคืออะไรกันแน่

 

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1963 นักเคมีอินทรีย์หนุ่มชาวอิสราเอลชื่อ ราฟาเอล เมคูลัม จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนนอกเมืองเทลอาวีฟ ตัดสินใจศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของพืชชนิดนี้ เขานึกประหลาดใจที่ว่า ทั้งๆที่เราสกัดมอร์ฟีนได้จากฝิ่นตั้งแต่ปี 1805 และสกัดโคเคนจากใบโคคาได้ในอีก 50 ปีต่อมา แต่นักวิทยาศาสตร์กลับไม่รู้เลยว่าอะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกัญชา “มันก็แค่พืชชนิดหนึ่ง” เมคูลัมซึ่งตอนนี้อายุ 84 ปี บอกและเสริมว่า “เหมือนอะไรที่ยุ่งเหยิงมีสารประกอบที่ไม่สามารถระบุได้อยู่หลายอย่าง”

เมคูลัมจึงติดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอิสราเอลเพื่อขอกัญชาเลบานอน 5 กิโลกรัมซึ่งเป็นของกลางที่ยึดมาได้ เขากับทีมนักวิจัยสกัดและบางครั้งก็สังเคราะห์สารประกอบออกมาหลายชุด  เขาฉีดสารแต่ละชุดให้ลิงวอก และพบว่ามีเพียงชุดเดียวที่ออกฤทธิ์สังเกตเห็นได้  เมื่อได้รับการฉีดสารประกอบนี้ ลิงวอกซึ่งปกติค่อนข้างเกรี้ยกราดกลับสงบลงอย่างเห็นได้ชัด

การทดสอบเพิ่มเติมนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่โลกรู้จักดีในปัจจุบัน กล่าวคือ สารประกอบที่ว่านี้เป็นสารออกฤทธิ์หลัก ในกัญชาที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ  เป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใครเคลิบเคลิ้ม  เมคูลัมและคณะค้นพบเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือทีเอชซี (tetrahydrocannabinol: THC) และยังเผยโครงสร้างทางเคมีของแคนนาบิไดออลหรือซีบีดี (cannabidiol: CBD) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างในกัญชาซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลายอย่างโดยไม่มีผลทางจิตประสาทต่อมนุษย์

อิสราเอลเป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องการศึกษากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เมคูลัมมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสาขาวิชานี้ และเขาก็ภูมิใจกับผลลัพธ์ที่ได้  ผู้ป่วยมากกว่า 20,000 รายได้รับใบอนุญาตใช้กัญชาเพื่อการรักษาภาวะบางอย่าง เช่น ต้อหิน  โรคโครห์น (Crohn’s diseas) หรือลำไส้เล็กอุดตันบางส่วน การอักเสบ อาการเบื่ออาหาร กลุ่มอาการทูเรตต์  (Tourette’s syndrome) และโรคหืด

แต่ถึงกระนั้น เมคูลัมไม่สู้จะเห็นด้วยกับการทำให้การเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย  เขาไม่คิด   ว่าคนที่มีกัญชาในครอบครองควรติดคุก แต่ก็ยืนยันว่า  กัญชา “ไม่ใช่สารที่ไร้อันตราย” โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว เขาอ้างผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การใช้กัญชาสายพันธุ์ที่มีสารทีเอชซีในปริมาณสูงเป็นเวลานานติดต่อกันส่งผลต่อพัฒนาการของสมองที่กำลังเจริญเติบโต และเสริมว่า กัญชากระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลขั้นรุนแรงได้ในบางคน เมคูลัมยังกล่าวถึงผลการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่า กัญชาอาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรคจิตเภทในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคนี้

ถ้าเลือกได้ เมคูลัมคงอยากเห็นวัฒนธรรมการเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจหลีกทางให้กับการใช้กัญชาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เขายังบ่นว่า “ตอนนี้คนที่ใช้กัญชายังไม่รู้ว่าพวกเขาได้รับสารอะไรเข้าไปบ้าง ถ้าจะให้การใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ผลอย่างที่ต้องการ เราต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ถ้าคุณวัดไม่ได้ ก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ”


เรื่องโดย แฮมป์ตัน ไซด์ส
มิถุนายน 2558

48

ภาพ : เทพเจ้าผู้มีลมหายใจแห่งเนปาล
ภาพโดย : สเตฟานี ซินแคลร์
คำบรรยายภาพ : เด็กหญิงทัณโคล วัย 9 ขวบ กุมารีแห่งโตขะ ได้รับเลือกให้เป็นเทพเจ้าผู้มีชีวิตตั้งแต่ยังแบเบาะ เชื่อกันว่าดวงตาของ กุมารี มีอำนาจดึงดูดผู้ที่ได้เห็นให้สัมผัสกับเทพเจ้าโดยตรง ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง หน้าผากของเธอจะระบายสีแดง เป็นสัญลักษณ์แทนพลังแห่งการสรรค์สร้าง

ตามประเพณีเก่าแก่ของเนปาล เด็กหญิงตัวน้อยอาจได้รับการบูชาในฐานะเทพเจ้าผู้มีชีวิต แต่ความเชื่อนี้จะดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อีกนานเพียงใด

ยุณิกา วัชราจารย์ อาจกำลังจะกลายเป็นบุคคลผู้ได้รับความเคารพมากที่สุดคนหนึ่งในเนปาล ปัจจุบัน เด็กหญิงวัยหกขวบเป็นนักเรียนหญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง แม้จะมีทีท่าเอียงอาย แต่ดวงตาของเธอกลับทอประกายความอยากรู้อยากเห็น  เด็กหญิงไม่คุ้นกับการรับแขกแปลกหน้า สองข้างแก้มผุดรอยลักยิ้มเมื่อฉันถามเธอว่า จะทำอะไรหากบ่ายวันนี้ได้รับเลือกเป็น กุมารี หรือ เทพเจ้าผู้มีชีวิต ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้ทุกคนต้องคุกเข่าลงเมื่ออยู่เบื้องหน้าเธอ

“หนูต้องไม่พูดเลยค่ะ” เธอตอบ “ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน ต้องเรียนหนังสือที่บ้าน แล้วก็ให้คนมากราบไหว้ทุกวันค่ะ”

ยุณิกาเป็นชาวเนปาลเชื้อสายเนวาร์ (Newar) เธออาศัยอยู่ที่เมืองปาทาน ชื่อทางการของเมืองนี้คือลลิตปุระมีประชากรราว 230,000 คน ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เมืองนี้ตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุตรงเชิงเทือกเขาหิมาลัยชาวเนวาร์ภาคภูมิใจในความเป็นผู้พิทักษ์วัฒนธรรมของหุบเขาแห่งนี้ และเสาหลักเก่าแก่ต้นหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นคือการบูชาเด็กหญิงวัยเยาว์ในฐานะเทพเจ้าผู้มีชีวิต

เมื่อเราออกจากบ้านของเธอซึ่งเป็นอาคารเก่า เพดานต่ำ สร้างด้วยอิฐและท่อนซุง ในละแวกที่เรียกว่า ฐาพู ยุณิกาเดินพลางกระโดดพลางไปตามถนนแคบๆ จูงมือสาพิตาผู้เป็นแม่ และพิผาสา พี่สาว ไปด้วย ลานหขาพะหาล (Hakha Bahal) เดินไปไม่ไกล ลานที่ว่านี้เป็นที่อาศัยของสมาชิกครอบครัวขยายของเธอ รวมทั้งเป็นที่ชุมนุมประกอบพิธีทางศาสนาและจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆมานานหลายศตวรรษแล้ว ทั้งยังเป็นสถานที่คัดเลือกกุมารีในขั้นตอนแรก

กุมารีเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงในชุมชนชาวเนวาร์ เชื่อกันว่าเทพเจ้าในร่างเด็กหญิงเหล่านี้มีอำนาจในการทำนายอนาคต สามารถรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ดลบันดาลให้สมปรารถนา ตลอดจนอำนวยพรให้พ้นภยันตรายและเจริญรุ่งเรืองได้ เหนือสิ่งอื่นใด เชื่อกันว่ากุมารีเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกแห่งทวยเทพ

สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวเนวาร์ กุมารีคืออวตารของวัชรเทวี ซึ่งเปรียบเหมือนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในพุทธศาสนาตันตรยาน สำหรับชาวฮินดูแล้ว กุมารีคืออวตารของตาเลจู เทวีผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระนางทุรคา [ปางดุร้ายของพระแม่อุมาเทวี ชายาของพระศิวะ]

ทุกวันนี้ มีกุมารีเพียงสิบองค์ในเนปาล เก้าองค์อยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ กุมารียังคงคัดเลือกมาจากครอบครัวที่ผูกพันกับ พะหาล (bahal) หรือชุมชนลานบ้านแบบโบราณบางแห่งเท่านั้น และบรรพบุรุษของกุมารีต้องมาจากวรรณะสูง การได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ถือเป็นเกียรติสูงสุด เป็นพรอันใหญ่หลวงเกินพรรณนาสำหรับครอบครัวของกุมารีเอง

กุมารีเป็นภาระรับผิดชอบใหญ่หลวงของทุกคน และคนที่แบกภาระหนักที่สุดคงไม่พ้นราเมศ พ่อของยุณิกาในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัว กุมารีต้องสวมอาภรณ์พิเศษและแต่งหน้าทุกวัน มีชุดใหม่ตัดเย็บด้วยผ้าราคาแพงสำหรับงานเฉลิมฉลองอย่างน้อยปีละสองครั้ง ต้องมีห้องหับแยกต่างหากในบ้าน เพื่อใช้เป็นห้องสำหรับทำพิธี บูชา มีบัลลังก์ที่ประทับเพื่อให้เทพเจ้าในร่างเด็กหญิงต้อนรับญาติโยมที่มาสักการะ  ส่วนครอบครัวก็ต้องประกอบพิธี นิตยบูชา (nitya puja) หรือพิธีบูชาประจำวันเบื้องหน้าเธอทุกเช้า  กุมารีจะออกไปสู่โลกภายนอกไม่ได้ เว้นก็แต่ในวาระเฉลิมฉลองเท่านั้น แล้วยังต้องมีคนคอยอุ้มหรือนั่งเสลี่ยงเพื่อไม่ให้เท้าสัมผัสพื้น  ที่สำคัญที่สุด กุมารีจะต้องไม่มีเลือดตกยางออก เพราะเชื่อกันว่า  ดวงวิญญาณของเทวีหรือศักติที่มาสถิตอยู่ในร่างของเด็กหญิงขณะเป็นกุมารีนั้นจะละร่างนี้ไปทันทีเมื่อเธอเสียโลหิต แม้บาดแผลที่เกิดโดยไม่เจตนาก็ทำให้วาระแห่งการเป็นกุมารีต้องสิ้นสุดลง และเทพเจ้าผู้มีชีวิตจะพ้นจากตำแหน่งเสมอเมื่อเธอมีรอบเดือนครั้งแรก

ราเมศยังกังวลเรื่องอนาคตของลูกสาวหากได้รับเลือกด้วย เธอจะต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบสามัญชน แต่หลังจากได้รับการดูแลประคบประหงมและแยกตัวจากสังคมนานหลายปี การเปลี่ยนผ่านสถานะจากเทพเจ้าสู่คนเดินดินอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้คนมาชุมนุมกันมากแล้ว  ตอนที่ยุณิกา สาพิตา พิผาสา และฉันไปถึงลานหขาพะหาล  อัญชิลา วัชราจารย์ วัยสามขวบ นั่งอยู่ท่ามกลางชาวบ้านที่มาร่วมพิธีและผู้มาให้กำลังใจ  หนูน้อยเป็นผู้สมัครเข้าคัดเลือกเป็นกุมารีอีกเพียงคนเดียวอนันต์ ชวาลานันทะ ราโชปัธยายะ หัวหน้านักบวชของวิหารเทวีตาเลจู กำลังรออยู่ที่ลาน หัวหน้านักบวชวัย 77 ปีผู้นี้บอกกับฉันอย่างเศร้าใจว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในรอบสุดท้ายเพียงสองคน

ราโชปัธยายะนำเด็กหญิงทั้งสองเข้าไปในห้องที่ปิดประตูตรงมุมหนึ่งของลาน ขั้นตอนแรกของการคัดเลือกที่ปิดเป็นความลับนี้คือการลดจำนวนผู้สมัครให้เหลือสามคน แต่เนื่องจากมีผู้สมัครเพียงสองคน นี่จึงเป็นเพียงการทำตามพิธีเท่านั้น และเสร็จสิ้นลงในเวลาไม่กี่นาที

ในขั้นตอนสุดท้าย ไมยา ภรรยาของราโชปัธยายะ จะเป็นผู้คัดเลือกที่บ้านของพวกเขาในย่านที่เรียกว่าปิมพะหาล ทางเหนือของลานหขาพะหาล  ทำให้ขบวนของพวกเราทั้งหมดราว 40 คน ซึ่งมีทั้งคนที่มาสังเกตการณ์และผู้มาให้กำลังใจผู้สมัคร พากันเดินตามนักบวช ผู้สมัครเป็นกุมารี และสมาชิกในครอบครัวของพวกเธอไป ขบวนใช้เวลาเดินราวสิบนาที

ไมยาซึ่งเตรียมพร้อมด้วยการนั่งสมาธิ กำลังคอยท่าอยู่ในห้องว่างชั้นบน มีตะเกียง หม้อน้ำ พวงมาลัย ถาดใส่เครื่องบูชา ถ้วยใส่นมเปรี้ยว กระทงใส่ข้าวแผ่นแบนๆที่เรียกว่า พาชี และเครื่องใช้ในพิธีอื่นๆ ทุกอย่างวางอยู่บนพื้นปูนที่ละเลงทับด้วยดินเหนียวสีแดงผสมกับมูลวัว ซึ่งเชื่อว่าทำให้พื้นห้องบริเวณนั้นสะอาดบริสุทธิ์ เด็กหญิงทั้งสองที่นำตัวแยกมาจากมารดาถูกจัดให้นั่งบนเบาะสีแดงตรงหน้าไมยา อัญชิลาน้อยตื่นเต้น แม่หนูกระโดดลุกขึ้นจากเบาะที่นั่งของตัวเองวิ่งไปที่เบาะของยุณิกา แล้ววิ่งกลับ ส่วนยุณิกานั่งนิ่งราวกับก้อนหิน แต่ดวงตากวาดมองไปทั่วห้องอย่างรวดเร็ว ผู้ติดตามทุกคนรวมทั้งแม่ของผู้สมัครทั้งสองถูกพาออกจากห้อง เหลือเพียงไมยาและผู้ช่วย คือลูกสะใภ้เท่านั้น ที่อยู่ในห้องกับผู้สมัคร

พวกเราออกันอยู่ที่ปล่องบันไดด้านนอก อาทิตย์เริ่มอ่อนแสง เราได้ยินเสียงสวดมนต์ทุ้มต่ำ เสียงสั่นกระดิ่ง และกลิ่นธูปที่ลอยออกมาจากในห้อง ครู่ต่อมาเราได้ยินเสียงอัญชิลาร้องไห้ดังลั่น พอถึงเวลาที่ประตูเปิดออก หนูน้อยวิ่งลนลานหน้าตาตื่นออกไปหาผู้เป็นแม่ ส่วนยุณิกายังคงนั่งสงบนิ่งอยู่บนเบาะ หลังจากช่วงเวลาแห่งการรอคอยอันน่าอึดอัดทรมานผ่านพ้นไป บรรยากาศก็ผ่อนคลายลง

ด้วยความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น ผู้ได้รับเลือกเป็นกุมารีเริ่มรับเครื่องบูชาจากผู้มาให้กำลังใจซึ่งเข้ามาคุกเข่าและก้มศีรษะจนหน้าผากจรดเท้าของเธอทีละคน นับจากนี้ เธอจะไม่ใช่ยุณิกาอีกต่อไป แต่เป็นดยาห์ เมจู หรือกุมารีเทวี


 เรื่องโดย อิซาเบลลา ทรี
มิถุนายน 2558

49

ภาพ : เคราะห์กรรมของทะเลอารัล
ภาพโดย : แคโรลิน เดรก
คำบรรยายภาพ : พื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของก้นทะเลในคาซัคสถาน กลายสภาพเป็นแอ่งเกลือปนเปื้อนสารเคมีจากการทำไร่ฝ้าย

อนาคตอันมืดมนของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เคยเลี้ยงปากท้องผู้คนและชาวประมงและเรือกสวนไร่นา

"อวสานของโลกมีหน้าตาแบบนี้ครับ" ยูซุป คามาลอฟ พูดขึ้นพลางผายมือไปทางทะเลทรายปกคลุมด้วยไม้พุ่มที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้าเรา "ถ้าวันสิ้นโลกมาถึงจริงๆสักวันหนึ่งข้างหน้า ชาวคาราคัลปัคสถานคงเป็นคนกลุ่มเดียวที่เหลือรอด  เพราะพวกเราใช้ชีวิตอยู่กับมันอยู่แล้ว"

                จากจุดที่เรายืนอยู่บนยอดเนินทรายลาดชันทางตอนเหนือของอุซเบกิสถาน ทัศนียภาพที่เห็นอาจเป็นทะเลทรายแห่งใดก็ได้ ถ้าไม่นับกองเปลือกหอยกับซากเรือประมงที่นอนจมทรายสนิมกรังอยู่หลายลำ ในอดีต ที่ตรงนี้เคยเป็นปลายแหลมยื่นลงไปในทะเลอารัลซึ่งกระทั่งถึงทศวรรษ 1960  ยังคงเป็นน่านน้ำภายในแผ่นดินขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก ครอบคลุมพื้นที่ราว 67,000 ตางรางกิโลเมตร ข้างหลังเราคือเมืองมุยโนกซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านประมงอันรุ่งเรืองและคลาคล่ำไปด้วยโรงงานอาหารกระป๋อง และแม้จะล่วงเข้าทศวรรษ 1980 ก็ยังมีปลาให้แปรรูปปีละหลายพันตัน เมื่อ 50 ปีก่อน ชายฝั่งด้านใต้ของทะเลอารัลอยู่ตรงจุดที่เรายืนอยู่ แต่ปัจจุบันชายฝั่งที่ว่าอยู่ไกลออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 90 กิโลเมตร

                คามาลอฟพาผมมาที่นี่เพื่อให้ดูสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสด้านพลังงานลมที่สถาบันวิทยาศาสตร์อุซเบกิสถาน และยังเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยรั้งตำแหน่งประธานสหภาพเพื่อการพิทักษ์ทะเลอารัลและแม่น้ำอามูดาร์ยา คามาลอฟในวัย 64 ปี ผู้มีรูปร่างอ้วนท้วนและผมขาวดกหนา  มาจากครอบครัวชาวอุซเบกที่ทรงอิทธิพลมาตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อ

 

ทะเลอารัลตั้งคร่อมระหว่างคาซัคสถานกับอุซเบกิสถาน และได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำสองสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำอามูดาร์ยาและแม่น้ำซีร์ดาร์ยามาตลอดระยะเวลาหลายพันปี  และเนื่องจากไม่มีช่องทางน้ำไหลออก ระดับน้ำในทะเลแห่งนี้จึงคงอยู่โดยอาศัยสมดุลทางธรรมชาติระหว่างปริมาณน้ำไหลเข้ากับการระเหยของน้ำ

                เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ทะเลอารัล รวมทั้งดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันกว้างใหญ่ ชุบเลี้ยงชุมชนน้อยใหญ่ตามเส้นทางสายไหมที่เชื่อมระหว่างประเทศจีนกับยุโรป กลุ่มประชากรเก่าแก่ในยุคนั้น ทั้งชาวทาจิก อุซเบก คาซัค และชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ล้วนเฟื่องฟูในฐานะชาวไร่ชาวนา ชาวประมง คนเลี้ยงปศุสัตว์ พ่อค้าวาณิช และช่างฝีมือ

                สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปหลังสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโซเวียตที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1920 และสตาลินตัดสินใจเปลี่ยนโฉมหน้าสาธารณรัฐต่างๆในเอเชียกลางของเขาให้กลายเป็นไร่ฝ้ายผืนกว้างใหญ่ไพศาล แต่ภูมิอากาศแห้งแล้งในพื้นที่แถบนี้ของโลกไม่เหมาะกับการมปลูกพืชไร่ที่กระหายน้ำเช่นนั้น ชาวโซเวียตจึงลงมือก่อสร้างโครงการวิศวกรรมอันทะเยอทะยานที่สุดโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก นั่นคือการขุดเครือข่ายคลองชลประทานด้วยแรงงานคนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำอามูดาร์ยาและซีร์ดาร์ยาไปยังทะเลทรายโดยรอบ

                "ระบบชลประทานนี้ทำงานได้อย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพกระทั่งถึงช่วงต้นทศวรรษ 1960" ฟิลิป มิคลิน อธิบายให้ผมฟังทางโทรศัพท์ เขาเป็นอาจารย์วิชาภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นมิชิแกน ผู้ศึกษาประเด็นปัญหาการบริหารจัดการน้ำของอดีตสหภาพโซเวียต และเดินทางไปยังเอเชียกลางมาแล้วราว 25 ครั้งเริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการล่มสลายของทะเลอารัลด้วยตาตนเอง "ตอนที่โซเวียตขุดคลองชลประทานเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 นั่นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายแล้วครับ" เขาเปรียบเปรย "จู่ๆระบบก็ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป พวกเขารู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ แต่ที่ไม่รู้หรือไม่ตระหนักคือขอบข่ายของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศในภาพรวม  และคงไม่คาดคิดว่าทะเลจะเหือดหายไปรวดเร็วถึงเพียงนี้”

ครั้นถึงปี 1987 ระดับน้ำในทะเลอารัลก็ลดฮวบลงจนแบ่งแยกออกเป็นสองน่านน้ำ  โดยทะเลซีกเหนืออยู่ในเขตคาซัคสถาน ส่วนซีกใต้ที่มีขนาดใหญ่กว่าทอดตัวอยู่ในคาราคัลปัคสถาน ต่อมาในปี 2002 ระดับน้ำในทะเลซีกใต้ลดต่ำลงมากจนแยกออกเป็นทะเลฝั่งตะวันออกและตะวันวันตก ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา น้ำในทะเลฝั่งตะวันออกก็เหือดแห้งไปจนหมดสิ้น

                เรื่องน่ายินดีเพียงเรื่องเดียวในมหากาพย์แห่งความโศกสลดนี้  คือการฟื้นตัวของทะเลซีกเหนือเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2005 หลังได้รับเงินกู้จากธนาคารโลก คาซัคสถานก็สามารถสร้างเขื่อนยาว 13 กิโลเมตรบนชายฝั่งด้านใต้ของทะเลซีกเหนือ ก่อให้เกิดน่านน้ำแยกขาดจากกันอย่างสมบูรณ์และได้รับน้ำหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำซีร์ดาร์ยา ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนนี้ ทะเลซีกเหนือและกิจการประมงในน่านน้ำนี้ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าที่คาดกันไว้ แต่เขื่อนได้ตัดขาดทะเลซีกใต้จากแหล่งน้ำสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกฝาโลงหรือกำหนดจุดจบไว้ล่วงหน้า

เรื่องโดย มาร์ก ซินนอตต์
มิถุนายน 2558

50

ภาพ : มอร์แกน เนเธอร์แลนด์
ภาพโดย : มาร์เติน ฟัน ไดล์, AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ : ออร์กาเพศเมียซึ่งจับมาจากนอกชายฝั่งเนเธอร์แลนด์ตัวนี้ถูกส่งไปยังสเปน หลังจากเจ้าหน้าที่กังวลว่า มันอาจไม่รอดชีวิตหากปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ออร์กาหรือวาฬเพชฌฆาตเป็นโลมาขนาดใหญ่ที่สุด

โลมาและวาฬเพชฌฆาตที่อยู่ในสถานเพาะเลี้ยงมายาวนาน จะสามารถหวนกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้อีกครั้งหรือไม่

เดือนมกราคม ปี 2011 เจฟฟ์ ฟอสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากเมืองซีแอตเทิล เดินทางมาถึงชายฝั่งของอ่าวบริสุทธิ์แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านเล็กๆชื่อ คาราจา ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมหนึ่งของอ่าวเกอโกวาบนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี  ห่างจากชายฝั่งไปไม่ไกลมีกระชังขนาดใหญ่ที่เคยใช้เลี้ยงปลาอยู่จำนวนหนึ่ง โลมาปากขวดเพศผู้สองตัวว่ายวนช้าๆอยู่ในกระชังใบหนึ่งซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ลึก 15 เมตร

โลมาทั้งสองตัวคือ ทอมกับมิชา มีสุขภาพไม่ค่อยดีนัก ว่ากันว่าพวกมันถูกจับมาจากทะเลอีเจียนเมื่อปี 2006 และเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของพวกมันในธรรมชาติ หลังจากเริ่มต้นชีวิตในสถานเพาะเลี้ยงที่อุทยานโลมาในเมืองชายทะเลชื่อคาชเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2010  พวกมันก็ถูกจับขึ้นรถบรรทุก แล้วเดินทางเข้าไปในแผ่นดินไม่ไกลนัก มุ่งหน้าสู่บ้านใหม่ซึ่งเป็นบ่อคอนกรีตสร้างขึ้นอย่างหยาบๆในเมืองกลางขุนเขาชื่อฮีซาเรอนู เพื่อให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงิน 50 ดอลลาร์สหรัฐแลกกับให้โลมาลากไปในน้ำเป็นเวลา 10 นาที

ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ กลุ่มชาวบ้านที่โกรธแค้นและการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จัดโดยคนรักโลมาในท้องถิ่น กดดันให้สถานที่แห่งนั้นเลิกกิจกรรมดังกล่าวเสีย  ช่วงต้นเดือนกันยายน ด้วยความกลัวว่าโลมาทั้งสองตัวอาจตายลงในไม่ช้า มูลนิธิบอร์นฟรี (Born Free Foundation) ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรและทำงานด้านการปกป้องสัตว์ในธรรมชาติ ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยโดยถือครองทอมกับมิชา  โลมาทั้งสองถูกส่งตัวไปยังกระชังนอกชายฝั่งคาราจา บอร์นฟรีว่าจ้างฟอสเตอร์ให้มาช่วยทำสิ่งที่ยากเย็นอย่างยิ่ง  นั่นคือการฟื้นฟูทอมกับมิชาให้กลับมามีสภาพร่างกายสมบูรณ์เต็มที่  สอนสิ่งที่พวกมันจำเป็นต้องรู้ในการใช้ชีวิตเฉกเช่นโลมาในธรรมชาติอีกครั้ง  ก่อนปล่อยคืนสู่บ้านเกิดในทะเลอีเจียน

การช่วยโลมาที่ถูกจับมาจากธรรมชาติให้กลับคืนสู่โลกธรรมชาติที่พวกมันเคยรู้จักดี ไม่ง่ายอย่างที่คิด โลมาในสถานเพาะเลี้ยงมีลักษณะทางกายวิภาคและดีเอ็นเอเหมือนที่มันมีในธรรมชาติก็จริง แต่มันกลับเป็นสัตว์ที่แตกต่างออกไปในหลายแง่มุม โลมาในธรรมชาติใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนและการแข่งขัน พวกมันอยู่รวมกันเป็นฝูงและล่าเหยื่อในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา ได้พบเห็นสัตว์อื่นๆหลากหลายชนิดและประสบกับสถานการณ์ใหม่ๆ นอกจากการขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำแล้ว โลมาในธรรมชาติใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้น้ำ

ชีวิตในอุทยานสัตว์น้ำต่างจากชีวิตในธรรมชาติแบบกลับตาลปัตร พื้นที่เชิงกายภาพมีอยู่อย่างจำกัดและค่อนข้างเวิ้งว้าง ชีวิตดำเนินไปตามตารางเวลา ไม่มีความจำเป็นต้องล่าเหยื่อและออกหาอาหาร นอกจากการฝึกและแสดงโชว์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอะไรมากมาย ที่สำคัญที่สุด การรับรู้ตำแหน่งของโลมาในสถานเพาะเลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กล่าวคือ โลกเหนือผิวน้ำกลับมีความสำคัญมากกว่าโลกเบื้องล่างอย่างฉับพลัน กิจกรรมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การให้อาหาร การฝึก การปรบมือของผู้ชม ไปจนถึงการออกคำสั่งระหว่างการแสดง ล้วนเกิดขึ้นเหนือผิวน้ำ

ผลกระทบตกค้างจากชีวิตที่ยากลำบากของทอมกับมิชาในอุทยานสัตว์น้ำ เผยให้เห็นชัดเจนในความเซื่องซึมและการที่พวกมันมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 20 โดยมีชั้นไขมันบางมากจนเห็นซี่โครง การเตรียมความพร้อมให้พวกมันเพื่อกลับสู่โลกธรรมชาติของโลมาจะไม่ได้เป็นเพียงแค่การสอนให้พวกมันล่าปลาเป็นๆอีกครั้ง การลดการติดต่อ กับมนุษย์ และการเปิดประตูกระชังให้ออกไปเท่านั้น ฟอสเตอร์รู้ว่าเขาต้องใช้วิธีที่ตรงข้ามกับสามัญสำนึกมากกว่า ซึ่งจะเริ่มด้วยอุปกรณ์เดิมๆ (นกหวีดและไม้ติดวัตถุตรงปลายสำหรับฝึกสัตว์) และวิธีการอันคุ้นเคย (“การวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ” [operant conditioning] โดยให้รางวัลเมื่อทำถูก แต่ถ้าทำไม่ถูกก็ไม่ได้รางวัลตอบแทน) ที่อุทยานสัตว์น้ำทั่วโลกใช้ฝึกโลมาเพื่อแสดงโชว์

ดังนั้นงานแรกจึงได้แก่การเอาชนะนิสัยจู้จี้เรื่องอาหารการกินของทอมกับมิชา และทำให้กลับมาคุ้นเคยกับปลาที่พวกมันอาจพบในทะเลอีเจียน เช่น ปลากระบอก ปลากะตัก และปลาซาร์ดีน กลยุทธ์คือให้พวกมันกินปลาชนิดที่พบในท้องถิ่น ถ้ากิน พวกมันจะได้รางวัลเป็นปลาแมกเคอเรล ซึ่งเป็นปลาที่พวกมันชอบกินในสถานเพาะเลี้ยง เพื่อเลียนแบบความไม่แน่นอนของแหล่งอาหารในธรรมชาติ ฟอสเตอร์จึงเปลี่ยนแปลงปริมาณและความถี่ของมื้ออาหาร

ฟอสเตอร์ยังต้องการกระตุ้นสมองอันเฉลียวฉลาดของโลมา เขาโยนสิ่งที่พวกมันอาจไม่ได้เห็นมาหลายปีลงไปในกระชัง เช่น หมึกสาย แมงกะพรุน หรือปู เขานำท่อพีวีซีมาเจาะรูตามความยาวของท่อ อัดปลาตายลงไป แล้วโยนลงน้ำ  ทอมและมิชาต้องคิดหาวิธีจัดการกับท่อเพื่อให้ปลาหลุดออกมาจากรู

ท่อให้อาหารยังมีประโยชน์อื่นอีกสองประการ ประการแรก มันลอยอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำประมาณ 1.5 เมตร เป็นการย้ำเตือนทอมกับมิชาว่าอาหารอยู่ใต้น้ำ ประการที่สอง มันช่วยแยกมนุษย์ออกจากการเป็นผู้จัดหาอาหาร

ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของสถานเพาะเลี้ยงคือ โลมาที่ถูกจับมาจากธรรมชาติดูเหมือนจะไม่เข้าใจอีกต่อไปว่า ปลาที่ยังมีชีวิตอยู่มีไว้ให้ล่าและกินเป็นอาหาร ทอมกับมิชาจะเฝ้ามองฝูงปลาว่ายน้ำผ่านกระชังไปราวกับว่าพวกมันกำลังดูโทรทัศน์ ฟอสเตอร์ต้องฝึกพวกมันให้ล่าและกินปลาที่ยังมีชีวิตอีกครั้ง เขาเริ่มด้วยการผสมปลาเป็นๆรวมไปกับกองปลาตายที่จะโยนลงไปในกระชัง ทอมและมิชาเปลี่ยนมาคุ้นเคยกับการแข่งกันไปกินอะไรก็ตามที่ตกลงในน้ำ โดยไม่คิดว่าพวกมันจะกินปลาเป็นๆพร้อมกับปลาตาย เมื่อเวลาผ่านไป ฟอสเตอร์ก็เพิ่มสัดส่วนปลาเป็นๆเข้าไปในอาหารมากขึ้น จนกระทั่งโลมาทั้งสองตัวกลับมาคุ้นเคยกับรสชาติและความคิดที่ว่า พวกมันต้องจับหรือหาอาหารกินเอง

พอถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2012 ท้องฟ้าแจ่มใสดูมีความหวัง เจ้าหน้าที่ของบอร์นฟรีและผู้สนับสนุนมารวมตัวกันอยู่ใกล้ๆ เช้าตรู่วันนั้น ทอมกับมิชาได้รับการติดแถบข้อมูลติดตามความเคลื่อนไหวบนครีบหลัง

เมื่อทุกอย่างพร้อม นักดำน้ำสกูบารูดซิปประตูในตาข่ายของกระชัง ช่วงเวลาสำคัญมาถึงแล้ว แต่ทอมกับมิชากลับไม่ยอมไปไหน ได้แต่ว่ายวนอย่างระมัดระวังอยู่ภายในกระชัง ผ่านไป 20 นาทีที่ทำให้หลายคนเริ่มกระวนกระวาย เอมี ซูสเตอร์ ครูสาวผู้ฝึกสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของโครงการนี้ ก็เหยียดแขนขวาแล้ววาดผ่านตัวเธอลงไป เป็นการให้สัญญาณที่ใช้ในการฝึกครั้งสุดท้ายแก่พวกมัน นั่นคือให้ว่ายจากจุดเอไปยังจุดบี ดังที่คาดไว้ ทอมว่ายน้ำออกจากกระชัง  ตามคำสั่ง แล้วหยุดรอห่างออกไปประมาณ 10 เมตร มิชาตามทอมออกไป แต่แล้วก็เร่งความเร็วแซงมัน พุ่งตัวไปทางปากอ่าว ทอมรีบว่ายตามไป “ภายในเวลาหกชั่วโมง พวกมันกินปลาในธรรมชาติและว่ายน้ำกับโลมาอีกตัวหนึ่งครับ” ฟอสเตอร์เล่า

จากข้อมูลการติดตามด้วยดาวเทียม โลมาทั้งสองตัวว่ายน้ำต่อเนื่องหลายกิโลเมตร ครั้นแล้วหลังผ่านไปห้าวัน พวกมันก็แยกทางกัน ฟอสเตอร์ไม่รู้สึกประหลาดใจ ทอมยังคงว่ายไปทางทิศตะวันตก ส่วนมิชามุ่งหน้าไปทางทิศใต้และตะวันออก “มันไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาอีกแล้วครับ” ฟอสเตอร์บอก


เรื่องโดย ทิม ซิมเมอร์แมนน์
มิถุนายน 2558

51

ภาพ : พสุธาร้าวราน เนปาลร้าวระทม
ภาพโดย : คัมภีร์ ผาติเสนะ
คำบรรยายภาพ : หญิงชราเดินฝ่าสายฝนเพื่อไปสักการะศาลเจ้าแห่งหนึ่งในเมืองภักตปุระ เมืองหลวงเก่าของเนปาล ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้พระราชวัง อาคารบ้านเรือน และ โบราณสถานหลายแห่งเหลือเพียงกองซากปรัก


โศกนาฏกรรมที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดวิกฤติทางมนุษยธรรมที่ทั่วโลกต้องยื่นมือเข้าช่วย

ผมนอนสั่นเทิ้มราวลูกนกเปียกน้ำอยู่ภายในเต็นท์สปริงแบบพับได้  แม้จะสวมเสื้อกันหนาวที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วซุกตัวในถุงนอนอีกชั้นหนึ่ง  นาฬิกาในโทรศัพท์มือถือบอกเวลาเกือบสามนาฬิกา  คงอีกยาวนานกว่าจะผ่านพ้นคืนนี้ไป  ผมอดนึกถึงผู้ประสบเคราะห์กรรมครั้งนี้ไม่ได้ พวกเขาไร้บ้าน ไร้อาภรณ์ป้องกันความหนาวเหน็บ คงทุกข์ทรมานกว่าผมร้อยเท่าพันทวี

            ความสับสนอลหม่านของตารางการใช้สนามบินตรีภูวัน ชานกรุงกาฐมาณฑุ ทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินทหารที่ขนสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพซึ่งได้รับบริจาคมาจากนานาประเทศ   ทำให้เครื่องบินที่ผมโดยสารมาต้องใช้เวลาบินวนอยู่ราวสองชั่วโมงจึงได้ลงจอด ไร้เงาของไกด์ท้องถิ่นที่นัดแนะกันผ่านทางโลกออนไลน์  การสื่อสารทั้งระบบในช่วงแรกเป็นอัมพาตผมขออาศัยรถยนต์ของกลุ่มเอ็นจีโอ ที่พบกันบนเครื่องบิน เดินทางเข้าตัวเมืองและไปพักค้างแรมในชุมชนชาวทิเบตใกล้กับสถูปพุทธนาถ ชาวบ้านบอกกับเราทุกคนว่า ต้องนอนในเต็นท์กลางแจ้ง ไม่มีใครกล้าเสี่ยงยอมนอนในตัวอาคารแล้ว

            สถูปพุทธนาถ เจดีย์ทรงระฆังคว่ำอันเป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน  สร้างโดยชาวทิเบตที่อพยพเข้ามาอยู่ในเนปาล  ผมเดินสำรวจรอบๆ พบเพียงร่องรอยแตกหักบริเวณยอดเจดีย์หลักเพียงเล็กน้อย ถึงแม้บรรยากาศตอนนี้ช่างแตกต่างจากความทรงจำเมื่อครั้งที่เคยมาเยือนเมื่อสองปีก่อนอย่างสิ้นเชิง บ้านเรือนร้านรวงปิดสนิท เงียบสงัด ชาวบ้านออกมาอาศัยอยู่ในเพิงพักรอบเจดีย์ แต่ความศรัทธายังคงไม่เสื่อมคลาย พุทธศาสนิกชนเดินประทักษิณรอบเจดีย์พร้อมทั้งสวดมนต์ภาวนาให้ฝันร้ายครั้งนี้ผ่านพ้นไปเร็ววัน

            ผมแทบไม่เชื่อสายตา  เมื่อเห็นสภาพของวัดสวยมภูนาถบนเนินเขา  แม้พระมหาเจดีย์หาเองค์หลักจะไร้ร่องรอยความเสียหายแต่เจดีย์บริวารโดยรอบ บ้านเรือน อาคาร และร้านรวง พังเสียหายกว่าที่ผมคิดจินตนาการไว้มาก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นอาคารสำหรับใช้ประกอบศาสนกิจและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ กำแพงด้านหนึ่งพังถล่มลงมา ซากปรักหักพังกองพะเนิน พระภิกษุสงฆ์หลายรูปเสี่ยงชีวิตกลับเข้าไปภายในเพื่อเก็บสิ่งของมีค่า อาทิ พระพุทธรูปทองคำ คัมภีร์บทสวดมนต์ เครื่องทองเหลือง ของเก่าสะสมต่างๆ ไปจนถึงของใช้ส่วนตัว ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว คนงานที่กำลังซ่อมแซมยอดเจดีย์องค์น้อยพลัดตกลงมาและถูกซากปรักพังทับจนเสียชีวิต  ดอกไม้ช่อเล็กๆ วางอยู่บนกองหินตรงนั้น  ลานกว้างบริเวณจุดชมวิวซึ่งเคยเป็นสถานที่ออกกำลังกายของชาวเนปาลยามแดดร่มลมตก ตอนนี้เต็มไปด้วยซากอิฐสีแดง กองหิน ชิ้นส่วนของเจดีย์กองสูงจนแทบจะปิดทางเดิน

            สายฝนโปรยปรายลงมาทำให้บรรยากาศยามเช้าที่เมืองเก่าภักตปุระยิ่งหมองหม่น  หญิงชราใบหน้าหยาบกร้านในชุดสีแดงเดินกางร่มฝ่าสายฝนมายังศาลเจ้ากลางหมู่บ้าน เธอเดินเข้ามาใกล้  ใช้อุ้งมือจีบแล้วแตะไปที่ริมฝีปากของเธอ  ผมยื่นอาหารแท่งสำเร็จรูปที่พกติดตัวให้เธอ หญิงชราตอบแทนด้วยแววตาเปี่ยมความหวังและรอยยิ้มเล็กๆ  ใกล้ๆกันนั้น  โรงเรียนซึ่งปิดทำการมาตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ห้องเรียนชั้นล่าง เก้าอี้และม้านั่งต่างๆ กองอยู่ที่มุมห้อง ฟูกที่นอนวางเรียงรายเป็นแถวยาว หลายครอบครัวอาศัยห้องเรียนเป็นบ้านชั่วคราว สนามบาสเกตบอลได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นห้องเรียนกลางแจ้งให้เด็กๆ วาดรูปถ่ายทอดความทรงจำของเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เพิ่งผ่านมาเพียงไม่กี่วัน โรงพยาบาลประจำเมืองคลาคล่ำไปด้วยคนเจ็บ หญิงสาวคนหนึ่งนั่งกับพื้นซีเมนต์อยู่นอกอาคารเพื่อรอคิวเตียงคนไข้ว่าง พร้อมด้วยลูกชายบนตักที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใส่เฝือกที่ขาซ้าย คราบน้ำตาที่ไหลรินและแววตาที่เหม่อลอย สะท้อนถึงเรื่องราวอันเลวร้ายที่เธอประสบมาได้อย่างแจ่มชัด

            จัตุรัสทุรพาร์กลางเมืองเก่าปาทาน  เทวสถานเก่าแก่ของชาวฮินดูและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้รับความเสียหายอย่างหนัก  อาคารทรงมณฑปหลังคาซ้อนห้าชั้น พังทลายลงมาเหลือเพียงกองซากปรัก  เจ้าหน้าที่ทหารและอาสาสมัครช่วยกันลำเลียงอิฐ ทีละก้อน  ท่อนไม้ทีละท่อน เพราะหากใช้เครื่องมือหนักอาจทำให้ข้าวของมีค่าต่างๆ เสียหายได้  ศิลปวัตถุต่างๆ ทั้งรูปสลักหินและไม้แกะสลักถูกลำเลียงออกไปเก็บรักษาไว้บริเวณโถงในอาคารที่ไม่ได้รับความเสียหาย  โดยมีทหารดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการสูญหาย

            กลางไอแดดร้อนระอุยามบ่าย  คณะกู้ภัยเร่งค้นหาใต้ซากอาคารสูง 4 ชั้นที่ถล่มลงมาบริเวณใกล้ๆสะพานข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งด้วยความหวังว่าอาจพบผู้รอดชีวิต แม้เหตุแผ่นดินไหวจะผ่านมาถึง 4 วันแล้วก็ตาม  ใต้ซากอาคารแห่งนี้มีผู้สูญหายมากกว่าสิบราย  ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย  เจ้าหน้าที่พบศพผู้เสียชีวิตแล้วสามราย “ลูกชายฝาแฝดอายุ 12  ปีของฉันหายไปตรงนี้” หญิงชาวเนปาลวัยกลางคนบอกกับผม  พร้อมนำรูปถ่ายลูกชายของเธอมาให้ดู  เธอนั่งยองบนพื้นถนนและเฝ้ารอด้วยความหวัง  การทำงานของหน่วยกู้ภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยความคับแคบของพื้นที่ริมตลิ่งที่อ่อนยวบ  เจ้าหน้าใช้ได้เพียงเครื่องมือขุดเจาะและตัดบางประเภทเท่านั้น เวลาผ่านไปเกือบสามชั่วโมง ยังไร้วี่แววของชีวิต       

โศกนาฏกรรมที่เกิดจากแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 7.8 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 11.56 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองคุรข่า (Gorkha) ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงเนปาล ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กิโลเมตร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8,000 ราย และมีผู้บาดเจ็บร่วม 20,000 คน ผู้คนนับล้านต้องไร้ที่อยู่อาศัยเพราะบ้านเรือนพังเสียหายมากกว่าห้าแสนหลังคาเรือน  นอกจากจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอกแล้ว  ยังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นอีกครั้งในวันที่  12  พฤษภาคม 2558 ความรุนแรงขนาด 7.3 เมื่อเวลา 12.35 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้พรมแดนประเทศจีน เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตเกือบหนึ่งร้อยราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2558)


เรื่องโดย คัมภีร์ ผาติเสนะ
มิถุนายน 2558

52
อ่าน แล้วอึ้งแตกต่างกันสุดขอบโลก บีบีซีของอังกฤษ ทำการสำรวจชาวเยอรมันทั้งประเทศ เพื่อรู้ว่าทำไมเยอรมันถึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่สำเร็จการเป็น Fully industrialized country ประเทศเดียวในโลก คือ ประเทศอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบ อ่านให้จบ ข้อมูลนี้หายาก

►1. ระดับหนี้สินต่อครัวเรือนของคนเยอรมันอยู่ในระดับต่ำมากที่สุดในยุโรป ชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสดมากกว่าบัตรเครดิต

►2. ธนาคารไม่อนุมัติบัตรเครดิตให้กันง่ายๆ ในขณะที่ชาวเยอรมันก็ไม่ต้องการได้บัตรเครดิตง่ายๆเช่นกัน

►3. คนเยอรมันสามารถออมเงินได้ 10% ของเงินเดือนแทบทุกคน

►4. ผู้คนส่วนใหญ่มีเงินฝากในธนาคารเป็นกอบเป็นกำทำให้ระบบการหมุนเวียนของเงินกู้กับเงินฝากสมดุลกันได้ดี

►5. คนเยอรมันไม่นิยมเอาบ้านหรือรถยนต์ไปจำนองเพื่อนำเงินมาทำธุรกิจ เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียทรัพย์สินที่มีอยู่

►6. คนเยอรมันใช้เวลาทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าคนในชาติอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า

►7. การทำงานล่วงเวลาถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เนื่องจากการให้เวลากับครอบครัวหลังเลิกงานถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

►8. เวลาแปดชั่วโมงต่อวัน คนเยอรมันทำงานอย่างจริงจังในเวลางาน ไม่เสียเวลาไปกับการพูดคุยเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงาน อีเมลล์ส่วนตัว Facebook และโทรศัพท์มือถือ …เป็นที่รู้กันว่าไม่ควรใช้ในชั่วโมงทำงาน

►9. นักข่าวชาวอังกฤษที่ไปทำงานในโรงงาน Faber & Castel ที่เยอรมนี ถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานทันทีที่หยิบโทรศัพท์เพื่อต้องการส่ง SMS แค่ครั้งเดียว

►10. ชีวิตในที่ทำงานที่นี่เขาจริงจังกันมาก ไม่มีการพูดคุย นินทา ไม่อยากรู้อยากเห็นว่าใครเป็นแฟนใคร ใครเลิกกับใคร ใครจะไปออกเดทกับใคร ไม่แม้แต่จะเล่าเรื่องละครทีวีที่ดูเมื่อคืน เลิกงานแล้วจะไปไหน จะไปทานดินเนอร์กับใคร ก็ไม่มีการพูดคุยกัน

►11. การมาทำงานสายจะถูกมองว่าเป็นคนไม่รักษาสัญญา จะมาสายสามนาทีหรือสามสิบนาที ก็ถือว่าเป็นคนไม่มีคุณภาพ เพราะขาดความเคารพต่อตัวเองและองค์กร

►12. สองในสามของคุณแม่มือใหม่จะไม่ทำงานนอกบ้าน การบอกว่าเป็น Housewife ในประเทศอื่น ๆ อาจจะรู้สึกเขินอายเหมือนว่าตนเองไม่มีงานทำ แต่ที่นี่มีแต่ความภาคภูมิใจ หากจะได้เป็น Housewife

►13. รัฐบาลให้สวัสดิการดีกับคุณแม่ที่ต้องออกจากงาน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้แม่ได้เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง การให้เวลากับลูกถือเป็นสิ่งสำคัญ

►14. ในวันอาทิตย์ ร้านรวงทั่วไปตามแหล่ง Shopping จะปิดเงียบ เพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่มีเวลาอยู่กับครอบครัว เมื่อสถาบันครอบครัวแข็งแรงประเทศชาติก็จะแข็งแรง

►15. ในยามยากของเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ใช้วิธีการ Lay off พนักงาน ไม่นิยมการปลดคนงานออกแบบกระทันหัน เพื่อความอยู่รอดของบริษัท

►16. อาจจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปเสียแล้วที่บริษัทจะเป็นห่วงความอยู่รอดของพนักงานก่อน เพื่อที่จะได้ช่วยกันประคองให้บริษัทอยู่รอด

►17. พนักงานยินดีที่จะถูกลดรายได้อย่างพร้อมเพียงกันเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้และบริษัทอยู่รอด สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการรักพวกพ้อง รักองค์กร และรักชาติในที่สุด

►18. ทีมชาติฟุตบอลของเยอรมนี จะไม่ค่อยมีดาวเด่นที่โด่งดังระดับโลก แต่ก็สามารถคว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 สมัย ด้วยทักษะการเล่นอย่างเป็นทีมเวิร์คมากกว่าความสำเร็จจากความสามารถเฉพาะบุคคล

►19. การใช้ชีวิตแบบพอเพียง ประหยัด จริงจังในหน้าที่ มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบสูง รักครอบครัว รักพวกพ้อง รักชาติ เหล่านี้ล้วนเป็นอุปนิสัยขั้นพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา

53
ความเวิ้งว้างว่างเปล่ามีเสน่ห์ดึงดูดอย่างไรถึงทำให้ช่างภาพคนหนึ่งยอมเสี่ยงชีวิต

ความว่างเปล่ามีหน้าตาแบบไหนกันนะ ผมดั้นด้นไปถึงกรีนแลนด์เพื่อหาคำตอบ  ภายในเวลาสามปี  ผมเดินทางจากบ้านในออสเตรเลียไปที่นั่นถึงหกครั้ง ความเวิ้งว้างว่างเปล่าสีขาวโพลนดึงดูดผมให้มาที่นี่  เป็นภูมิทัศน์อันไร้ซึ่งลักษณะโดดเด่นใดๆราบเรียบ  มีเพียงน้ำแข็งทอดยาวไปจรดขอบฟ้าทุกทิศทาง

การถ่ายภาพในสถานที่ห่างไกลเช่นนี้เป็นงานที่ทั้งเหนื่อยยากและหนาวเหน็บ  ผมอาศัยอยู่คราวละหลายเดือนในเต็นท์บนพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่ซึ่งลมหนาวอาจทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงถึงลบ 50 องศาเซลเซียส และพายุหิมะพัดโหมอยู่นานหลายวัน ในเวลาเลวร้ายที่สุด ผมจะนึกถึงภาพครอบครัวและลูกๆ  ในใจตอนนั้นบอกตัวเองว่าไม่ไหวแล้ว ไม่คุ้มกันเลย

แต่ผมยังยืนหยัดต่อไป พออากาศเริ่มดีขึ้น อารมณ์ของผมและภาพถ่ายก็ดีขึ้นตามไปด้วย เวลาที่คุณอยู่ในที่เวิ้งว้างเป็นเวลานานๆ โลกภายนอกและภายในดูจะพร่าเลือนจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน  ความคิดช้าลงและรับรู้ถึงความแปรเปลี่ยนต่างๆได้ไวขึ้น ความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในแสงและสภาพอากาศกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ภาพที่ผมถ่ายในช่วงเวลาหลายเดือนได้กลายมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายและภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดความรู้สึกของการอยู่ ณ ที่แห่งนั้น  สมกับชื่อ   เรื่องที่ว่า เวิ้งว้างสุดขอบโลก  (Nothing On Earth)

เรื่องโดย เมอร์เรย์ เฟรเดริกส์
มีนาคม 2558

54
ชีวิตและความหวัง (ลมๆแล้งๆ) ของผู้คนมากมายฝากไว้กับตัวเลข ย้อนรอยเส้นทางสีเทาของหวยในฐานะการพนันถูกกฎหมาย

ตามที่มีบันทึก หวยบนแผ่นดินสยามมาจากกับคนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งเล่นมาตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่ประเทศจีน เป็นการพนันทายป้ายแผ่นไม้ บนนั้นเขียนเป็นรูปดอกไม้ชนิดต่างๆ เลยเรียกกันว่า “ฮวยหวย” แปลว่า “ชุมนุมดอกไม้”) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอยและนำเงินไปซ่อนในไหฝังดิน รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงหวยขึ้นในเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2375 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามคำกราบบังคมทูลของคหบดีจีนรายหนึ่ง โรงหวยยุคนั้นออกรางวัลโดยใช้แผ่นป้ายเขียนอักษรไทย 34 ตัว  เรียกว่าหวย ก.ข. ออกวันละหนึ่งครั้ง  โรงหวยสร้างรายได้ให้รัฐมากพอๆ กับสร้างนักพนันหวยซึ่งติดกันงอมแงม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐบาลทดลองตั้งโรงหวยตามต่างจังหวัด แต่ต่อมาไม่นานก็ปิดลงหลังพบว่าชาวบ้านยากจนลง จนล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 จึงเริ่มทยอยยกเลิกอากรทั้ง “บ่อน” และตามมาด้วยยกเลิกอากร “โรงหวย”

ช่วงรอยต่อก่อนจะสิ้นยุคโรงหวย เป็นห้วงเวลาของอิทธิพลตะวันตกบนแผ่นดินสยาม และเป็นครั้งแรกของการออกสลากกินแบ่ง เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ข้าราชการอังกฤษในราชสำนักไทย ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบันทึกไว้ว่า ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฝ่ายทหารมหาดเล็กได้เชื้อเชิญบรรดาพ่อค้าฝรั่งให้นำสินค้าหรือข้าวของแปลกๆ มาจัดแสดงนิทรรศการ “โรงมุเซียม” ระหว่างการขนส่งเกิดมีสินค้าแตกหักหลายชิ้น ทางฝ่ายผู้จัดงานนึกเห็นใจ จึงเปิดโอกาสให้พ่อค้าฝรั่งเหล่านั้นออกตั๋ว “ลอตเตอรี่” ตามแบบยุโรป เพื่อให้คนซื้อได้เสี่ยงโชครับเป็นของหรือเงินรางวัล

                นับจากนั้นธรรมเนียมการออกสลากกินแบ่งก็ดำเนินมาเรื่อยๆ ในแวดวงสังคมชนชั้นสูงสยาม ส่วนมากเพื่อระดมทุนให้สาธารณกุศล ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกสลากเสือป่าล้านบาท ราคาใบละ 1 บาทจำนวนล้านฉบับ  ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลสยามชดเชยกับรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายลดเงินรัชชูปการ (เงินที่จ่ายเพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร) สลากกินแบ่งทำหน้าที่ระดมทุนได้ดี จนกระทั่งรัฐบาลเห็นชอบก่อตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปีพ.ศ.2482 เพื่อระดมเงินจากการออกสลากเป็นรายได้รัฐบาลอีกทางหนึ่ง

 

ตลาดลอตเตอรี่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เช้าวันที่ 21 ตรงกับวันศุกร์และวันพระ ลานจอดรถละลานตาด้วยรถยนต์สารพัดชนิด (หนักไปทางรถยนต์เอนกประสงค์และรถปิกอัพ) ใต้โรงเรือนหลังคาสูงตรงนั้น  มีความจอแจแบบเดียวกับตลาดสดที่คึกคักที่สุดควรจะมี  นั่นคือผู้คนเบียดเสียด ต่อราคาเสียงดัง เงิน และถุงพลาสติก หากแต่สินค้าบนแผงนั้นล้วนแต่เป็นลอตเตอรี่ทั้งนั้น ลอตเตอรี่ทั้งเป็นเล่ม (100 คู่) และแยกขาย ในราคาขายส่งสำหรับให้พ่อค้าแม่ขายรายย่อยที่มาจับจ่ายเพื่อนำไปขายต่อ

                ตลาดแห่งนี้จะคึกคักทุกวันที่ 4-6 และ 19-21 ของทุกเดือน แม่ค้าพ่อค้าลอตเตอรี่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ มาขายที่นี่ด้วยตัวเอง และหลังจากนั้นตลาดจะเงียบเหงาลง ตลาดค้าส่งแบบนี้นอกจากแถวสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี และสี่แยกคอกวัว ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งที่ใหม่และที่เดิมแล้ว ก็มีที่อำเภอวังสะพุงนี้ที่เดียว ที่เป็นแหล่งกระจายลอตเตอรี่มายังภูมิภาค

                เลขเด็ดงวดนี้ได้แก่ 87 และ 88 เลขพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราคาอยู่ที่ 10 ใบ 700 บาท หรือตกคู่ละ 140 ส่วนอีกเลขเป็นเลขเครื่องของเฮลิคอปเตอร์ที่เพิ่งตก และมีนายทหารเสียชีวิตเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน ราคาเกินกว่าร้อยเหมือนกัน “เห็นไหมคะ ราคาที่ตลาดขายส่งก็มาเกินราคาแล้ว” แม่ค้าคนหนึ่งสวมเสื้อแจ็คเก็ตเขียนว่า “จันทบุรี” บอก “แล้วจะให้เราขายต่ำกว่านี้ได้ยังไงคะ”

                ลอตเตอรี่เกินราคาเป็นความจริงที่แก้ไม่ตก แม้เราจะเชื่อว่าการซื้อลอตเตอรี่เกินราคา เป็นกำไรเล็กๆ น้อยๆ สำหรับ “ช่วย” คนขายรายย่อยที่นั่งตากแดดมาทั้งวัน แต่อันที่จริงวงจรสลากเกินราคาสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำและความเอารัดเอาเปรียบ

                แม้จะมีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นต้นธาร แต่อันที่จริงวงจรลอตเตอรี่อยู่ภายใต้เงาสีเทาที่คนขายทุกคนเรียกกันว่า “5 เสือ” เป็นบริษัทนิติบุคคล “ระดับบิ๊ก” 5 แห่ง มีหน้าที่รับลอตเตอรี่จากสำนักงานสลากฯ แล้วกระจายลงไปให้ผู้ค้ารายย่อยตามลำดับเมื่อมีลอตเตอรี่จำนวนมากอยู่ในมือจนกลายเป็นกึ่งผูกขาด พวกเขาจึงสามารถสลับและจัดเป็นชุดได้แทบจะตามอำเภอใจ แน่นอนว่าเลขบนลอตเตอรี่แต่ละงวดมีทั้งเลขที่ขายไม่ค่อยได้ (อย่างเลขที่ติดเลข 0 เลขที่เพิ่งออกรางวัล หรือเลขเบิ้ล) ไปจนถึงเลขยอดนิยม วิธีกระจายเลขพวกนี้คือจัดชุดให้คละกัน แล้วส่งต่อไปยังยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือจะกี่ปั๊วก็ตามแต่จนถึงพ่อค้าแม่ขายรายย่อย นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าระบบกระจายลอตเตอรี่โดยให้นิติบุคคล แค่ไม่กี่รายรับไป ทำให้ลูกค้าที่มาซื้อต่อ ไม่มีสิทธิเลือกตัวเลข เป็นการผลักภาระให้ผู้ขายรายย่อย

                ลอตเตอรี่งวดหนึ่งพิมพ์ประมาณ 74 ล้านฉบับ สมมติถ้ามูลค่าเพิ่มแค่ใบละ 5 บาท ยี่ปั๊วจะได้เงินนอนกินเปล่าๆ 370 ล้านบาท แต่ที่จริงมูลค่าเพิ่มลอตเตอรี่จากพวกเขามากกว่านั้น และอาจไปได้เกิน 10 บาท ผลสำรวจหนึ่งเร็วๆ นี้ชี้ว่า กว่าจะมาถึงมือนักเสี่ยงโชค ผู้ซื้อลอตเตอรี่ต้องจ่ายค่าส่วนเกินเหล่านี้ รวมประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อปี และเงินมหาศาลนี้ตกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ

 

อันที่จริงวัตถุประสงค์ของการออกลอตเตอรี่ในประเทศต่างๆทั่วโลก มักเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมที่งบประมาณรัฐลงไปไม่ถึง แต่บ่อยครั้งที่ลอตเตอรี่ในประเทศไทยถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะในภาคการเมือง รัฐบาลยุคหนึ่งเคยนำหวย “ใต้ดิน” ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” นัยหนึ่งคือนำเงินนอกระบบมาเป็นรายได้ให้รัฐบาล และอีกนัยหนึ่งคือทอนกำลังพวกนอกกฎหมายและทลายอิทธิพล

                เงินจากหวยบนดินในรัฐบาลยุคนั้นไม่ต้องผ่านระบบคลัง รัฐบาลจึงสามารถนำเงินมาใช้จ่ายโครงการต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว โดยส่วนมากเน้นไปทางกองทุนการศึกษาและพัฒนาชนบท ซึ่งก็สร้างความนิยมในชนบทไปในตัว ทว่านโยบายนั้นก็มีอีกมุมหนึ่ง เมื่อถูกฝ่ายคัดค้านชี้ว่าเป็นการนำเงินจาก “อบายมุข” ไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง อีกทั้งเงินนั้นเอื้อต่อการทุจริตได้ง่าย และทำให้วินัยการคลังเสีย เรื่องราวใหญ่โตถึงศาลจนบั่นคอรัฐบาลชุดนั้น ปิดฉากหวยบนดิน และกลายเป็นของร้อนที่ไม่มีใครกล้ายุ่งขิงอีก (แม้หลายรัฐบาลจะอยากทำใจจะขาด)

                ทุกวันนี้รัฐบาลได้รายได้จากลอตเตอรี่งวดละประมาณ 1,657 ล้านบาท เงินก้อนนี้วิ่งเข้าไปรวมกับเงินอื่นๆ ในคลังก่อน แล้วค่อยนำไปจัดสรรตามลำดับความสำคัญของนโยบายแต่ละรัฐบาล แต่ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยและชี้ว่า ระบบนี้ทำให้กองทุนต่างๆ ในสังคมที่ควรได้รับงบประมาณมากขึ้น เช่น เรื่องวัฒนธรรม คนชรา กีฬา ผู้พิการ และเหล่าคนเปราะบางทางสังคม ไม่มีโอกาสได้รับงบประมาณที่ควรจะได้ เงินจากสลากฯ ซึ่งเป็นเงินสีเทาจำนวนมหาศาลและส่วนใหญ่มาจากคนยากคนจน ควรย้อนกลับไปให้สังคมอย่างแท้จริง “เราอยากให้เป็นสลากเพื่อสังคมค่ะ ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ให้รัฐบาล”

                ขณะที่หวยใต้ดินเป็นเหมือนวิญญาณอมตะ วงการหวยใต้ดินมีเงินหมุนเวียนกว่า 1 แสนล้านบาท มีคนเล่นมากกว่า 20 ล้านคน และมีสารพัดกลเกมให้ได้ลุ้น ทั้งการลุ้นเลขสามตัวหน้ารางวัลที่ 1 การแทงเลขเดี่ยว การให้เครดิตแทงก่อนแล้วจ่ายสิ้นเดือน ไปจนถึงโปรโมชั่นลดราคา หวยใต้ดินเป็นระบบการพนันแบบอัตราต่อรอง ซึ่งเจ้ามือจะมีความเสี่ยงระหว่าง “รวยไปเลย” กับ “เจ๊งไปเลย”

                ผลสำรวจหนึ่งจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า คนไทยเกินกว่าครึ่งซื้อลอตเตอรี่ค่อนข้างบ่อย (เกือบทุกงวด) โดยให้เหตุผลว่า “หวังรวย” การสำรวจทำนองคล้ายๆ กันในปีพ.ศ.2556 ชี้ว่าคนไทยเล่นทั้งหวยใต้ดินและลอตเตอรี่มายาวนานติดกันเฉลี่ยถึง 12 ปี คนที่เล่นหวยส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท และคนที่เล่นหวยมากที่สุดมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท นั่นคือคนยากจน “ถ้าคนจนหวังรวยจากหวย ก็ตีความได้เลยค่ะว่า เค้าไม่คิดเลยว่าชีวิตเค้าจะพลิกได้ด้วยอาชีพการงาน รู้สึกสลดนะคะ ที่ประเทศเราไม่มีความหวังสำหรับคนจนเลยหรือ” ดร.นวลน้อย บอก

                นักวิชาการแนะวิธีเลิกหวยที่น่าสนใจคือ “แทงตัวเอง” คือหากระป๋องมาหนึ่งใบสำหรับใส่เงิน แล้วแทงเลขไปตามใจแต่ละงวด ถ้าเสียก็ใส่เงินในกระป๋องทบไปเรื่อยๆ หากถูกรางวัลก็เอาเงินจากกระป๋องออกมาตามอัตราต่อรองแบบใต้ดิน ดร.นวลน้อย บอกว่า “เผลอๆ เค้าได้เงินออมอีกค่ะ”

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ
มีนาคม 2558

55
จากกีฬาที่เคยเล่นกันเฉพาะในหมู่หัวหน้าเผ่า ทุกวันนี้ การโต้คลื่นคือเครื่องร้อยรัดยึดโยงชาวฮาวายเข้ากับอัตลักษณ์อันเก่าแก่ของพวกเขา

ณ หมู่เกาะอันเป็นต้นกำเนิดของการเล่นกระดานโต้คลื่น  คลื่นวันนั้นน่าผิดหวัง  ลูกคลื่นไม่เด่นชัด สูงแค่ระดับอก และนานๆมาทีอย่างน่ารำคาญ ทว่าชาวฮาวายไม่เคยต้องหาข้อแก้ตัวอะไรมากมายในการคว้ากระดานออกไปโต้คลื่น และหัวหาดหรือบริเวณที่ใช้ลอยตัวเพื่อรอคลื่น (takeoff zone) ก็แน่นขนัดไปด้วยนักโต้คลื่นหลากหลายวัย  ผมนั่งคร่อมอยู่บนกระดานโต้คลื่นในน้ำลึกข้างแนวปะการัง กวาดสายตาสำรวจฝูงชนที่อยู่รอบๆอย่างกระอักกระอ่วน เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า  มาคาฮาเป็นหาดที่พวกเฮาลีส (haoles) มาเสี่ยงดวง  คำในภาษาฮาวายนี้ใช้เรียกคนผิวขาวและคนนอก หาดมาคาฮาตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะโอวาฮู ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนปิดตัดขาดจากโลกภายนอก  เป็นถิ่นของผู้สืบเชื้อสายจากนักท่องทะเลชาวโปลินีเชียโบราณที่มาตั้งรกรากบนหมู่เกาะแห่งนี้

แม้แต่ชาวหาดมาคาฮาพวกที่ทำใจยอมรับการยึดครองฮาวายของสหรัฐฯ เมื่อปี 1898 ได้  (แม้บางส่วนยังยอมรับไม่ได้ก็ตาม) แต่พวกเขาก็ยืนหยัดที่จะปกป้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับชายหาดและลูกคลื่นที่พวกเขาหวงแหน มีเรื่อง เล่าหนาหูว่า นักโต้คลื่นที่มาที่นี่ถูกไล่ตะเพิดขึ้นจากน้ำ บางคนถึงกับจมูกหักหลังฝ่าฝืนกฎที่ไม่ได้เขียนไว้ ผมพยายามไม่ให้ตัวเองลงเอยแบบนั้น 

ผมลอยตัวใกล้บริเวณรอคลื่นอยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง  ในที่สุดก็เห็นคลื่นที่น่าจะยังไม่มีใครจับจอง  ผมหมุนแผ่นกระดานหันกลับไปทางฝั่งและใช้มือพุ้ยน้ำอย่างแรง  แต่ขณะที่ผมเร่งความเร็วขึ้น หนุ่มวัยรุ่นหน้าตาบอกบุญไม่รับคนหนึ่งบนกระดานบอดี้บอร์ดก็ใช้ตีนกบพุ้ยน้ำเข้ามายังคลื่นลูกเดียวกับผม  ตะปบมือลงบนไหล่ผมแน่น  แล้วผลักผมออกจากแนวคลื่น พร้อมกับดันตัวเองเข้าไปตรงด้านหน้าคลื่นแทน  ผมถอดใจยอมพุ้ยน้ำกลับเข้าฝั่ง

แต่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่มาคาฮา  ผมเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่ดูเหมือนการพิทักษ์ปกป้องชนิดไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหมนั้น แท้จริงแล้วซับซ้อนกว่านั้นมาก  หากจะพูดไปแล้ว  ชาวฮาวายเป็นพวกคลั่งไคล้การโต้คลื่นตัวจริง พวกเขาอ้าแขนรับกีฬานี้มาตั้งแต่ราวๆยุคสงครามครูเสด  และในบางแง่มุมจะบอกว่าพวกเขาคือผู้เหลือรอดก็ว่าได้  เพราะนับตั้งแต่ชาวผิวขาวคนแรกๆมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด ประวัติศาสตร์ของชาวฮาวายก็เต็มไปด้วยความสูญเสีย แรกสุดคือการสูญเสียประชากรจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคร้ายนานาชนิดที่มาพร้อมคนขาว  ตามมาด้วยการสูญเสียดินแดน ความเป็นชาติ และวัฒนธรรม การโต้คลื่นจึงเป็นเหมือนสายใยเชื่อมโยงที่จับต้องได้กับอดีตยุคก่อนอาณานิคม และเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาออกจะฉุนเฉียวง่ายถ้าเป็นเรื่องของลูกคลื่น

“ที่นี่มีคนดีๆอยู่นะครับ แต่ถ้าคุณทำไม่ดีกับพวกเขา พวกเขาก็จะทำไม่ดีกับคุณเหมือนกัน” นี่ไม่ใช่คำพูดข่มขู่  เป็นแค่ข้อเท็จจริงธรรมดาๆ  ชายผู้กล่าวประโยคนี้นั่งอยู่บนกิ่งไม้ใหญ่ที่ถูกคลื่นซัดมาเกยหาด แม้จะเลยวัยเกษียณมานานพอดูแล้ว แต่เขายังดูเหมือนคนที่คุณไม่อยากตอแยด้วย  ชายเจ้าของเรือนผมขาวดกหนาและรูปหน้าแบนๆคล้ายแผ่นหินชวนให้นึกถึง  อาลี  หรือหัวหน้าเผ่าของชาวฮาวายโบราณ  ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของเขา

เมื่อพูดถึงเรื่องมาคาฮาและวัฒนธรรมของที่นี่  ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับริชาร์ด “บัฟฟาโล” เคเอาลานา ชาวฮาวายสายเลือดบริสุทธิ์ที่หาได้ยากยิ่ง  เขาใช้ส่วนใหญ่เกือบตลอดช่วงอายุ 80 ปีอยู่ในแถบเวสต์ไซด์ของเกาะโอวาฮู  สถานภาพสูงส่งของเขาในชุมชนเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับมหาสมุทร เคเอาลานาเป็นนักโต้คลื่นผู้มีพรสวรรค์ชนิดหาตัวจับได้ยาก และ เป็นยามชายหาดเต็มเวลาคนแรกของมาคาฮา เขายังเป็นผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่างรายการ บัฟฟาโลบิกบอร์ดเซิร์ฟฟิงคลาสสิก (Buffalo Big Board Surfing Classic)  เคเอาลานาเป็นที่นับหน้าถือมากที่สุดในบรรดา “ลุงๆ” คนดังของมาคาฮา หรือผู้หลักผู้ใหญ่ชาวฮาวายอาวุโสที่คอยสอดส่องดูแลชุมชน และยังเป็นที่นับถือทั่วทั้งหมู่เกาะในฐานะ “เทพ” แห่ง “มนุษย์น้ำ” ผู้เชี่ยวชาญกิจกรรมทางน้ำทุกประเภท เป็นผู้ที่รวมไว้ซึ่งความเคารพต่อมหาสมุทรกับความรอบรู้อันลึกซึ้ง ความชำนิชำนาญ และความกล้าหาญ

คติเรื่องมนุษย์น้ำสืบย้อนไปได้ถึงชาวฮาวายกลุ่มแรกที่เชื่อกันว่า พายเรือแคนูชนิดลำเรือคู่จากหมู่เกาะมาร์เคซัสมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้เมื่อราว ค.ศ. 700  ตามมาด้วยนักเดินเรือที่มาในลักษณะคล้ายคลึงกันจากตาฮีตีในอีก 500 ปีต่อมา กลุ่มคนที่มาตั้งถิ่นฐานเหล่านี้อาจนำความรู้เรื่องการโต้คลื่นมาด้วย อย่างน้อยก็ในรูปแบบง่ายๆ  แต่ที่บ้านหลังใหม่แห่งนี้เองที่กีฬาชนิดนี้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม  มีวิหารของการโต้คลื่น เทพแห่งการโต้คลื่น การแข่งขันโต้คลื่นที่มีผู้ชมมากมายลงพนันขันต่อผลการแข่งขัน

ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา บรรดา “บีชบอย” หรือหนุ่มฮาวายตามชายหาดสอนวิธีโต้คลื่นหัวแตกให้นักท่องเที่ยวแถบหาดไวกีกีกันบ้างแล้ว สมัยที่เคเอาลานายังเด็ก ชาวฮาวายบางคนโต้คลื่นหัวแตกใกล้กับนานาคูลีด้วยกระดานโต้คลื่นไม้แดงที่มีบอตทอมเดกเป็นรูปตัววี (v-bottom deck)  ตัวเขาเองเรียนการโต้คลื่นโดยใช้กระดานหยาบๆ ทำจากไม้หมอนรถไฟสองชิ้นประกบกัน แต่ไม่ได้คลั่งไคล้จริงจังจนกระทั่งได้คลุกคลีกับนักโต้คลื่นรุ่นบุกเบิกกลุ่มเล็กๆซึ่งมาถึงมาคาฮาในช่วงต้นทศวรรษ 1950

ผู้มาใหม่เหล่านี้โต้คลื่นด้วยกระดานน้ำหนักเบา ทำจากไฟเบอร์กลาสและไม้บัลซา (ไม่นานจึงเปลี่ยนเป็นโฟมพอลิสไตรีน) และติดฟินหรือหางเสือที่ช่วยให้บังคับทิศทางได้ง่ายขึ้น  มาคาฮากลายเป็นสนามทดสอบเทคนิคการโต้คลื่นใหม่ๆ และการออกแบบกระดานโต้คลื่น รวมทั้งเป็นสถานที่จัดงานที่โฆษณาว่าเป็นการแข่งขันโต้คลื่นนานาชาติครั้งแรกเมื่อปี 1954 

กิตติศัพท์อันโด่งดังในฐานะมนุษย์น้ำผู้ช่ำชองทำให้เคเอาลานามีบทบาทสำคัญในขบวนการตื่นตัวทางวัฒนธรรมและการเมืองของชาวฮาวายซึ่งรู้จักกันในนาม สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาฮาวายครั้งที่สอง (Second Hawaiian Renaissance) เขาริเริ่มจัดการแข่งขันโต้คลื่นที่ใช้ชื่อเดียวกับเขา [บัฟฟาโลบิกบอร์ดเซิร์ฟฟิงคลาสสิก] ในปี 1977  บรรยากาศของงานและการแข่งขันซึ่งมีหลายรายการชวนให้นึกถึงงานเทศกาลของชาวมาคาฮีกิโบราณที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพโลโนของชาวฮาวาย

ในช่วงปีหลังๆมานี้  รีสอร์ตเริ่มขยายตัวในแถบเวสต์ไซด์ และบ้านพักตากอากาศก็ผุดขึ้นท่ามกลางบ้านหลังเล็กๆที่กระจุกตัวอยู่ตรงหัวและปลายหาดสีทองของมาคาฮา  ทว่านอกนั้นแล้วก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ที่โต๊ะปิกนิกริมชายหาดใต้ร่มเงาต้น มีโล เคเอาลานากับกลุ่มลุงๆ  “พูดคุยเรื่องราวสัพเพเหระ” เพื่อฆ่าเวลาหรือไม่ก็เล่นโดมิโน  และคอยต้อนรับคนนอกอย่างระแวดระวังอย่างน้อยก็ในช่วงแรก “คุณมีบัตรประชาชนไหม” ลุงคนหนึ่งเอ่ยถาม  เมื่อผมปรากฏตัวพร้อมกับโน้ตบุ๊คและคำถามมากมาย ต่อมาผมถามลุงคนเดิมว่า เขากังวลบ้างไหมกับการที่คนนอกจะเข้ามาแย่งคลื่น เขายืนยันกับผมว่า “เรื่องนั้นเรามีกฎลงโทษขั้นเด็ดขาดอยู่แล้ว”

 เรื่องโดย จอห์น แลงคาสเตอร์
มีนาคม 2558

56
แหล่งกำเนิดแสงที่พบมากที่สุดบนพื้นพิภพคือสิ่งมีชีวิตนี่เอง อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแสงน้อยๆของหิ่งห้อยและสิ่งมีชีวิตเล็กจ้อยในมหาสมุทร

เวลานี้สี่ทุ่มแล้ว ฉันยืนอยู่ในห้องมืดบนเรือวิจัยของสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทเรย์เบย์ชื่อ เวสเทิร์นฟลายเออร์ ห้องดับไฟมืด อากาศร้อนอบอ้าว ความที่เราอยู่กลางทะเล ห่างจากชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย 80 กิโลเมตร พื้นเรือจึงโคลงเคลง ฉันรู้สึกวิงเวียน แต่ไม่ได้ใส่ใจ ในจานใบเล็กบนโต๊ะมีสัตว์ที่เพิ่งจับมาได้ใหม่ๆตัวหนึ่ง เป็นสัตว์ทะเลชื่อ เทโนฟอร์ (ctenophore) ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร รูปร่างหน้าตาคล้ายระฆังที่ทำจากวุ้นใสๆ เมื่อสัมผัสลำตัว มันจะเปล่งแสงออกมา คอยจับตาดูดีๆ สตีเวน แฮดด็อก หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านสิ่งมีชีวิตที่เปล่งแสงได้ กำลังจะใช้แท่งแก้วสะกิดเจ้าสัตว์ตัวนี้ พวกเราล้อมวงเข้ามา พยายามชะโงกหน้ามอง ตอนนั้นเอง โครงร่างจางๆของเทโนฟอร์ปรากฏขึ้นในจานแวบหนึ่ง ภาพที่เกิดจากแสงอมน้ำเงินหมุนวนแล้วค่อยๆกระจายออก ราวกับตัวมันเพิ่งละลายหายไป ความสามารถในการเรืองแสง หรือการเปล่งแสงของสิ่งมีชีวิต (bioluminescence) นั้นทั้งธรรมดาและน่าอัศจรรย์ ที่ว่าน่าอัศจรรย์เพราะเป็นความงามอันสลัวราง ทว่ามีมนตร์สะกด ส่วนที่ว่าธรรมดาเพราะสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดสามารถทำเช่นนั้นได้ บนบก ตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดคือหิ่งห้อยซึ่งกะพริบแสงเพื่อดึงดูดคู่ผสมพันธุ์ แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตบนบกอื่นๆอีกที่เปล่งแสงได้ ในจำนวนนี้รวมถึงหนอนหิ่งห้อย หอยทากชนิดหนึ่ง กิ้งกือและเห็ดราบางชนิด แต่การแสดงแสงสีอันน่าตื่นตามากกว่าเกิดขึ้นในทะเล ณ ที่แห่งนี้ สิ่งมีชีวิตมากมายอย่างน่าเหลือเชื่อสามารถเปล่งแสงได้ อย่างเช่นออสตราคอด (ostracod) สัตว์ขนาดเล็กจิ๋วรูปร่างเหมือนเมล็ดงามีขา หรือจะเป็นไดโนแฟลเจลเลต (dinoflagellate) สิ่งมีชีวิตขนาดเท่าละอองฝุ่นที่ได้ชื่อมาจากหนวดสองเส้นเรียวยาวคล้ายแส้ และการเคลื่อนที่โดยการหมุนตัวไปรอบๆ คำว่าไดนอส ในภาษากรีกแปลว่า หมุนวน ไดโนแฟลเจลเลตจะเรืองแสงเมื่อใดก็ตามที่น้ำรอบตัวมันกระเพื่อมไหว พวกมันมักเป็นต้นตอของแสงที่เปล่งประกายเป็นทางยาวซึ่งบางครั้งคุณมองเห็นขณะว่ายน้ำหรือแล่นเรือไปในค่ำคืนอันมืดมิด นอกจากนี้ สัตว์ทะเลที่เปล่งแสงได้ยังมีปลาเรืองแสง หมึก แมงกะพรุน กุ้ง และเทโนฟอร์ที่กล่าวถึงข้างต้น หนอนหลายชนิด และปลิงทะเล รวมถึงไซโฟโนฟอร์ (siphonophore) เรืองแสง ซึ่งเป็นสัตว์นักล่ารูปร่างเหมือนเส้นเชือกมีเข็มพิษบนหนวดยาวๆ แล้วยังมีเรดิโอลาเรียน (radiolarian) เรืองแสง ซึ่งเป็นโปรโตซัวที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นคอโลนี นี่ยังไม่รวมถึงแบคทีเรียเรืองแสงเลยด้วยซ้ำ อันที่จริง ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งมวลที่เราทราบว่าเปล่งแสงได้นั้น มากกว่าสี่ในห้าอาศัยอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเจ็ดในสิบของพื้นผิวโลก และมีความลึกเฉลี่ยราว 3,600 เมตร ถือเป็นถิ่นอาศัยขนาดใหญ่ที่สุดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ เพราะธรรมชาติที่แปลกประหลาดราวกับอยู่คนละโลก และไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างน้อยก็สำหรับมนุษย์  มหาสมุทรจึงยังคงเป็นดินแดนที่ได้รับการสำรวจไม่มากนัก โดยเฉพาะพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลที่ไม่ใช่ทั้งแหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์ แนวปะการัง และจุดยอดนิยมสำหรับทำงานวิจัย ตัวอย่างเช่นปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลลึก ในแง่การเป็นถิ่นอาศัย มหาสมุทรมีลักษณะเฉพาะหรือความแปลกประหลาดอยู่สองสามประการ ประการแรกคือ พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีที่ให้หลบซ่อน นั่นหมายความว่าความสามารถในการ ล่องหน เป็นคุณสมบัติยอดปรารถนา ประการ ที่สองคือ ขณะดำน้ำลึกลงไปเรื่อยๆ แสงอาทิตย์จะค่อยๆเลือนหายไป แสงสีแดงเป็นสีแรกที่น้ำดูดซับไว้ จากนั้นก็เป็นแสง สีเหลืองและแสงสีเขียว เหลือเพียงแสงสีน้ำเงิน เมื่อถึงระดับความลึก 200 เมตร มหาสมุทรจะดูราวกับแดนสนธยาตลอดกาล พอถึงระดับ 600 เมตร แสงสีน้ำเงินก็ถูกดูดซับไปหมด ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรจึงมืดสนิท ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้แสงมีประโยชน์เฉพาะทาง ถ้าไม่ในฐานะอาวุธ ก็เป็นเครื่องอำพราง การเรืองแสงต้องอาศัยองค์ประกอบสามอย่าง ได้แก่ ออกซิเจน ลูซิเฟอริน (luciferin) และลูซิเฟอเรส (luciferase) ลูซิเฟอรินคือโมเลกุลใดๆที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน แล้วปล่อยพลังงานออกมาในรูปของโฟตอนหรือแสง ลูซิเฟอเรส คือโมเลกุลที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างออกซิเจนกับลูซิเฟอริน พูดอีกนัยหนึ่งคือ ลูซิเฟอรินเป็นโมเลกุลปล่อยแสง ขณะที่ลูซิเฟอเรสเป็นโมเลกุลที่ทำให้กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น วิวัฒนาการให้เรืองแสงได้ดูเหมือนเกิดขึ้นค่อนข้างง่าย เพราะวิวัฒน์ขึ้นอย่างเป็นเอกเทศในสิ่งมีชีวิตอย่างน้อย 40 สาแหรกตระกูล บางทีอาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะองค์ประกอบหรือปัจจัยของการเรืองแสงไม่ใช่ของหายาก มีสารมากมายที่สามารถทำหน้าที่เหมือนลูซิเฟอเรส ยิ่งไปกว่านั้น ในมหาสมุทรมีเพียงสิ่งมีชีวิตในอันดับล่างสุดของห่วงโซ่อาหารเท่านั้นที่ต้องสร้างลูซิเฟอริน โดยหลักการแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นๆจะได้ลูซิเฟอรินจากอาหาร เช่นเดียวกับที่มนุษย์ได้วิตามินซีจากการรับประทานส้ม สัตว์ทะเลบางชนิดก็ได้ลูซิเฟอรินจากการกินสัตว์เรืองแสงเป็นอาหาร ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่า การที่พบสิ่งมีชีวิตเรืองแสงได้บ่อยกว่าในมหาสมุทร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหาองค์ประกอบของการเรืองแสงได้ง่ายกว่านั่นเอง

 เรื่องโดย โอลิเวีย จัดสัน
มีนาคม 2558

57
จากวิวาทะเก่าแก่ว่าด้วยวิวัฒนาการหรือพระเจ้าสร้างโลก มาจนถึงเรื่องโลกร้อนและจีเอ็มโอ ความคลางแคลงสงสัยในวิทยาศาสตร์ไม่มีวันตาย

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ตลกชิ้นเอกของผู้กำกับสแตนลีย์ คูบริก เรื่อง ดร.สเตรนจ์เลิฟ (Dr.Strangelove) เป็นตอนที่แจ็ก ดี. ริปเปอร์ นายพลแตกแถวแห่งกองทัพสหรัฐฯ ผู้สั่งถล่มสหภาพโซเวียตด้วยระเบิดนิวเคลียร์  เปิดเผยมุมมองวิตกจริตของเขาเกี่ยวกับแผนสมรู้ร่วมคิดระดับโลก  และอธิบายว่า  ทำไมเขาจึง  “ดื่มแต่น้ำกลั่นหรือน้ำฝน และเหล้ากลั่นจากธัญพืชเท่านั้น” ให้แก่ไลโอเนล แมนเดรก นาวาอากาศเอกจากกองทัพอากาศอังกฤษ

ริปเปอร์: นายรู้ไหมว่า การเติมฟลูออไรด์ในน้ำคือแผนการร้ายที่สุดและอันตรายที่สุดของพวกคอมมิวนิสต์ที่เราต้องเผชิญ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 1964 ซึ่งในตอนนั้นผลดีของการเติมฟลูออไรด์เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว และทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดว่าด้วยการต่อต้านการเติมฟลูออไรด์ก็เหมาะจะเป็นเรื่องตลก ทว่า 50 ปีต่อมา การเติมฟลูออไรด์ก็ยังก่อให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงได้  เมื่อปี 2013 ชาวเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่หนึ่งในไม่กี่เมืองของสหรัฐฯที่ยังไม่เติมฟลูออไรด์ลงในน้ำประปา พากันขัดขวางแผนเติมฟลูออไรด์ของเทศบาลเมืองโดยกล่าวอ้างว่าฟลูออไรด์อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความจริงฟลูอไรด์เป็นแร่ธาตุธรรมชาติ หากผสมอย่างเจือจางในน้ำประปาจะช่วยทำให้เคลือบฟันแข็งแรงและ ป้องกันฟันผุ  นับเป็นวิธีเสริมสร้างสุขภาพฟันที่ประหยัดและปลอดภัยสำหรับทุกคน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์เห็นพ้องต้องกัน

เราอยู่ในยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยของการเติมฟลูออไรด์ การฉีดวัคซีน และความจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เผชิญการต่อต้านอย่างเป็นระบบและมักดุเดือดเผ็ดร้อน ผู้คลางแคลงสงสัยใช้แหล่งข้อมูลของตนเองและตีความงานวิจัยต่างๆ ด้วยมติหรือมุมมองของตนเอง พวกเขาประกาศสงครามกับเรื่องที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกัน  และปัจจุบันกระแสความแคลงสงสัยนี้ก็เป็นเรื่องฮอตฮิตทั้งในหนังสือ บทความ และการประชุมวิชาการต่างๆ ถึงขนาดที่ว่าความกังขาต่อวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องอินเทรนด์ร่วมสมัย ในภาพยนตร์เรื่อง อินเตอร์ สเตลลาร์ (Interstellar:ทะยานดาวกู้โลก) ที่เข้าฉายช่วงปลายปี 2014 อเมริกาในโลกอนาคตเสื่อมถอยจนนาซาต้องกลาย  เป็นองค์กรหลบๆซ่อนๆ  และตำราเรียนบอกว่า การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโลเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาทั้งหมด

หากจะว่าไปแล้ว  ความกังขาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทรกซึมอยู่ในชีวิตของเรามากกว่ายุคไหนๆ  สำหรับพวกเราหลายคน โลกสมัยใหม่นี้ช่างน่าอัศจรรย์  สะดวกสบาย  และให้อะไรมากมายเหลือเกิน แต่ขณะเดียวกันก็ซับซ้อนขึ้นและบางทียังน่ากลัวอยู่ลึกๆ ทุกวันนี้ เราเผชิญความเสี่ยงหลายอย่างที่ไม่สามารถวิเคราะห์เองได้ง่ายๆ

ตัวอย่างเช่นเราได้รับคำขอให้ยอมรับว่า อาหารที่ทำจากหรือมีส่วนผสมของพืชและสัตว์ดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) สามารถกินได้อย่างปลอดภัย เพราะไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าไม่ปลอดภัย และไม่มีเหตุผลที่ควรเชื่อว่า การแปลงยีนอย่างเฉพาะเจาะจงในห้องปฏิบัติการจะอันตรายกว่าการแปลงยีนยกชุดในการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม  แต่สำหรับบางคนแนวคิดว่าด้วยการถ่ายโอนยีนข้ามชนิดพันธุ์มาพร้อมกับภาพเหล่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ

ในโลกที่ชวนสับสนงุนงงนี้ เราต้องตัดสินใจว่าจะเชื่ออะไร และปฏิบัติตัวอย่างไรในเรื่องนั้น วิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อการนี้ “วิทยาศาสตร์ไม่ใช่กลุ่มหรือชุดข้อเท็จจริงต่างๆ” มาร์เชีย แม็กนัต นักธรณีฟิสิกส์ และบรรณาธิการวารสารไซแอนซ์ บอก “วิทยาศาสตร์เป็นระเบียบวิธีสำหรับแยกแยะว่า สิ่งที่เราเลือกจะเชื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎธรรมชาติหรือไม่” แต่ระเบียบวิธีที่ว่าก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่รู้ได้โดยสัญชาตญาณ เราจึงเจอปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แน่นอนว่า เราเผชิญปัญหามาตั้งแต่ไหนแต่ไร  ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์นำเราไปสู่ความจริงที่เข้าใจได้ยากมหัศจรรย์พันลึก  และบางทีก็ยากที่จะยอมรับ  ย้อนหลังไปในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด  เมื่อกาลิเลโอยืนยันว่า โลกหมุนรอบแกนตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์  เขาขอให้คนทั่วไปเชื่อในสิ่งที่ขัดต่อสามัญสำนึก เพราะดูอย่างไรดวงอาทิตย์ก็วนอยู่รอบโลก และคุณไม่รู้สึกเลยว่าโลกกำลังหมุน สองร้อยปีให้หลัง แนวคิดของชาร์ลส์ ดาร์วินที่ว่า สรรพชีวิตในโลกล้วนวิวัฒน์มาจากบรรพบุรุษยุคดึกดำบรรพ์ และมนุษย์เป็นญาติห่างๆของเอป วาฬ และแม้แต่หอยทะเลลึก ยังคงเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้จำนวนมากไม่อาจทำใจยอมรับหรือเชื่อได้ 

แม้กระทั่งเมื่อเรายอมรับหลักความจริงของวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุด้วยผล แต่บ่อยครั้งเราก็ยังยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิมๆที่มาจากจิตใต้สำนึก หรือที่นักวิจัยเรียกว่า ความเชื่อแบบไร้เดียงสา งานวิจัยของแอนดรูว์ ชตูลแมน จากออกซิเดนทัลคอลเลจเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า  แม้แต่นักศึกษาที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูงยังลังเล เมื่อถูกขอให้ยืนยันหรือปฏิเสธว่า มนุษย์สืบเชื้อสายมาจากสัตว์ทะเล หรือว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์  ความจริงทั้งสองข้อนี้ขัดแย้งกับความเชื่อหรือความรู้เก่าแก่ของมนุษย์ แม้แต่นักศึกษาที่ตอบคำถามเหล่านี้ว่า “จริง”  ก็ยังใช้เวลาตัดสินใจตอบนานกว่าคำถามที่ว่า  มนุษย์สืบเชื้อสายมาจากสัตว์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้หรือไม่ (ซึ่งจริง แต่เข้าใจได้ง่าย) หรือดวงจันทร์โคจรรอบโลกหรือไม่ (ซึ่งจริง แต่สอดคล้องกับความรู้ดั้งเดิม) งานวิจัยของชตูลแมนบ่งชี้ว่า ขณะที่เรารู้จักวิทยาศาสตร์มากขึ้น เราก็สะกดความเชื่อไร้เดียงสาของเราไว้ แต่ไม่เคยลบล้างออกไปจนหมดสิ้น

ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากแม้กับนักวิทยาศาสตร์เอง ซึ่งมีจุดอ่อนไม่ต่างจากคนทั่วไปในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ความลำเอียงในการยืนยัน (confirmation bias) หรือแนวโน้มที่จะมองหาและเห็นเฉพาะหลักฐานที่ยืนยันสิ่งที่พวกเขาเชื่ออยู่แล้ว ทว่าสิ่งที่ต่างจากคนทั่วไปคือ นักวิทยาศาสตร์ส่งผลงานหรือข้อสรุปของพวกเขาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยเพื่อนร่วมอาชีพก่อนการตีพิมพ์  หากผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วมีความสำคัญเพียงพอ นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆจะพยายามทำให้เกิดผลอย่างเดียวกันซ้ำอีก  ความที่เป็นคนไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และชอบการแข่งขันเป็นทุนเดิม  ทำให้พวกเขายินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า  ผลงานหรือทฤษฎีนั้นๆใช้ไม่ได้  ธรรมชาติของผลงานทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่สิ่งตายตัว อย่างน้อยก็จนกว่าจะถูกหักล้างด้วยการทดลองหรือการสังเกตการณ์ในอนาคต น้อยครั้งนักที่นักวิทยาศาสตร์จะประกาศความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) หรือความแน่ใจแบบเบ็ดเสร็จ  ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ณ พรมแดนแห่งความรู้

 “วิทยาศาสตร์จะค้นพบความจริง” คอลลินส์บอกและเสริมว่า “ผลครั้งแรกอาจจะผิด ครั้งที่สองก็อาจจะผิดอีกแต่ในที่สุดจะพบความจริงครับ”

 เรื่องโดย โจล แอเคนบาค
มีนาคม 2558

58
สถาปนิกสมัยใหม่ผุดแนวคิดบรรเจิดที่ได้แรงบันดาลใจจาก ถู่โหลว หรือบ้านตระกูลแซ่เก่าแก่ในเมืองจีน

การนับจำนวน ถู่โหลว แรกเริ่มก็เหมือนการเล่นเกม  ผมนั่งนับสิ่งปลูกสร้างหน้าตาเหมือนป้อมปราการแปลกๆที่เห็นตอนนั่งรถมาว่าจะมีมากแค่ไหน  อาคารเหล่านี้มีขนาดใหญ่มากจนเหมือนยานอวกาศตั้งตระหง่านอยู่ในแถบชนบทของมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ทุกหมู่บ้านดูเหมือนจะมีถู่โหลว (tulou) อย่างน้อยหนึ่งหลัง สองหลัง หรือมากกว่านั้น

ในหมู่บ้านเหอเคิงที่มีลูกบ้านอยู่หลายร้อยคน ผมนับถู่โหลวได้ 13 หลัง (คำว่า ถู่โหลว หมายถึง “อาคารดิน” ในภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นคำนิยามที่ดูต้อยต่ำมาก อุปมาเหมือนเรียกสนามกีฬาทรงกลมขนาดใหญ่แบบโคลอสเซียมว่า สิ่งก่อสร้างทรงกลมทำด้วยหิน) อาคารเหล่านี้ดูเก่าคร่ำคร่า ผนังสูงสีน้ำตาลเหมือนสีโคลน มีหน้าต่างบานเล็กๆอยู่ชั้นบนสุด และมักมีประตูไม้หุ้มแผ่นเหล็กเพียงบานเดียวสำหรับเข้าไปข้างใน

ในไม่ช้า การชื่นชมจากภายนอกเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอสำหรับผมในการดื่มด่ำกับถู่โหลวหลากรูปทรง (ส่วนใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือวงกลม) ผมอดใจไว้ไม่ไหวต้องเข้าไปในถู่โหลวทุกหลังที่เห็น ซึ่งประตูหน้ามักเปิดอยู่ ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมพบ

อย่างแรกคือ ภาพที่เห็นภายนอกทำให้เราไม่ทันตั้งตัว เมื่อพบกับสิ่งที่อยู่ภายใน ด้านนอกอาคารอันทึบทึมอาจดูคล้ายเรือนจำ แต่ภายในกลับคล้ายโรงอุปรากร โถงทำจากไม้ซุงซึ่งสูงตระหง่านขึ้นไปได้มากถึงห้าชั้นล้อมรอบลานตรงกลางที่มีไฟส่องสว่าง แต่ละชั้นสร้างจากไม้สีเข้ม ซอยเป็นห้องเล็กๆติดๆกัน ขนาดเท่ากันหมด เหมือนท่วงทำนองเพลงทางสถาปัตยกรรม ทางเดินแต่ละชั้นหักมุมหรือไม่ก็คดโค้ง

ในลานกลางแจ้งพื้นปูหินตะปุ่มตะป่ำมักมีบ่อน้ำหนึ่งหรือสองบ่อ รวมทั้งบริเวณเล็กๆที่กั้นไว้และตกแต่งอย่างสวยงามสำหรับกราบไหว้บรรพบุรุษ การจัดวางพื้นที่เช่นนี้ทำให้เราต้องหมุนตัวไปรอบๆเพื่อชื่นชมห้องต่างๆที่เรียงรายเป็นแนววนขึ้นไปด้านบน มองเห็นท้องฟ้ากับภูเขาอยู่เหนือศีรษะ และทึ่งไปกับความกล้าหาญในการออกแบบอาคารหลังโตและแข็งแกร่งดุจภูผาที่โอบอุ้มชุมชนไว้ภายใน

แม้จะมีการกล่าวอ้างถึงถู่โหลวที่เก่าแก่กว่าอีกมาก แต่หลักฐานที่บันทึกไว้ระบุว่า ถู่โหลวที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนกลับไปถึงปี 1558 หวางฮั่นหมิง สถาปนิกผู้เขียนเรื่องราวของถู่โหลวไว้อย่างละเอียด บอกเช่นนั้น การก่อสร้างถู่โหลวหลังแรกเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างชาวฮากกา (Hakka) หรือชาวจีนแคะ ซึ่งอพยพมาจากที่ราบทางตอนเหนือของจีนกับชาวบ้านที่ตั้งรกรากอยู่ในภูมิภาคนี้มาช้านาน

แทบทุกคนที่ผมพบในเหอเคิงมีนามสกุลจาง หมู่บ้านต่างๆในพื้นที่สูงของมณฑลฝูเจี้ยนล้วนแต่เป็นชุมชนของ คนที่เป็นเครือญาติกัน ใช้นามสกุลเดียวกัน เหอเคิงเป็นหมู่บ้านตระกูลจาง นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านอื่นๆ เช่น หมู่บ้านตระกูลซู หมู่บ้านตระกูลหลี่ และหมู่บ้านตระกูลเจี่ยน

เพื่อตอบสนองความจำเป็นของชุมชนอันแน่นแฟ้นเหล่านี้ ถู่โหลวจึงกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สาแหรกตระกูลทั้งหมดซึ่งมักมีจำนวนหลายร้อยคน สามารถอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้ นับเป็นการออกแบบที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน

พื้นที่อยู่อาศัยภายในถู่โหลวจัดแบ่งตามแนวตั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นในภูมิภาคอันเต็มไปด้วยภูเขาและพื้นที่ราบ  มีจำกัด แต่ละครอบครัวอาจเป็นเจ้าของเสี้ยวหนึ่งของถู่โหลวหรือมากกว่านั้น ชั้นล่างที่เปิดออกสู่ลานตรงกลางเป็นครัวและห้องรับประทานอาหาร ชั้นสองเป็นห้องเก็บของ ชั้นสามและชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปเป็นห้องนอน

ทุกคนใช้ทางเดินและบันไดส่วนกลาง มีระเบียบปฏิบัติ (รักษาความสะอาด เคารพผู้อาวุโส มีส่วนร่วมในเทศกาลต่างๆ) ติดประกาศไว้ภายในตรงทางเข้า เนื่องจากเป็นชุมชนเสมอภาคเต็มรูปแบบ ห้องหับต่างๆจึงมีขนาดเท่ากันและตกแต่งเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องของหัวหน้าตระกูลชาวฮากกาหรือห้องของคนเลี้ยงหมูธรรมดาๆ

โลกภายนอกรวมถึงชาวจีนในเมืองไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าถู่โหลวมีอยู่จริง กระทั่งล่วงเข้าทศวรรษ 1950 แล้ว และกว่าถู่โหลวที่อยู่ทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนจะเป็นที่รู้จัก เวลาก็ล่วงเลยมาอีกสามทศวรรษให้หลัง

ความห่างไกลของภูมิภาคแถบนี้ ถนนหนทางสภาพย่ำแย่ และหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้าง (ชาวฮากกาจำนวนมากอพยพไปไต้หวัน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆในเอเชีย) ทำให้สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เป็นความลับมาเนิ่นนาน

“คนอื่นๆไปไหนกันหมดครับ” นี่คือปฏิกิริยาของผมแทบทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปในถู่โหลว ในสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับคนหลายร้อยชีวิต แต่กลับมีคนอยู่เพียงห้าหรือหกคนเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ค่อยแข็งแรงและอยู่ กันตามลำพัง

ผู้คนทยอยย้ายออกไปจากถู่โหลวอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 25 ปีแล้ว ตั้งแต่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวและเกิดสังคมบริโภคนิยม ไม่มีใครอยากอยู่กันอย่างแออัดในอาคารที่ไม่มีน้ำประปา

“ความรู้สึกนึกคิดของคนสมัยนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ” หลินอี้โหมวบอก เขาพาผมไปดูเอ้อร์อี๋โหลวซึ่งในยุครุ่งเรืองเป็นถู่โหลวที่ตกแต่งอย่างงดงามและมีผู้อยู่อาศัยถึง 400 คน แต่ทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ห้องส่วนใหญ่ลั่นกุญแจเอาไว้

“สมัยก่อนตอนตระกูลใหญ่ๆเป็นเจ้าของถู่โหลว แต่ละครอบครัวจะจ่ายเงินสำหรับซ่อมบำรุงอาคาร แต่ตอนนี้พวกเขาไม่อยากเสียเงินไปกับสิ่งที่เป็นของบรรพบุรุษอีกแล้วครับ” หลินเล่า

มีเพียงวันหยุดราชการเท่านั้นที่ถู่โหลวจะกลับมาคึกคักแบบวันคืนเก่าๆ สมาชิกในครอบครัวซึ่งจากบ้านไปนานจะกลับมาเยี่ยมญาติ ร่วมงานแต่งงาน และพักในห้องที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเรียกว่าบ้าน

ถู่โหลวจะไม่หายไปไหน ผนังสร้างขึ้นให้คงอยู่ได้หลายร้อยปี ด้วยการออกแบบที่เหมาะกับการใช้งานจริงถู่โหลวอาจจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งก็ได้ วิศวกรและสถาปนิกหลายคนซึ่งศึกษางานก่อสร้างแบบดินอัดมองว่า ถู่โหลวเป็นต้นแบบของอาคาร “สีเขียว” เพราะประหยัดพลังงาน กลมกลืนกับภูมิทัศน์ และสร้างจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น

นอกเมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ติดกัน สถาปนิกจากบริษัทเออร์บานัสประสบความสำเร็จในการออกแบบถู่โหลวฉบับสมัยใหม่สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวน 278 ครอบครัว

เรื่องโดย ทอม โอนีล
เมษายน 2558

59
สารคดีพิเศษร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งแผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

พิกัดสำนักงานนักภูมิศาสตร์ประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก คือ 38°54’19” เหนือ, 77°2’16” ตะวันตก

            คงพอจะพูดได้ว่าควน จูเซ บาลเดส ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในปัจจุบัน รู้ตำแหน่งแห่งที่ของเขาอย่างแม่นยำ แต่ขอบเขตการทำงานของสำนักงานในความรับผิดชอบของเขาหรือแผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งฉลองครบ 100 ปีในปีนี้ ไม่เพียงครอบคลุมพิกัดที่ว่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ ถนน แนวปะการัง ฟยอร์ด เกาะ ทะเลใน ธารน้ำแข็ง มหาสมุทร ดาวเคราะห์ ดาราจักร และระบบสุริยะ หรือพูดง่ายๆก็คือลักษณะทางกายภาพใดๆที่ปรากฏบนพื้นดิน  ผืนน้ำ และแผ่นฟ้านั่นเอง

            ขณะที่เขียนเรื่องนี้ (สถิติจะล้าสมัยทันทีที่รวมตัวเลขเสร็จ) แผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ผลิตแผนที่แถม 438 ชุด  แผนที่โลก 10 ฉบับ  ลูกโลกหลายสิบแบบ  แผนที่ประกอบสารคดีในนิตยสารอีกราว 3,000 ชิ้นและอีกมากมายในรูปแบบดิจิทัล

            แผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แตกต่างจากแผนที่ทั่วไปอย่างไรน่ะหรือ ที่แน่ๆคือความเที่ยงตรงแม่นยำและความใส่ใจในรายละเอียด แผนที่ดวงจันทร์ฉบับปี 1969 ระบุจุดลงจอดของยานสำรวจไร้มนุษย์เกือบครบทั้ง 23 ลำบนพื้นผิวดวงจันทร์  ขาดเพียงลำเดียว (เนื่องจากจุดตกของยานออร์บิเทอร์ 4 ยังไม่ทราบแน่ชัด)

            แต่ความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแผนกที่บรรณาธิการเต็มเวลาคนแรกของนิตยสาร กิลเบิร์ต เอช. โกรฟเนอร์ ก่อตั้งขึ้น คือการไม่หยุดคิดค้นสิ่งใหม่ๆและจะยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอ นักทำแผนที่ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกคนแรกอย่างอัลเบิร์ต เอช. บัมสเตด (หัวหน้าแผนก, 1915-1939) กรุยทางด้วยการประดิษฐ์เข็มทิศนาฬิกาแดดซึ่งริชาร์ด อี. เบิร์ด ใช้ในเที่ยวบินสู่ขั้วโลกเหนือเมื่อปี 1926 (เพราะเข็มทิศแม่เหล็กใช้ไม่ได้ในแถบขั้วโลก) เช่นเดียวกับเครื่องเรียงพิมพ์ด้วยแสงที่ได้รับการตั้งชื่อตามเขา

            ในปี 1957 แผนกแผนที่ได้ทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์สร้างอุปกรณ์ติดตามดาวเทียมแบบพกพาให้โครงการอวกาศของสหรัฐฯ  เวลแมน แชมเบอร์ลิน (หัวหน้าแผนก, 1964-1971) ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวยังออกแบบมาตรเรขาคณิตซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใสที่ทาบลงบนลูกโลกเพื่อวัดระยะทางด้วย

            เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น จังหวะก้าวของคนทำแผนที่ก็ต้องเร็วตามไปด้วย จอห์น บี. การ์เวอร์ (หัวหน้าแผนก, 1982-1991) ดูแลการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ไซเท็กซ์ที่ใหญ่โตจนต้องมีห้องควบคุมอุณหภูมิเฉพาะ ระบบดังกล่าวช่วยให้กระบวนการผลิตแผนที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แอลเลน แคร์รอลล์ (หัวหน้าแผนก, 1998-2010) เปิดตัวแม็ปแมชชีน (MapMachine) ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นบริการแผนที่แบบอินเทอร์แอ๊กทีฟชุดแรกของสมาคมบนเว็บไซต์

            ในอดีต การสร้างแผนที่สักฉบับต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ในยุคดิจิทัลที่ก้าวล้ำ การสร้างแผนที่บางฉบับที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ความเที่ยงตรงแม่นยำยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

            อะไรรอคอยอยู่เบื้องหน้า  เมื่อแผนกแผนที่ของเราก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่สองแห่งการก่อตั้ง       

            “การทำแผนที่โดยอาศัยข้อมูลจากสาธารณชนจะเอื้อให้ใครๆก็สามารถสร้างแผนที่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น” ควน บาลเดส บอก “เมื่ออุปกรณ์ต่างๆเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ผู้ใช้จะสามารถระบุพิกัดและทำแผนที่สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่นาฬิกาและแว่นอัจฉริยะช่วยให้เก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ได้ดีขึ้น”

 เรื่องโดย แคที นิวแมน
เมษายน 2558

60
สถาปัตยกรรมสูง 38 เมตร พร้อมภาพจำหลักที่ยืนยงมากว่า 1,900 ปีสดุดีพระเกียรติจักรพรรดิแห่งโรม ผู้มีชัยเหนืออริราชศัตรูที่น่าครั่นคร้าม

ในการศึกที่แทบไม่เว้นว่างระหว่าง ค.ศ 101 ถึง 106 จักรพรรดิทราจันทรงรวบรวมทหารโรมันหลายหมื่นนาย ข้ามแม่น้ำดานูบด้วยสะพานที่ยาวที่สุดสองแห่งในโลกยุคโบราณ  เพื่อยาตราทัพไปปราบจักรวรรดิอนารยชนที่ยิ่งใหญ่ถึงดินแดนแห่งขุนเขาของศัตรูถึงสองครั้งสองครา ก่อนจะทรงลบชื่อจักรวรรดิแห่งนี้ไปจากหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปโดยสิ้นเชิง

ศึกสงครามระหว่างจักรพรรดิทราจันกับชนเผ่าดาเชียน  ผู้ก่อร่างสร้างอารยธรรมขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญแห่งรัชสมัยอันยาวนาน 19 ปีของพระองค์  สมบัติที่ทรงยึดมาได้นั้นมากมายมหาศาล นักบันทึกจดหมายเหตุร่วมสมัยคนหนึ่งโอ่ว่า ชัยชนะของพระองค์ทำให้โรมได้ทองคำน้ำหนักเกือบ 250,000 กิโลกรัม และแร่เงินอีกเกือบ 500,000 กิโลกรัม  ยังไม่นับมณฑลใหม่ที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งด้วย

ความมั่งคั่งเหล่านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าของโรม จักรพรรดิทราจันทรงมีบัญชาให้สร้างลานประชาคม (forum) ขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะ ประกอบด้วยลานกว้างใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยนางจรัล (colonnade) หรือเสาระเบียง หอสมุดสองแห่ง และอาคารศาลาประชาคมขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในนาม บาสิลิกาอุลเปีย (Basilica Ulpia)  ลานประชาคมแห่งนี้เป็น “หนึ่งเดียวในใต้หล้า” ตามที่นักประวัติศาสตร์ยุคแรกๆคนหนึ่งบันทึกไว้ด้วยความตื่นใจ

สิ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือลานประชาคม คือเสาหินสูง 38 เมตร ส่วนยอดประดับด้วยรูปหล่อสัมฤทธิ์ของจักรพรรดิผู้พิชิต มีภาพสลักบรรยายการทำศึกกับพวกดาเชียนพันรอบเสาในลักษณะเวียนขึ้น ประกอบด้วยภาพทหารโรมันและทหารดาเชียนหลายพันนายที่สลักเสลาอย่างละเอียดพิสดารกำลังเดินทัพ ก่อสร้าง สู้รบ แล่นเรือ หลบหนี เจรจาต่อรอง อ้อนวอน และล้มตายอยู่ในฉากต่างๆ รวมทั้งสิ้น 155 ฉาก  เสานี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 113 และยืนยงมานานกว่า 1,900 ปี

ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวพากันแหงนคอตั้งชมเสา ขณะมัคคุเทศก์เล่าความเป็นมาให้ฟัง ภาพสลักสองสามชั้นแรกสึกกร่อนจนมองแทบไม่ออก  ซากปรักที่เกลื่อนกล่นไปทั่วบริเวณ  ทั้งฐานรองเสาอันว่างเปล่า  หินแผ่นแตกๆ  เสาหักๆ  และประติมากรรมที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ล้วนบอกเป็นนัยถึงอดีตอันโอ่อ่าอลังการของลานประชาคมแห่งทราจัน และเป็นประจักษ์พยานแห่งความรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมันในอดีต

เสานี้เป็นประติมากรรมอันโดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งยืนหยัดผ่านการล่มสลายของโรมมาได้ เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่นักวิชาการด้านกรีกและโรมันถือว่า  ภาพสลักที่ปรากฏคือบันทึกประวัติศาสตร์แห่งสงครามที่มองเห็นและจับต้องได้ โดยมีจักรพรรดิทราจันทรงเป็นวีรบุรุษ  และเดเชบาลุส ราชาแห่งชาวดาเชียน เป็นอริราชศัตรูผู้ทัดเทียม นักโบราณคดีวิเคราะห์ภาพสลักเหล่านี้เพื่อศึกษาเครื่องแบบ อาวุธ เครื่องมือ และยุทธวิธีของกองทัพโรมัน

 และเนื่องจากจักรพรรดิทราจันทรงทิ้งอาณาจักรดาเชียให้เหลือแต่ซาก ชาวโรมาเนียในปัจจุบันจึงถือว่าเสาและรูปสลักทหารพ่ายศึกที่หลงเหลืออยู่  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดับอยู่ ณ ลานประชาคมแห่งนี้  เป็นเบาะแสอันล้ำค่าว่า  บรรพบุรุษชาวดาเชียนของพวกเขามีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายเป็นอย่างไร

เสานี้มีอิทธิพลอย่างมาก โดยเป็นแรงบันดาลใจให้อนุสาวรีย์หลายแห่งในยุคต่อๆมา ทั้งในกรุงโรมและทั่วจักรวรรดิโรมัน  ตลอดหลายศตวรรษ ขณะที่สิ่งก่อสร้างสำคัญๆของกรุงโรมผุพังไปตามกาลเวลา เสาของทราจันยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจและความพิศวงให้ผู้คนได้เสมอมา  พระสันตะปาปาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาพระองค์หนึ่งทรงนำรูปสลักของนักบุญเปโตร (ปีเตอร์) ขึ้นไปประดิษฐานแทนพระรูปของจักรพรรดิทราจัน นัยว่าเพื่อให้เสาโบราณต้นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์  เหล่าศิลปินใช้วิธีนั่งในตะกร้าแล้วหย่อนตัวลงมาจากยอดเสาเพื่อศึกษาภาพสลักอย่างละเอียด ต่อมาในศตวรรษที่สิบหก เริ่มมีการนำปูนปลาสเตอร์มาฉาบเสาเพื่ออนุรักษ์รายละเอียดต่างๆที่ถูกฝนกรดและมลภาวะต่างๆกัดกร่อนจนเสียหาย

ยังมีการถกเถียงในประเด็นเรื่องการก่อสร้าง ความหมาย และที่สำคัญที่สุดคือความถูกต้องตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ จนบางครั้งดูเหมือนมีการตีความหลากหลายพอๆ กับจำนวนภาพสลักบุคคลที่มีถึง 2,662 ภาพ

ฟิลิปโป โกอาเรลลี  นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอิตาลีในวัย 70 เศษ เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ “เสานี้เป็นผลงานมหัศจรรย์ครับ” เขาว่าพลางพลิกหน้าหนังสือที่มีภาพถ่ายขาวดำของภาพสลัก “สตรีชาวดาเชียนทรมานทหารโรมันงั้นหรือ ชาวดาเชียนที่ร่ำไห้กินยาพิษเพื่อหนีจากการถูกจับเป็นเชลยหรือ  เหมือนละครทีวีเลยนะครับนี่”

หรือจะเป็นอย่างที่โกอาเรลลีบอกว่า  เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำของจักรพรรดิทราจัน  ตอนที่สร้างขึ้น เสาตั้งอยู่ระหว่างหอสมุดสองแห่งซึ่งอาจเป็นสถานที่เก็บบันทึกเรื่องราวการสงครามของจักรพรรดินักรบพระองค์นี้  เขามองว่าภาพสลักเป็นเหมือนม้วนภาพ และน่าจะเป็นรูปแบบของบันทึกเรื่องราวการทำสงครามของจักรพรรดิทราจัน “เหล่าศิลปินซึ่งในเวลานั้นไม่มีอิสระในการสร้างงานตามใจชอบ  คงต้องทำตามพระประสงค์ขององค์จักรพรรดิ” เขาว่า

โกอาเรลลีเสริมว่า  เหล่าประติมากรทำงานภายใต้การควบคุมของนายช่างผู้ชำนาญหนึ่งคน ตามแผนงานเพื่อสร้างม้วนภาพฉบับทราจันที่สูงเสียดฟ้าด้วยบล็อกหินอ่อนเนื้องามที่สุด 17 ชิ้นจากเมืองการ์รารา

จักรพรรดิทรงเป็นตัวเอกของเรื่อง ปรากฏพระองค์ 58 ครั้งในคราบของผู้บังคับบัญชาที่หลักแหลม รัฐบุรุษที่ประสบความสำเร็จ และผู้ปกครองที่เปี่ยมศรัทธา  ตรงนี้เป็นภาพทรงให้โอวาทแก่กองทหาร ตรงนั้นเป็นภาพทรงประชุมอย่างเคร่งเครียดกับคณะที่ปรึกษา ตรงโน้นเป็นภาพทรงเป็นประธานในพิธีบูชายัญแด่ทวยเทพ “เป็นความพยายามของพระองค์ที่จะแสดงให้เห็นว่า  ไม่ได้ทรงเป็นเพียงผู้นำทางทหาร  หากยังเป็นผู้รู้รอบอีกด้วยครับ ” โกอาเรลลี กล่าว

จอน โคลสตัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรูปเคารพ  อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวโรมัน จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ในสกอตแลนด์ ใช้เวลาศึกษาเสาต้นนี้อย่างละเอียดนานนับเดือน เขาเขียนปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกว่าด้วยเสาอันโดดเด่นต้นนี้  และยังคงหมกมุ่นศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งเป็นผู้คัดค้านฝีปากกล้า โดยบอกว่า “คนอยากเปรียบเสานี้กับการนำเสนอข่าวสารสมัยใหม่และภาพยนตร์เสียเหลือเกิน พวกเขากำลังตีความเกินจริง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ  เป็นเรื่องธรรมดาคุณเชื่อคำพูดพวกนี้ไม่ได้หรอกครับ”

โคลสตันแย้งว่า ไม่มีใครวางแผนหรือบงการอยู่เบื้องหลังการสลักภาพเหล่านี้  แนวทางการทำงานที่แตกต่างกันเล็กๆน้อยๆ กับความผิดพลาดที่เห็นได้ชัด   อย่างเช่นช่องหน้าต่างที่โผล่ขึ้นมาขัดจังหวะภาพ  และภาพที่มีความสูงต่ำไม่เสมอกัน ทำให้เขาเชื่อว่า เหล่าประติมากรสลักภาพกันแบบด้นสดหรือทำไปตามใจนึก โดยอาศัยสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับสงคราม “แทนที่จะมีสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะโปรดปราน นั่นคือการมีนายช่างหรือศิลปินใหญ่ผู้เชี่ยวชาญและเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์อยู่เบื้องหลัง  เอาเข้าจริงกลับเป็นคนงานธรรมดาๆ ที่ทำงานอยู่กับแผ่นหินตรงหน้า  ไม่ใช่บนโต๊ะเขียนแบบในสตูดิโอ” เขาว่า

เขามองว่า งานศิลปะชิ้นนี้เป็นเรื่องของ “การได้รับแรงบันดาลใจ” มากกว่าจะเป็น  “การอ้างอิงจากเรื่องจริง” อย่างเช่นเรื่องที่เป็นใจความสำคัญของเสา  ไม่ค่อยมีภาพการสู้รบในสงครามทั้งสองครั้ง   ภาพสลักที่เป็นฉากสงครามหรือการปิดล้อมเมืองมีน้อยกว่าหนึ่งในสี่จากทั้งหมด  พระรูปของจักรพรรดิทราจันเองก็ไม่เคยปรากฏในการสู้รบ

เรื่องโดย แอนดรูว์ เคอร์รี
เมษายน 2558

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 51